TEXT: วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์
ย้อนกลับไปเกือบ 10 ปีก่อน “calligrapher” หรือ “นักออกแบบตัวอักษรผ่านลายมือ” เป็นอาชีพที่ยังไม่เป็นที่รู้จักในสิงคโปร์ แต่ปัจจุบัน ธุรกิจเกี่ยวกับ calligrapher เริ่มมีให้เห็นประปราย และคลาเรนซ์ วี หนุ่มสิงคโปร์เจ้าของบริษัทคราฟท์ แวรีส์ (Craft Varies) ก็เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการรุ่นแรกๆ ที่เข้ามาจับธุรกิจนี้
Typography หรือศาสตร์การจัดวางและการออกแบบตัวอักษรเพื่อการสื่อสารเป็นศิลปะสาขาหนึ่งซึ่งคลาเรนซ์ไม่คิดเหมือนว่าจะมาลงเอยด้วยอาชีพนี้ เขาจำได้ว่าตอนยังเด็ก เวลาพ่อกับแม่ ส่งไปเรียนพิเศษวิชาศิลปะ คลาเรนซ์จะไม่ทำการบ้านแต่เดินป่วนในห้องเรียนจนครูต้องคืนค่าเรียนให้ผู้ปกครอง
กระทั่งโตมาและได้เข้าเรียนที่ Temasek Design School สาขาการสื่อสารด้วยภาพ (Visual Communication) เขาก็เริ่มสนใจการใช้รูปแบบตัวอักษรในการถ่ายทอดไอเดีย อารมณ์ และตัวตนของคนคนหนึ่ง ดีกรีความสนใจในรูปแบบตัวอักษรเข้มข้นขึ้นจนถึงจุดที่ขณะเรียนปีสุดท้าย คลาเรนซ์เลือกเดินทางไปฝึกงานด้านนี้ที่เนเธอร์แลนด์เป็นเวลา 2 เดือน
หลังจากนั้นเขาก็ฝึกฝนเรื่อยมา รวมถึงการออกเดินทางไปยังที่ต่างๆ เพื่อเรียนรู้จากศิลปินคนอื่น เขาจริงจังถึงขนาดลงเรียนคอร์ส Sign Painting หรือการวาดป้ายอักษรที่ซานฟรานซิสโกจนได้เรียนรู้เทคนิคการใช้พู่กัน ยังไม่พอ เขาย้ายไปฝึกฝนที่อังกฤษกับเดวิด สมิธ ผู้เป็นตัวพ่อด้านนี้ ทำให้สามารถรังสรรค์ตัวอักษรลงบนวัสดุพื้นผิวต่างๆ เช่น แก้ว หรือกระจกได้
เมื่อกลับมาปักหลักที่สิงคโปร์ คลาเรนซ์ก็ไม่ได้มีเป้าหมายอะไรชัดเจน เขาได้แต่ฝึกฝนเรื่องการวาดการเขียนตัวอักษรทุกวันอย่างดำดิ่ง ไม่นาน ลูกค้ารายแรกก็มาเคาะประตูหลังจากเห็นผลงานที่เขาลงในอินสตาแกรมและโซเชียลมีเดีย คลาเรนซ์จึงเปิด Craft Varies และรับงานเรื่อยมาเป็นเวลาร่วม 10 ปีแล้ว
บริการของ Craft Varies คือการออกแบบลายมือเพื่อประทับลงวัสดุต่างๆ ตามความต้องการของลูกค้า อาทิ การจารึกข้อความบนซองหนังใส่หนังสือเดินทางแบรนด์โกยาร์ด การเขียนคำอวยพรในการ์ด การเขียนข้อความบนขวดแชมเปญเพื่อเป็นของขวัญ การเขียนถ้อยคำลงบนผ้าห่อสินค้า ไปจนถึงการเขียนเมนู หรือป้ายต่างๆ ภายหลัง Craft Varies ก็ได้ร่วมงานกับแบรนด์สินค้าหรูมากมายหลายแบรนด์ รวมถึงเบอร์เบอร์รี่ แบรนด์แฟชั่นชื่อดังจากอังกฤษ
สำหรับอาชีพการเป็น calligrapher หรือนักออกแบบตัวอักษรผ่านลายมือ หลายคนมักเข้าใจว่าเกี่ยวกับการเขียนอย่างเดียว แต่จริงๆ แล้วมีความแม่นยำเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย นอกจากนั้น บางคนก็คิดว่า calligraphy เป็นแค่การเขียนตัวอักษรสวยงาม ซึ่งหากแปลตามตัวตามรากศัพท์ภาษากรีกก็อาจจะใช่ แต่หลักการการทำงานจะใกล้เคียงกับ typeface หรือการออกแบบกลุ่มตัวอักษรแบบต่างๆ และเป้าหมายของตัวอักษรเหล่านี้คือการนำเสนอในสิ่งที่ต้องการสื่อไปถึงผู้รับหากเป็นของขวัญที่มอบให้กันก็จะเป็นของล้ำค่าที่ผู้รับต้องการ
คลาเรนซ์กล่าวว่างานของเขาไม่ได้มีสไตล์ที่เห็นปุ๊บจะรู้เลยว่าเป็นลายเซ็นต์ของเขา เนื่องจากเขาทำงานโดยอิงจากความต้องการของลูกค้าหรือแบรนด์ที่ว่าจ้างมากกว่า ดังนั้น เวลารับงานเขาจึงต้องศึกษาบุคลิกของผู้ว่าจ้างก่อนเพื่อให้งานออกมาตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่สุด
นั่นเป็นเหตุผลที่ว่าแม้จะอยู่ในวงการนี้มานาน แต่คลาเรนซ์ก็ไม่เคยหยุดฝึกฝนเลยสักวัน ยิ่งฝึกมาก งานก็จะยิ่งออกมาดี โดยทั่วไป เขาใช้เวลาฝึกเขียนฝึกวาด 1-6 ชั่วโมงต่อวันขึ้นอยู่กับตารางกิจกรรมในแต่ละวัน แม้จะมีฐานลูกค้าในสิงคโปร์อยู่แล้ว แต่สำหรับเป้าหมายทางธุรกิจในอนาคต คลาเรนซ์เปิดเผยว่าเขามีความฝันอยากไปปารีส ได้แสดงผลงานบนเวทีปารีสแฟชั่นวีค และร่วมงานกับแบรนด์ระดับโลก
ที่มา : https://cnalifestyle.channelnewsasia.com/entertainment/creative-capital-calligrapher-clarence-wee-craft-varies-253951
https://thegeneralco.sg/blogs/general-journal/clarence-wee-the-founder-of-craft-varies
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
RECCOMMEND: ENTREPRENEUR
เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ
ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว
เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย