ออกแบบบรรจุภัณฑ์ยังไงให้ถูกใจตลาดโลก ถอดแนวคิด“ สมชนะ กังวารจิตต์” นักออกแบบมือรางวัลระดับโลก

TEXT : Surangrak Su.





        เรียกว่าเป็นนักออกแบบรุ่นใหม่ไฟแรงที่สร้างความตื่นเต้นและน่าเหลือเชื่อให้กับวงการออกแบบบรรจุภัณฑ์ไทยได้อยู่เสมอๆ สำหรับ “สมชนะ กังวารจิตต์” ผู้ก่อตั้งบริษัท พร้อม ดีไซน์ เอเชีย จำกัด หรือเรียกสั้นๆ ว่า “Prompt Design” โดยเมื่อปีที่แล้วได้คว้า 3 รางวัลจากการประกวดออกแบบบรรจุภัณฑ์ของโลกอย่าง Dieline Awards มาครองจนเป็นที่ฮือฮามาแล้วครั้งหนึ่ง ในปีนี้ก็ไม่พลาดอีกเช่นกันสร้างความตื่นเต้นด้วยการคว้ารางวัลที่ 1 จำนวน 3 รางวัลจากรายการเดิมมาครองได้เหมือนเคย และยังมีอีกหลายรางวัลมากมายตามมา


          วันนี้เราจึงขอหยิบสุดยอด 5 ผลงานการออกแบบที่ภาคภูมิใจ เป็นที่ชื่นชอบในสายตาของผู้บริโภคทั้งชาวไทยและต่างชาติ แถมแต่ละชิ้นงานยังมีดีกรีรางวัลระดับโลกมารับรองอย่างไม่ต่ำกว่า 5 รางวัลมาฝากกัน


 

ชื่อผลิตภัณฑ์ :  C2 Water No Label
ดีกรี : 7 รางวัล
จุดเด่น : ขวดน้ำดื่มไร้ฉลาก


แนวคิด


           “ไอเดียชิ้นนี้เกิดขึ้นมาจากการที่ลูกค้า ซึ่งเดิมทำธุรกิจ OEM รับจ้างผลิตน้ำดื่มให้กับแบรนด์ดังต่างๆ จนวันนี้อยากลองลุกขึ้นมาผลิตแบรนด์ของตัวเองบ้าง เราจึงพยายามมองหาช่องว่างในตลาดที่มี ซึ่งมีการแข่งขันกันค่อนข้างสูง โดยคิดคอนเซปต์ทำน้ำดื่มเพื่อสิ่งแวดล้อมขึ้นมา ซึ่งเรามองเห็นเทรนด์เลิกใช้ฉลากในขวดน้ำดื่มมาแล้วพักหนึ่ง ก็มีความสนใจ แต่ก็ต้องมาคิดต่อยอดออกไปให้มากขึ้นกว่าเก่า โดยพบว่าส่วนใหญ่ คือ เอาฉลากออกอย่างเดียวแล้วก็ปั๊มนูนโลโก้เฉยๆ เราจึงทำการศึกษาเพิ่มว่าจริงๆ แล้ว ผู้บริโภครู้สึกโอเคไหมกับการเอาฉลากสวยๆ ออก ก็พบว่าส่วนใหญ่เห็นด้วยที่ได้ทำเพื่อโลก แต่ขณะเดียวกันกลับรู้สึกว่าเป็นการลดต้นทุนทำให้ผลประโยชน์ตกไปอยู่ที่เจ้าของแบรนด์มากกว่าหรือเปล่า


          “เมื่อเห็นดังนั้น เราจึงคิดหาวิธีสร้างขวดให้ดูดีขึ้น เพื่อให้ผู้บริโภครับรู้ว่าถึงไม่มีฉลาก แต่เราก็ไม่ได้ละเลยที่จะใส่ใจเรื่องความสวยงาม จึงคิดขึ้นมา 2 ส่วน คือ 1. ตัวขวดแทนที่จะปั๊มโลโก้ลงไปเฉยๆ เราก็ปั๊มนูนเป็นลวดลายต่างๆ เพื่อเล่าเรื่องตามจุดประสงค์ของแบรนด์ ส่วนที่ 2 คือ เครื่องหมายต่างๆ ด้านการค้า และข้อมูลผลิตภัณฑ์ เราตั้งใจอยากทำเป็นคิวอาร์โค้ดขึ้นมาและปั๊มนูนลงบนผลิตภัณฑ์ แต่ด้วยความที่เป็นขวดใสไม่สามารถยิงบาร์โค้ดได้ จึงต้องเปลี่ยนไปปั๊มลงฝาขวดแทน ทำให้กลายเป็นเจ้าแรกๆ ของโลกที่นำคิวอาร์โค้ดมาปั๊มลงบนฝาขวดน้ำ
               

         “ที่มาของชื่อ C2 Water เป็นคำพ้องเสียงมาจากคำว่า “See Through” ที่แปลว่า มองทะลุ เนื่องจากเราต้องการออกแบบเป็นน้ำขวดดื่มไม่มีฉลาก กับความหมายอีกนัยยะหนึ่ง ก็คือ C = “Circular Economy” เศรษฐกิจหมุนเวียน ส่วน 2 (ทรู) เราต้องการล้อเสียงกับคำว่า Together ความหมายโดยรวม คือ การออกแบบอย่างยั่งยืนที่ต้องคิดควบคู่กันไป”
 




ชื่อผลิตภัณฑ์ :  SRISANGDAO RICE
ดีกรี : 15 รางวัล
จุดเด่น : กล่องใส่ข้าวสารพรีเมียม ผลิตมาจากแกลบของเหลือใช้ในกระบวนการผลิต


แนวคิด :
               

          “ตัวนี้เรียกว่าเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่ภาคภูมิใจของวงการข้าวไทยก็ว่าได้ที่ทำให้ข้าวสาร 1 กิโลกรัม สามารถขายส่งออกได้ถึงถุงละ 200 บาท ทั้งที่ในตลาดทั่วไปแล้วปกติข้าวถุง 5 กิโลกรัมก็ขายกันที่ร้อยกลางๆ จนถึงสองร้อยกว่าบาทอยู่แล้ว โดยข้าวตัวนี้เป็นข้าวเกรดพรีเมียมมาจากทุ่งกุลาร้องไห้ แต่ติดปัญหา คือ สินค้าขายได้ยาก ก็เลยพยายามหาเทรนด์ที่น่าสนใจในตอนนั้น ก็คือเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งยังไม่ค่อยมีข้าวแบรนด์ไหนทำ
               

        “จากนั้นเราเลยมาดูว่าในกระบวนการผลิตว่ามีเศษวัสดุอะไรที่สามารถนำมารีไซเคิลนำกลับมาใช้ใหม่ได้บ้าง จนมาเจอกับแกลบหรือเปลือกข้าวที่สีออกมา ก็เลยทดลองนำมาอัดขึ้นรูปเป็นกล่องบรรจุข้าวสาร เพื่อให้กลับมาทำหน้าที่ห่อหุ้มข้าวอีกครั้งหนึ่งเหมือนตอนที่เป็นข้าวเปลือกอยู่ จากกล่องใส่ข้าว ถ้าใช้เสร็จแล้วยังสามารถนำมาดัดแปลงทำเป็นกล่องใส่ทิชชูได้ด้วย เป็นการสร้างชีวิตใหม่ให้กับเศษวัสดุเหลือทิ้งได้ถึง 3 ครั้งด้วยกัน จากเหตุผลดังกล่าวจึงทำให้เป็นบรรจุภัณฑ์ที่ได้รับรางวัลมากถึง 15 รางวัล มากที่สุดเท่าที่เคยมีมาในบ้านเราเลยทีเดียว”
 




ชื่อผลิตภัณฑ์ : 
 ไร่ไม่จน
ดีกรี : 12 รางวัล
จุดเด่น : กระป๋องน้ำอ้อยที่ออกแบบให้นำมาใช้ต่อกันได้เหมือนปล้องอ้อย


แนวคิด :
               

        “ชิ้นนี้เป็นแนวคิดที่ทำขึ้นมาร่วมกับผู้ประกอบการ SME รายเล็กๆ เลย ที่เดิมมีไร่อ้อยของตัวเองและอยากสรี่มูลค่าเพิ่มด้วยการสร้างแบรนด์และผลิตน้ำอ้อยออกมาขาย ชื่อนี้ลูกค้าก็เป็นคนตั้งให้เลย ความโดดเด่นของบรรจุภัณฑ์ตัวนี้ คือ เป็นการสื่อสารที่เข้าใจได้ง่าย มีฟังก์ชั่นชักชวนให้คนมาซื้อซ้ำได้ คือ สามารถนำไปเรียงต่อกันได้เหมือนปล้องอ้อยได้
               

        “ซึ่งโดยปกติแล้วบรรจุภัณฑ์ไม่สามารถทำหน้าที่จูงใจผู้บริโภคให้ทำการซื้อซ้ำได้ เพราะหน้าที่ของบรรจุภัณฑ์ คือ ดึงดูดให้ลูกค้าสนใจซื้อตั้งแต่ครั้งแรกได้ ส่วนจะซื้อซ้ำหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับคุณภาพของสินค้า ถ้าลองแล้วติดใจเขาก็จะจำแบรนด์ จำรูปลักษณ์ภายนอกแล้วมาซื้อซ้ำ นั่นเป็นอีกครั้งที่บรรจุภัณฑ์ทำงาน แต่ในรูปแบบที่กระตุ้นให้คนอยากซื้อเองได้ตั้งครั้งแรก เพื่อนำมาเรียงต่อๆ กัน ยังไม่มี”





ชื่อผลิตภัณฑ์ :  กาแฟดอยช้าง
ดีกรี : 6 รางวัล
จุดเด่น : นำรูปเกษตรกรตัวจริงมาพิมพ์ติดอยู่บนฉลากซองกาแฟ


แนวคิด :
               

          “ชิ้นนี้เป็นการออกแบบบรรจุภัณฑ์อีกบริบทหนึ่งที่นอกจากจะช่วยทำหน้าที่หุ้มห่อปกป้องสินค้า, ยืดอายุสินค้า, ส่งเสริมการขาย สร้างความสะดวกสบายในการขนส่งแล้ว ยังเพิ่มเข้าไปอีกข้อ คือ การสร้าง “Unity” หรือความกลมกลืน ความเป็นน้ำใจเดียวกัน
               

           “เนื่องจากการรับซื้อผลผลิต บางครั้งแม้จะผูกขาดไปแล้ว แต่มักมีการแข่งขันตัดราคากันอยู่เสมอ การนำรูปเกษตรกรมาเป็นพรีเซ็นเตอร์ติดอยู่บนซอง โดยนอกจากจะเป็นการแสดงให้เห็นถึงการเป็นแหล่งเพาะปลูกตัวจริงมาเองแล้ว ยังช่วยทำให้เกษตรกรได้มีส่วนร่วมกับแบรนด์ และเกิดความภาคภูมิใจที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่ง ทำให้เกิดความยั่งยืน ไม่หนีเอาผลผลิตไปขายให้เจ้าอื่น ซึ่งเราก็ไม่เคยคิดมาก่อนว่าบรรจุภัณฑ์จะสามารถทำหน้าที่นี้ได้”



 

ชื่อผลิตภัณฑ์ :  Supha Bee Farm
ดีกรี : 8 รางวัล
จุดเด่น : บรรจุภัณฑ์กล่องใส่น้ำผึ้งพรีเมียมรูปร่างคล้ายรังผึ้ง ผลิตจากกล่องใช้ขนสินค้า


แนวคิด :
               

         “ไอเดียตัวนี้เกิดมาจากที่ตอนนั้นลูกค้า ซึ่งก็คือ สุภาบีฟาร์มอยากให้ช่วยออกแบบ Gift Box New Year ให้ โดยจะขายเป็นน้ำผึ้งเกรดพรีเมียมที่หากินได้ยาก ตอนนั้นก็มาคิดว่าจะออกแบบเป็นรูปแบบยังไงดี ซึ่งเราอยากทำออกมาเป็นช่องหกเหลี่ยมเล็กๆ เรียงต่อกันเหมือนกับรังผึ้ง ซึ่งจะฉีดพลาสติกขึ้นมาก็ไม่ใช่เรื่อง จะทำกราฟฟิกก็ธรรมดาไป เลยลองใช้วิธีหาวัสดุอื่นที่มีรูปร่างหน้าตาเหมือนรวงผึ้ง


          “จนมาเจอเข้ากับกระดาษ “ Honeycomb Core” เป็นลังกระดาษที่ไว้ใช้รองเครื่องใช้ไฟฟ้า ใช้เป็นพาเลตในการวางของเพื่อจัดส่งสินค้า จึงค่อนข้างมีความแข็งแรงมาก โดยเมื่อลองลอกพื้นผิวออกมาพบว่าด้านในเป็นช่องๆ คล้ายกับรังผึ้ง จึงนำมาทดลองทำดู ปรากฏว่าใช้ได้ คือ ได้รูปทรงที่ต้องการและแข็งแรงทนทานสามารถปกป้องสินค้าจากภายในได้ด้วย ชิ้นนี้เคยมีฝรั่งมาขอซื้อลิขสิทธิ์เพื่อนำไปใช้ทำที่ต่างประเทศเลยทีเดียว ซึ่งให้ไม่ได้เพราะเป็นลิขสิทธิ์เจ้าของแบรนด์ ความพิเศษของผลงานชิ้นนี้อยู่ที่การเลือกใช้แมตทีเรียลอื่นจากภายนอกมาดัดแปลงทำเป็นบรรจุภัณฑ์ใหม่ขึ้นมา”





 
www.smethailanclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย