How to บริหารเงินสดให้รอดวิกฤต จากกูรูดัง ต่อ-Penguin Eat Shabu

TEXT : กองบรรณาธิการ
 



        โควิด-19 ทำให้พื้นที่เคยเป็นทำเลทองกลับกลายเป็นทำเลร้าง ทำเลที่เคยมีค่าเช่าที่แพง ปัจจุบันค่าเช่ายังแพงเหมือนเดิมแต่ร้านค้ากลับไม่สามารถขายได้ Penguin Eat Shabu (เพนกวิน อีท ชาบู) ก็เผชิญกับสถานนี้เช่นกัน จนต้องตัดสินใจปิดสาขากลางเมืองอย่างสยามสแควร์ไป เพราะมองว่าสถานการณ์ในอีก 1 ปีข้างหน้าก็ไม่สามารถกลับมาเหมือนเดิมแน่นอน


        ต่อ-ธนพันธ์ วงศ์ชินศรี ผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์เพนกวิน อีท ชาบู บอกในงานสัมมนาออนไลน์ Think for Growth : SME ยุควิกฤตโควิด-19...ทำอย่างไรให้รอด ว่า “สิ่งที่เราเจอคือธุรกิจขายของไม่ได้ ต้นทุนก็จมลงไปเรื่อยๆ เรามีต้นทุนที่ต้องแบกไปทุกเดือน แต่รายได้เราน้อยลง แล้วก็มีคนเข้ามาในธุรกิจมากขึ้น มีผู้ประกอบการร้านอาหารเพิ่มขึ้นแต่ในขณะเดียวกันตลาดร้านอาหารกลับเล็กลงเกิน 10 เปอร์เซ็นต์ นั่นหมายถึงว่า ก้อนเค้กเล็กลง แต่คนที่มาแบ่งก้อนเค้กมีเยอะขึ้น ถ้าเราไม่ได้อยู่ในสายตาลูกค้า ไม่ได้เป็น Top of mind ในสายตาลูกค้า ไม่มีทางอยู่รอดได้แน่นอน”


          เกือบ 2 ปีที่ผ่านมาเราได้เห็นชื่อของ เพนกวิน อีท ชาบู ในฐานะแบรนด์ที่งัดกลเม็ดออกมาทำการตลาดได้น่าสนใจสุดๆ มีแคมเปญใหม่ๆ ที่ทำให้ลูกค้าตื่นตาตื่นใจแบบที่แบรนด์อื่นต้องทำตาม นั่นเป็นหนึ่งเหตุผลที่ทำให้แบรนด์ยังอยู่รอดมาถึงวันนี้ แต่อีกมุมหนึ่งพวกเขาบริหารเงินสดให้มีสภาพคล่องอย่างหนักหน่วง





Worst Case Scenario เตรียมใจรับสถานการณ์ที่แย่ที่สุด

               

         โดยปกติแล้วผู้ประกอบการอาจจะวางแผนโดยคำนึงถึง Worst Case Scenario หรือสถานการณ์ที่เลวร้ายสำหรับธุรกิจคือยอดขายลดลง 30 เปอร์เซ็นต์แล้วจะต้องปรับตัวแบบไหน มีกระแสเงินสดเพียงพอกี่เดือน หรืออย่างมากที่สุดคือยอดขายตกลงไป 50 เปอร์เซ็นต์แล้วจะอยู่ได้นานแค่ไหน แต่บอกได้เลยว่าไม่มีใครเคยคิดว่าหากยอดขายหายไป 90 หรือ 100 เปอร์เซ็นต์จะปรับตัวอย่างไร!


         “ถ้าเราเจอสถานการณ์ที่ยอดขายเราค่อยๆ เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเหมือนปกติ ขึ้นทีละ 10-20 เปอร์เซ็นต์มันไม่ยากหรอกที่เราจะเพิ่มค่าใช้จ่ายหรือเพิ่มทีมงาน เพิ่มกำลังการผลิตหรือขยายพื้นที่ต่างๆ หรือ ถ้ายอดขายเราค่อยๆ ตก เราจะค่อยๆ ลดทีมงาน ลดกำลังการผลิตหรือลดขนาดของพื้นที่ สถานการณ์ปกติเราก็จะเจอแบบนี้ ไม่ขึ้นต่อเนื่องก็ลงต่อเนื่อง แต่สถานการณ์โควิดมันขึ้นๆ ลงๆ เดือนนี้ยอดขายกลับมาปกติ เดือนต่อมายอดขายเป็น 0 เดือนต่อมายอดขายกลับมา 60 เปอร์เซ็นต์ แล้วกลับไปยอดขายลดลง 70 เปอร์เซ็นต์ เพราะเราต้องทำตามภาครัฐกำหนด”


          ในมุมของเจ้าของธุรกิจจะต้องคิดว่าจะเพิ่มทีมงานดีไหม จะเพิ่มกำลังการผลิตดีไหม จะขยายสาขาดีไหม หรือต้องคิดว่าเมื่อภาครัฐสั่งปิดหน้าร้านขาย ต้องขายเดลิเวอรีอย่างเดียวเราก็จะคิดว่าจะเลย์ออฟพนักงานดีไหม ถ้าเลย์ออฟไปแล้วอีก 1 เดือนกลับมาเปิดจะทำอย่างไร สถานการณ์แบบนี้เป็นสถานการณ์ที่ยากที่สุดต่อการตัดสินใจ


เหลือเงินแค่ไหนถึงจะพอผ่านวิกฤต

 

          แต่ก่อนจะตัดสินใจว่าจะเอาอย่างไรกับธุรกิจต่อไป เขาให้คำแนะนำว่าลองเช็กกระแสเงินสดในมือก่อน ว่าเหลือพอจะผ่านวิกฤตไหม

 

 

           ถ้าเหลือเงินสดแค่ 0-1 เดือน แนะนำให้ปิดธุรกิจทันทีทันที เก็บเงินสดไว้ แล้วไปรอฟ้ากำลังใกล้จะเปิดค่อยไปลงทุน อย่ารอให้ติดลบแล้วค่อยไปปิดกิจการ เพราะถ้าสถานการณ์ดีขึ้นเราจะไม่เหลือเงินกลับมาเปิดธุรกิจ
 

         ถ้าเหลือ 3 เดือนแล้วปัจจุบันขาดทุนอยู่ คำแนะนำคือปิดให้เร็วที่สุด เพราะว่า 3 เดือนสุดท้ายนี่แหละที่ยังมีกระแสเงินสดพอที่วันหนึ่งสถานการณ์ดีขึ้น ยังไปเซ้งธุรกิจอื่นมาเริ่มต้นใหม่ได้ ปิดธุรกิจไปก่อน ทำตัวเป็นกบจำศีล เรียนรู้ ปรับตัว หาช่องทางการขายใหม่ๆ เพราะว่ากระแสเงินสดเพียง 3 เดือนถือว่าน้อยมากในวันนี้
 

        แต่ถ้าเงินเหลือ 3 เดือนแล้วยังพอเอาตัวรอดได้ถึงสิ้นปี หาทางออกไว้เนิ่นๆ เริ่มหาช่องทางการขายแบบใหม่ๆ หาธุรกิจใหม่ๆ เพราะเราไม่รู้เลยว่าถ้าเดือนหน้ากลับมาปิดอีก cash flow ที่เหลือ 3 เดือนอาจจะหมดในสิ้นปีนี้ก็ได้
 

           ถ้ามีเงินทุนสำรองเหลือ 6 เดือน แต่ยังขาดทุนอยู่ หาแผน 2 รอไว้ ถ้าปัจจุบัน cash flow ยังเป็นลบอยู่แล้วเราไม่รู้ว่าเดือนหน้าจะถูกปิดอีกหรือเปล่า เงินทุนสำรองจากที่เหลืออยู่ 6 เดือนอาจจะเหลือแค่ 3-4 เดือนก็ได้ แต่ถ้ายังพอเอาตัวรอดไปได้ ค่อยๆ หากลยุทธ์ใหม่ๆ ยังมีเวลาเรียนรู้ช่องทางออนไลน์ใหม่ๆ หรือเรียนรู้ธุรกิจใหม่ เรียนรู้ช่องทางการขาย เรียนรู้กลุ่มลูกค้าใหม่ๆ พลิกวิธีคิดตัวเอง
 

          ถ้ามีเงินหมุนธุรกิจไปได้อีก 1 ปี นับว่าเบาใจ หากยังขาดทุนอยู่ก็ต้องหาวิธีใหม่ๆ ว่าจะเอายังไงต่อ แต่ก็ยังมีเวลาในการเตรียมตัว แต่ถ้ายังพอเอาตัวรอด แสดงว่าธุรกิจเดิมยังโอเค แล้วหาทางเพิ่มกลุ่มลูกค้า เพิ่มช่องทางการขาย หรือต่อยอดเพิ่มโปรดักต์





“กระแสเงินสด” ทางรอดของ SME ยุคนี้

 

         ต่อเปรียบเทียบการทำธุรกิจเหมือนการทำฟุตบอล ที่มีกองหน้าคอยหารายได้ และมีฝ่ายกองหลังไว้ลดรายจ่าย จะมีประโยชน์อะไรถ้ากองหน้ายิงได้ 5 ประตูแต่กองหลังเสีย 6 ประตู ทีมก็แพ้ เช่นเดียวกันจะมีประโยชน์อะไรถ้ากองหลังตั้งใจไม่ให้เสียประตูเลยแต่กองหน้าก็ยิงประตูไม่ได้เลย แต่ในวันนี้ฝ่ายกองหน้ายิงประตูได้ยากกว่าเดิม การบริหารกระแสเงินสด หรือ Cash Flow จึงเป็นกองหลังที่สำคัญ
 

         แล้วมีวิธีการบริหารเงินสดอย่างไรให้ไม่ขาดมือ
 

          1. ต้องมีการตรวจสอบกระแสเงินสดตลอดเวลา ใครที่ไม่เคยจัดทำบัญชีเลยก็ต้องทำ ทำเองไม่ได้ไม่เป็นไร มีบริษัทบัญชีที่รับทำ มีโปรแกรมบัญชีอนไลน์ที่ผู้ประกอบการสามารถทำได้เอง รวมถึงมีหน่วยงานภาครัฐที่มาให้ความรู้เรื่องนี้ตลอดเวลา


          2. เปิดหน้าคุยเจรจาโดยตรงกับเจ้าหนี้ ทุกคนมีเจ้าหนี้ สิ่งที่เราต้องทำคือทำให้เงินไหลออกช้าที่สุด เช่น ปกติธุรกิจอาจจะจะมีเครดิตกับซัพพลายเออร์ 30 วัน บางทีต้องบอกตรงๆ ว่าเราต้องขอเพิ่มเครดิตเป็น 60 วัน หรือคงเครดิต 30 วันแต่ขอจ่ายก่อนครึ่งหนึ่งอีกครึ่งหนึ่งผ่อนผัดไปก่อน หรือกรณีที่มีมัดจำกับทางเจ้าของพื้นที่อยู่แล้ว 6 เดือน ฉะนั้น ขอจ่ายช้าไป 3 เดือนเพื่อเอาเงินไปจ่ายพนักงานก่อน เพราะพนักงานคือทรัพยากรที่สำคัญที่สุดขององค์กร


         3. ตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป เช่น ค่าเดินทางที่ไม่จำเป็น ค่าซื้อของที่ไม่จำเป็น


         4. แยกเงินส่วนตัวออกจากธุรกิจ ต้องคิดว่าผู้ประกอบการคือพนักงานเงินเดือนที่มีหุ้นส่วนในธุรกิจ


         5. มีรายได้หลายช่องทาง จากแต่ก่อนเรามีรายได้ทางเดียว มีตะกร้าใบเดียว พอถูกปิดหน้าร้านปุ๊บ รายได้เราเหลือ 0 เพราะฉะนั้นหลังจากนี้ธุรกิจห้ามมีรายได้ทางเดียว ห้ามมีกลุ่มลูกค้ากลุ่มเดียว ห้ามมีรูปแบบการขายแบบเดียว


         6. ถ้าทำทุกทางแล้วกระแสเงินสดเราไม่พอ ให้หาแหล่งเงินทุนเข้ามาเติม ยืมเพื่อน กู้สินเชื่อเข้ามา หรืออาจจะหาเป็นแหล่งเงินทุนจาก VC เพิ่มเติม ปัจจุบันนี้มีนักลงทุนที่หันมาลงทุนกับ SME มากขึ้น





วิชาตัวเบาสำหรับธุรกิจ

 
               
           ปัจจุบันธุรกิจจะทำตัวอุ้ยอ้ายโดยการแบกค่าใช้จ่ายทุกอย่างกอดไว้กับตัวไม่ได้แล้ว แต่ต้องทำตัวให้เบาที่สุด เพื่อให้ไม่ว่าจะยอดขายเยอะก็สามารถอยู่สบาย หรือยอดขายน้อยก็สามารถเอาตัวรอดได้
               

         ต่อแนะนำให้ทุกธุรกิจต้องรู้ “จุดคุ้มทุน”หรือ Breakeven Point คือจุดที่รายได้ต่อเดือนเท่ากับรายจ่ายพอดีเป๊ะ นั่นหมายความว่าผู้ประกอบการไม่ต้องเติมเงินเข้าไปให้ธุรกิจในเดือนนั้นเลย แต่ก็จะไม่ได้กำไรไม้แต่บาทเดียว ซึ่งจุดคุ้มทุนนั้นครอบคลุมรายจ่ายทั้ง ต้นทุนคงที่ ที่ไม่ว่าจะขายได้เท่าไรก็ต้องเสียเงินเท่านั้น เช่น ค่าเช่าพื้นที่ ค่าผ่อนชำระดอกเบี้ยเงินกู้ ค่าพนักงาน และต้นทุนผันแปร ที่จะเสียเพิ่มมากขึ้นหากขายได้มากขึ้น
               

           “ในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนแบบนี้การที่มีต้นทุนคงที่เยอะจะทำให้ธุรกิจปรับตัวได้ช้าและเป็นภาระ ฉะนั้นสิ่งที่ธุรกิจส่วนใหญ่ที่ปรับตัวได้เขาทำกัน คือ เปลี่ยนค่าใช้จ่ายคงที่ที่ต้องจ่ายเท่ากันทุกเดือน เป็นค่าใช้จ่ายแบบผันแปร”
               

           เขายกตัวอย่าง ธุรกิจค้าปลีกที่ต้องจ่ายค่าเช่าพื้นที่ร้าน 2-3 แสนบาท อาจจะไปเช่าพื้นที่ที่คิดค่าเช่าเป็น GP แทน เช่น คิด 30 เปอร์เซ็นต์ อาจจะเสียเป็น 300,000 บาทถ้าขายได้ 1 ล้านบาท แต่อาจจะเสียแค่ 150,000 ถ้ายอดขายตกลงเหลือ 5 แสนบาท ก็คือทำให้อีกฝ่ายมีส่วนได้ส่วนเสียกับธุรกิจ
               

          หรือการจ้างพนักงานที่มีฐานเงินเดือนสูง อาจจะขอลดฐานเงินเดือนแต่เพิ่มค่าคอมมิชชั่นที่สัมพันธ์กับยอดขาย ถ้าทีมงานทำให้ธุรกิจกลับมาบวกได้ ทุกคนก็จะได้รายได้ที่มากกว่าเงินเดือนปกติด้วยซ้ำ หรืออีกกรณีคือเปลี่ยนไปจ้างบริษัทภายนอก (Outsource) เช่น บางบริษัทมีพนักงานบัญชีอยู่ 7-8 คน เปลี่ยนเป็นใช้บริษัทบัญชีภายนอกทำให้ หรือบางบริษัทจ้างฝ่ายการตลาดเป็นพนักงานประจำ ไม่สามารถวัดประสิทธิภาพหรือผลงานได้ ลองเปลี่ยนเป็นจ้างเอเจนซี่ภายนอกทำ แม้ว่าจะจ่ายแพงขึ้นแต่สามารถวัดประสิทธิภาพงานได้และหากผลงานไม่ดีก็เปลี่ยนเอเจนซี่ได้เลย
 
 
            “ถึงแม้วิธีการนี้จะทำให้วันที่ขายได้ดี ผู้ประกอบการจะมีกำไรลดลง แต่ว่าทำให้ความเสี่ยงในธุรกิจลดลงเช่นกัน ซึ่งช่วงนี้อย่าเพิ่งพูดถึงกำไร เอาให้เราตัวเบาแล้วไปต่อได้จนถึงวันที่สถานการณ์กลับมา 100 เปอร์เซ็นต์น่าจะเป็นวิธีที่ดีกว่า”
 
 
 
 
www.smethailanclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

กว่าจะเป็น สุขกับป๊อกกี้ ร้านลับ ชื่อเท่ เมืองสัตหีบ ที่ใครมาก็ต้องได้ความสุขกลับไป

“สุขกับป๊อกกี้” คาเฟ่ & ร้านอาหารชื่อแปลกหู อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ที่แค่ฟังก็รู้ว่าต้องเป็นพื้นที่แห่งความสุข

บ้านอยู่ดีมีความสุข เกาะสีชัง กับแนวคิดทำธุรกิจให้มีขยะน้อยที่สุด

เราไม่สามารถลดขยะให้เป็นศูนย์ได้ แต่สามารถลดให้น้อยลงได้ แค่ลองตั้ง Mindset ค่อยๆ ลงมือทำไปทีละนิด ไม่ว่าใครก็ทำได้ เหมือนกับ “บ้านอยู่ดีมีความสุข” ที่พักเล็กน่ารักบนเกาะสีชัง จ.ชลบุรี ที่เริ่มต้นทำจากจุดเล็กๆ ไปทีละอย่าง

บ้านๆ น่านๆ ตำนานที่พัก+ห้องสมุด รายแรกของไทย ใช้สิ่งที่รักต่อยอดธุรกิจโตกว่าทศวรรษ

เพราะความรู้ ความบันเทิง ความรื่นรมย์ไม่ได้อยู่แค่ในหนังสือ แต่มันอยู่ในชีวิตเราทุกรูปแบบ นี่คือ เหตุผลที่ทำให้ "ชโลมใจ ชยพันธนาการ" (ครูต้อม) อดีตครูสอนวิชาภาษาไทยผันตัวมาเป็นเจ้าของที่พัก “บ้านๆ น่านๆ” ที่มีจุดขาย คือ มีห้องสมุดไว้สำหรับหนอนหนังสือเป็นรายแรกของไทย