นาทีนี้ชายหนุ่มที่ฮอตที่สุดคงต้องยกให้ จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้ง Bitkub ธุรกิจที่สนใจเรื่อง Crypto รายแรกของไทย เริ่มต้นต่อสู้ธุรกิจเพียงลำพังจากคอมพิวเตอร์เก่าๆ หนึ่งเครื่อง กับห้องเช่าเล็กที่ประตูน้ำเป็นออฟฟิศแห่งแรก ไม่ต้องบอกว่าธุรกิจเขาประสบความสำเร็จแค่ไหน ผ่านไปแค่ 4 ปีวันนี้ธุรกิจของเขาได้รับความสนใจจาก SCBX ประกาศเข้าลงทุนใน “บิทคับ ออนไลน์” ด้วยการเข้าซื้อหุ้นสามัญในสัดส่วน 51% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 17,850 ล้านบาท
เสื่อผื่นหมอนใบอาจเป็นตำนานของเศรษฐีในยุคเก่า
นี่คือตำนานของมหาเศรษฐีในยุคดิจิทัล ที่เริ่มต้นด้วยคอมพิวเตอร์เก่าเพียงหนี่งเครื่องกับห้องเช่าเล็กๆ แถวประตูน้ำของชายหนุ่มที่ชื่อ จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา
“ผมมองว่านักธุรกิจคืออาชีพหนึ่งที่สามารถสร้างผลกระทบในวงกว้างให้กับประเทศได้ นี่คือสาเหตุที่ผมอยากจะทำธุรกิจของตัวเอง” จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ หรือ Bitkub กล่าวถึงแรงบันดาลใจในการเริ่มต้นสร้างธุรกิจสตาร์ทอัพของตัวเอง
เขาเสริมด้วยว่า ในวัยเด็กนั้นเป็นคนที่ไม่อยู่นิ่งชอบการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งเริ่มต้นทำงานสายวาณิชธนกิจที่เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ซึ่งเป็นอาชีพแรกหลังจากเรียนจบจากสหรัฐอเมริกา แต่ก็ทนต่อสภาพแวดล้อมในการทำงานที่มีข้อจำกัดไม่ได้ จึงตัดสินใจกลับมาประเทศไทย เปิดบริษัทของตัวเอง เพื่อที่จะได้ทำอะไรใหม่ๆ ที่คนอื่นยังไม่ได้ทำ โดยมุ่งหน้าที่จะทำธุรกิจสตาร์ทอัพ
“ผมมองว่าสตาร์ทอัพช่วยเปิดโอกาสให้ทำในสิ่งใหม่ๆ และเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา คนที่เป็นซีอีโอของบริษัทขนาดเล็กก็เป็นแบบหนึ่ง พอบริษัทใหญ่ขึ้นซีอีโอก็เปลี่ยนบทบาท ทำให้เราต้องปรับสภาพแวดล้อมอยู่ตลอดเวลา”
ผู้ที่เป็นแรงบันดาลใจในการทำธุรกิจของจิรายุสก็คือ Steve Jobs ผู้ก่อตั้ง Apple และ Jeff Bezos ผู้ก่อตั้ง Amazon เนื่องจากสองคนนี้ต้องฟันฝ่ากับคำหัวเราะจากคนอื่นในช่วงที่เริ่มก่อตั้งธุรกิจ จนพิสูจน์ตัวเองได้ว่าเป็นคนจำนวนน้อยที่คิดถูกและไม่เพียงแต่สร้างบริษัท แต่เป็นผู้สร้างและปฏิวัติวงการใหม่ขึ้นมาด้วยตัวเอง ส่วนต้นแบบของการเป็นนักลงทุน ก็คือ Warren Buffett และ Peter Lynch
ครั้งหนึ่งถึงกับประกาศว่า...จะไม่ทำอีกแล้วในชีวิต
เรียกได้ว่าหลังจากเรียนจบมาได้ไม่ถึงหกเดือน เขาย้ายงานกว่าสามแห่งตั้งแต่ที่เซี่ยงไฮ้มาจนถึงซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา โดยแต่ละแห่งนั้นทำงานเพียงแค่สองถึงสามเดือนเท่านั้น จนกระทั่งจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งบริษัทแรกของเขาเกิดขึ้นที่ประเทศไทย
“บริษัทแรกของผมชื่อ coin.co.th เป็นบริษัทที่เกี่ยวกับ Crypto Wallet รายแรกของประเทศไทย พนักงานมีผมอยู่คนเดียวเพราะไม่อยากจะขอเงินพ่อแม่ที่ส่งเรียนต่างประเทศมาหลายปีอีก โดยเริ่มจากการขอห้องว่างที่อยู่ชั้นสองของร้านขายเสื้อผ้าของครอบครัวที่ประตูน้ำเป็นออฟฟิศแห่งแรก คอมพิวเตอร์ก็ใช้ของเก่าตั้งแต่อยู่มหาวิทยาลัย”
สาเหตุที่สนใจธุรกิจเกี่ยวกับคริปโต เพราะสมัยเรียนที่ประเทศอังกฤษ วิชาที่ชอบเรียนที่สุดคือ ประวัติศาสตร์ทางด้านการเงิน ทำให้ได้รู้ว่าธุรกิจการเงินจะเปลี่ยนแปลงทุกๆ 50 ปี จนกระทั่งได้รู้จักกับ Bitcoin ครั้งแรกที่ประเทศจีน หลังจากที่ได้ศึกษาอย่างลึกซึ้งจึงมองเห็นว่านี่คือสิ่งที่จะมาเปลี่ยนแปลงโลกการเงินอย่างแน่นอน
และยิ่งได้ไปทำงานที่ซานฟรานซิสโก ก็ทำให้มีความรู้ในเรื่องของ Bitcoin มากยิ่งขึ้นจากอดีตผู้บริหารของ Paypal ช่วยย้ำความมั่นใจ ประกอบกับสิ่งแวดล้อมของที่นั่นมีแต่คนเป็นผู้ประกอบการ ทำให้ได้เรียนรู้ทักษะของการเป็น Entrepreneurship แต่กลายเป็นว่าเมื่อเริ่มต้นเปิดบริษัท ก็ประสบปัญหาที่ทำให้เจ้าตัวขอประกาศว่า...จะไม่ทำอีกแล้วในชีวิต
“10 เดือนแรกผมไม่ได้ไปไหนเลย อยากจะเก็บเงินไว้จ้างพนักงาน เพราะทำงานอยู่คนเดียว จนพอที่จะมีเงินทุนไว้จ้างพนักงานได้ก็ไม่มีใครยอมมาทำงานด้วยจนต้องให้ญาติมาช่วยสมัครเป็นพนักงาน ตอนนั้นก็เจอปัญหาว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยออกประกาศว่า Bitcoin เป็นสิ่งลวงโลกก็ถูกคุณแม่ขอร้องให้เลิกทำ แต่ผมยังเชื่อมั่นในสิ่งที่ทำก็ยังขยายงานต่อจนมีพนักงานจริงๆ อยู่ 5-6 คน เริ่มขยายออฟฟิศ คราวนี้ ปปง. ส่งจดหมายไปที่บ้านให้ไปรายงานตัวว่าทำการฟอกเงินหรือเปล่า เรียกได้ว่าปัญหาและอุปสรรคมีมากมายจนบอกได้เลยว่าจะไม่กลับไปทำแบบนั้นอีกแน่นอน”
แจ้งเกิดอีกครั้งกับ Bitkub
ต่อมาช่วงปี 2017 ตอนนั้น Bitcoin เริ่มได้รับการยอมรับ หลายประเทศเริ่มรับรองให้ถูกกฎหมายและเกิดกระแสฟีเวอร์ขึ้น จนกระทั่งเขาได้ตัดสินใจขายบริษัทให้กับ Gojek กลุ่มทุนจากประเทศอินโดนีเซีย จากนั้นก็ได้ไปประกวดฟินเทคกับทาง ก.ล.ต. ด้วยคอนเซปต์ของตลาดหลักทรัพย์ยุค 2.0 ก็ได้รับรางวัลชนะเลิศ จนตัดสินใจมาเปิดบริษัท Bitkub ซึ่งเป็นศูนย์ซื้อ-ขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้ไลเซนส์จาก ก.ล.ต.จนถึงปัจจุบัน
จิรายุสตั้งเป้าหมายกับ Bitkub ไว้ว่าจะต้องเป็น “ยูนิคอร์น” หรือสตาร์ทอัพที่มีมูลค่าธุรกิจ 1,000 ล้านดอลลาร์ฯ บริษัทของประเทศไทยให้ได้ เพื่อที่จะเป็นแรงบันดาลใจให้กับสตาร์ทอัพรายอื่นๆ ของไทยเติบโตตาม โดยมีความเชื่อว่าเมื่อนับหนึ่งได้แล้วจะสามารถมีสองและสามตามมาได้
“เราอยากทำให้คนไทยเชื่อว่าเราทำได้และเป็นบริษัทที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ และเมื่อเราเป็นกลุ่มแรกที่มีความเข้มแข็ง บริษัทสตาร์ทอัพรุ่นน้องต่อจากนี้ก็จะได้รับการสนับสนุนต่อเป็นทอดๆ เหมือนกับที่รุ่นใหญ่อย่าง Apple, Google, Microsoft สร้างตัวเองจนเข้มแข็งและเข้าไปลงทุนในสตาร์ทอัพรุ่นเล็กจนเติบโตได้ ผมมองว่าสตาร์ทอัพไทยจะต้องมีภาพแบบนั้นสักวัน”
จิรายุสให้มุมมองต่อคนรุ่นใหม่ที่อยากจะทำธุรกิจสตาร์ทอัพของตัวเองว่าถ้าคุณเป็นกลุ่ม Lucky Sperm หรือพ่อแม่ไม่คาดหวังจะได้รับการเลี้ยงดูจากเรา แนะนำว่าให้เริ่มลงมือทำเลย ไม่จำเป็นต้องไปทำงานอย่างอื่นก่อน เพราะเมื่อเราล้มจะไม่เจ็บตัวมาก
แต่ถ้ายังมีภาระต้องเลี้ยงดูพ่อแม่แนะนำว่าให้ไปหางานทำในอุตสาหกรรมที่เป็น New Economy จะดีกว่าเพราะหากเราล้มลงไปโอกาสที่จะยืนขึ้นได้มีไม่มาก การได้ทำงานในองค์กรยุคใหม่ก็เพียงพอที่จะทำให้เรารับมือต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกได้แล้วและต้องเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ที่โลกกำลังต้องการด้วย
“การทำสตาร์ทอัพไม่ง่ายและสวยงามเหมือนในซีรีส์แน่นอน เราต้องมีความเชื่อมั่นมากกว่าคนอื่น เห็นต่างในสิ่งที่คนอื่นมองไม่เห็นและกล้าที่จะทำมัน ผมอยากเห็นวงการสตาร์ทอัพของไทยเติบโตเทียบเท่าประเทศอื่นและเมื่อ Ecosystem ของสตาร์ทอัพไทยเข้มแข็งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นกับประเทศไทยได้อย่างแน่นอน” จิรายุสกล่าวทิ้งท้าย
ขอขอบคุณข้อมูล/ภาพ จาก Ted Fund Newsletter
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี