สังคมคาร์บอนต่ำ โจทย์ใหญ่การค้าแห่งอนาคต “โลก” คือลูกค้ารายใหญ่ทุกธุรกิจต้องใส่ใจ




        อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นส่งสัญญาณเตือนให้มนุษย์เริ่มตระหนักกับพฤติกรรมต่างๆ ที่ทำร้ายโลกรวมไปถึงเป็นโจทย์สำคัญหนึ่งสำหรับคนทำธุรกิจภายใต้บริบทใหม่ๆ ที่จะมองข้ามไม่ได้ โดยเฉพาะบริบทแห่งสังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) เป็นสังคมที่ผู้คนส่วนใหญ่หันมาร่วมมือกันลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในทุกรูปแบบที่เกิดจากการดำรงชีวิตปกติ โดยเฉพาะการลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกระบวนการผลิตของโรงงานหรือภาคอุตสาหกรรม เพื่อจะได้อยู่ร่วมกันในสังคมที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี


         สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ ได้อธิบายว่าสังคมคาร์บอนต่ำ มี 3 ลักษณะดังนี้ 1. สังคมที่ต้องช่วยกันลดความต้องการใช้พลังงาน 2. สังคมที่ต้องหลีกเลี่ยงการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลหรือน้ำมัน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และ 3. สังคมต้องมีมาตรการความมั่นคงทางพลังงานและเป็นสังคมที่มีการพบปะหารือกันในเรื่องความต้องการของคนทุกกลุ่มในสังคม





วิถีคาร์บอนต่ำจะกลายเป็น Norm ของธุรกิจยุคใหม่



         ไม่ใช่แค่นิยามหรือสโลแกนสวยๆ ที่สร้างขึ้นมาเท่านั้น ในปัจจุบันประเทศและองค์กรธุรกิจทั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวมากขึ้น ผลักดันให้ประเทศคู่ค้าต่างๆ นำเอากฎเกณฑ์ทางการค้ามาบังคับใช้อย่างเข้มข้นซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศ


         ขณะนี้มีกว่า 190 ประเทศทั่วโลกได้ให้การรับรองกับองค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) วาระแรก คือ “การพัฒนาที่ยั่งยืน 2030” (2030 Agenda for Sustainable Development) โดยมีตัวชี้วัดที่สำคัญทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม สันติภาพ และหุ้นส่วนการพัฒนา เพื่อบรรลุเป้าหมาย Sustainable Development Goals: SDGs ภายในปี 2030


       นอกจากนี้หลายๆ ประเทศได้มีมาตรการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม หนึ่งในนั้นคือ มาตรการเก็บภาษีคาร์บอนของยุโรป เพื่อควบคุมปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เรียกว่า “มาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน” หรือ “Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM)” ของสหภาพยุโรป (EU) ยังคงเป็นประเด็นร้อนที่ภาคส่งออกสินค้าของไทยต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะอาจได้รับผลกระทบในอนาคตได้ โดยที่มาตรการ CBAM มีหลักการสำคัญ คือ การปรับราคาสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศให้สะท้อนปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่แท้จริงที่เกิดจากกระบวนการผลิตของสินค้า อย่างไรก็ตามคาดว่ามาตรการดังกล่าวจะเริ่มบังคับใช้กับสินค้านำเข้าประเภทวัตถุดิบขั้นต้นในกลุ่มอุตสาหกรรมที่อยู่ภายใต้ระบบ EU-ETS เช่น ซีเมนต์ เหล็ก แก้ว กระดาษ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เป็นต้น ซึ่งมีความซับซ้อนน้อยกว่าสินค้าสำเร็จรูปซึ่งมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการหรือกิจกรรมต่างๆ ที่ซับซ้อนมากกว่า



               

        หันมาดูเพื่อนบ้านเรา เวียดนามได้ผ่านกฎหมายว่าด้วยการป้องกันสิ่งแวดล้อม (Law on Environmental Protection) ฉบับแก้ไขเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2020 ที่ผ่านมาโดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2022 มีสาระสำคัญ คือ การจัดตั้งระบบซื้อขายใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจก Carbon Emission Trading Scheme: ETS) พร้อมทั้งกลไกการตรวจวัด รายงาน และทวนสอบ (Measurement, Reporting and Verification: MRV) อย่างไรก็ดียังคงต้องรอความชัดเจนจากรัฐบาลเวียดนามในประเด็นที่เกี่ยวกับเพดานการลดการปล่อยก๊าซเรอืนกระจกและการจัดสรรสิทธิ์ในการปล่อยก๊าซเรอืนกระจก กรอบเวลา และอุตสาหกรรมที่จะถูกนำเข้ามาในระบบ ETS เป็นต้น


      ดังนั้นหากผู้ประกอบการไทยต้องการจะแข่งขันได้ในเวทีการค้าโลกจะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว โดยสามารถเริ่มต้นได้จากการเตรียมทำ Carbon Footprint ซึ่งช่วยให้ผู้ประกอบการทราบว่าการดำเนินธุรกิจของตนเอง รวมถึงการผลิตสินค้าหรือบริการ มีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมามากน้อยเพียงใด และยังช่วยสร้างความเข้าใจที่ดีขึ้นถึงวิธีการลด Carbon Footprint ของตน





Carbon Footprint คืออะไร?



       คาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) คือ การแสดงปริมาณรวมของก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากการดำเนินกิจกรรมต่างๆ โดยในปัจจุบัน มีการประเมิน Carbon Footprint สองรูปแบบคือ


      หนึ่ง การประเมิน Carbon Footprint ของผลิตภัณฑ์ (Carbon Footprint of Product: CFP) เป็นการประเมินวัดปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่ปล่อยออกมาจากผลิตภัณฑ์แต่ละหน่วย โดยพิจารณาตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ ในกิจกรรมต่างๆ ตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบ กระบวนการผลิต การประกอบชิ้นส่วน การจัดจำหน่ายและขนส่งการใช้งาน ไปถึงการจัดการซากผลิตภัณฑ์หรือของเสียหลังการใช้งาน


       สอง การประเมิน Carbon Footprint ขององค์กร (Carbon Footprint of Organization: CFO) เป็นการประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมต่างๆ ขององค์กร เช่น การเผาไหม้ของเชื้อเพลิง การใช้ไฟฟ้า การจัดการของเสีย และการขนส่ง วัดออกมาในรูปตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า





How to ทำ Carbon Footprint



        ทั้งนี้หากผู้ประกอบการสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้อยู่ในระดับต่ำ จะสร้างความได้เปรียบ สร้างโอกาสการขายสินค้ามากขึ้น รวมทั้งช่วยลดแรงกดดันจากมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมหรือกฎเกณฑ์ทางการค้าที่มีแนวโน้มเข้มข้นขึ้นในประเทศคู่ค้าสำคัญๆ เช่น มาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (CBAM) ของยุโรป


        สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการขึ้นทะเบียนเครื่องหมายรับรองปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint Label) สามารถดำเนินการผ่านองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่ให้ความสนับสนุนหลักในการขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศไทย


          ปัจจุบันมีผู้ประกอบการไทยขอการรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ CFP รวมทั้งสิ้น 4,603 ผลิตภัณฑ์ โดยผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรอง CFP และยังอยู่ในอายุสัญญามีเพียง 1,884 ผลิตภัณฑ์ โดยส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์ในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มที่มีสัดส่วนสูงถึง 56 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนผลิตภัณฑ์ทั้งหมดตามด้วยผลิตภัณฑ์ในกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเลียม ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ กลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้าง ตามลำดับ


          ส่วนการขอรับรองฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กรนั้น บริษัทที่ได้รับการรับรอง CFO และยังอยู่ในอายุสัญญามีจำนวน 151 บริษัท จากทั้งหมด 664 บริษัทที่ได้การรับรอง


       โดยแยกเป็นรายอุตสาหกรรมดังนี้


  • อุตสาหกรรมการผลิตอาหารและเครื่องดื่ม 31.8 เปอร์เซ็นต์

 

  • ภาคการบริการ และสำนักงาน 16.6 เปอร์เซ็นต์

 

  • พลาสติก และบรรจุภัณฑ์ 9.3 เปอร์เซ็นต์

 

  • หัตถกรรม และเครื่องประดับ 0.7 เปอร์เซ็นต์

 

  • สิ่งทอ 0.7 เปอร์เซ็นต์

 

  • ยานยนต์ 0.7 เปอร์เซ็นต์

 

  • ก่อสร้าง 0.7 เปอร์เซ็นต์

 

  • ยางพารา 1.3 เปอร์เซ็นต์

 

  • ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า 1.3 เปอร์เซ็นต์

 

  • ปิโตรเลี่ยม ปิโตรเคมี และเคมีภัณฑ์ 2.0 เปอร์เซ็นต์

 

  • เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ 3.3 เปอร์เซ็นต์

 

  • อื่นๆ 19.9 เปอร์เซ็นต์

 

  • ไม่ระบุ 11.9 เปอร์เซ็นต์

 

ที่มา : Krungthai COMPASS
 





www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

Erabica Coffee ผู้ปักหมุด กาแฟน่าน ให้เป็นที่รู้จักระดับประเทศ

นี่คือสองสามีภรรยา ที่อยากมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่น่าน คิดสร้างแบรนด์กาแฟของตัวเองขึ้นมาในชื่อ Erabica (เอราบิก้า) กลายเป็นการยกระดับกาแฟน่านเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น

HEH ร้านอาหารย่านภูเก็ต เชฟใช้เวลาในครัวให้เหมือนอยู่ในสนามแข่ง ไม่อยากเป็นแค่ Just Another Restaurant

“HEH (เห)” ร้านอาหารสไตล์  Australian Contemporary กลางเมืองภูเก็ต สร้างเมนูอาหารให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพราะไม่อยากเป็นเพียง แค่ร้านอาหารร้านหนึ่ง

จงปังนมสด ร้านดังแห่งสุราษฎร์ธานี แจ้งเกิดเพราะแบรนด์ดิ้ง และไอเดียทำคอนเทนต์จนเป็นไวรัล

"จงปังนมสด" ร้านดังเมืองสุราษฎร์ธานี ที่กำลังโด่งเป็นไวรัลขณะนี้ จากคลิปตัดต่อที่นำเสียงของเจ้าของเจ้าของร้านขนมปังชื่อดังย่านกทม. อย่าง "มนต์นมสด" มาเป็นแรงบันดาลใจในการทำธุรกิจ