ส. แสงทอง การช่าง ว่าที่ธุรกิจร้อยล้าน เริ่มต้นจากอาชีพครูสอนว่ายน้ำ

TEXT : Neung Cch.
 
           

          สิ่งหนึ่งที่คล้ายกันระหว่างนักว่ายน้ำกับนักธุรกิจนั่นก็คือต่างต้องการไปให้ถึงเส้นชัยด้วยเวลาที่เร็วที่สุด

 

          ถ้าอยากเป็นนักว่ายที่ดีว่ายน้ำได้เร็วคุณก็ต้องรู้เทคนิคหลักสองอย่างคือ 1. ต้องลดแรงดึงของน้ำให้ได้ กับ 2. ต้องเพิ่มแรงขับของน้ำให้ได้ ส่วนถ้าคุณอยากเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จได้ไวควรจะมีสองอย่างนั่นคือ ทำในสิ่งที่ชอบ และทุ่มเทกับมันอย่างเต็มที่
               

           เหมือนกับที่หนุ่มโบ๊ท สาโรจน์ แสงทองอุไรไพศาล ที่สามารถซื้อบ้านหลังแรกตั้งแต่เรียนจบมหาวิทยาลัย และในวัยที่เริ่มต้นเข้าสู่เลข 3 เขากำลังนำพา บริษัท ส. แสงทอง การช่าง จำกัด ขึ้นทำเนียบธุรกิจร้อยล้านภายในสิ้นปีนี้ CEO หนุ่มคนนี้ทำได้อย่างไร SME Thailand Online จะพาไปถอดรหัสความสำเร็จเถ้าแก่ร้อยล้านกัน





ชีวิตเริ่มจากท่าฟรีสไตล์

               

          ถ้าการศึกษาเปรียบเสมือนการวางรากฐานชีวิต สาโรจน์คงเริ่มออกตัวแบบฟรีสไตล์โดยเฉพาะในช่วงเรียนมัธยมต้นนั้นที่ใช้ชีวิตแบบอิสระ ติดเพื่อน และยังไม่มีเป้าหมาย แม้ตัวเองจะสอบเข้าเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 สายวิทย์-คณิต ได้ แต่กลับขออาจารย์ย้ายไปเรียนสายศิลป์-สังคมตามเพื่อน


          ได้ใกล้ชิดกับเพื่อนแต่เริ่มห่างจากเก้าอี้ห้องเรียน ทำให้หลังจากจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ต้องพลาดที่จะเรียนต่อโรงเรียนตำรวจ แต่ยังโชคดีที่ท้ายที่สุดยังสามารถไปสอบเข้าเรียนต่อที่วิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล แต่ก็ต้องลุ้นแทบขาดใจเพราะเขาสอบติดด้วยคะแนนอันดับบ๊วย
               

            “สมัยเรียนชั้นมัธยมผมเกเร ติดเพื่อนมาก แต่พอเข้ามหาวิทยาลัยได้ก็ปรับตัวเป็นคนละคนคบแต่เพื่อนดีๆ และก็เริ่มมองถึงอนาคต วางแผนมากขึ้นเริ่มทำธุรกิจไปจองใบซื้อบ้านเพื่อมาปล่อยขาย”



               

         ผลจากการปรัวตัวทำให้จากคนที่เกือบสอบเข้าเรียนไม่ได้ กลายเป็นผู้ที่สามารถคว้าเกียรตินิยมมาครองได้ในวันรับปริญญา และยังได้ทำงานสอนหนังสือ พร้อมกับเปิดโรงเรียนรับจ้างสอนว่ายน้ำตามบ้าน ที่เจ้าตัวบอกว่าเป็นเจ้าใหญ่สุดในกรุงเทพฯ จนมาช่วงสองปีหลังมาเจอโควิดที่ธุรกิจว่ายน้ำได้รับผลกระทบ เขาจึงเบนเข็มมาที่ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง


          “พอดีมีคนต้องการเช่าบ้านผมก็เลยต้อง renovate บ้าน จึงได้ติดต่อช่าง ตอนนั้นก็เป็นเหมือนกึ่งผู้รับเหมากึ่งเจ้าของบ้าน ทั้งซื้อของช่วยจัดการ ตอนช่างทำบ้านผมก็ไลฟ์สดลงเฟซบุ๊ก เพื่อนเห็นก็เอาไปแชร์ตามกลุ่มก็เริ่มมีคนติดต่อให้ไปทำงาน”




          ขั้นตอนสำคัญขั้นตอนหนึ่งที่เจ้าของบ้านส่วนใหญ่ในบ้านเราให้ความสำคัญกันมาก ก็คือขั้นตอนของพิธียกเสาเอก เชื่อว่า การทำพิธียกเสาเอกจะทำให้งานก่อสร้างมีความราบรื่นไม่มีปัญหาและอุปสรรคและ เมื่อได้เข้าอยู่บ้านหลังที่สร้างแล้วจะทำให้อยู่เย็นเป็นสุข






 

ลงหลักปักเสา

           

           จากท่าฟรีสไตล์เมื่อมาถึงวัยกลางคน สาโรจน์ ก็เริ่มโฟกัสกับตัวเองมากขึ้นโดยมีโควิดเป็นตัวเร่งและช่วยให้เขาเจอทางออกได้เร็วขึ้น ว่าตัวเขาชอบการทำธุรกิจมากกว่าการสอนหนังสือ


         “ผมมีแค่สองมือถ้าแบ่งมือหนึ่งไปทำธุรกิจโรงเรียนสอนว่ายน้ำ ก็ต้องถูกกระจายความสามารถไป ปัจจุบันตัวเองเป็นผู้ถือหุ้น จ้างผู้บริหารมาบริหารโรงเรียนสอนว่ายน้ำ ส่วนตัวผมเองก็มาผมทุ่มเทให้กับบริษัท ส. แสงทอง การช่าง แรงกายแรงใจทุกวัน 7 วัน เกือบ 24 ชั่วโมง ขนาดเวลานอนยังละเมอฝัน ผมเต็มที่กับมันมาก”


         ถามว่าเต็มที่ขนาดไหนแม้วันนี้เขาจะมีบทบาทเป็นถึง CEO แต่ก็ยังทำหน้าที่เป็นยูทูบเบอร์ด้วยเหตุผล คือ เป็นการสร้าง Personal Branding เหมือนการขายตัวเองเพราะถ้าเมื่อใดที่ขายตัวเองได้การขายสินค้าทำได้ง่ายขึ้น
               

         “ตอนทำยูทูบผมเริ่มจากใช้มือถือเดินถ่ายเองคิดสคริปต์เองทุกอย่าง ค่อยๆ ศึกษาเรียนรู้มันไป จุดสำคัญสุดคือ รู้ว่าผู้บริโภคต้องการอะไร สื่อสารโดยใช้ภาษาเข้าใจง่ายๆ เช่น คานปลายยื่น (Cantilever Beam) ที่ใช้กันในวิศวกรเราก็พูดแบบบ้านๆ ว่าคาน แต่บางครั้งก็ต้องมีพูดวิชาการบ้างให้ดูน่าเชื่อถือ ซึ่งทุกคลิปที่ผมทำนั้นต้องให้ความรู้ ให้คนดูได้ประโยชน์มากสุด”

 



 

เงินเปลี่ยนที่อยู่



          ในขณะที่ธุรกิจส่วนใหญ่ต่างได้รับผลกระทบจากโควิด อสังหาริมทรัพย์ก็เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบไม่ต่างกัน ก่อนมีเหตุการณ์โควิดประชาชนสามารถกู้ซื้อบ้านได้ 110 เปอร์เซ็นต์ ทำให้คนซื้อบ้านน้อยลง รวมถึงงานตกแต่งบ้านก็น้อยลงเช่นกัน


         “เงินไม่ได้หายไปไหนหรอก มันแค่เปลี่ยนที่อยู่มาในโลกออนไลน์ ฉะนั้นคนที่ไม่ได้เปลี่ยนตามยุคตามสมัยเกิดปัญหา จะหาเงินไม่เจอ ถ้าเขารู้ว่าเงินอยู่ตรงไหน เอาตัวเองมาอยู่ตรงนั้นหาเงินได้ไม่ยาก เหมือนที่ผมทำยูทูบทำให้ได้เจอลูกค้ามากขึ้น”
           

        หากใครได้เห็นสาโรจน์ผ่านช่องยูทูบหรือแม้แต่ได้เจอตัวจริงอาจจะเกิดความสงสัยไม่ต่างจากเพื่อนเขาที่คิดว่าช่างเป็นคนที่โชคดีไม่มีปัญหาในการทำงาน
               

        “ปัญหามีทุกวัน แต่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าสำคัญที่สุด และการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าทุกวันทำให้เราเก่งขึ้น เหมือนเราเล่นเกมผ่านด่านนี้ได้แล้วเล่นครั้งต่อไปก็ง่าย ผมก็เลยมองว่าปัญหาเป็นเพื่อนผม ดีกว่ามองว่าเป็นเรื่องเครียดไปทำร้ายตัวเราขาดทุนนะ วิชาหนึ่งที่อยากให้โรงเรียนสอนคือ การมีไหวพริบเอาตัวรอดได้ในทุกปัญหา”



               

          หากไม่มีอะไรผิดแผนสาโรจน์บอกว่า บริษัท ส. แสงทอง การช่าง ก็จะเปลี่ยนนามสกุลเป็นมหาชนจำกัดในอีกห้าปี
               

        “ถ้าเป็นไปตามเป้าสิ้นปีนี้บริษัทต้องมีรายได้ 100 ล้านบาท ในปีหน้ารายได้จะขยับขึ้นไป 20-30% ภายใน 5 ปียังเติบโตแบบนี้ ปรึกษากับบัญชีวางแผนนำเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งเป็นภาระหนักอึ้งมาก การที่เราโตขึ้น พนักงานเราก็เยอะขึ้น มาตรฐานเราต้องสูงขึ้น บุคลากรเราต้องเก่งขึ้น มันจะต้องดีทั้งหมดไม่ใช่ดีเฉพาะยอดขาย เติบโตแบบยั่งยืนสำคัญมาก”
 
               
           แม้จะเป็นภาระที่หนักแต่เป็นภาระที่หนุ่มวัย 30 ปีอย่างสาโรจน์ภูมิใจที่เป้าหมายการเป็นเถ้าแก่ร้อยล้านของเขากำลังเป็นจริง
 
 
 


 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย