TEXT : กองบรรณาธิการ
ผ่านมาครึ่งเดือนแล้วเห็นจะได้กับการออกกฎหมายเรียกเก็บภาษี e-Service หรือการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ให้บริการดิจิตอลแพลตฟอร์มต่างชาติที่เข้ามาให้บริการในไทยตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา โดยคาดว่านอกจากจะช่วยสร้างความเป็นธรรมในการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการไทยที่ทำธุรกิจบริการออนไลน์ ซึ่งต้องมีการนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่แล้วกับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต่างชาติที่ยังไม่เคยได้เสียภาษีมูลค่าเพิ่มเลยให้มีความเท่าเทียมเกิดขึ้น ยังทำให้ประเทศมีรายได้เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2565 ด้วย
แต่อย่างไรก็ตามการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าวจะส่งผลอะไรต่อผู้ประกอบการไทย ซึ่งเป็นผู้ใช้บริการดิจิตอลแพลตฟอร์มต่างๆ หรือไม่ ใครเป็นผู้ที่น่าจะได้รับผลกระทบบ้าง หรือมีผลต่อผู้ทำธุรกิจออนไลน์ทุกคนหรือไม่นั้นลองไปดูให้ชัดกันเลย
ก่อนจะไปดูถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น เรามาทำความรู้จักกับ e-Service ให้ชัดกันอีกครั้ง
ภาษี e-Service คือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่รัฐบาลไทยเรียกเก็บจากผู้ให้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์มต่างชาติที่มีรายได้ตั้งแต่ปีละ 1.8 ล้านบาทขึ้นไปในอัตราร้อยละ 7 ของราคาสินค้าและบริการ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา ตามมาตรการจัดเก็บภาษีใหม่ พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 53) พ.ศ.2564 ซึ่งประกาศไว้ตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2564
โดยดิจิตอลแพลตฟอร์มต่างชาติ ได้แก่ บริษัทต่างชาติผู้ให้บริการออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ เช่น
1. แพลตฟอร์มบริการออนไลน์และสมัครสมาชิก เช่น บริการสตรีมมิ่งด้านบันเทิง ดูหนัง ฟังเพลง ประชุมออนไลน์ เป็นต้น
2. แพลตฟอร์มโฆษณาออนไลน์ เช่น Facebook, Google
3. แพลตฟอร์มที่ทำหน้าเป็นตัวกลาง เช่น สั่งอาหาร, เรียกรถรับ-ส่ง
4. แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เช่น Shopee, Lazada
5. แพลตฟอร์มให้บริการรูปแบบเอเยนต์ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว
โดยผู้ให้บริการดิจิตอลแพลตฟอร์มต่างชาติจะทำการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในไทยได้โดยผ่านระบบ VES (VAT for Electronic Service) ที่ทางกรมสรรพากรเปิดไว้ให้ตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2564 ซึ่งปัจจุบันมีผู้จดทะเบียนไปแล้วกว่า 58 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 30 สิงหาคม 2564)
เก็บภาษี e-Service กระทบกับใครบ้าง?
ภาษี e-Service เป็นการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากดิจิตอลแพลตฟอร์มต่างชาติก็จริงอยู่ เราอาจไม่ใช่ผู้ที่ต้องเสียภาษีโดยตรง แต่หากเป็นผู้ใช้บริการดิจิตอลแพลตฟอร์มต่างๆ ดังที่กล่าวไปแล้ว ก็อาจได้รับผลกระทบเช่นกัน
ในข้อนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ออกมาวิเคราะห์ถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ประกอบการไทยและผู้บริโภค ซึ่งอยู่ในฐานะผู้ใช้บริการดิจิตอลแพลตฟอร์มต่างๆ โดยพอสรุปใจความได้ว่าแม้ภาครัฐจะทำการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากดิจิตอลแพลตฟอร์มต่างชาติ แต่ภาระต้นทุนภาษีที่แท้จริงอาจถูกผลักต่อมาให้กับผู้ประกอบการธุรกิจและผู้บริโภคที่ใช้งานดิจิตอลแพลตฟอร์มนั้นๆ ก็ได้ เหตุผลเนื่องมาจาก
1.เพราะผู้ให้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์มเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ระดับ Global Company จึงยึดครองส่วนแบ่งการตลาดที่สูง ทำให้อำนาจต่อรองสูงไปด้วย
2.การต้องลงทุนและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมาอยู่ตลอดเวลา เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้บริการ รวมถึงสร้างโอกาสในการแข่งขัน ทำให้องค์กรดิจิตอลแพลตฟอร์มเหล่านั้นต้องแบกรับต้นทุนการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง จึงเป็นเรื่องยากที่จะต้องเสียค่าใช้จ่ายด้านภาษีเพิ่มขึ้นมาอีก ดังนั้นมีความเป็นไปได้ว่าอาจมีการผลักภาระหรือส่งผ่านต้นทุนภาษีมายังผู้ใช้บริการ ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการธุรกิจที่ยังต้องพึ่งพาเทคโนโลยีของดิจิตอลแพลตฟอร์ม เช่น ผู้ประกอบการธุรกิจที่พักที่ขายห้องผ่านเว็บไซต์ OTA เช่น Agoda, Booking, ผู้ซื้อโฆษณาจากเฟซบุ๊ก หรือแม้แต่ผู้บริโภคเองก็ตาม
จากข้อมูลดังกล่าวทำให้ผู้ใช้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์มต่างๆ ซึ่งปกติจะมีค่าใช้จ่ายจากการใช้บริการเกิดขึ้นอยู่แล้ว อาทิ ค่าสมัครสมาชิก ค่าธรรมเนียมบริการ ค่าโฆษณาบนแพลตฟอร์ม ค่าการตลาด ค่าบริการจากการขายสินค้าและบริการ เมื่อต้องถูกผลักภาระต้นทุนภาษี e-Service มาให้อีก อาจทำให้ต้นทุนธุรกิจเพิ่มสูงขึ้น จนในที่สุดอาจมีการขึ้นราคาสินค้าและบริการเพื่อนำไปเฉลี่ยกับต้นทุนภาษีที่เพิ่มขึ้นมา ผู้บริโภคจึงได้รับผลกระทบตามไปด้วย
แต่อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าการที่ดิจิตอลแพลตฟอร์มต่างๆ จะส่งผ่านต้นทุนภาษีมาให้แก่ผู้ใช้บริการในธุรกิจต่างๆ ได้นั้นเป็นเรื่องที่ซับซ้อน วิธีการดังกล่าวอาจเป็นหนึ่งในทางเลือกที่สามารถทำได้ แต่จะไม่เกิดขึ้นในรูปแบบอัตโนมัติอย่างแน่นอน เนื่องจากทิศทางและสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจของกิจการแต่ละอย่างนั้นย่อมมีรายละเอียดและรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป จึงต้องมีการทบทวนศึกษาเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุด
ไม่ว่าจะเป็นอำนาจการต่อรองในตลาด อัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์ที่ผ่านมา แนวโน้มการแข่งขันและราคามีผลต่อฐานลูกค้าของตนเพียงใด จนถึงแผนยุทธศาสตร์ของธุรกิจที่วางไว้ข้างหน้า เพราะมิเช่นนั้นแล้วอาจทำให้สูญเสียความสามารถในการแข่งขันหรือทำกำไรกับผู้เล่นรายอื่นได้
นอกจากผลกระทบต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ประกอบการธุรกิจรวมถึงผู้บริโภคชาวไทยแล้ว มูลค่าการใช้งานดิจิตอลแพลตฟอร์มต่างๆ ยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงมากขึ้นด้วย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเปิดเผยว่าในช่วงก่อนการระบาดโควิด-19 มูลค่าที่เกิดขึ้นจากการใช้บริการดิจิตอลแพลตฟอร์มต่างชาติเบื้องต้นน่าจะอยู่ที่ราว 7 หมื่นล้านบาท และเมื่อสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิดดีขึ้น กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาดำเนินการได้ปกติมากขึ้น ผู้คนออกมาท่องเที่ยวมากขึ้น คาดว่าน่าจะเป็นช่วยผลักดันมูลค่าการใช้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์มต่างประเทศให้เพิ่มสูงขึ้นไปอีกหลังจากที่เบาบางไปในช่วงโควิด โดยประเมินว่าในปี 2567 การใช้บริการดิจิตอลแพลตฟอร์มต่างชาติในกลุ่มกิจกรรมต่างๆ อาจจะมีมูลค่าถึง 1 แสนล้านบาท หรือมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย (CAGR) อยู่ที่ประมาณ 10 – 15 เปอร์เซ็นต์ต่อปีก็ได้
ถึงตรงนี้คงต้องรอดูกันต่อไปว่าผู้ให้บริการดิจิตอลแพลตฟอร์มต่างชาติเหล่านั้น จะมีการปรับกลยุทธ์รับมือกับต้นทุนภาษี e-Service ที่เพิ่มขึ้นมานี้อย่างไรให้สมดุลได้ เพื่อไม่ให้เป็นการผลักภาระแก่ผู้ใช้บริการมากเกินไป ขณะเดียวกันก็สามารถทำการแข่งขันทางธุรกิจได้ด้วย เพราะไม่เช่นนั้นแล้วหากยังปล่อยให้ผู้ใช้บริการเป็นผู้แบกรับต้นทุนภาษีที่เกิดขึ้นแต่เพียงผู้เดียว อาจทำให้ยอดผู้เข้ามาใช้บริการลดจำนวนลงเรื่อยๆ ก็ได้
ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, itax.in.th
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี