การเปิดประเทศวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการกลับมาสู่สภาพปกติของธุรกิจท่องเที่ยวไทย ซึ่งจาก KTC Live Talk งานเสวนาออนไลน์ เคทีซีผนึกพันธมิตรธุรกิจ ร่วมบุกตลาดท่องเที่ยวไทยเต็มสตีม ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวไทยภาคส่วนต่างๆ พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเราอาจต้องพึ่งพานักท่องเที่ยวในประเทศเป็นหลักก่อน เพราะคนต่างชาติมักจะวางแผนเที่ยวกันแบบระยะยาวซึ่งได้วางแผนเที่ยวใน High season ปลายปีนี้ไปเรียบร้อยแล้ว
ส่วนความหวังจะคว้าเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยวต่างชาตินั้นอาจต้องรอถึงซัมเมอร์หน้าคือเดือนมีนาคม 2565 เป็นต้นไป
หากมองดูสถานการณ์ประเทศไทยในตอนนี้อาจจะไม่ได้พร้อมเปิดประเทศเต็มที่ แต่เมื่อคำนึงถึงภาพรวมในด้านเศรษฐกิจที่ต้องการการฟื้นตัว จึงต้องแบบกล้าๆ กลัวๆ ซึ่งประเด็นนี้ โชติช่วง ศูรางกูร รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท หนุ่มสาวทัวร์ จำกัด มองว่าการที่รัฐเพิ่งตัดสินใจไม่กี่สัปดาห์นี้อาจช้าไป
“ปกติแล้วปลายปีจะเป็นช่วงไฮซีซัน คนยุโรปมักจะเดินทางช่วงนี้ ลูกค้าของผมส่วนใหญ่ก็เป็นยุโรป ซึ่งเขาจะวางแผนล่วงหน้านานถึง 7-8 เดือน จนถึงตอนนี้เขาวางแผนเรื่องการท่องเที่ยวไว้หมดแล้ว เช่น ไปกรีซ ไปตุรกี เราเปิดตอนนี้ไม่ทันแน่นอน และหลังปีใหม่ไม่ใช่ช่วงท่องเที่ยวของเขาแล้ว ได้อีกทีหนึ่งก็คือซัมเมอร์ปีหน้า”
อย่างไรก็ตาม ตลาดท่องเที่ยวไทยยังคงเดินได้ด้วยคนในประเทศ จะเห็นว่าหลังจากที่ถูกล็อกดาวน์ภาคการท่องเที่ยวบูมมากหลังจากคลายล็อกเพราะคนมีความอัดอั้น แต่สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องเตรียมรับมือคือพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เต็มไปด้วยความอัดอั้นอยากเที่ยวต่างหาก
“วิธีการที่เราต้องดูแลลูกค้าคือพยายามทำความเข้าใจอินไซต์ของเขา เพราะการท่องเที่ยวต่อไปนี้จะมีความยุ่งยากมากขึ้น เช่น ถ้าจะเดินทางต่างประเทศหรือแม้แต่ในประเทศไทยเองต้องมีแอปพลิเคชัน ต้องโชว์เอกสาร ต้องตรวจโควิด ต้องมีการเตรียมตัวมากมาย สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดความไม่สะดวกในการเดินทางบ่อยครั้ง ความถี่เลยจะน้อยลง เพราะฉะนั้นลูกค้าจะเดินทางเป็น Long Trip มากขึ้น ใช้เวลาในแต่ละทริปนานขึ้น เราเห็นเทรนด์นี้มาตั้งแต่ปีที่แล้ว พอเที่ยวต่างประเทศไม่ได้ นักท่องเที่ยวไทยก็เอาเวลา 6-7 วันนั้นมาเที่ยวในประเทศแทน พอตอนนี้เปิดประเทศแล้วเราก็เห็นว่าลูกค้ายังมีความต้องการเดินทางระยะยาวอยู่ เพราะรู้สึกว่าการเดินทางแต่ละครั้งมีความเสี่ยง ความยุ่งยาก ฉะนั้นเที่ยวทีหนึ่งก็ไปให้คุ้ม”
ด้านสายการบินอย่าง Thai Vietjet ก็มองตลาดท่องเที่ยวไทยหลัง 1 พฤศจิกายนในทิศทางเดียวกัน และไม่ได้คาดหวังว่าวันแรกที่เปิดประเทศจะมีนักท่องเที่ยวเยอะเหมือนเช่นเคย แต่ต้องค่อยเป็นค่อยไปมากกว่าจะเปิดเต็มที่ทีเดียวแล้วต้องกลับมาเจอวิกฤตหนักอีกครั้งจนต้องถอยหลังหลายก้าว
ซึ่งเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา Thai Vietjet ก็ปรับตัวตลอดเวลา ทั้งเปลี่ยนเส้นทาง เปลี่ยนกลยุทธ์การตลาดว่าจะจับกลุ่มไหนหรือบินไปที่ไหน ซึ่งข้อจำกัดของธุรกิจสายการบินคือต้องวางแผนล่วงหน้าเพราะต้องมีการขออนุญาตบิน และจากก่อนหน้านี้ที่ Thai Vietjet มีเส้นทางบินในประเทศไม่มากนัก แต่ในช่วงโควิดต้องเปลี่ยนมาบินในประเทศมากขึ้น มีการเปิดเส้นทางใหม่ๆ จนปัจจุบันบินครบทั้ง 14 เส้นทาง
ปิ่นยศ พิบูลสงคราม Head of Commercial สายการบิน Thai Vietjet บอกว่า “ในช่วงวิกฤตสายการบินมองเห็นโอกาสเยอะมากทำให้เราสามารถกระโดดเข้าไปตว้าไว้ได้ เราเปิดเส้นทางบินไปทั้งเหนือ อิสาน ใต้ เริ่มเปิดข้ามภาค เช่น เชียงรายไปภูเก็ต เชียงรายไปหาดใหญ่ เรื่องของภายในหลายๆ อย่างเราก็พัฒนาขึ้น เรื่องของระบบสมาชิก ทำให้เราเอากระแสเงินสดเข้ามาได้บ้าง”
และสถานการณ์เดียวกันทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป โดยที่ตัดสินใจในนาทีสุดท้ายมากขึ้นเพราะความไม่แน่นอนของทั้งสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่และมาตรการภาครัฐ จนต้องดูก่อนว่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงอีกบ้าง ทำให้รูปแบบโปรดักต์และการส่งเสริมการขายเปลี่ยนไป มีการโปรโมทและขายตั๋วที่สามารถเปลี่ยนเที่ยวบินได้โดยไม่เสียค่าธรรมเนียม
ด้านของธุรกิจสวนสนุก สวนน้ำ ก็มีความหวังจากการที่เห็นธุรกิจเดียวกันในต่างประเทศซึ่งชัดเจนว่าไม่ว่าจะจะเป็นยุโรป สหรัฐฯ จีน หรือญี่ปุ่นก็ตาม เมื่อกลับมาเปิดให้บริการแล้วมีตัวเลขลูกค้าเข้ามามากกว่าปกติด้วยซ้ำ ซึ่ง วุฒิชัย เหลืองอมรเลิศ นายกสมาคมสวนสนุก และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สยามพาร์ค บางกอก ผู้บริหารสวนน้ำและสวนสนุกสวนสยาม ประเทศไทย ก็ค่อนข้างมั่นใจว่าสวนน้ำ สวนสนุก หรือสวนสัตว์ในประเทศไทยจะได้รับเสียงตอบรับจากลูกค้าดีเช่นกัน
ในฐานะผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว มี 2 ส่วนที่ต้องคำนึงถึงสำหรับการเปิดรับลูกค้าหลังจากนี้ คือ 1. มาตรการดูแลรักษาระยะห่าง จุดแข็งของธุรกิจสวนน้ำ สวนสนุกคือการอยู่ในพื้นที่โล่งที่ผู้ประกอบการสามารถช่วยผู้บริโภครักษาระยะห่างได้ด้วยโครงสร้างสถานที่ กับการเตือนลูกค้า วิธีนี้เป็นเรื่องยากกว่าเพราะหากคนกำลังสนุกแล้วถูกเตือนคงไม่สนุกอีกต่อไปจนอาจส่งผลเสียกับธุรกิจได้ แต่ผู้ให้บริการทุกรายคงต้องเผชิญกับปัญหานี้ แต่เป็นสิ่งที่ต้องทำเพื่อความปลอดภัยของลูกค้า
และ 2. พฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมาซื้อบัตรแบบออนไลน์มากขึ้น และใช้เงินสดน้อยลง ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องปรับตัว อย่างสวนสยามได้ปรับเรื่องการซื้อบัตรและบริการผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ และมีบริการผ่อน 0 เปอร์เซ็นต์จากที่ไม่เคยทำมาก่อนเพราะราคาบัตรสวนสนุกหรือสวนน้ำไม่ได้สูงมาก จนกระทั่งมีผู้บริโภคมาถามจึงตัดสินใจทำ เป็นการปรับตัวเพื่อตอบโจทย์ลูกค้ามากขึ้น
สนุกได้แต่ยังต้องเข้มมาตรการ
หากมองดูพื้นที่ชลบุรีหรือพัทยาที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมสำหรับนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ จากสถิติแล้วพัทยาเคยมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามาถึงเดือนละ 1 ล้านคนในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงมีนาคมของทุกปี ซึ่งจำนวนชาวต่างชาติที่เข้ามาคิดเป็น 60 เปอร์เซ็นต์ของนักท่องเที่ยว และสร้างรายได้ถึง 80 เปอร์เซ็นต์
แต่การเปิดประเทศในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ ธเนศ ศุภรสหัสรังสี รักษาการประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จังหวัดชลบุรี มองว่ายังมีข้อจำกัดอยู่หลายประการที่ทำให้ไม่สามารถดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาได้ ไม่ว่าจะเป็นเงื่อนไขการตรวจ RT-PCR ต้องซื้อประกัน อีกส่วนหนึ่งคือมาตรการของรัฐที่ยังเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาทำให้ประเทศไทยอาจไม่ใช่ตัวเลือกแรกๆ ของนักท่องเที่ยว หากมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเดือนละ 30,000-40,000 คนก็นับว่าเป็นตัวเลขที่สูงแล้ว
ซึ่งการเปิดรับนักท่องเที่ยวในวันที่สถานการณ์โควิดในประเทศไทยยังไม่แน่นอนนั้นต้องอาศัยการสื่อสารที่ดี ทั้งกับกลุ่มลูกค้านการชี้แจงเรื่องมาตรการที่เข้มงวด ที่จะทำให้นักท่องเที่ยวรู้สึกว่ามาแล้วปลอดภัย
กับอีกส่วนคือทำความเข้าใจกับคนในท้องถิ่นที่มองว่าเปิดประเทศเร็วเกินไปทั้งที่ยังฉีดวัคซีนกันได้ไม่เท่าไร และมีความกังวลว่าจะกลับมาระบาดอีกรอบหรือไม่ ในประเด็นนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือรัฐบาลต้องสื่อสารว่าถึงแม้เขาจะไมได้อยู่ในธุรกิจท่องเที่ยวโดยตรง แต่เมื่อมีนักท่องเที่ยวเข้ามาไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือต่างชาติก็จะทำให้มีเงินหล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจของประเทศได้
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี