ไม่อร่อยมากแต่ดังไม่แพ้เชฟ ดีก็บอกดี การตลาดซื่อๆ ได้ทั้งตังค์และใจลูกค้า

TEXT: วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์

 

        เป็นเรื่องปกติที่ร้านค้าหรือเจ้าของผลิตภัณฑ์จะทำทุกวิถีทางเพื่อให้สินค้าหรือบริการของตัวเองขายได้ และบ่อยครั้งมักเกิดการ overselling หรืออวยสินค้าแบบเกินงาม แต่จะเป็นอย่างไรถ้าคนขายทำในสิ่งตรงกันข้าม นั่นคือให้ข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา ดีก็บอกว่าดี ไม่ดีก็ว่าไปตามเนื้อผ้า เชื่อหรือไม่ว่าวิธีนี้ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของนโยบาย Honesty is the best policy ก็สามารถทำให้ร้านปัง และช่วยดันยอดขายได้ ดังเช่นกรณีร้านอาหารจีนแห่งหนึ่งในเมืองมอนทรีอัล แคนาดา

         ร้านดังกล่าวชื่อว่า Aunt Dai มีเฟยกัง เฟยเป็นเจ้าของ เฟยเล่าว่าเขาตั้งชื่อร้านเพื่อเป็นเกียรติแก่มารดาของเพื่อนผู้เป็นคนสอนและถ่ายทอดการทำอาหารให้กับเขาจนสามารถเปิดร้านได้ ธุรกิจของเขาดำเนินไปอย่างราบเรียบ กระทั่งวันหนึ่ง Aunt Dai ก็กลายเป็นไวรัลในโลกโซเชียลเมื่อลูกค้าทวิตถึงร้านของเขาว่าน่าจะเป็นร้านที่ซื่อสัตย์ที่สุดจากการที่เจ้าของร้านแสดงความเห็นต่ออาหารในร้านอย่างตรงไปตรงมา    

        โดยทั่วไป เมนูอาหารในต่างประเทศมักระบุวัตถุดิบและส่วนผสมต่างๆ ของแต่ละจานให้ลูกค้าทราบอยู่แล้ว ร้าน Aunt Dai ก็เช่นกัน แต่เพิ่มเติมคือเจ้าของร้านทำการรีวิวอาหารตัวเองต่อท้ายเมนูแบบตรงยิ่งกว่าไม้บรรทัด ตัวอย่างก็เช่น

        - เนื้อซ้อสส้ม - ไม่อร่อยเมื่อเทียบกับเมนู ไก่แม่ทัพโซ อันนี้แล้วแต่ลูกค้าตัดสินใจเลยเพราะผมไม่ปลื้มอาหารจีนสไตล์อเมริกาเหนือเท่าไร

        - หมูเส้นเผ็ดหวาน - ส่วนตัวไม่ค่อยชอบเพราะคนละแบบกับที่เคยกินตอนไปเรียนที่เมืองจีน

        - เนื้อซ้อสสะเต๊ะ – เมนูใหม่แต่ยังไม่ได้ลองชิม ถ้าเป็น “เนื้อยี่หร่า” บอกเลยอร่อยมาก

        - เนื้อยี่หร่า – เมนูนี้มีไม้เล็กๆ เสียบอยู่ ลูกค้าชอบเผลอไม่ระวังทำให้ไม้ทิ่มปาก

        - สามชั้นตุ๋นใส่วุ้นเส้น – มันยกร่อง แต่รสชาติดีมากนะ กินกับข้าวสวยอร่อยเหาะ ไม่เหมาะสำหรับคนที่กำลังลดน้ำหนัก

          หลังจากที่ลูกค้าทวิตไปก็มีคนกดถูกใจกว่า 7 หมื่นไลก์ และมีการรีทวิตกว่าหมื่นครั้ง สิ่งที่ตามมาคือออร์เดอร์เข้าร้านรัวๆ เฟยให้สัมภาษณ์ถึงเหตุผลที่รีวิวอาหารร้านตัวเองแบบนั้นเนื่องจากมีลูกค้าส่วนหนึ่งไม่คุ้นเคยกับเมนู และเลือกไม่ถูกว่าจะสั่งอะไร บางทีสุ่มสั่งแต่กลายเป็นว่าอาหารไม่ถูกใจ เฟยจึงรีวิวอาหารตามความรู้สึกของเขาเพื่อให้ลูกค้าพอมองออกว่าเป็นอาหารประมาณไหน

        ลูกค้าหลายคนเห็นว่าสิ่งที่เฟยทำเป็นประโยชน์มากแต่ก็ตลกมากด้วยเช่นกัน ผลตอบรับและเสียงสะท้อนจากลูกค้าทำให้เขามีกำลังใจที่จะรีวิวอาหารตัวเองต่อไป แต่ประเด็นที่สำคัญคือร้านของเขามีนโยบายซื่อสัตย์ต่อตัวเอง และจริงใจต่อลูกค้าด้วย “เราไม่อยากให้ลูกค้ามาใช้บริการด้วยความคาดหวังสูงแล้วเกิดความผิดหวังในภายหลัง เราอาจจะไม่ใช่ร้านอาหารที่ดีที่สุด แต่ทุกๆ วัน เราพยายามทำให้ดีที่สุดเพื่อสร้างความพึงพอใจให้ลูกค้าโดยการไม่เชียร์ขายอะไร”  

        นอกจากรีวิวอาหารในร้านโดยอิงจากความรู้สึกของตัวเอง เฟยยังหมายเหตุให้ลูกค้าทราบอีกว่าอาจมีบางเมนูที่ดัดแปลงและไม่ใช่รสชาติอาหารจีนดั้งเดิม ส่วนเมนูที่ทำจากกุ้ง เช่น กุ้งผัดเผ็ด หรือกุ้งผัดพริกเกลือจะมีขนาดไม่เท่าจานอื่นที่ใช้เนื้อสัตว์อื่นเนื่องจากวัตถุดิบมีราคาแพง ดังนั้น เมนูกุ้งแต่ละจานจะดูน้อยเพราะทางร้านให้กุ้ง 13 ตัวเท่านั้น 

        เฟยเล่าว่าเขาตกใจมากที่เห็นคนกดไลก์และเข้ามาคอมเมนต์ในเมนูออนไลน์ของทางร้านเยอะมาก “ผมรู้ว่าร้านกลายเป็นไวรัลก็ตอนที่มีนักข่าวหนังสือพิมพ์จากเยอรมันติดต่อขอสัมภาษณ์ เขาส่งอีเมล์และลิงค์มาให้ดู ตอนแรกผมคิดว่ามีคนเล่นตลกหรือถูกแกล้งเสียอีก แต่พอคลิกเข้าไปดู ก็ยังเฉยๆ ไม่รู้สึกเป็นเรื่องใหญ่ แต่พอเช็คอีกที โอ้โห มีคนไลค์เกือบ 6 หมื่นไลก์และรีทวิตเยอะมาก คือผมไม่เล่นทวิตเตอร์ไง เรื่องที่เกิดขึ้นเลยทำให้รู้สึกแบบงงเล็กน้อย

        ในขณะที่ความตรงไปตรงมาของเฟยต่อเมนูอาหารของเขาได้รับการแซ่ซ้องจากชาวทวิตเตอร์ สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเฟยเริ่มเขียนคอมเมนต์หลังเมนูอาหารในร้านที่มีทั้งหมด 66 จานเริ่มเมื่อประมาณ  4 ปีก่อน แต่เพิ่งแล้วเสร็จทุกเมนูปีที่แล้ว ความคิดของเขาคือแค่อยากให้ลูกค้าได้รู้ข้อมูลว่าอาหารแต่ละจาน เผ็ด หรือมันประมาณไหน ไม่อยากให้ลูกค้าจ่าย 12-15 ดอลลาร์แล้วทานไม่ได้ เสียของเปล่าๆ นั่นคือเจตนาแรกที่ทำ ไม่เท่านั้น เขายังทำช่องยูทูบสอนวิธีอ่านรายชื่ออาหารในเมนู และอธิบายวิธีสั่งอาหารจีนอีกด้วย

         เฟยสัมภาษณ์อีกว่าช่วงเกิดวิกฤตโควิดใหม่ๆ เขากังวลอยู่ว่าธุรกิจของเขาอาจต้องปิดตัวลงเพราะลูกค้าไม่สามารถมานั่งทานในร้านได้ เขาประคองธุรกิจให้พอไปรอดได้จากการขายเดลิเวอรี่ผ่านแพลทฟอร์มต่างๆ เช่น UberEats และ DoorDash แต่การโดนหักค่าธรรมเนียมบริการที่สูงก็ทำให้ร้านทำกำไรได้ต่ำมาก เดชะบุญที่กระแสไวรัลเกี่ยวกับร้าน Aunt Dai ทำให้ยอดขายพุ่งขึ้น เป็นเรื่องดีก็จริงแต่เขาก็จะยังคงนโยบายเดิมซื่อสัตย์ต่อตัวเอง ซื่อสัตย์ต่อลูกค้า ไม่เชียร์ขายจนโอเวอร์ และให้ลูกค้าเป็นผู้พิสูจน์เอง

 

ที่มา : www.foodnetwork.com, montreal.eater.com, www.news.com.au

 

 

www.smethailandclub.com

ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

จงปังนมสด ร้านดังแห่งสุราษฎร์ธานี แจ้งเกิดเพราะแบรนด์ดิ้ง และไอเดียทำคอนเทนต์จนเป็นไวรัล

"จงปังนมสด" ร้านดังเมืองสุราษฎร์ธานี ที่กำลังโด่งเป็นไวรัลขณะนี้ จากคลิปตัดต่อที่นำเสียงของเจ้าของเจ้าของร้านขนมปังชื่อดังย่านกทม. อย่าง "มนต์นมสด" มาเป็นแรงบันดาลใจในการทำธุรกิจ

SME อยากโตรับเทรนด์ ESG แม่ทัพกรุงศรีเอสเอ็มอี แนะ ลด-เพิ่ม-สร้าง โอกาสพลิกธุรกิจโตยั่งยืน

“ESG” คือตัวย่อของคำว่า Environment (สิ่งแวดล้อม)  Social (สังคม) และ Governance (ธรรมาภิบาล) เป็นแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน ซึ่งกำลังได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลก ไม่เพียงองค์กรขนาดใหญ่เท่านั้น ทว่าแม้แต่เอสเอ็มอี ก็สามารถสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน

สูตรปั้นนวัตกรรมให้ยอดขายโต 8 เท่าในปีแรก จากแบรนด์น้ำมันนวด Suwan Spray

ถ้าอุปสรรคเปรียบเสมือนบันไดไปสู่ความสำเร็จ การทำนวัตกรรมก็เปรียบเสมือนบันไดอีกขั้นของ "ณฐมน ปิยะพงษ์-ยุ้ย" เจ้าของผลิตภัณฑ์ "Suwan Spray" แบรนด์น้ำมันนวดที่นำสูตรบรรพบุรุษกว่า 100 ปีมาต่อยอดด้วยการใช้นวัตกรรมสกัดสารแก้ปวดจากเบต้าไพนีนในมะกรูด จนสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศนักธุรกิจนวัตกรรมมาครองได้