เรามักคุ้นชินกับเขียงไม้ทรงกลมที่อยู่คู่กับครัวไทยมาเนิ่นนาน แต่ด้วยไลฟ์สไตล์ของผู้คนที่เปลี่ยนแปรไป การทำอาหารรับประทานเองน้อยลง คนรุ่นใหม่ที่ขยับย้ายไปอยู่ในห้องเล็กๆ บนคอนโดมิเนียมมากขึ้น เขียงจึงถูกดีไซน์ใหม่ ให้ล้อไปกับไลฟ์สไตล์ แต่จะพิเศษก็คือเป็นทั้งงานดีไซน์และงานคราฟท์ที่ ดิว-โกเมศ ฐิตะฐาน และ ฝัน-พิมฝัน ใจสงเคราะห์ ช่วยกันรังสรรค์ขึ้น ในนาม Pew’s
.
ในขณะที่พิมฝันซึ่งเป็นฟู้ด สไตลิสต์ พยายามหาเขียงไม้มาไว้ใช้ประกอบการถ่ายภาพบ้าง รองขนมปังบ้าง แต่กลับไม่พบที่ถูกใจ ครั้งเมื่อเข้าไปส่องในเว็บไซต์ eBay ที่มีฝรั่งทำมาโพสต์ขาย ก็พบว่ามีราคาแพงทีเดียวโดยหากเทียบเป็นเงินไทยก็ราว 5,000-6,000 บาท ดิวซึ่งทำงานกราฟิกดีไซน์ แต่อาศัยที่ชอบและคลุกคลีกับงานไม้มาตั้งแต่เด็กจึงอาสาทำเขียงไม้ที่พิมฝันอยากได้ให้ ด้วยการเน้นดีไซน์ความสวยงามแต่ใช้ประโยชน์ได้จริง
“พอเริ่มทำก็เริ่มมีคนเห็น สนใจถามกันมาเยอะ คนไม่รู้จักก็มาสั่งทำ จึงเริ่มลองทำขายดู ใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม และออกบูธ๊ตามงาน Flea Market ผลตอบกลับมาดี สามารถโฟกัสกลุ่มลูกค้าได้ชัดเจนว่าคือใครบ้าง ซึ่งคนที่ชอบงานเขียงไม้แบบนี้ก็มีทั้งคนต่างชาติที่มาอยู่เมืองไทย คนรุ่นใหม่ และร้านอาหาร ซึ่งอันนี้เป็นสิ่งที่ไม่คาดคิดตั้งแต่แรก ลูกค้ากลุ่มนี้จะใช้เอาไปเป็นถาดรองเสิร์ฟสเต๊ก หรืออาหารอื่นๆ ซึ่งออร์เดอร์แต่ละครั้งจะเยอะมาก เราเลยขยายไลน์มากลุ่มนี้ด้วย แล้วใช้โซเชียลมีเดียช่วยในการโปรโมตและขายด้วย”
เหตุผลสำคัญของการขยายกลุ่มลูกค้าที่เป็นร้านอาหาร นอกเหนือจากเรื่องดีไซน์ที่ตอบโจทย์แล้ว ยังเป็นเรื่องของความปลอดภัยด้วย ซึ่งดิวอธิบายเพิ่มเติมว่าเขาจะสร้างความมั่นใจให้กับบรรดาร้านอาหารว่าเขียงไม้ของ Pew’s ไม่เคลือบสารเคมีใดๆ ดังนั้น ถ้าล้างน้ำเก็บรักษาไม่ดีก็อาจจะเสียเร็ว แต่จะได้ความปลอดภัยในสุขภาพอย่างแน่นอน “เราอยากทำเขียงใช้งานได้จริง โดนอาหารได้ ไม่ใช่แค่เอาไปประดับอย่างเดียว หรือเอาไปใช้แล้วเกิดอันตรายต่อผู้บริโภค”
จากการที่ดิวได้มีโอกาสสอดส่องงานเขียงไม้ในต่างประเทศพบว่าในต่างประเทศจะมองการทำเขียงไม้เป็นงานคราฟท์ จึงสามารถตั้งราคาสูงเหมือนซื้องานศิลปะได้ แต่สำหรับดิวไม่เพียงแต่จะเน้นความสวยงามเท่านั้น หากยังให้ความสำคัญกับฟังก์ชันการใช้งานด้วย ราคาจึงสมน้ำสมเนื้อ
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลเพื่อธุรกิจเอสเอ็มอี