TEXT: วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์
เมื่อ 8 ปีก่อนตอนที่อดัม ลู หนุ่มสิงคโปร์เพิ่งจะเข้าสู่วัยเบญจเพศและทำงานในอุตสาหกรรมพาณิชย์นาวีคิดอยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง แต่ก็ขาดเงินทุน อีกทั้งประสบการณ์ในการทำธุรกิจก็ไม่มี อดัมจึงคิดหาหนทางที่จะเริ่มต้นธุรกิจโดยไม่ต้องลงทุนมาก และเจ็บตัวน้อยหากล้มเหลว แต่เขาควรจะเริ่มด้วยธุรกิจอะไรดี นั่นคือคำถามที่เขาต้องค้นหาคำตอบ
“นึกถึงประสบการณ์ช่วงวัยรุ่นที่เคยแบกเป้เดินทางท่องเที่ยวไปยังเมืองเวนิซ อิตาลี ที่นั่น ผมเห็นมีรถเข็นเล็ก ๆ ขายหอยนางรมสดตามข้างทาง ผมว่าเป็นไอเดียที่ดีหากจะทำรถเข็นขายหอยแบบนี้ในสิงคโปร์บ้างเพราะลงทุนไม่เยอะ อีกทั้งยังสามารถทำควบคู่กับงานประจำหลังเลิกงานตอนเย็นได้” อดัมกล่าวถึงที่มาของไอเดียธุรกิจ และเล่าเพิ่มเติมว่าโดยทั่วไป เมนูหอยนางรมมักเสิร์ฟตามร้านอาหารทะเล หรือไลน์บุฟเฟต์ แต่บาร์หอยนางรม หรือ oyster bar ซึ่งเป็นร้านที่เสิร์ฟเฉพาะหอยไม่ค่อยพบเห็นในสิงคโปร์ ประกอบกับเขาได้เคยรับประทานหอยนางรมสดคุณภาพดีแล้วเกิดประทับใจ จึงปักใจแน่วแน่อยากทำธุรกิจนี้
อย่างที่เกริ่นแต่ต้นว่าเงินทุนมีน้อย อดัมจึงเริ่มต้นด้วยการซื้อรถเข็น (food cart) จากห้างอิเกียในราคา 200 ดอลลาร์สิงคโปร์หรือราว 5,000 บาทแล้วนำมาดัดแปลงให้สามารถระบายน้ำจากน้ำแข็งที่ละลาย จากนั้นก็พิมพ์แผ่นพับโฆษณาแล้วไปหย่อนตามอาคารที่พัก และสำนักงานธุรกิจ The Oyster Cart ถือกำเนิดในปี 2013 ให้บริการหอยนางรมสดเกรดพรีเมี่ยมขายเป็นชุดมาพร้อมซ้อส
นอกจากตระเวณขายตามที่ต่างๆ The Oyster Cart ยังออกบู้ทตามงานด้วย ส่วนผลตอบรับนั้นค่อนข้างดีเลยทีเดียว หลังจากที่มั่นใจว่าธุรกิจไปรอดแน่ อดัมก็ลาออกจากงานมาลุย The Oyster Cart เต็มตัวพร้อมกับเพิ่มบริการเดลิเวอรี่ถึงบ้านอีกด้วย ปัจจุบัน อดัมขายหอยนางรมสดเฉลี่ย 20,000-28,000 ตัวต่อเดือน ซึ่งสามารถคำนวณราคาได้ง่าย ๆ ดังนี้ หอยนางรมประเภท Crown Flagship ชุดละ 12 ตัว ขายในราคาชุดละ 58 ดอลลาร์ (1,425 บาท) เดือนนึงขาย 2,000 กว่าชุด ยอดขายต่อเดือนจะตก 100,000 กว่าดอลลาร์ หรือเกือบ 25 ล้านบาท
อดัมเล่าวว่าเขาโชคดีที่เข้ามาจับธุรกิจนี้ตั้งแต่ยังไม่เป็นที่นิยม และเป็นรายแรกในสิงคโปร์ที่ทำ oyster bar เร่ขายแบบเคลื่อนที่ และบริการออนไลน์จัดส่งถึงบ้าน The Oyster Cart ได้รับการสนับสนุนจากลูกค้าจำนวนมาก และไม่น้อยกลายเป็นลูกค้าประจำเนื่องจากทางร้านเคร่งครัดกับการรักษามาตรฐานความสะอาดและคุณภาพสินค้า หอยนางรมที่ส่งถึงมือลูกค้ามีการคัดสายพันธุ์ บางรุ่นที่อื่นไม่มีขาย แต่อดัมก็สั่งมาบริการลูกค้า อาทิ หอยนางรม Ireland Carlingford จากไอร์แลนด์ที่มีรสเค็มปนหวาน และเจือรสแร่ธาตุบาง ๆ
หอยนางรมประเภทต่าง ๆ ที่นำมาบริการลูกค้าจะนำเข้าจากต่างประเทศ โดยส่งมางทางเครื่องบินทุกวันจันทร์และวันศุกร์ ความท้าทายอย่างหนึ่งคือการรักษาความสดของหอย ซึ่งอาหารทะเลนั้นเสี่ยงต่อการปนเปื้อนง่ายมาก การคัดเลือกพนักงานที่รู้งานมาดูแลสินค้าจึงเป็นเรื่องสำคัญ นอกเหนือจากแต่งกายดี สะอาดสะอ้าน พนักงานยังต้องมีความเชี่ยวชาญในสินค้า และสามารถให้คำแนะนำวิธีการบริโภคหอยนางรมประเภทต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี สิ่งเหล่านี้ถือเป็นภาพลักษณ์ของ The Oyster Cart
สำหรับหอยนางรมที่ไม่ได้มาตรฐาน เช่น หอยที่ตายแล้ว อดัมจะคัดออกและนำเปลือกหอยไปรังสรรค์เป็นงานศิลปะเพื่อร่วมรณรงค์ในกิจกรรมต่างๆ นอกจากหอยนางรมแล้ว ช่วงหลัง The Oyster Cart ยังมีอาหารทะเลอย่างอื่นมาเสริม เช่น หอยแครงนิวซีแลนด์ ปูหิมะอลาสก้า และกุ้งค็อกเทลที่ได้รับความนิยมจากลูกค้าเช่นกัน
อดัมเชื่อมาตลอดว่าการเปิดขายออนไลน์เป็นการขยายธุรกิจให้เติบโต ด้วยความที่เริ่มต้นขายออนไลน์แต่แรกจนชำนาญกับระบบ เมื่อเกิดวิกฤติโควิด-19 และรัฐบาลสั่งล็อคดาวน์ The Oyster Cart ก็ได้โอกาสลุยช่องทางออนไลน์เต็มตัว ยอดขายประมาณ 80 เปอร์เซนต์มาจากการขายออนไลน์ ยิ่งช่วงเทศกาลหรือวันสำคัญ ยอดขายจะมากกว่าปกติ ยกตัวอย่างช่วงวันพ่อของสิงคโปร์ The Oyster Cart ได้รับคำสั่งซื้อและจัดส่งหอยนางรมสดให้กับลูกค้า 250 ครอบครัวนอกจากนั้น ลูกค้ายังสั่งหอยนางรมเพื่อฉลองวันเกิดหรือวาระต่าง ๆ อีกด้วย สำหรับแผนต่อไปของอดัมคือการขยับจากรถเข็นไปสู่บาร์หอยนางรมที่ลูกค้าสามารถนั่งทานที่ร้านได้ และเมื่อสถานการณ์โรคระบาดคลี่คลายลงเมื่อไร เขาก็อยากจะนำ The Oyster Cart ไปตระเวณออกงานเทศกาลต่างๆ อย่างที่เคยทำ
ที่มา : https://vulcanpost.com/763416/the-oyster-cart-delivery-shucking-business-singapore/
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
RECCOMMEND: ENTREPRENEUR
เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ
ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว
เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย