LINE สร้างมิติใหม่ช่วย SME สายแฟชั่น เสิร์ฟโปรเจกต์ LINE Fashion Annuale ดันอุตฯ แฟชั่นไทยไปตลาดโลก




 
     เรียกว่าเป็นหนึ่งในโซเชียลมีเดียที่มีความสำคัญและถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการทำธุรกิจของผู้ประกอบการไทยกันมาก สำหรับ LINE” ซึ่งมียอดผู้ใช้งานมากกว่า 50 ล้านคนในไทย และมี Ecosystem ที่ครบครันเป็นของตัวเอง จึงช่วยตอบโจทย์การทำธุรกิจของ SME ได้อย่างครบถ้วนลงตัว ล่าสุดได้เผยถึงความเป็นมาของโครงการช่วยส่งเสริมผู้ประกอบการด้านแฟชั่น ซึ่งเป็น 1 ใน 3 กลุ่มธุรกิจที่เข้ามาทำการเปิดร้านบนไลน์มากที่สุด และยังสร้างมูลค่าส่งออกปีๆ หนึ่งไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาท ซึ่งมองแล้วว่ายังมีศักยภาพการเติบโตอีกมาก
 

     ด้วยเหตุนี้ LINE จึงผุดโปรเจกต์ LINE FASION ANNUALE 2021 คัดเลือกผู้ประกอบการสายแฟชั่น 14 แบรนด์ไทยสุดสร้างสรรค์ มาทำการอัพสกิลสู่มาตรฐานสากล สร้างโอกาสเติบโตให้ธุรกิจก้าวไกลกว่าเดิมกับกูรูแฟชั่นชื่อดังของไทย พร้อมถ่ายทอดสดในรูปแบบรายการไลฟ์คอมเมิร์ซสุดวาไรตี้บนไลน์ครั้งแรก ได้รับผลตอบรับดีเกิดคาดด้วยยอดวิวถล่มทลายเกิน  280,000 วิวในเวลาเพียง 2 ชั่วโมง แถมขึ้นอันดับหนึ่งติดเทรนด์ทวิตเตอร์ในเวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมง เป็นมิติใหม่ของการผลักดันวงการ SME สายแฟชั่นไทยที่เคยเกิดขึ้นมา
 





ส่งออกลด - อีคอมเมิร์ซโต 2 ปัจจัยผลักดันตลาดแฟชั่นไทย

 

     ทราย จารุเสน ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายพัฒนาธุรกิจ SME, LINE ประเทศไทย ได้เปิดเผยภาพรวมการเติบโตของแฟชั่นไทยโดยกล่าวว่าจากสถิติตัวเลขของสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอได้ระบุว่าในปี 2563 ไทยสามารถส่งออกธุรกิจการ์เมนต์ ได้แก่ สิ่งทอ เสื้อผ้าสำเร็จรูป โดยมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 2 แสนล้านบาท แต่ก็ได้รับผลกระทบเป็นอย่างหนักจากโควิด-19 ด้วยการเติบโตด้านการส่งออกลดลงจากปีก่อนถึง 16 เปอร์เซ็นต์ในเวลาต่อมา ขณะที่ตลาดอีคอมเมิร์ซมีมูลค่าเติบโตที่ 2.7 แสนล้านบาท โดย 62 เปอร์เซ็นต์เป็นการซื้อขายผ่านโซเชียลคอมเมิร์ซหรือช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ
 

     โดยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ก่อนการแพร่ระบาดของไว้รัสโควิด-19 ผู้บริโภคไทยมีการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ 88 เปอร์เซ็นต์ เพราะมีความมั่นใจมากขึ้น และล่าสุดเพิ่มสูงขึ้นเป็น 94 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากรู้สึกว่าสามารถช่วยลดความตึงเครียดจากมาตรการล็อกดาวน์ได้ โดยเป็นอัตราที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นอันดับหนึ่งของโลกเลยก็ว่าได้ถ้าเทียบกับอัตราการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ในประเทศต่างๆ
 

     จากตัวเลข 2 ส่วน คือ มูลค่าการส่งออกและการเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซในไทย แสดงให้เห็นว่ากลุ่มธุรกิจแฟชั่นมีศักยภาพและโอกาสการเติบโตได้มากกว่านี้ เมื่อเทียบกับกลุ่มธุรกิจอื่นๆ โดยจุดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์สำคัญของดีไซน์เนอร์หรือผู้ประกอบการแฟชั่นไทยมีอยู่ 3 ส่วน คือ 1.ความคิดสร้างสรรค์ และ 2. ทักษะฝีมือแรงงานในการตัดเย็บ และ 3. คือความสามารถในการเรียนรู้ด้านดิจิทัล ที่ถือว่าปรับตัวได้รวดเร็วเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่น ซึ่งสามารถนำมาพัฒนาต่อยอดเพิ่มขึ้นได้
 
 
     โดยนอกจากภาพรวมแล้ว ตัวเลขยอดผู้ใช้งานบนแพลตฟอร์มไลน์เองก็มีการเติบโตขึ้นเช่นกัน โดยตัวเลขล่าสุดในเดือนตุลาคมมีผู้ใช้งาน LINE OA ลงทะเบียนบัญชีกับไลน์ไว้มากถึง 4 ล้านบัญชี โดยแบ่งเป็นกลุ่มธุรกิจแฟชั่น ได้แก่ เสื้อผ้าแฟชั่น และแอคเซสเซอรีต่างๆ เช่น ตุ้มหู รองเท้า กว่าเกือบ 4 แสนบัญชีด้วยกัน เป็นอันดับสองรองลงมาจากกลุ่มผลิตภัณฑ์ความงาม ในส่วน LINE Shopping ที่นำมาใช้เป็นเครื่องมือหลักในโครงการดังกล่าวนี้ ที่ผู้บริโภคสามารถเข้าไปช้อปเลือกซื้อแบรนด์ต่างๆ ได้ในลักษณะเหมือนแคตตาล็อกให้กดซื้อและทำการชำระเงิน พิมพ์ข้อมูลจัดส่งสินค้าได้ด้วยตัวเอง พบว่าสินค้าแฟชั่น เสื้อผ้า รองเท้า แอสเซสเซอรี่ต่างๆ มีการซื้อขายมากเป็นอันดับ 1 เลยทีเดียว ด้าน LINE Ads Platform หรือการโฆษณาบนไลน์ พบว่ากลุ่มสินค้าแฟชั่นเองมีการใช้เงินเพื่อซื้อโฆษณามากถึง 15 เปอร์เซ็นต์ต่อเนื่องทุกเดือน
 





ผุดโปรเจกต์สร้างสรรค์ จับ Pain Point มาสร้างจุดแข็ง

 

     โดยผู้จัดการอาวุโสฝ่ายพัฒนาธุรกิจ SME ของไลน์มองว่าสิ่งที่เป็นปัญหาอุปสรรคทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจแฟชั่นไทยไม่สามารถเติบโตสู่ระดับสากลได้ทั้งที่ยังมีศักยภาพอยู่มากมาจากหลายปัจจัยด้วยกัน ได้แก่ 1. ขาดโอกาสที่ดีในการส่งเสริมสร้างมาตรฐานสู่ระดับสากล 2. ขาดการสร้างเอกลักษณ์ของแบรนด์และผลิตภัณฑ์ที่ชัดเจน ทำให้ลูกค้าไม่สามารถจดจำแบรนด์ได้ 3. ขาดองค์ความรู้ด้านดิจิตอลมาร์เก็ตติ้งแบบลงลึก โดยส่วนหนึ่งยังมองว่าเป็นเพียงแค่ช่องทางการขาย โดยลืมให้ความสำคัญกับการสร้างแบรนด์ และ 4. ขาดพื้นที่แสดงผลงาน หรือเวทีแจ้งเกิด
 

     จากปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้น จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดโปรเจกต์ “LINE Fashion Annuale” ขึ้นมา เพื่อช่วยส่งเสริมผู้ประกอบการสายแฟชั่นให้ได้ฝึกปรือฝีมือเพิ่มทักษะการทำธุรกิจ โดยจับมือร่วมกับกูรูชั้นนำของแฟชั่นไทย อาทิ ป้าตือ - สมบัษร ถิระสาโรช, อาร์ต – อารยา อินทรา และทีมงานนิตยสาร Vogue เป็นต้น โดยทำการกรูมมิ่งและเวิร์คช้อป ไปจนถึงการเรียนรู้การใช้เครื่องมือดิจิตอลมาร์เก็ตติ้งแบบเจาะลึกจากไลน์ตั้งแต่ช่วงกลางปีที่ผ่านมา โดยมีผู้สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการมากกว่า 500 ราย และมีผู้ผ่านการคัดเลือกเข้ารอบสุดยอด 14 แบรนด์ด้วยกัน
 




     ซึ่งภายหลังต่อมาได้มีการนำผลงานพรีคอลเลคชั่นของทั้ง 14 แบรนด์ มาจัดแสดงโชว์ในรูปแบบรายการไลฟ์คอมเมิร์ซบนไลน์เมื่อวันที่ 25 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยจัดขึ้นในรูปแบบวาไรตี้กึ่งเกมโชว์ด้วยการเชิญเหล่าศิลปินและเซเลบแฟชั่นนิสต้าชื่อดัง อาทิ พลอย หอวัง, ปิงปอง - ธงชัย ทองกันทม, โม - จิรัชยา ศิริมงคลนาวิน มาร่วมแข่งขันแต่งตัวมิกซ์แอนด์แมตช์ด้วยเสื้อผ้า เครื่องประดับจากทั้ง 14 แบรนด์ ขณะเดียวกันก็มีการนำคิวอาร์โค้ดของแต่ละแบรนด์ขึ้นโชว์ที่หน้าจอ เพื่อให้ลูกค้าที่สนใจสามารถสแกนไปยังร้านค้าของแบรนด์นั้นๆ ได้เลย โดยมีผู้สนใจเข้ารับชมมากเกิน 280,000 วิว ภายในเวลาเพียง 2 ชั่วโมง และขึ้นเทรนด์อันดับหนึ่งในทวิตเตอร์ Twitter ในเวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมง ส่วนยอดขายหลังจากเริ่มเปิดขายแบบเอ็กคลูซิฟบนช่องทาง LINE SHOPPING ผ่านไปหนึ่งอาทิตย์มียอดขายรวมมากเกิน 300,000 บาทเลยทีเดียว ซึ่งสินค้าพรีคอลเลคชั่นจาก 14 แบรนด์นี้จะถูกวางขายบน LINE SHOPPING จนถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้ จากนั้นจึงนำไปจำหน่ายบนช่องทางอื่นๆ ต่อไป
 

     “ไลน์เองมีความใส่ใจทั้งต่อผู้บริโภคและผู้ประกอบการต่างๆ บนไลน์ เราเห็นความสามารถของ SME ไทยโดยเฉพาะในด้านแฟชั่นที่มองดูแล้วมีศักยภาพที่สูง การจัดกิจกรรมดังกล่าวก็เพื่อเป็นเวทีแจ้งเกิดให้ SME แต่เรารู้ดีว่าเราเองไม่มีความรู้ความสามารถในด้านแฟชั่น แต่เรามีความรู้ในด้านมาร์เก็ตติ้งแพลตฟอร์ม จึงจับมือร่วมกับกูรูมืออาชีพด้านแฟชั่น เพื่อเสริมทักษะความรู้แบบรอบด้าน ทั้งด้านแฟชั่นและการตลาดออนไลน์แบบเจาะลึก ซึ่งอนาคตนอกจากผู้ประกอบการสายแฟชั่นแล้ว ในโอกาสหน้าเราอาจขยับไปทำในธุรกิจอื่นๆ เพิ่มขึ้นมาด้วย แน่นอนอีกตัวเลือกที่สำคัญ ก็คือ ธุรกิจร้านอาหารหรือฟุ้ดเดลิเวอรี เนื่องจากเป็นอันดับ 3 ของผู้ประกอบการธุรกิจที่ใช้งานบนไลน์มากที่สุด รองลงมาจากผลิตภัณฑ์ความงาม และสินค้าแฟชั่นนั่นเอง” ทราย จารุเสนกล่าว
 





โดดเด่นด้วย Ecosystem ตัวช่วยธุรกิจที่ครบครัน

 

     โดยในส่วนการทำดิจิตอลมาร์เก็ตติ้งนั้น ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายพัฒนาธุรกิจ SME ของไลน์กล่าวว่า ไลน์มีจุดเด่น คือ เป็นโซเชียลมีเดียที่มี Ecosystem เครื่องมือตัวช่วยธุรกิจให้กับผู้ประกอบการไทยได้อย่างครบครันทุกการใช้งาน ได้แก่ LINE OA เพื่อให้แบรนด์ติดต่อ ปิดการขายด้วยการพูดคุยกับลูกค้าได้สะดวกขึ้น, MyShop เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถอัพเดตสต็อกสินค้า จัดการระบบหลังบ้านได้ด้วยตนเอง, LINE SHOPPING ช่องทางการทำโซเชียลคอมเมิร์ซด้วยการสร้างแคตตาล็อกสินค้าเพื่อให้ลูกค้าสามารถกดเลือกซื้อสินค้า ชำระเงิน จ่าหน้าจัดส่งได้ด้วยตัวเอง และ LINE Ads Platform เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถออกแบบและเลือกซื้อโฆษณาผ่านไลน์ได้ด้วยตนเอง
 

     นอกจากนี้ยังมีกิจกรรม เพื่อช่วยส่งเสริมผู้ประกอบการ SME ด้านอื่นๆ เพิ่มขึ้นมาด้วย อาทิ การจัดสัมมนา SME BootCamp, รายการเสริมความรู้ SME Biz Talk โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ไปจนถึงผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จมาถ่ายทอดประสบการณ์ให้ฟัง รวมถึงช่องทางต่างๆ อีกมากมายที่ให้ความรู้แก่ SME ไทย ไม่ว่าจะเป็นใน LINE TV, ช่อง YouTube และ LINE TODAY ด้วย
 

     “ไลน์เองเรามีเครื่องมือต่างๆ ที่ประกอบกันเป็น LINE Ecosystem ค่อนข้างครบถ้วน จึงเป็นตัวช่วยที่ดีในการทำธุรกิจให้กับผู้ประกอบการ SME ได้ นอกเหนือจากนี้เรายังมีผู้ใช้งานในไทยมากกว่า 50 ล้านคน ดังนั้นผู้ประกอบการมั่นใจได้เลยว่าลูกค้าของเขาอยู่ตรงนี้ โดยปีหน้าเราตั้งเป้าการเติบโตเพิ่มขึ้นอีก 10 -15 เปอร์เซ็นต์แน่นอน”
 


     อีกสิ่งหนึ่งที่ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายพัฒนาธุรกิจ SME ของไลน์อยากฝากไว้สำหรับผู้ประกอบการ SME ไม่ว่าด้านแฟชั่นหรือด้านอื่นๆ เองก็ตาม คือ แบรนด์ควรหันมาใส่ใจด้านความยั่งยืน ได้แก่


     1. ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ การใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติที่สามารถย่อยสลายได้, การใช้อุปกรณ์วัสดุที่สามารถหมุนเวียนได้, กรรมวิธีการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเป็นต้น, การเลือกใช้โลโคลซัพพลายจากผู้ผลิตที่อยู่ในประเทศ เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทั่วโลกและผู้บริโภคกำลังให้ความสำคัญอยู่ ณ ขณะนี้ โดยเชื่อมั่นว่าหากสามารถทำได้ จะทำให้แบรนด์ได้รับการสนับสนุนในระยะยาว
 

     ส่วนข้อ 2. คือ ความยั่งยืนในตัวตนของแบรนด์ โดยต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละยุคที่เปลี่ยนไป เช่น เดิมหากแต่ก่อนหากอยากเลือกซื้อเสื้อผ้าสักชุด เราอาจต้องมีการจับดูเนื้อผ้าก่อนว่าใส่สบายไหม แต่ปัจจุบันเมื่อผู้บริโภคคุ้นชินกับการซื้อผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น เพราะสะดวกมากกว่า ความจำเป็นดังกล่าวอาจลดลง ดังนั้นแบรนด์จึงต้องคิดหาวิธีวิเคราะห์ว่าจะทำให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจและเข้าใจในตัวสินค้าได้อย่างไร ซึ่งอาจใช้วิธีถ่ายเนื้อผ้าให้เห็นแบบชัดๆ ก็ได้
 

     ที่สำคัญอีกสิ่ง คือ การสร้างตัวตนบนโลกออนไลน์ เมื่อพฤติกรรมลูกค้าหันมาเลือกซื้อผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น แบรนด์จึงควรใช้ช่องทางดังกล่าวให้เป็นโอกาส โดยไม่มองว่าเป็นแค่เพียงช่องทางการขายอย่างหนึ่งเท่านั้น แต่สามารถเก็บเป็นข้อมูลต่อยอดในการทำธุรกิจ รวมถึงสร้างปฏิสัมพันธ์อันดีกับลูกค้าได้ด้วย ซึ่งจะทำให้แบรนด์สามารถพัฒนาตนเองและเติบโตต่อไปได้ในระยะยาวอย่างยั่งยืนนั่นเอง
 



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

ทำธุรกิจซัก-รีด ยังไงให้มีรายได้สาขาละแสน ล้วงความลับกับเจ้าของแบรนด์ ตั้งใจซัก

หนึ่งในธุรกิจที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “เสือนอนกิน” นั้นต้องมีธุรกิจเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญติดในลิสต์เป็นอันดับต้นๆ ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตเป็นพิเศษโดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการที่สนใจเปิดธุรกิจนี้มากมาย แต่ถึงแม้จะเป็นธุรกิจเสือนอนกิน ใช่ว่าทุกคนจะเป็นเสือที่ได้กินธุรกิจนี้ง่ายๆ

Erabica Coffee ผู้ปักหมุด กาแฟน่าน ให้เป็นที่รู้จักระดับประเทศ

นี่คือสองสามีภรรยา ที่อยากมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่น่าน คิดสร้างแบรนด์กาแฟของตัวเองขึ้นมาในชื่อ Erabica (เอราบิก้า) กลายเป็นการยกระดับกาแฟน่านเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น

HEH ร้านอาหารย่านภูเก็ต เชฟใช้เวลาในครัวให้เหมือนอยู่ในสนามแข่ง ไม่อยากเป็นแค่ Just Another Restaurant

“HEH (เห)” ร้านอาหารสไตล์  Australian Contemporary กลางเมืองภูเก็ต สร้างเมนูอาหารให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพราะไม่อยากเป็นเพียง แค่ร้านอาหารร้านหนึ่ง