ต่อยอดธุรกิจยังไงให้ดังระดับโลก ฟังแนวคิดผู้บริหาร C2 Water น้ำดื่มไร้ฉลากรายแรกของไทย

TEXT: Neung Cch.





          เมื่อได้รับโอกาสมาบริหารธุรกิจผลิตน้ำดื่มของครอบครัวที่ดำเนินการมากว่า 40 ปี อาจโชคดีที่ไม่ต้องเริ่มต้นจากศูนย์ แต่ในความโชคดีก็มีความโชคร้ายเมื่อคู่แข่งในตลาดเพิ่มมากขึ้นกว่าเก่าถึงเกือบ 40% เพื่อมาช่วงชิงตลาดน้ำดื่มที่มูลค่าตลาดก็ไม่มากไม่มายโดยรวมอยู่ที่ประมาณ 3.6 หมื่นล้านบาท ไหนจะสงครามราคา ไหนจะต้องช่วงชิงลูกค้า


            ไม่ใช่แค่การรักษาธุรกิจให้รอดแต่ต้องเรียกว่าสร้างความท้าทายให้ ธัญรัศม์ จิรฐิติเกียรติ (ส้มโอ) รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ.เอส.เอ.คอร์ปอเรชั่น จำกัด ที่ไม่ได้วาดฝันต้องมาเป็นนักธุรกิจ แต่ก็สู้ไม่ถอยพร้อมตั้งเป้าหมายใหม่ที่ใหญ่และชัดขึ้นคือ ต้องการสร้างธุรกิจที่ยั่งยืน และวันนี้เขาคือเจ้าของแบรนด์ C2 ผู้ผลิตขวดน้ำดื่มไร้ฉลากรายแรกของไทยที่ไปคว้ารางวัลระดับโลกมาแล้ว





นับหนึ่งในวัย 19

           

          เพราะได้รับความไว้วางใจจากครอบครัวของแฟนให้เข้ามาช่วยบริหารธุรกิจน้ำดื่ม สิ่งที่สาวที่ ธัญรัศม์ ต้องเรียนรู้เพิ่มเติมนอกจากการเรียนสาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ในมหาวิทยาลัยแล้วก็คือ การทำธุรกิจน้ำดื่มทุกอย่างตั้งแต่การสั่งของ ติดต่อลูกค้า ทำบิล ไปจนถึงส่งของ


         “ต้องยอมรับว่าเราเข้ามาทำงานตอนอายุยังน้อย บางครั้งความที่เราเป็นเด็กเสียงเราก็จะเล็ก จะพูดอะไรก็ค่อนข้างยาก แต่เมื่อเราลงมือทำงานด้วยตัวเองทุกขั้นตอนแล้วสามารถพิสูจน์ให้เห็นได้ว่าเราทำได้จริงๆ ก็เป็นที่ยอมรับของคนในองค์กรรวมทั้งได้รับความไว้วางใจลูกค้า มันก็ทำให้เรามีความมั่นใจมากขึ้น”


          นั่นคือปัญหาด่านแรกๆ ในการเริ่มต้นทำธุรกิจของเธอ แน่นอนว่าเส้นทางนี้ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ และต้องแลกมาด้วยความเครียดหลายครั้งบีบคั้นให้น้ำในตาไหลออกมาไม่รู้ตัว
               

          “มันก็มีปัญหาหลายอย่างเกิดขึ้นและทำให้เราได้เรียนรู้และเติบโต เช่น ช่วงแรกๆ ที่รับงาน คำนวณดูว่าเครื่องจักรสามารถผลิตตามออเดอร์ได้ แต่ในความเป็นจริงมันยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกที่ตอนนั้นเรานึกไม่ถึง ทำให้เกือบทำงานส่งไม่ทัน ช่วงนั้นเครียดพอสมควร ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้ากันไปต้องเพิ่มกะทำงาน ผลิตเสร็จปุ๊บก็มีรถมารอรับถึงหน้าโรงงาน เป็นประสบการณ์เวลาทำงานต้องวางแผนให้ชัดเจนรอบคอบมากขึ้น”



                 


หนทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน

               

            เมื่อสั่งสมประสบการณ์ถึงจุดหนึ่ง นอกจากจะทำให้ธุรกิจครอบครัวสามารถเติบโตกว่าเก่าจากที่มีโรงงานผลิตอยู่ในกรุงเทพฯ ขยายโรงงานไปยังอยุธยา ขอนแก่น นครศรีธรรมราช แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้ ธัญรัศม์ รู้สึกภูมิใจในการทำธุรกิจคือ สามารถพาธุรกิจครอบครัวเจาะตลาดเซเว่นได้ แต่นั่นไม่ใช่เป้าหมายในการทำธุรกิจของเธอ 


          “พอเรามีลูกสองคน ยิ่งต้องสร้างธุรกิจที่มั่นคงให้ลูกต่อไป เหมือนที่ป๊า ม๊าทำมาให้เรา เราอาจโชคดีกว่าที่ไม่ต้องเริ่มจากศูนย์ มาถึงก็มีโรงงาน มีลูกน้อง มีทุกอย่าง เราต้องทำให้ธุรกิจไปต่อให้ได้ อยากมีแบรนด์น้ำดื่มของตัวเองที่ประสบความสำเร็จบ้างก็เลยเป็นที่มาแบรนด์ C2”


          แต่แบรนด์น้ำดื่มในท้องตลาดที่มีอยู่มากมาย การสร้างแบรนด์น้ำดื่มจึงไม่ใช่เรื่องง่าย เธอจึงมองหาช่องว่างในตลาด มาลงตัวที่น้ำดื่มเพื่อสิ่งแวดล้อม คือการผลิตขวดน้ำดื่มไร้ฉลาก ที่เป็นเทรนด์และเป็นความชอบของผู้บริโภคส่วนใหญ่ที่เห็นด้วยที่ได้ทำเพื่อโลก”





ไม่ใช่แค่ไร้ฉลากแต่ต้องรีไซเคิลได้ 100%



          เมื่อได้คอนเซปต์ของการทำน้ำดื่มที่ไร้ฉลากแล้ว เธอยังเพิ่มโจทย์ไปด้วยว่าต้องสามารถนำไปรีไซเคิลได้ 100% เพื่อให้เป็นน้ำดื่มที่รักษ์โลกอย่างแท้จริง ต้องใช้เวลาศึกษาค้นคว้าทดลองต่างๆ ราวสองปี ในที่สุดไม่เพียงได้ขวดน้ำที่สามารถรีไซเคิลได้ 100% แต่ในแง่ดีไซน์ก็ยังสวยจนสามารถไปคว้ารางวัลระดับประเทศอย่าง DEmark Award 2021 ยังคว้ารางวัลระดับโลกอย่าง Dieline Award 2021 ไปครองได้อีกด้วย


        “ตอนนี้ในท้องตลาดมีน้ำดื่มหลากหลาย การเป็นน้ำดื่มที่ช่วยโลกได้ เป็นช่องทางที่เราจะไปแทรกแบรนด์ใหญ่ๆ ในตลาด โชคดีที่ได้บริษัท prompt ของคุณแชมป์-สมชนะ กังวารจิตต์ ถูกใจคนมากๆ เราเพิ่งทำได้สองปี เรียกว่าอยู่ในช่วงพัฒนาสินค้าและมาร์เก็ตติ้งไปควบคู่กัน ฟีดแบคดีพอสมควร”


           ในแง่ต้นทุนผู้บริหารสาวยอมรับว่าการผลิตสินค้ารักษ์โลกจะมีต้นทุนค่อนข้างสูงอยู่แล้ว แต่เธอไม่ได้ขายสินค้าแพงกว่าท้องตลาด เพราะไม่อยากผลักภาระให้กับผู้บริโภค และอีกสส่วนหนึ่งคือการเป็นผู้ผลิตเอง ทำให้ต้นทุนไม่สูงเกินไป 


          ส่วนที่มาของชื่อ C2 Water เป็นคำพ้องเสียงมาจากคำว่า “See Through” ที่แปลว่า มองทะลุ เนื่องจากเราต้องการออกแบบเป็นน้ำขวดดื่มไม่มีฉลาก กับความหมายอีกนัยยะหนึ่ง ก็คือ C = “Circular Economy” เศรษฐกิจหมุนเวียน ส่วน 2 (ทรู) เราต้องการล้อเสียงกับคำว่า Together ความหมายโดยรวม คือ การออกแบบอย่างยั่งยืนที่ต้องคิดควบคู่กันไป





เหนื่อยเร็วได้พักผ่อนเร็ว

           

        กว่าทศวรรษที่อยู่ในธุรกิจน้ำดื่มเรียกได้ว่า ธัญรัศม์ ทุ่มเวลาทั้งหมดให้กับงาน อาจกล่าวได้ว่าชีวิตช่วงวัยรุ่นของเธอหายไปแต่สิ่งที่ได้กลับมาคือ ประสบการณ์การทำงานที่เร็วกว่าอีกหลายๆ คน


          “เราทำงานตั้งแต่เรียน พอเรียนจบก็ทำงานเลยไม่ได้ไปเที่ยว เหมือนเป็นช่วงกอบโกยความรู้ ความสามารถตั้งแต่อายุยังน้อย ในอนาคตอายุเยอะก็สบายเร็วกว่าคนอื่น” 


          นี่อาจเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ความคิดที่อยากจะทำงานวงการบันเทิงในวัยเด็ก ธัญรัศม์ เปลี่ยนไปและหันมาเอาจริงเอาจังทุ่มเทกับงานธุรกิจน้ำดื่มมากขึ้น เหมือนกับที่เธอย้ำเสมอว่า “ต้องเป็นอาชีพเราต่อไป จะต้องไปให้ไกลกว่าเดิม”





www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย