“The Great Resignation” หรือการลาออกครั้งใหญ่ จนทำให้เกิดการขาดแคลนแรงงานกำลังเป็นอีกปัญหาที่ธุรกิจทั่วโลกต่างต้องเผชิญหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้อุบัติขึ้นบนโลกใบนี้ สหรัฐอเมริกาพบสถิติคนลาออกจากงานกว่า 4 ล้านคนสูงสุดในรอบยี่สิบปีที่เคยเกิดขึ้น สตาร์บัคส์แห่ขึ้นค่าแรงเพื่อจูงใจพนักงานโดยกำลังจะเพิ่มขึ้นเป็น 15 เหรียญต่อชั่วโมง และอาจขึ้นให้ถึง 23 เหรียญต่อชั่วโมงในฤดูร้อนปีหน้านี้ ขณะที่ญี่ปุ่นพบอัตราคนว่างงานต่ำเพียง 2.9 เปอร์เซ็นต์ ไม่ใช่เพราะกำลังฟื้นตัว แต่เกิดจากปัญหาการขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก จนต้องยืดอายุวัยเกษียณออกไป และเปิดรับผู้สูงอายุกว่า 80 ปีให้กลับมาช่วยงาน เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างหนักนั่นเอง
เมื่อผู้คนเริ่มเรียนรู้ที่จะทดลองใช้ชีวิตวิถีใหม่ทั้งรูปแบบที่มีข้อจำกัดและไร้ซึ่งข้อจำกัด ได้มีเวลาอยู่กับบ้านมากขึ้น ทำงานในสถานที่ที่ไม่ใช่ออฟฟิศ ฝึกฝนทักษะใหม่ด้วยตัวเอง ทำอาหารกินเอง ตัดผมเอง ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ คือ การทดสอบมนุษย์ให้ลองออกจากกรอบเดิมๆ ที่เคยทำ จึงไม่แปลกที่วันนี้หลายคนจะลุกขึ้นมาเลือกทางเดินชีวิตตัวเองไม่ว่าการย้ายที่ทำงานใหม่ที่มีรายได้ดีกว่า หรือการลาออกเพื่อมาทำกิจการของตนเอง จนทำให้เกิดปัญหาแรงงานขาดแคลนระบาดไปทั่วโลกอยู่ในขณะนี้
โดยกลุ่มประเทศที่ต้องเผชิญปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างหนักจนถึงขั้นวิกฤตในขณะนี้ ได้แก่ 2 ยักษ์ใหญ่ คือ สหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร ซึ่งมองว่านอกจากปัจจัยจากโรคระบาดแล้ว แต่ละประเทศยังมีปัญหาเฉพาะด้านจากโครงสร้างพื้นฐานที่ส่งเสริมให้เกิดการขาดแคลนแรงงานในปัจจุบันด้วย
● สหรัฐฯ : เงินประกันตกงานสูง, บำนาญเกษียณที่เพิ่มขึ้น
เริ่มจากสหรัฐอเมริกามีรายงานระบุว่าหลังโควิด-19 เริ่มคลี่คลายและเปิดให้ธุรกิจต่างๆ เริ่มกลับมาดำเนินการได้ตามปกติ กลับมีแรงงานจำนวนมากเต็มใจจะทิ้งงานเดิมเพื่อเปลี่ยนไปทำงานที่ใหม่ที่ให้ผลตอบแทนดีกว่าหรือลาออกไปเพื่อประกอบกิจการของตนเอง โดยในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมามีตัวเลขคนลาออกจากงานมากกว่า 4.3 ล้านคน เป็นอัตราสูงสุดนับจากเดือนธันวาคมปี 2543 หรือเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน ขณะที่กลับมีตำแหน่งงานว่างอยู่มากกว่า 10.4 ล้านตำแหน่ง โดยภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหนัก คือ ภาคธุรกิจบริการและร้านอาหาร
ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าเมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อนนี้ ร้านพิซซ่าเก่าแก่ในชิคาโก้ชื่อ “Coalfire Pizza” ต้องออกมาประกาศปิดร้านชั่วคราว เหตุเพราะแค่พนักงาน 2 คนโทรมาลาป่วยพร้อมกันกะทันหัน ทำให้ขาดคนทำงาน โดยตลอดระยะเวลา 15 ปีที่ทำธุรกิจมาไม่เคยมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นมาก่อน
โดยมองว่านอกจากปัจจัยจากโควิด-19 ที่เข้ามาเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิตผู้คนให้เปลี่ยนไปจากเดิมแล้ว การที่ผู้คนส่วนหนึ่งเลือกที่จะไม่กลับเข้าไปทำงานอยู่ในระบบเหมือนเช่นเดิมมาจากปัจจัย 2 ส่วน คือ 1. เพราะเงินช่วยเหลือการตกงานจากฝ่ายพัฒนาการจ้างงานเอง (Employment Development Department : EDD) ที่บางคนได้รับสูงถึง 600 ดอลลาร์สหรัฐหรือราว 2 หมื่นกว่าบาทต่อสัปดาห์ และ 2. มองว่ามาจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่พุ่งขึ้นมากทำให้ผลตอบแทนเงินบำนาญเพื่อการเกษียณเพิ่มขึ้นมาก ทำให้หลายคนตัดสินใจเกษียณอายุการทำงานก่อนกำหนดมากกว่าจะกลับเข้าไปทำงานตามเดิม เพราะเป็นทางเลือกที่ดึงดูดใจมากกว่า
● สหราชอาณาจักร : ถูกซ้ำเติมจากการยกเลิกสัญญาเบร็กซิต
ในด้านสหราชอาณาจักร ซึ่งได้แก่ อังกฤษ สกอตแลนด์ เวลส์ และไอร์แลนด์เหนือ เป็นอีกหนึ่งกลุ่มประเทศที่ประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานอย่างหนักเช่นกัน โดยมีรายงานว่าตั้งแต่ช่วงมิถุนายน - สิงหาคม 2564 สหราชอาณาจักรมีตำแหน่งงานว่างมากถึง 1 ล้านตำแหน่งด้วยกัน ซึ่งนับเป็นสถิติสูงสุดในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา
โดยว่ากันว่านอกจากเป็นเพราะวิกฤตโควิด-19 แล้ว อีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้สหราชอาณาจักรต้องขาดแคลนแรงงาน ก็คือ การยกเลิกสัญญาเบร็กซิตหรือประกาศลาออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2563 ซึ่งส่งผลให้การเคลื่อนย้ายแรงงานจากนอกประเทศและในสหภาพยุโรป เพื่อกลับเข้าไปทำงานในสหราชอาณาจักรเป็นไปได้ยากลำบากมากขึ้นกว่าเดิมจากกฎระเบียบใหม่ที่ตั้งขึ้นมา ผิดจากตอนที่ยังคงเป็นสมาชิกอียูที่แรงงานสามารถเดินทางไปทำงานได้อย่างเสรีมากกว่า ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมาตั้งแต่การขาดแคลนแรงงาน ความล่าช้าการนำเข้าสินค้าและวัตถุดิบ
โดยกลุ่มแรงงานที่ขาดแคลนและส่งผลกระทบมากที่สุด ก็คือ พนักงานขับรถบรรทุก ซึ่งจากกฏระเบียบขั้นตอนทางศุลกากรที่ยุ่งยากมากขึ้นทำให้หลายคนปฏิเสธที่จะเดินทางมายังสหราชอาณาจักร โดยเพียงช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 พนักงานขับรถบรรทุกจากสหภาพยุโรปมากถึง 1.4 หมื่นคนลาออกจากงาน เพราะไม่อยากเดินทางเข้ามายังสหราชอาณาจักร และในเดือนกรกฎาคม ปี 2564 มีพนักงานขับรถเพียง 600 คนเท่านั้นที่กลับเข้ามาทำงานในสหราชอาณาจักร นอกจากนี้ สมาคมขนส่งสินค้าสหราชอาณาจักรยังออกมาประกาศว่า ปัจจุบันมีการขาดแคลนคนขับรถบรรทุกมากถึง 1 แสนคนด้วยกัน ซึ่งจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลให้เชนร้านอาหารบางแห่ง เช่น เคเอฟซีและแมคโดนัลด์ไม่สามารถเสิร์ฟอาหารและเครื่องดื่มบางเมนูให้กับลูกค้าได้ เนื่องจากเกิดปัญหาด้านซัพพลายเชน บางแห่งถึงขั้นต้องปิดสาขาไปก็มีเพราะวัตถุดิบไม่เพียงพอ
จากปัญหาการขาดแคลนแรงงานอย่างต่อเนื่อง การให้ค่าแรงที่สูงขึ้นจึงเป็นหนึ่งในวิธีที่หลายแบรนด์ต่างนำมาใช้จูงใจรักษาพนักงานเอาไว้ได้ ซึ่งเมื่อไม่ถึงสัปดาห์ที่ผ่านมาสตาร์บัคส์เชนกาแฟดังระดับโลกในสหรัฐอเมริกามีการประกาศขึ้นค่าแรงให้กับพนักงาน โดยระบุว่าในปลายมกราคมปีหน้าสตาร์บัคส์จะจ่ายค่าแรงให้กับบาริสต้าที่ทำงานมาแล้ว 2 ปี โดยขึ้นเงินเดือนให้สูงสุด 5 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ผู้ที่ทำงานตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไปจะได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้นถึง 10 เปอร์เซ็นต์ด้วยกัน
และในฤดูร้อนของปีหน้าจะขึ้นค่าจ้างรายชั่วโมงให้อีกเป็น 15 - 23 เหรียญต่อชั่วโมง จากปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ 14 เหรียญต่อชั่วโมง โดยจากการประกาศดังกล่าวมีผลทำให้ค่าจ้างเฉลี่ยสำหรับพนักงานรายชั่วโมงทั้งหมดในสหรัฐฯ อยู่ที่ 17 เหรียญต่อชั่วโมง สตาร์บัคส์ยังกล่าวอีกว่าได้ใช้งบประมาณไปมากกว่า 1,000 พันล้านดอลลาร์หรือราว 33,000 ล้านบาทในการจูงใจให้พนักงานอยู่ทำงานกับองค์กรในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
ขณะที่ Costco ห้างค้าส่งของสหรัฐฯ เอง ซึ่งเป็นที่ร่ำลือว่าเป็นบริษัทที่พนักงานทำงานแล้วมีความสุขที่สุดแห่งหนึ่ง โดยมีอายุเฉลี่ยของการทำงานอยู่ที่ 9 ปี ก็กำลังเพิ่มค่าจ้างเริ่มต้นให้แก่พนักงานเป็น 17 เหรียญต่อชั่วโมง โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคมนี้ ซึ่งก่อนหน้านี้เพิ่งประกาศปรับค่าแรงเป็น 16 เหรียญเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี้เอง
อีกหนึ่งแบรนด์ดังที่ยอมทุ่มค่าแรงเพื่อจูงใจพนักงาน ก็คือ แมคโดนัลด์ “Chris Kempczinski” ซีอีโอเปิดเผยถึงผลกระทบว่าทำให้การบริหารช้าลง และร้านบางแห่งก็ปิดก่อนเวลา เนื่องจากขาดแคลนแรงงาน ทำให้ไม่สามารถทำงานปกติได้เหมือนช่วงสถานการณ์ปกติ ขณะที่ผลประกอบการไตรมาส 3 กลับพุ่งสูงขึ้น โดยกล่าวว่านอกจากการประกาศขึ้นค่าแรงให้กับพนักงานแล้วแมคโดนัลด์ในรัฐอิลลินอยส์ยังได้เสนอ iPhones สำหรับผู้ที่ได้รับการว่าจ้างเข้ามาทำงานใหม่ ส่วนสาขาในฟลอริด้าประกาศให้เงิน 50 ดอลลาร์ให้แก่ทุกคนที่เดินทางสัมภาษณ์งานด้วย โดยปัญหาการขาดแคลนแรงงานมิได้เกิดขึ้นแค่กับแบรนด์เท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นกับห่วงโซอุปทานของธุรกิจ เช่น ผู้ผลิตเนื้อสัตว์ ,น้ำมันสำหรับทอด, ห่อกระดาษแพ็กเกจจิ้ง เป็นต้น จึงทำให้ต้นทุนวัตถุดิบขยับมากขึ้นกว่าเดิม เป็นเหตุให้แมคโดนัลด์ต้องขยับประกาศขึ้นราคาสินค้าอีก 6 เปอร์เซ็นต์ด้วยกัน
ขณะที่หลายแบรนด์ดังต่างทุ่มขึ้นราคาค่าแรงเพื่อหวังดึงพนักงานให้กลับมาทำงานด้วย ญี่ปุ่นเองซึ่งเป็นประเทศอยู่ในซีกโลกโซนเอเชียก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน ซึ่งแม้จะดูเหมือนว่าอัตราว่างงานในญี่ปุ่นจะต่ำกว่าประเทศยักษ์ใหญ่อื่นๆ ของโลกโดยอยู่ที่เพียง 2.9 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่สหรัฐอเมริกามีอัตราการว่างงาน 8.3 เปอร์เซ็นต์, จีน 5 เปอร์เซ็นต์, สหราชอาณาจักร 4.3 เปอร์เซ็นต์, และเยอรมนี 4.3 เปอร์เซ็นต์
แต่ก็ไม่ใช่ว่าเพราะเศรษฐกิจญี่ปุ่นสามารถฟื้นตัวได้รวดเร็วอย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่เกิดขึ้นเพราะการขาดแคลนแรงงานอย่างหนักต่างหาก จนทำให้หลายบริษัทเลือกที่จะไม่ปลดคนออก แถมบางแห่งกลับจ้างพนักงานผู้สูงอายุให้กลับมาช่วยทำงานด้วย เพราะอย่างที่รู้ๆ กันว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุมากที่สุดในโลกนั่นเอง โดยมีสัดส่วนสูงถึง 28 เปอร์เซ็นต์ รองลงมา คือ อิตาลี และโปรตุเกส ขณะที่อัตราการเกิดกลับลดลง จนส่งผลให้เกิดการขาดแคลนแรงงานเกิดขึ้น ซึ่งเป็นปัญหาที่ดำเนินมาก่อนหน้าจะเกิดการระบาดของโควิด-19 หลายปีแล้ว เช่นในปี 2557 เครือร้านอาหารชื่อดังอย่าง Zensho Holdings ต้องปิดสาขาลงกว่า 200 แห่ง เพราะหาพนักงานมาทำงานไม่ได้
มีการคาดการณ์ว่าในอีก 9 ปีข้างหน้า หรือปี 2573 ญี่ปุ่นจะต้องการแรงงาน 62.3 ล้านคน แต่คาดว่าจะมีอยู่เพียงแค่ราว 60.8 ล้านคนเท่านั้น โดยสิ่งที่รัฐบาลญี่ปุ่นพยายามทำเพื่อแก้ไขปัญหามีอยู่หลายข้อด้วยกัน ตั้งแต่การส่งเสริมแรงงานผู้หญิงญี่ปุ่นให้มากขึ้น, การนำหุ่นยนต์เข้ามาใช้ทดแทน, การลดหย่อนเงื่อนไขและข้อกำหนดให้แรงงานต่างชาติในการเข้ามาทำงานในญี่ปุ่น
และที่เด็ดสุด ก็คือ การผ่อนคลายให้ผู้สูงอายุสามารถกลับเข้ามาทำงานในระบบได้ โดยยืดอายุการเกษียณออกไป ว่ากันว่าบางบริษัทถึงขั้นจ้างคนสูงอายุกว่า 80 ปีให้เข้ามาทำงานแล้ว ยกตัวอย่างเช่นกรณีของ Nojima ร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้าชื่อดังของญี่ปุ่นที่ขยายเวลาเกษียณอายุของพนักงานออกไปจาก 65 ปีเป็น 80 ปี และรับคนวัยเกิน 80 ปีให้สามารถกลับมาทำงานได้ เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน และนี่เองจึงเป็นเหตุผลว่าเพราะเหตุใดญี่ปุ่นจึงมีอัตราการว่างงานที่น้อยทั้งที่เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานเช่นกัน เพราะมีการเตรียมการเอาไว้ล่วงหน้า รวมถึงเป็นประเทศแรกๆ ที่ต้องเผชิญวิกฤตขาดแคลนแรงงานก่อนประเทศอื่นๆ นั่นเอง
สำหรับในไทยเราปรากฏการณ์ดังกล่าวอาจยังไม่มีเกิดขึ้นให้เห็นได้อย่างชัดเจน แต่อย่างไรก็ตามคงต้องเตรียมตัวรับมือไว้ เพราะถึงจะไม่ส่งผลกระทบโดยตรงแต่จากการที่ประเทศคู่ค้าซึ่งเป็นตลาดส่งออกใหญ่ของไทยเกิดปัญหาขึ้น ผู้ประกอบการเองไม่ว่าส่งออกหรือนำเข้า ไปจนถึงผู้บริโภคก็ย่อมต้องได้รับผลกระทบตามมาเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นราคาวัตถุดิบและสินค้าที่อาจพุ่งสูงขึ้น ภาวะเงินเฟ้อในประเทศคู่ค้า การชะลอตัวการเติบโตของธุรกิจ และอื่นๆ ที่อาจตามมาอีกมากมาย
ที่มา : www.businessinsider.com
https://www.longtunman.com/33538
https://www.thairath.co.th/news/foreign/2207259
https://www.thairath.co.th/business/market/2161937
https://blockclubchicago.org
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี