แหวกกระแสไม้ด่าง "เชียงคานแคคตัส" ปั้นธุรกิจทำรายได้แบบเสือนอนกิน

TEXT / PHOTO : Nitta Su.
 
 


     กระแสไม้ด่างกำลังมา แต่ถ้าจะย้อนไปเมื่อหลายสิบปีก่อน สำหรับคนอยากลองหัดเลี้ยงต้นไม้ แคคตัสหรือกระบองเพชรอาจเป็นหนึ่งในตัวเลือกแรกๆ ด้วยความที่ดูแลง่าย น่ารัก มีหลากหลายรูปทรงและหลายสายพันธุ์ให้เลือก ในวันนี้ที่กระแสไม้ด่างกำลังมาธุรกิจเลี้ยงแคคตัสเป็นอย่างไรกันบ้าง ไม้ทะเลทรายที่เคยนิยมนี้ ยังฮิตอยู่เหมือนเดิมไหม ลองมาพูดคุยกับ “เชียงคานแคคตัส” จุดเช็คอินแห่งใหม่ของเชียงคาน คาเฟ่สีขาวในห้องกระจกใสที่ทำธุรกิจปลูกแคคตัสขายควบคู่กันไปด้วย
 




จากในรั้วบ้าน สู่คาเฟ่สุดชิค

 

     ปิยวรรณ พัฒนกิจชัยกุล เจ้าของร้านเชียงคานแคคตัสคาเฟ่เล่าให้ฟังว่าเริ่มต้นปลูกแคคตัสมาได้ 8 – 9 ปีที่แล้ว โดยเริ่มจากความหลงใหลในรูปทรงต่างๆ ของแคคตัสก่อน จากนั้นจึงค่อยสั่งซื้อเก็บสะสมทีละต้นสองต้นได้เรียนรู้และทดลองขยายพันธุ์ด้วยตัวเอง จากพื้นที่เล็กๆ วันหนึ่งก็ขยายเป็นโรงเรือนขึ้นมาอยู่ในรั้วบ้าน จากแบ่งปัน ก็เริ่มมีลูกค้าตัวจริงแวะเวียนเข้ามากิจการสวนแคคตัสของเธอจึงได้เริ่มต้นขึ้น
             

     “จริงๆ เริ่มมาจากความชอบส่วนตัวก่อน ค่อยๆ ทยอยซื้อมาเก็บสะสมไว้ พอมีเยอะขึ้นก็เริ่มแบ่งปันให้กับเพื่อนบ้านบ้าง เอาไปฝากคนโน่นคนนี้บ้าง จนวันหนึ่งมันเยอะขึ้นมากเราเลยเริ่มทำเป็นโรงเรือนขึ้นมาที่หน้าบ้านเริ่มเปิดขายให้คนอื่นมาซื้อไปเลี้ยงบ้างและก็เปิดเพจขึ้นมา แต่ด้วยความที่อยู่ในรั้วบ้านจึงไม่ค่อยสะดวกเวลาลูกค้ามาดูต้นไม้ เพราะไม่มีที่ให้เขานั่งเล่น ห้องน้ำก็อยู่ในตัวบ้าน ก็คิดกันว่าจะทำยังไงดี จนกระทั่งได้ไปออกร้านที่งานๆ หนึ่งในตัวเมืองจังหวัดเลย เราก็เอาแคคตัสไปขาย ปรากฏว่าขายดีมากแค่ไม่กี่ชั่วโมงต่อวันแต่ได้เงินกลับมา 3 – 4 หมื่นบาท ทำให้เริ่มมองเห็นลู่ทางที่ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งพอเขาถามว่าสวนอยู่ที่ไหน เราก็บอกว่าอยู่เชียงคาน เลยมาคิดกันว่าไหนๆ เราก็มีจุดเด่นอยู่แล้ว ทำไมไม่ใช่ตรงนี้ให้เป็นประโยชน์ คือ ได้มาซื้อต้นไม้ที่เรา แล้วก็ได้มาเที่ยวเชียงคานไปด้วย พอดีมาได้ที่ติดริมถนนตรงนี้เลยตัดสินใจเปิดเป็นคาเฟ่ขึ้นมาและทำโรงเรือนอยู่ด้านข้าง ใครอยากแวะมาก็สะดวกมากขึ้น” ปิยวรรณเล่าที่มาให้ฟัง



 

สมดุลที่ลงตัว

 

     หลังจากที่เปิดตัวคาเฟ่ขึ้นมา งานในธุรกิจจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ คาเฟ่และโรงเรือนแคคตัส ซึ่งถึงจะมีงานร้านเข้ามาเพิ่ม แต่ทุกวันนี้เธอก็ยังเป็นคนสวนที่เลี้ยงกระบองเพชรเหมือนเดิม โดยวิธีการที่ปิยวรรณเลือกบาลานซ์ทั้งสองส่วนให้ลงตัว คือ การเทรนด์ลูกน้องขึ้นมาเพื่อให้ดูแลในส่วนคาเฟ่ ส่วนหน้าที่ดูแลแคคตัสจะเป็นของเธอและสามีเป็นหลัก


     “เราแบ่งงานออกเป็น 2 ส่วน คือ คาเฟ่และสวน โดยแบ่งหน้าที่กัน คือ เช้าก่อนเปิดร้านเปิดเราจะรีบทำเค้กให้เสร็จ จากนั้นจึงมาดูแลดูแลสวน ที่ร้านก็จะให้น้องๆ บาริสต้า ซึ่งเราเทรนด์มาแล้ว น้องสามารถอบพิซซ่า ทำขนมเพิ่มได้บางส่วน และดูแลลูกค้าได้ มีป้าแม่บ้านเป็นตัวเสริมคอยช่วยอีกคน แต่ถ้าวุ่นจริงๆ เราก็เข้าไปช่วย แต่ถ้าไม่มีอะไรหลักๆ เรากับสามีจะทำหน้าที่รับดูแลอยู่ที่โรงเรือน”





     ตัวร้านเองถึงแม้จะตั้งใจทำเป็นคาเฟ่ให้นั่งชิลล์ไว้คอยต้อนรับนักท่องเที่ยว แต่ปิยวรรณเล่าว่าเธอเองก็คาดหวังรายได้จากลูกค้าในท้องที่ด้วย การต้งราคาสินค้าจึงไม่สูงเกินไป เพื่อให้คนในพื้นที่สามารถมาใช้บริการได้บ่อยขึ้นด้วย


     “เชียงคานเป็นเมืองเล็กๆ จริงๆ เที่ยวแค่ไม่กี่ชั่วโมงก็หมดแล้ว นอกจากตั้งใจทำร้านขึ้นมาเพื่อรองรับลูกค้าแคคตัสของเราเอง เราจึงตั้งใจอยากให้เป็นอีกหนึ่งพื้นที่เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถแวะมาเช็คอิน ถ่ายรูป ดูต้นไม้ ทำกิจกรรมเวิร์กช้อปปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้นมาเป็นทางเลือกอีกอย่างหนึ่งด้วย แต่ขณะเดียวกันเราก็มองถึงผลระยะยาว คือ ไม่ได้รองรับแค่นักท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียวเท่านั้น คนเชียงคานเองก็สามารถเข้ามาใช้บริการได้ เรตราคาอาหารเครื่องดื่มเราจึงตั้งไว้ไม่สูง เป็นราคาที่ใครก็สามารถจับต้องได้ โดยเครื่องดื่มร้อนจะเริ่มต้นที่แก้วละ 35 บาท, เครื่องดื่มเย็นเริ่มที่แก้วละ 45 บาท ขนมชิ้นละ 20 บาทก็ยังมี พิซซ่าก็ถาดละ 170 บาท ไซส์ 12 นิ้วจำนวน 8 ชิ้น เรียกง่ายๆ ว่าหากมาคนเดียวมานั่งกินน้ำกินขนมที่ร้านเรามีเงินไม่ถึงร้อยก็สามารถมานั่งได้”
 




แคคตัสไม้เหนือกระแส มาเรื่อยๆ เงียบๆ แต่อยู่นาน

 
             
     เมื่อหากถามถึงกระแสความนิยมของการเลี้ยงแคคตัสเมื่อสิบกว่าปีก่อนเปรียบเทียบกับวันนี้ว่าแตกต่างไปจากเดิมอย่างไรบ้าง ปิยวรรณเล่าว่าถึงแม้ช่วงนี้กระแสไม้ด่างจะมาแรง แต่ความนิยมของกลุ่มคนรักแคคตัสก็ยังคงอยู่เหมือนเช่นเดิม อาจมีขึ้นลงบ้างตามกระแส แต่ก็ไม่เคยหายไปไหน
             

     “แคคตัสเป็นอะไรที่เลี้ยงง่ายมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว เหมาะสำหรับมือใหม่ที่อยากเริ่มหัดเลี้ยงต้นไม้ เพราะไม่ต้องดูแลเยอะ นานๆ ทีค่อยรดน้ำก็ได้ และเป็นไม้ที่มีฟอร์มให้เลือกเยอะ แต่ละตระกูลก็มีแยกย่อยออกไปอีก บางคนชอบดุดันมีหนามก็มีให้เลือก หรือใครชอบแบบน่ารักตะมุตะมิก็มีแบบขนฟูๆ ให้เลือก ปลูกได้ตั้งแต่พื้นที่เล็กๆ อย่างบนโต๊ะทำงานหรือจริงจังก็ได้ ซึ่งเมื่อสิบกว่าปีก่อนเคยซื้อต้นละ 20 บาทยังไง วันนี้ก็ยังมีขายอยู่”
             





     โดยสายพันธุ์ที่นิยมเลี้ยงกันมากในไทย คือ ตระกูลยิมโนคาไลเซียม ตระกูลแอสโตไฟตั้ม ที่น่าสนใจอีกอัน คือ ตระกูลอวบน้ำ โดยราคามักขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ อายุต้น และสังกัดของสวนแต่ละแห่ง หากสวนใดมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมากหน่อยก็จะได้รับความไว้วางใจและได้ราคาดี อาทิ สวนเพชรแต้มสี, สวนสนุนแคคตัสของโก๊ะตี๋ อารามบอย ผู้ปลูกแคคตัสหลายคนจึงพยายามสร้างจุดเด่นให้สวนของตัวเองเพื่อสร้างชื่อให้เป็นที่รู้จักในวงการแคคตัส


     “ทุกคนที่เป็นเจ้าของสวน เป็นคนปลูก เป็นคนผสมสายพันธุ์ต่างก็อยากมีความหวังเหมือนกันว่าวันหนึ่งหน้าไม้ในสังกัดของตัวเองจะมีความสวยแปลกและแตกต่างไม่เหมือนใคร โดยนอกจากลูกค้าที่ซื้อแคคตัสเพื่อไปเลี้ยงแล้ว บางทีเจ้าของแต่ละสวนนั้นแหละที่ช่วยอุดหนุนกันเอง เพื่อเก็บสะสม และตามหาพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ไม้แปลกๆ ใหม่ๆ มาผสมเพื่อขยายพันธุ์ออกไปอีก ซึ่งตอนนี้เขาฮิตเล่นไม้ด่าง ในวงการแคนตัสเองก็ฮิตเล่นหน้าไม้ที่มีรูปทรงและสีสันแปลกๆ เช่นกัน อย่างยิมโนคาไลเซียม ตอนนี้ก็ฮิตนำมาผสมให้ออกมาเป็นสีด่างมากขึ้น”





     โดยเล่าว่าคนที่เลี้ยงแคคตัสนั้นมีอยู่หลายระดับ เริ่มตั้งแต่ซื้อไปทดลองปลูกจากต้นละ 20 - 30 บาทก่อน เมื่อเริ่มรู้ว่าชอบรูปทรงไหนก็จะค่อยๆ ลงลึกและสรรหาอัพเลเวลขึ้นไปเรื่อยๆ จากเล็กๆ ก็ไปใหญ่ขึ้น จากไม้ตลาดก็เป็นไม้หายาก จากที่เคยซื้อก็เริ่มทดลองปลูกและขยายพันธุ์ด้วยตัวเอง อย่างที่สวนของเธอเองก็มีเริ่มตั้งแต่ราคา 20 บาทไปร้อยปลายๆ  ยกเว้นต้นที่หายากที่พ่อพันธุ์แม่พันธุ์ก็จะอีกราคาหนึ่งมีตั้งแต่หลายพันธุ์บาท ไปจนถึงหลักหมื่นก็มี โดยในจังหวัดเลยเองนั้นก็มีคนนิยมปลูกแคคตัสเป็นงานอดิเรกกันค่อนข้างมาก บางคนดั้งด้นมาไกลจากหลายอำเภอยอมขับรถมาไกลเป็นร้อยกิโลเมตรก็มี เช่น วังสะพุง, ด่านซ้าย, ภูเรือ เป็นต้น
 




ยิ่งเลี้ยง ยิ่งรวย

 
             
     ซึ่งเมื่อถามถึงการปลูกต้นไม้เป็นอาชีพว่ายังมีแนวโน้มที่น่าสนใจน่าลงทุนต่อไปอีกหรือไม่ ปิยวรรณได้ฝากไว้ว่า
             

     “ถามว่าเป็นอาชีพที่ดีไหม เป็นอาชีพที่ดีนะ สามารถเลี้ยงเราได้เลย จากตอนแรกเราเลี้ยงเขา จนทุกวันนี้เขากลับมาเลี้ยงเราได้ อย่างในช่วงโควิดที่ผ่านมาบอกตรงๆ เลยว่ารายได้ที่เข้ามาช่วยพยุงร้าน ค่าจ้างพนักงาน 3 คน ค่าน้ำค่าไฟนั้นได้มาจากแคคตัสเลย ซึ่งถ้าใครสนใจมุ่งเลี้ยงจริงๆ จากที่เห็นในวงการบางคนมีรายได้เป็นแสนเป็นล้านก็มี เพราะขายมานาน มีชื่อเสียง มีลูกไม้ในมือเยอะ เวลาปล่อยทีก็ได้เยอะ พอถึงระดับหนึ่งต้นทุนค่าใช้จ่ายในการดูแลก็ไม่ได้เยอะอะไรเลย เดือนหนึ่งดูแลแค่ 2 หน รดน้ำอาทิตย์ละครั้งเท่านั้น


     “ต้นไม้เขาไปได้เรื่อยๆ นะ เพราะเขาโตทุกวัน ราคาก็เปลี่ยนทุกวัน อย่างวันนี้ 20 บาทอีกเดือนหนึ่งราคาก็เปลี่ยนแล้ว ความมหัศจรรย์ คือ แค่ 1 เมล็ด ซึ่งเล็กมาก พอเพาะขึ้นมาเป็นต้นก็ขายได้ 20 บาทแล้ว ซึ่งต้นหนึ่งมีหลายเมล็ดมาก พอโตขึ้นวันหนึ่งอาจขายได้ 500 – 1,000 บาทก็ได้ มูลค่าก็อัพขึ้นไปเรื่อยๆ ดียิ่งกว่าฝากธนาคารหรือเทรดหุ้นซะอีก แต่ก็ต้องใช้ทั้งระยะเวลา แรงกายแรงใจ และความอดทนสูง แต่ถ้าเราดูแลเขาดี วันหนึ่งเขาก็จะกลับมาดูแลเราเอง” ปิยวรรณกล่าวทิ้งท้าย
 

 

เชียงคานแคคตัสคาเฟ่

Facebook : เชียงคานแคคตัสคาเฟ่

โทร. 0818737381

เปิด 8.30 - 17.00 น.

 




www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย