TEXT: วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์
เมื่อเอ่ยถึงบริษัท “อายิโนะโมะโต๊ะ” เชื่อว่าเกือบทุกคนคงนึกถึงแบรนด์ผงชูรสซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ดังจากญี่ปุ่น แบรนด์ที่มีอายุเก่าแก่ถึง 112 ปีนี้ได้สร้างปรากฏการณ์ทำกำไรในช่วงการระบาดของโควิด-19 ทั้งที่ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับอาหารที่บริษัทผลิต ไม่ว่าจะเป็นผงชูรส เครื่องเทศ หรือซอสต่างๆ ได้รับผลกระทบจากการที่อุตสาหกรรมร้านอาหารปิดบริการชั่วคราวหรือปิดกิจการจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม การปรับตัวของอายิโนะโมโต๊ะในการหันมาจริงจังกับการผลิตฟิล์ม ABF (Ajinomoto Build-up Film) ซึ่งเป็นฉนวนไฟฟ้าของพื้นผิววงจรสำหรับหน่วยประมวลผลกลาง (CPU) กลับกลายเป็นแหล่งรายได้สำคัญ และนำไปสู่ผลประกอบการที่กำไรในช่วงไตรมาสที่ 4 ที่ผ่านมา
ชิเกโอะ นากามูระ หัวหน้าฝ่ายผลิตภัณฑ์เคมีของอายิโนะโมะโต๊ะให้สัมภาษณ์ว่าฟิล์ม ABF เป็นส่วนหนึ่งของชิปที่ติดตั้งภายในคอมพิวเตอร์เดสก์ท้อป และแล็ปท็อปที่ใช้งานทั่วไป ทำหน้าที่เชื่อมต่อชิปกับแผงวงจรหลัก และปกป้องเครื่องไม่ให้เกิดความเสียหาย นอกเหนือจากใช้งานในคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ฟิล์ม ABF ยังเป็นส่วนประกอบในอุปกรณ์อื่นๆ อาทิ ดาวเทียม รถยนต์ไร้คนขับ และสถานีฐาน 5G อีกด้วย
สิ่งที่เกิดขึ้นช่วงการระบาดของไวรัสโควิดคือความต้องการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีให้ดีกว่าเดิม ทำให้ชิปเป็นที่ต้องการมากขึ้นจนเกิดขาดตลาด ซึ่งหากอายิโนะโมะโต๊ะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้รวดขึ้น ยอดขายฟิล์ม ABF ก็น่าจะมากกว่านี้มาก อย่างไรก็ดี ผลพวงของการมีธุรกิจสำรองได้ส่งให้หุ้นของอายิโนะโมะโต๊ะพุ่งสูงสุดในรอบ 5 ปี และในปีการเงินที่สิ้นสุดเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ธุรกิจรอง ได้แก่ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพก็ทำกำไรคิดเป็น 23 เปอร์เซ็นต์ของผลกำไรรวมจากการดำเนินการ
เป็นเวลากว่า 100 ปีที่อายิโนะโมะโต๊ะได้ผลิตสินค้าเกี่ยวกับอาหาร รวมถึงเครื่องปรุงรสต่างๆ ซุปพร้อมปรุง ซุปผง ซุปก้อน และอาหารแช่แข็ง ย้อนกลับไปในอดีต บริษัทจะใช้เคมีสังเคราะห์เป็นส่วนผสมในอาหารเพื่อให้รสชาติแม่นยำในการผลิตคราวละมากๆ แต่ปัจจุบันหันมาใช้วัตถุดิบธรรมชาติ เช่น อ้อย และมันสำปะหลังในการผลิตเครื่องปรุงรส หลังจากที่หยุดในใช้เคมีสังเคราะห์ในปี 2516 ก็กลายเป็นจุดเริ่มต้นเริ่มของวิจัยพื้นฐานเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้เคมีของกรดอะมิโนกับเรซินอีพ็อกซีและสารประกอบที่เคยเป็นส่วนผสมในเครื่องปรุงจนนำไปสู่การพัฒนาฉนวนขั้นสูงสำหรับพื้นผิวซีพียูในคอมพิวเตอร์ในที่สุด
นั่นเป็นคำตอบที่ว่าอายิโนะโมะโต๊ะซึ่งเป็นผู้ผลิตอาหารได้เข้าสู่ธุรกิจเซมิคอนดัคเตอร์ได้อย่างไร เมื่อฟิล์ม ABF วางจำหน่ายในปี 2542 หรือเมื่อ 22 ปีที่แล้ว และมีลูกค้ารายแรกประเดิมอุดหนุน นับจากนั้นธุรกิจไฮเทคของอายิโนะโมะโต๊ะก็เติบโตอย่างรวดเร็ว แม้ไม่เปิดเผยว่าลูกค้าคือใครบ้าง แต่เชื่อว่าจะมีบริษัทอินเทล และบริษัทแอดวานซ์ ไมโคร ดีไวส์ (เอเอ็มดี) รวมอยู่ด้วย
รายงานระบุยอดขายฟิล์ม ABF ช่วงปี 2008-2016 เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะ แต่ไม่ใช่เกิดจากการใช้สมาร์ทโฟนอย่างแพร่หลาย แต่มาจากการใช้งานคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกอันเนื่องมาจากการศึกษา และการทำงานผ่านออนไลน์ ทำให้เกิดการสร้างศูนย์ข้อมูลสำหรับคลาวน์คอมพิวติงและสถานีฐานสำหรับเครือข่าย 5G
นากามูระ ระ หัวหน้าฝ่ายผลิตภัณฑ์เคมีของอายิโนะโมะโต๊ะเผยว่าก่อนหน้านั้นลูกค้าบริษัทมีเพียงผู้ผลิตพีซี แต่ตอนนี้ฐานลูกค้าได้ขยายออกไปมากจนต้องเพิ่มกำลังการผลิตที่โรงงานในเขตกันมะ ทางเหนือของโตเกียว หนึ่งในลูกค้ารายใหญ่ได้แก่ บริษัทยูนิไมครอน ผู้ผลิตแผงวงจรพิมพ์จากไต้หวันที่มีแผนขยายการผลิตในช่วง 3 ปี ทำให้ยูนิไมครอนจองซื้อฟิล์ม ABF ของอายิโนะโมะโต๊ะยาวไปจนถึงปี 2568 คาดว่ายอดส่งออกฟิล์ม ABF จะเพิ่มเท่าตัวไปอีกหลายปีข้างหน้า
ข้อมูลระบุหุ้นของอายิโนะโมะโต๊ะในช่วง 2 ปีครึ่งที่ผานมาพุ่งขึ้น 80 เปอร์เซ็นต์ บรรดานักลงทุนต่างโฟกัสไปที่ธุรกิจของบริษัทที่ไม่เกี่ยวข้องกับอาหาร โดยเน้นที่ฟิล์ม ABF รวมถึงผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภพ และเวชภัณฑ์ นักวิเคราะห์มองว่าในอีก 3 ปีข้าง ธุรกิจเหล่านี้จะสร้างกำไรราว 60 เปอร์เซ็นต์ของกำไรทั้งหมดของบริษัท
ตลอดเวลาที่ผ่านมา อายิโนะโมะโต๊ะพยายามแข่งขันกับเนสเล่ซึ่งเป็นผู้ผลิตอาหารยักษ์ใหญ่ระดับโลกโดยการซื้อกิจการบริษัทอาหารในประเทศต่างๆ อาทิ ตุรกี สหรัฐฯ และแอฟริกาใต้เพื่อเพิ่มยอดขายในตลาดต่างประเทศ แต่การลงทุนเหล่านั้นกลับไม่เป็นผลสักเท่าไร ทำให้ตัดสินใจปิดธุรกิจในต่างประเทศไปเกือบหมดในปี 2562
ในตลาดเครื่องดื่มประเภทกาแฟ อายิโนะโมะโต๊ะยังเป็นรองเนสเล่ ในตลาดอาหารแช่แข็ง อายิโนะโมะโต๊ะก็ยังตามหลังนิชิเรอิ ผู้นำในตลาดญี่ปุ่น ขณะที่แผนกอาหารแห้ง นอกเหนือจากซุปคนอร์ก็ยังไม่มีอะไรแปลกใหม่เพิ่มเติม สำหรับตลาดต่างประเทศ บราซิล ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และไทยอาจเป็นตลาดทำเงิน แต่อายิโนะโมะโต๊ะก็เผชิญกับการแข่งขันที่สูงขึ้นจากบริษัทท้องถิ่น ส่งผลให้กำไรลดลงในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม นากามูระเผยว่าจะยังให้ความสำคัญกับทุกธุรกิจในเครือตั้งแต่การผลิตอาหารไปจนถึงธุรกิจเกี่ยวข้องกับไอที ความหลากหลายทางธุรกิจถือเป็นจุดแข็งของบริษัท ด้านมาโกะโตะ โมริตะ นักวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์ไดวะ ซีเคียวริตี้ส์ แสดงทัศนะว่าแต่ละบริษัทจำเป็นต้องทบทวนธุรกิจของบริษัทอยู่สม่ำเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาผู้ผลิตอาหารในญี่ปุ่นที่กำลังเผชิญกับความต้องการในตลาดที่ลดลงเนื่องจากการหดตัวของประชากรในประเทศ โมริตะแนะว่าเพื่อความอยู่รอดอย่างยั่งยืน อายิโนะโมะโต๊ะจะต้องสลับสับเปลี่ยนธุรกิจมากกว่านี้ดังเช่นบริษัทคู่แข่ง อย่าง เนสเล่ ดาน่อน และยูนิลีเวอร์กำลังทำ
ที่มา : https://asia.nikkei.com/Business/Business-Spotlight/Century-old-food-giant-Ajinomoto-surprise-COVID-tech-boom-winner
- ฟูจิฟิล์มเปลี่ยนจาก ธุรกิจกล้องและฟิล์มถ่ายรูป ไปสู่ ธุรกิจผลิตยาและเวชสำอาง
- โอลิมปัสที่เคย ผลิตกล้องถ่ายรูป เป็นหลักแต่ปัจจุบันหันมาเอาดีด้านการ ผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น กล้องส่องอวัยวะภายในร่างกาย
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี