TEXT: วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์
สถิติระบุหนึ่งในสินค้าขายดีช่วงเกิดวิกฤติโควิด-19 ระบาดไปทั่วโลกคือเฟอร์นิเจอร์และสินค้าตกแต่งบ้าน สาเหตุก็เนื่องจากการกักตัวอยู่ที่บ้านนานๆ ทำให้ประชาชนเกิดความเบื่อหน่ายจึงเปลี่ยนเฟอร์นิเจอร์หรือตกแต่งบ้านใหม่เพื่อสร้างบรรยากาศไม่ให้จำเจ บ้างก็เปลี่ยนบ้านเป็นที่ทำงาน หรือเป็นห้องเรียน ทำให้ต้องซื้อเฟอร์นิเจอร์เพื่ออำนวยความสะดวก
ส่งผลให้แบรนด์เฟอร์นิเจอร์และสินค้าเกี่ยวกับบ้านยอดขายกระเตื้องไปตามๆ กัน ไม่เว้นกระทั่งผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์รายใหญ่สุดของโลกอย่างอิเกียที่ได้รับอานิสงส์เช่นกัน โดยในช่วงระยะเวลา 12 เดือน ลูกค้าคลิกเข้าเว็บไซต์บริษัทราว 4,000 ล้านครั้ง และยอดจำหน่ายสินค้าทางออนไลน์เพิ่มขึ้น 45 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
และเนื่องจากกระแสการรับซื้อสินค้าใช้แล้วจากลูกค้ามาขายต่อกำลังเป็นกลยุทธ์การตลาดที่หลายแบรนด์ดังนำมาใช้โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าประเภทเสื้อผ้าแฟชั่นเครื่องแต่งกายและรองเท้า อิเกียแม้จะเป็นบริษัทจำหน่ายสินค้าเกี่ยวกับบ้านก็นำกลยุทธ์นี้มาใช้เช่นกันตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว
ภายใต้แคมเปญ Buy Back ที่ใช้ใน 27 ประเทศทั่วโลกรวมอังกฤษ รัสเซีย แคนาดา และสิงคโปร์ อิเกียจะรับซื้อเฟอร์นิเจอร์ หรือสินค้าอิเกียที่ลูกค้าไม่ต้องการแล้วแต่สภาพยังใช้ และจะนำไปขายต่อที่มุมสินค้ามือสองราคาประหยัด สินค้าที่รับซื้อคืนประกอบด้วยตู้ลิ้นชัก ชั้นหนังสือ ชั้นวางของ โต๊ะ ตู้ และเก้าอี้ ทั้งนี้ ลูกค้าสามารถนำสิ่งของที่ไม่ใช้แล้วไปส่งที่ร้านอิเกียแล้วกรอกแบบฟอร์มทิ้งไว้ จากนั้นพนักงานจะทำการตรวจสอบสินค้า หากผ่านเกณฑ์ที่ระบุก็จะรับซื้อโดยจ่ายเป็นบัตรกำนัลแทนเงินสด
ทั้งนี้ มูลค่าของบัตรกำนัลขึ้นอยู่กับสภาพสินค้า หากเป็นสินค้าสภาพ “เหมือนใหม่” จะถูกตีราคามากสุด 50 เปอร์เซ็นต์ของราคาเต็ม ส่วนชิ้นไหนสภาพ “ดี” จะได้ประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ และถ้าสภาพ “ปานกลาง” ก็รับไป 30 เปอร์เซ็นต์ สินค้ามือสองที่รับจากลูกค้ามาจะขายต่อตามสภาพโดยไม่มีตกแต่งหรือทาสีใหม่ แค่ตรวจสอบว่าใช้งานได้ปลอดภัยก็พอ สำหรับสินค้าที่ไม่ผ่านเกณฑ์ในการนำไปขายต่อ ลูกค้าสามารถรับสินค้าคืน หรือจะฝากให้ทางอิเกียนำไปกำจัดก็ได้
แคมเปญ Buy Back ของอิเกียเป็นส่วนหนึ่งโครงการรณรงค์การบริโภคอย่างยั่งยืนด้วยการช่วยเหลือลูกค้าในการยืดการใช้งานเฟอร์นิเจอร์ออกไปอีกแทนด้วยการจำหน่ายเป็นสินค้ามือสองที่จะนำไปทิ้งเป็นขยะ ความเคลื่อนไหวดังกล่าวยังช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเนื่องจากเป็นการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่อิเกียและผู้ประกอบการทั้งหมดที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของอิเกียจะปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ
หลังจากที่เปิดตัวแคมเปญนี้ไปหลายประเทศทั่วโลก ล่าสุดเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา อิเกียได้นำร่องโครงการรับซื้อคืนสินค้าในสหรัฐฯ โดยเริ่มที่ฟิลาเดลเฟีย เจนนิเฟอร์ คีสสัน ผู้จัดการฝ่ายอิเกียยั่งยืนกล่าวว่าจุดประสงค์ของบริษัทคือทำให้ผู้บริโภคทุกคนเข้าถึงการใช้ชีวิตแบบยั่งยืนโดยง่ายในราคาที่จ่ายได้ และบริษัทยังต้องการเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสรรค์อนาคตที่ดีให้ทั้งมนุษย์และแก่โลกใบนี้อีกด้วย
แคมเปญรับซื้อของเก่าจากลูกค้าอาจเรียกได้ว่าเป็นการยิงปืนนัดเดียวแต่ได้นกหลายตัว นอกจากได้ดำเนินโครงการตามเจตนารมย์เรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนแล้ว ยังเป็นการขยายฐานลูกค้าให้กว้างขึ้น ไม่ว่าจะเป็นลูกค้าที่มีข้อจำกัดทางการเงิน หรือกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ซื้อสินค้ามือสองเนื่องจากใส่ใจสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญ ลูกค้าที่นำเฟอร์นิเจอร์ไม่ใช้แล้วมาขายให้ สุดท้ายก็กลายเป็นลูกค้าประจำของอิเกียเพราะอย่างไรแล้วก็ต้องนำบัตรกำนัลที่ได้มาใช้ซื้อสินค้าอิเกียอยู่ดี
ข้อมูลระบุผลิตภัณฑ์แบบยั่งยืนกำลังเป็นที่ต้องการมากขึ้นในตลาดโดยเฉพาะในกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่ ขณะที่บรรดาผู้ค้าปลีกก็ได้เข้ามาจับกระแสนี้มากขึ้น ดังจะเห็นว่าในระยะไม่กี่เดือนที่ผ่านมา แบรนด์ต่างๆ อาทิ แก็ป, เมซี่, เจ.ซี. เพนนี และเจ.ครูว์ต่างจับมือเป็นพันธมิตรกับ ThredUp แพลตฟอร์มจำหน่ายสินค้าแฟชั่นมือสองทางออนไลน์ที่ใหญ่สุดเพื่อรุกเข้าตลาดสินค้ามือสอง
ผลการสำรวจวัยรุ่นกว่า 7,000 คนอายุเฉลี่ย 16 ปีโดยวาณิชธนกิจไพเพอร์ แซนด์เลอร์พบว่า 47 เปอร์เซ็นต์ของผู้บริโภคกลุ่ม Gen Z นิยมซื้อสินค้ามือสอง ขณะที่ 55 เปอร์เซ็นต์ขายสินค้ามือสอง และเวลาที่ใช้ในการช้อปปิ้งทั้งหมด ประมาณ 8 เปอร์เซ็นต์ใช้ไปกับสินค้ามือสอง ในขณะที่การซื้อสินค้ามือสองของผู้บริโภคโดยมากเป็นเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย ผู้บริหารอิเกียคาดหวังว่าพฤติกรรมนี้จะขยายไปยังสินค้าประเภทเฟอร์นิเจอร์และของใช้ในบ้านด้วย
ที่มา : edition.cnn.com
www.thedenverchannel.com
www.fastcompany.com
www.cnbc.com
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
RECCOMMEND: ENTREPRENEUR
เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ
ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว
เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย