กว่าจะเป็น “Asava Group” ผู้ออกแบบชุดนางงาม – นักร้องดัง ที่เคยกือบเจ๊งเพราะมีสต็อกผ้ากว่า 50 ล้าน

TEXT : กองบรรณาธิการ

PHOTO : Asava Group

 


     เรียกว่าเป็นแบรนด์แฟชั่นที่สร้างความตื่นเต้นและเซอร์ไพรส์ให้ได้อยู่เสมอๆ สำหรับ “Asava Group” ที่มีชายซึ่งเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังความคิดสร้างสรรค์อย่าง “พลพัฒน์ อัศวะประภา” หรือ หมู อาซาว่า เป็นเจ้าของ ล่าสุดกับผลงานออกแบบชุดผ้าไหมไทยให้กับนักร้องสาวชื่อดัง “ลิซ่า - ลลิษา มโนบาล” แห่งวง BLACKPINK ที่กำลังโด่งดังเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกในขณะนี้


     ซึ่งก่อนหน้านี้ 13 ปี ชื่อเสียงของ Asava ก็เป็นที่ยอมรับและรู้จักดีอยู่แล้วทั้งในวงการแฟชั่นบ้านเราและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นผู้อยู่เบื้องหลังชุดประกวดสาวงามไทยบนเวทีโลก กูรูด้านแฟชั่นเบอร์ต้นๆ ของเมืองไทย ไปจนถึงการเป็น Personal Stylist ด้านแฟชั่นดีไซน์ และนายกสมาคมแฟชั่นดีไซเนอร์ กรุงเทพ คนแรกของไทย





     แต่กว่าจะประสบความสำเร็จอย่างทุกวันนี้ได้ รู้ไหมว่าครั้งหนึ่งแบรนด์เคยเกือบเจ๊งเพราะบริหารจัดการผิดพลาดด้วยสต็อกผ้ามากกว่า 40 – 50 ล้าน เสื้อผ้าอีกกว่าเป็นหมื่นๆ ชุด จนต้องปิดร้านสาขาบางแห่งไปในที่สุด แต่ยังไงแล้วบนเส้นทางธุรกิจของแบรนด์ Asava ก็มีเรื่องราวให้น่าจดจำ บางอย่างสร้างแรงบันดาลใจ บางอย่างให้แง่คิด เหมือนกับเสื้อผ้าของเขาที่ค่อยๆ เฉิดฉายอยู่บนแคตวอคแฟชั่นให้เราได้คอยลุ้นคอลเลคชั่นใหม่ๆ ว่าแต่ละครั้งจะมีเรื่องเซอร์ไพรส์อะไรออกมาบ้าง
 

เติบโตในธุรกิจรถยนต์ แต่มาทำงานสายแฟชั่น

 
              
     ถึงวันนี้จะยืนหนึ่งอยู่ในวงการแฟชั่นบ้านเรา แต่จริงๆ แล้วชีวิตของหมู อาซาว่า กลับเติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่ทำธุรกิจดีลเลอร์รถยนต์ พี่ชายพี่สาวทุกคนเรียนต่อทางด้านบัญชี บริหาร เพื่อมารับช่วงต่อกิจการของครอบครัว ชีวิตของเขาช่วงแรกนั้นก็ดูจะดำเนินรอยตามครอบครัวเช่นกัน จนกระทั่งได้เริ่มอ่านนิตยสารแฟชั่นหลายฉบับ เช่น ลลนา, Vogue รวมถึงนวนิยายอย่าง พันธุ์หมาบ้า จนทำให้เขาเริ่มมองเห็นชีวิตนอกกรอบ ความอิสระ และโลกศิลปะ
             

     ชีวิตเขาเริ่มหลงรักแฟชั่นตั้งแต่อยู่มัธยม เคยขอเงินที่บ้านซื้อเสื้อจากห้องเสื้อแบรนด์ดังของดีไซเนอร์ไทยตัวละหลายพันบาท กระทั่งตอนสอบเข้ามหาวิทยาลัยเขาพยายามเบนเข็มมาเรียนในคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ โดยให้เหตุผลกับที่บ้านว่ามีคนเรียนด้านบัญชีและเศรษฐศาสตร์ไปแล้ว น่าจะมีคนรู้เรื่องการตลาดบ้างจะได้มาช่วยบริหารธุรกิจได้ครบ





     กระทั่งสุดท้ายเขาก็ได้พยายามเบนเข็มตัวเองเข้าไปสู่โลกของแฟชั่นด้วยการบินไปสมัครเรียนที่ Parsons School of Design ในนิวยอร์ก ทั้งที่เพิ่งหัดเรียนวาดรูปได้เพียงหกสัปดาห์ ยอมขายบ้าน ขายรถทิ้ง เพื่อเอาเงินไปเรียน กระทั่งสุดท้ายได้ฝึกงานที่ Marc Jacobs ชีวิตเขาก็เริ่มเข้าสู่คนทำงานแฟชั่นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จนกลับมาเมืองไทยและก่อตั้งห้องเสื้อเล็กๆ ของตัวเองขึ้นมาใช้ชื่อว่า Asava เมื่อปี 2551 ในที่สุด
 

แฟชั่นตัวแรกในชีวิตที่ออกแบบ คือ ชุดนอน ตอนอายุ 13

 
             
     หากจะถามว่าผลงานการออกแบบชิ้นแรกของหมู อาซาว่า ว่า คือ ชุดอะไร เริ่มต้นขึ้นเมื่อไหร่ น่าจะเป็นชุดนอนลายทางที่เขาออกแบบไว้เมื่อตอนอายุ 13 จากโจทย์ที่ครูให้ตัดเย็บชุดนอนมาส่งเป็นการบ้าน ซึ่งนักเรียนทุกคนนำชิ้นงานส่งไว้ตามปกติ แต่เขากลับเรียกเพื่อนมาใส่ให้ครูดู เพื่ออยากให้เห็นรายละเอียดตอนใส่จริงว่าสวยกว่ายังไง ถือเป็นแฟชั่นโชว์ครั้งแรกในชีวิต จนกระทั่งเริ่มหัดทำเครื่องประดับไปซื้อวัสดุอุปกรณ์จากสนามเสือป่ามาทดลองทำขาย จนม.6 ก็เริ่มบินไปจีนดูเสื้อผ้ามาขายมาดัดแปลงเป็นรูปแบบของตัวเองและฝากขายที่สยามสแควร์
 




เป็นเจ้าของแบรนด์แฟชั่นถึง 5 แบรนด์ ร้านอาหารอีก 2 แห่ง

 
             
     โดยหลังจากก่อตั้งแบรนด์แฟชั่นแบรนด์แรกของตัวเองออกมา หมู อาซาว่า ก็เริ่มแตกแบรนด์แฟชั่นของตัวเองออกมาอีกเรื่อยๆ กระทั่งปัจจุบันมีแบรนด์แฟชั่นอยู่ในมือภายใต้เครือ Asava Group ถึง 5 แบรนด์ด้วยกัน ได้แก่ ASAVA – ชุดสตรีที่ดูเรียบหรู แต่ก็มีความเท่ในตัว, ASV- ชุดสตรีที่ดูเรียบง่าย แต่มีความสดใสในตัว, White ASAVA - แฟชั่นชุดเจ้าสาว , Uniform by ASAVA – แบรนด์เสื้อผ้าชุดยูนิฟอร์ม และ MOO – แฟชั่นเสื้อผ้าผู้ชาย
             

     นอกจากนี้ยังแตกไลน์ธุรกิจด้วยการเปิดร้านอาหารเพิ่มขึ้นมาอีก 2 แบรนด์ ได้แก่ SAVA Dining – สร้างสรรค์มาจากเมนูในบ้านของเขาที่ชอบทำรับประทานกันในครอบครัว และ Co Limited (โค ลิมิเต็ด) ร้านอาหารสำหรับคนชอบสายเนื้อทุกประเภท
 




5 DNA ที่อยู่ในแบรนด์ Asava คือ ? 

             

     หากจะถามว่า DNA ของแบรนด์ Asava คือ อะไร หมู อาซาว่าเคยให้คำตอบไว้ 5 ข้อ คือ ผู้หญิงทำงานในเมืองใหญ่, ความโก้หรู ที่ไม่หวือหวา, สามารถสวมใส่ได้จริง, ฉลาดและรู้จักใช้ชีวิต และซื่อตรงต่อสไตล์อันเด่นชัดของตัวเอง ซึ่งราคาเสื้อผ้าในเครือ Asava Group จะอยู่ที่ราว 4,000 ถึงหลักหมื่นบาทขึ้นไป
 

เชื่อในการมีวินัย มากกว่า Passion จากจินตนาการอย่างเดียว

 
             
     แม้จะทำงานด้านศิลปะ แต่หมู อาซาว่าเคยให้สัมภาษณ์ไว้ในสื่อหลายสำนักว่า เขาเชื่อในความมีวินัยในการทำงานมากกว่าการมีแพสชั่นเพียงอย่างเดียว เนื่องจากเป็นอาชีพที่อิสระ ไม่มีกฎเกณฑ์ใดๆ มาบังคับ การจะสร้างสรรค์งานให้ออกมาดีได้ จึงต้องใช้การฝึกฝนด้วยตนเองและมีวินัยมากกว่าอาชีพอื่นๆ เพื่อเรียนรู้ และพัฒนางานต่อไปได้เรื่อยๆ  
 




เคยเกือบเจ๊งเพราะมีสต็อกล้นกว่า 50 ล้าน
และเสื้ออีกกว่าสองหมื่นตัว

 
             
     ถึงจะแตกไลน์ธุรกิจออกมามากมาย แต่ครั้งหนึ่งหมู อาซาว่า ก็เกือบทำธุรกิจของเขาเจ๊งด้วยการมีสต็อกผ้าอยู่ในมือมากกว่า 40 – 50  ล้านบาท และเสื้ออีกราวสองหมื่นกว่าตัวอยู่ในโกดัง จนทำให้ตัวเลขในบัญชีติดลบ เหตุผลมาจากความลำพองคิดว่าใครๆ ก็อยากได้เสื้อผ้าของตัวเอง จึงขยายธุรกิจรวดเร็วเกินไป ทั้งการขยายสาขาและการผลิตจำนวนมาก บวกกับมาเจอวิกฤทางการเมืองราวปี 2553 ห้างปิด ไม่สามารถขายของได้ นักท่องเที่ยวไม่มี จนโดนยื่นคำขาดจากที่บ้านให้ปิดแบรนด์ แต่เขาไม่ยอม


     จนสุดท้ายจึงตัดสินใจปิดสาขาแรกที่พารากอนเนื่องจากมองว่าเป็นรูรั่วใหญ่ เพื่อช่วยพยุงธุรกิจที่เหลือไว้ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเลิกเที่ยว หยุดดื่ม ตั้งสติและค้นหาตัวตนใหม่อีกครั้ง จนสามารถกลับมาตั้งหลักได้ในที่สุด
 




ทำรายได้ปีที่ผ่านมา 200 กว่าล้านบาท

 

     หลังจากผ่านพ้นวิกฤชีวิตมาได้ Asava Group ก็เติบโตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยปีที่ผ่านมาล่าสุด (ปี 2563) มีทรัพย์สินรวม
170,028,056.53 บาท รายได้รวม 201,037,738.67 บาท กำไร 15,747,356.03 บาท
             

     เหตุผลหนึ่งที่ทำให้แม้จะต้องเจอเข้ากับวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ธุรกิจของเขาก็ยังสามารถมีกำไรอยู่ได้นั้น เป็นเพราะการคิดใหม่ ซึ่งจากเดิมนั้นธุรกิจเสื้อผ้าของเขามีลูกค้าเป็นชาวต่างชาติอยู่ถึง 1 ใน 3 จากยอดขายทั้งหมดทีเดียว ทำให้ต้องหาวิธีทำตลาดกับลูกค้าในประเทศให้มากขึ้น โดยการหันมาสู่การขายผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น สร้างปรากฏการณ์ใหม่จากแคตวอคสู่ออนไลน์
             

     โดยนอกจากจะจัดจำหน่ายผ่านช่องทางของแบรนด์ เช่น เว็บไซต์ และโซเชียลมีเดียต่างๆ แล้ว ยังได้ขับเคลื่อนให้เกิดความร่วมมือขึ้นระหว่างสมาคมแฟชั่นดีไซน์เนอร์กรุงเทพฯ (Bangkok Fashion Society) และแพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์อย่าง Lazada เพื่อเปิดตัว Thai Designer Club รวบรวมแฟชั่นจากไทยดีไซน์เนอร์ชั้นนำ ผลักดันสินค้าแฟชั่นในกลุ่มพรีเมียมสู่ตลาดออนไลน์ ถือเป็นปรากฎการณ์ใหม่ของวงการอีคอมเมิร์ซและแฟชั่นพรีเมียมในเมืองไทยที่ไม่เคยมีมาก่อนด้วย
             

     และนี่คือ เรื่องราวทั้งหมดของแบรนด์ที่มีชื่อว่า Asava และผู้ชายชื่อ หมู อาซาว่า เชื่อว่าถึงตรงนี้คงมีคนรู้จักเขาดียิ่งขึ้นมากกว่าการเป็นผู้อยู่เบื้องหลังชุดไทยในเอ็มวีของนักร้องสาว ลิซ่า BLACKPINK อย่างแน่นอน!
 

 



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย