TEXT : กองบรรณาธิการ
ส่วนประกอบสำคัญของการทำธุรกิจขึ้นมาสักหนึ่งอย่าง นอกจากการตั้งชื่อร้านที่เหมาะสมแล้ว การติดตั้งป้ายชื่อร้านชื่อธุรกิจ ไปจนถึงป้ายโฆษณาประชาสัมพันธ์ต่างๆ ล้วนเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยดึงดูดและทำให้ลูกค้าสนใจในตัวสินค้าและบริการของเราเพิ่มมากขึ้นก็ได้ ช่วยให้หน้าร้านดูสวยงาม และยังเป็นการแจ้งบอกตำแหน่งที่ตั้งของธุรกิจด้วย
แต่ใช่ว่านึกอยากจะขึ้นป้ายอะไร ก็สามารถติดตั้งได้เลยนะ หากไม่ศึกษาให้ดีก่อน ระวังอาจเจอภาษีป้ายราคาสูงลิ่วแบบไม่ทันตั้งตัวก็ได้ วันนี้เราจึงพามาทำความรู้จักกับระเบียบการขออนุญาตติดตั้งป้าย จนถึงอัตราค่าภาษีป้ายกัน
อันดับแรก เพื่อการวางแผนเลือกรูปแบบป้ายที่เหมาะสมกับธุรกิจ ลองมาทำความรู้จักกับประเภทของป้ายและอัตราการเสียภาษีป้ายกันก่อน ซึ่งจริงๆ แล้วป้ายอาจมีอยู่หลายชนิด เช่น ป้ายบอกชื่อร้าน ชื่อแบรนด์ เครื่องหมายการค้า โปรโมชั่น หรือป้ายเพื่อการโฆษณา แต่สุดท้ายแล้วจะถูกแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะและเรียกเก็บค่าภาษีตามอัตราที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้ (อัพเดตล่าสุดจากกฎกระทรวงมหาดไทย มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2564 จนถึง 31 ธันวาคม 2566)
- ป้ายที่มีอักษรไทยล้วน
หากเป็นข้อความคงที่ ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ จะคิดภาษีป้ายในอัตรา 5 บาท ต่อ 500 ตร.ซม
หากเป็นข้อความเคลื่อนที่ได้ เปลี่ยนแปลงได้ เช่น ป้ายไฟ จะคิดภาษีในอัตรา 10 บาท ต่อ 500 ตร.ซม.
- ป้ายที่มีอักษรไทยปนกับอักษรต่างประเทศ หรือปนกับภาพและเครื่องหมายอื่น
หากเป็นข้อความคงที่ ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ จะคิดภาษีป้ายในอัตรา 26 บาท ต่อ 500 ตร.ซม.
หากเป็นข้อความเคลื่อนที่ได้ เปลี่ยนแปลงได้ เช่น ป้ายไฟ จะคิดภาษีในอัตรา 52 บาท ต่อ 500 ตร.ซม.
- ป้ายที่ไม่มีอักษรไทย หรือป้ายที่มีอักษรไทยบางส่วนหรือทั้งหมดอยู่ใต้หรือต่ำกว่าอักษรต่างประเทศ
หากเป็นข้อความคงที่ ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ จะคิดภาษีป้ายในอัตรา 50 บาท ต่อ 500 ตร.ซม.
หากเป็นข้อความเคลื่อนที่ได้ เปลี่ยนแปลงได้ เช่น ป้ายไฟ จะคิดภาษีในอัตรา 52 บาท ต่อ 500 ตร.ซม.
โดยป้ายทุกประเภทเมื่อคำนวณพื้นที่ของป้ายแล้ว ถ้ามีอัตราที่ต้องเสียภาษีต่ำกว่าป้ายละ 200 บาท ให้เสียภาษีป้ายละ 200 บาทเป็นขั้นต่ำ
สรุป
จากข้อมูลที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น จึงพอสรุปได้ว่าถ้าเลือกใช้ภาษาไทยล้วนราคาจะถูกที่สุด (ประเภทที่ 1) ถ้าเป็นภาษาอังกฤษล้วนหรือมีภาษาไทยผสมด้วย แต่จะอยู่ข้างล่างภาษาอังกฤษจะเป็นประเภทที่มีราคาแพงที่สุด (ประเภทที่ 3)
ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า เพราะเหตุใดร้านค้าหรือธุรกิจต่างๆ ที่มีความจำเป็นต้องใช้ภาษาอังกฤษใส่ลงไปในป้ายด้วยนั้น มักจะชอบใส่ภาษาไทยตัวเล็กๆ ไว้อยู่มุมบนของป้าย ก็เพื่อลดการจ่ายภาษีให้ถูกลงมานั่นเอง (ประเภทที่ 2)
ใช่ว่าจะมีแต่ป้ายที่ต้องเสียภาษีเท่านั้น ยังมีป้ายอีกหลายประเภทที่ได้รับการยกเว้นภาษี โดยในที่นี่จะขอกล่าวถึงเฉพาะป้ายที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจเท่านั้น ได้แก่
- ป้ายที่ติดตั้งในอาคาร (รวมถึงป้ายร้านค้าต่างๆ ในห้างสรรพสินค้าด้วย แต่ต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 3 ตร.ม.)
- ป้ายที่มีล้อเลื่อน (ต้องมีการเลื่อนป้ายเข้าออก)
- ป้ายจัดงานอีเวนต์
- ป้ายโรงมหรสพ
- ป้ายที่แสดงไว้ที่ตัวสินค้า
- ป้ายธุรกิจการเกษตร ซึ่งมีการค้าผลผลิตจากการทำเกษตรของตนเอง
ข้อควรรู้ต่อมา คือ การคำนวณอัตราภาษีป้ายที่จะต้องจ่าย ซึ่งมีสูตรการคำนวณดังนี้
ยกตัวอย่าง เช่น ป้ายขนาดกว้าง 1 เมตร x ยาว 1.5 เมตร คำนวณได้ดังนี้
- ป้ายประเภทที่ 1 ต้องจ่ายภาษี 40 x 5 = 200 บาท
- ป้ายประเภทที่ 2 ต้องจ่ายภาษี 40 x 26 = 1,040 บาท
- ป้ายประเภทที่ 3 ต้องจ่ายภาษี 40 x 50 = 2,000 บาท
(หมายเหตุ 1 ป้าย = 1 ด้าน ถ้าป้ายเดียวกัน แต่มี 2 ด้าน ก็ต้องเสีย 2 ครั้ง)
โดยในแต่ละปีผู้ประกอบการธุรกิจสามารถชำระภาษีป้ายได้ตั้งแต่มกราคม – มีนาคมของทุกปี ผู้ทำหน้าที่จัดเก็บภาษีป้าย ก็คือ หน่วยงานปกครองท้องถิ่น เช่น เทศบาลตำบล หรืออบต. ซึ่งโดยปกติแล้วก่อนติดตั้งต้องมีการไปยื่นขออนุญาตก่อน แต่ถึงใครจะติดตั้งไปก่อนแล้ว ภายหลังก็จะมีเจ้าหน้าที่รัฐทำการสำรวจและเรียกจัดเก็บภาษีเอง ซึ่งหากไม่ได้ศึกษารูปแบบมาให้ดีอาจทำให้เสียภาษีแพงเกินกว่าความจำเป็นในการใช้งานก็ได้ ดังนั้นแล้วควรหาข้อมูลหรือขอคำปรึกษาจากผู้รู้ก่อนจะดีกว่า
กฎหมายป้าย
- ห้ามติดตั้งป้ายในบริเวณหรือพื้นที่ที่อาจสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่นได้ อาทิ ติดตั้งในบริเวณที่คร่อมถนน ใกล้เสาไฟฟ้า ต้นไม้ เป็นต้น
- หากไม่ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีในเวลาที่กำหนดจะต้องเสียเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 10 ของเงินที่ต้องเสียภาษีป้าย
- หากยื่นแบบรายการป้ายไม่ถูกต้อง ทำให้เสียภาษีป้ายต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ต้องเสียเงินเพิ่มร้อยละ 10 ของเงินที่ต้องประเมินเพิ่ม
- หากไม่ชำระภาษีป้ายภายในระยะเวลาที่กำหนด จะต้องเสียเงินเพิ่มร้อยละ 2 ต่อเดือนของจำนวนเงินที่ต้องเสียภาษีป้าย (ไม่นำเงินที่ต้องจ่ายเพิ่มจากข้อ 1 และ 2 มารวมเพื่อคำนวณซ้ำ)
- ผู้ใดจงใจไม่ยื่นแบบแสดงรายการป้าย ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 5,000 – 50,000 บาท
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี