TEXT : กองบรรณาธิการ
หากเอ่ยถึงชาดังระดับโลก “Mariage Frères” (มาคิยาจ แฟรส์) จากฝรั่งเศส คือ หนึ่งในสุดยอดของชาที่ดีที่สุดอันดับต้นๆ ของโลก ถึงขั้นเคยมีคนเปรียบเปรยว่าเป็น Louis Vuitton หรือ Hermès แห่งวงการชาเลยก็ว่าได้
แต่ความน่าสนใจที่เราจะมานำเสนอในวันนี้ ไม่ใช่เพียงแค่ความพิเศษของชา Mariage Frères ที่มีอายุร่วม 300 กว่าปีเท่านั้น แต่เพื่อหาคำตอบว่าเพราะเหตุใดธุรกิจผู้สืบทอดศาสตร์แห่งการทำชามาร่วมหลายร้อยปีนี้ กลับมีทายาทผู้สืบทอดคนปัจจุบันเป็นนักธุรกิจชาวไทยที่มีชื่อว่า “กิตติชาติ แสงมณี” ทั้งที่ไม่ได้มีความสัมพันธ์เกี่ยวพันกันทางสายเลือดมาก่อนเลย
จุดเริ่มต้นความเป็นมาของชา Mariage Frères นั้น เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2203 หรือราวสามร้อยกว่าปีก่อนโดยพ่อค้าชาวฝรั่งเศส “นิโกลาส์ มาคิยาจ” ที่ออกเดินทางไปยังดินแดนตะวันออกกลางอย่างเปอร์เซีย เพื่อทำสัญญาการค้าเสาะแสวงหาชาชั้นดี เครื่องเทศ และสินค้าต่างๆ ตามคำสั่งจากราชวังในยุคพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 และบริษัท เฟรนช์ อีสต์ อินเดีย ( Compagnie des Indes )
กระทั่งยุคต่อมาในปี พ.ศ. 2397 จึงได้จัดตั้งบริษัท Mariage Frères Tea Company ขึ้นมา เพื่อทำธุรกิจเกี่ยวกับชาสืบต่อกันมาเป็นธุรกิจของตระกูล
ไม่น่าเชื่อว่าประวัติความเป็นมาของชา Mariage Frères ที่หลายคนยกให้เป็นชาอันดับ 1 ของโลก จะมีความทับซ้อนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของไทยด้วย
โดยหลังจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ได้มีคำสั่งให้ นิโกลาส์ มาคิยาจ ต้นตระกูลผู้ให้กำเนิดชามาคิยาจ แฟรส์ออกเสาะแสวงหาชาและเครื่องเทศ เพื่อนำเข้ามาในปีพ.ศ. 2203 หลังจากนั้นต่อมาในปีพ.ศ 2229 หรือยี่สิบกว่าปีต่อมา พระยาโกษาปาน ทูตจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งอยุธยาก็ได้เดินทางไปทูลถวายถ้วยชาที่ทำด้วยทองให้แก่พระเจ้าหลุยส์ฯ ซึ่งก็ยิ่งทำให้พระองค์เกิดความสนใจเครื่องดื่มชนิดนี้มากขึ้น
แต่จุดพลิกผันของเรื่องเกิดขึ้นเมื่อราวปี 2526 หรือเมื่อเกือบสี่สิบปีก่อน ที่บังเอิญทายาทคนสุดท้ายของมาคิยาจ แฟรส์ในวัย 80 ปี ได้มารู้จักกับ Richard Bueno ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของกิตติชาติ โดยขณะนั้นมาคิยาจ แฟรส์เอง ก็กำลังต้องการหาผู้มาช่วยดูแลกิจการต่ออยู่พอดี ทั้งสามคนจึงได้ร่วมงานกัน
ก่อนหน้าที่จะเบนเส้นทางชีวิตมาเป็นคนผลิตชา กิตติชาติ คือ นักเรียนไทยที่เรียนดีคนหนึ่ง ในชั้นอุดมศึกษาเขาจบจากวชิราวุธ มีความใฝ่ฝันอยากเป็นนักการทูต จึงได้สอบเข้าเรียนการทูตที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยจบมาด้วยเกียรตินิยมอันดับ 1 ใช้เวลาเพียงแค่สามปีกว่าเท่านั้น จากนั้นจึงได้มาเรียนต่อยังมหาวิทยาลัยชอร์บอนน์ประเทศฝรั่งเศสด้านการทูต ทั้งในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก จนกระทั่งโชคชะตานำพาให้เข้าสู่การเป็นคนทำชาในที่สุด
ปลุกชีพชา 3 ศตวรรษ
ก่อนที่กิตติชาติและเพื่อนของเขาจะเข้ามาช่วยดูแลกิจการชาด้วยนั้น ธุรกิจผลิตชาของมาคิยาจ แฟรส์จะเป็นผู้ผลิตเพียงอย่างเดียว ไม่มีหน้าร้านของตัวเอง เน้นการขายส่งเป็นหลัก แต่เมื่อคนรักชาทั้งสามได้มาเจอกัน ต่างก็นำความสนใจส่วนตัวและความถนัดของตัวเองช่วยกันหาวิธีสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับศาสตร์แห่งการผลิตชาที่สืบทอดกันมาชั่วหลายอายุคนนี้ ให้สมกับคุณค่าที่มีอยู่เผยแพร่ออกไปให้ผู้คนทั่วโลกได้รู้จักมากขึ้น
ด้วยการเปิด Tea House ของแบรนด์ขึ้นมาในย่าน Marais กรุงปารีสเมื่อปี พ.ศ. 2529 ให้ผู้คนได้มาใช้เวลาว่างนั่งจิบชายามบ่าย หรือเป็นสถานที่นัดพบเพื่อพบปะพูดคุย ทำให้การดื่มชาเริ่มได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในฝรั่งเศส จากเดิมที่นิยมดื่มแต่กาแฟ จากผลิตเพื่อขายส่ง ก็มีการคัดเลือกชาเพื่อรังสรรค์เป็นกลิ่นต่างๆ ที่มีเอกลักษณ์ออกมา โดย Richard ได้เข้ามาดูแลด้านการค้า ส่วนกิตติชาติได้เข้ามาเรียนรู้ศาสตร์แห่งชาและดูแลการสร้างแบรนด์ การจัดหน้าร้าน ออกแบบแพ็กเกจจิ้ง และทดลองออกแบบรสชาติใหม่ๆ
กระทั่งต่อมาเมื่อ Richard หนึ่งในสามผู้ดูแลหลักได้เสียชีวิตลง ขณะที่ทายาทคนสุดท้ายของตระกูลมาคิยาจ ก็มีอายุมากขึ้นเรื่อยๆ จึงได้ส่งไม้ต่อการดูแลกิจการทั้งหมดไว้ให้กับกิตติชาติ ซึ่งเป็นผู้ที่เขาเชื่อใจว่าจะสามารถสานต่อคุณค่าของแบรนด์และศาสตร์แห่งการผลิตชาที่เก่าแก่ของโลกแบรนด์นี้เอาไว้ได้ กิตติชาติ จึงได้กลายเป็นประธานบริษัทและผู้สืบทอดธุรกิจของมาคิยาจ แฟรส์แต่เพียงผู้เดียวในปัจจุบันนี้
เติมเสน่ห์ชาโลก ด้วยเสน่ห์แบบไทยๆ
ไม่เพียงสืบทอดต่อเจตนารมณ์ และรักษาคุณค่าของชา Mariage Frères เอาไว้ได้ กิตติชาติยังนำเอกลักษณ์เสน่ห์ความเป็นไทยเข้าไปผสมผสานอยู่ในชามาคิยาจ แฟรส์ให้ทั่วโลกได้รู้จักมากขึ้นด้วย อาทิ ชาเขียวผสมกลีบกุหลาบที่มีชื่อว่า “Thailand Thé des Offrandes” ซึ่งนอกจากการเบลนด์สูตรพิเศษแล้ว ยังมีการนำอักษรไทยเขียนว่า “ชา” ติดลงบนบรรจุภัณฑ์อีกด้วย หรือจะเป็น Paris-Bangkok Tea ชาดำที่อบอวลไปด้วยกลิ่นหอมสดชื่นแบบไทยและชาอู่หลงผสมเข้าไปด้วย
โดยจากหน้าร้านแห่งแรกที่เปิดดำเนินการนั้น มาคิยาจ แฟรส์ มีสูตรชาอยู่เพียง 250 สูตรเท่านั้น แต่จากการพัฒนาของกิตติชาติทำให้ปัจจุบันนี้แบรนด์ได้มีการเบลนด์ชาออกมาเป็นรสชาติและกลิ่นต่างๆ ออกมามากกว่า 650 สูตรทีเดียว
ปัจจุบันมาคิยาจ แฟรส์ มีสาขาทั้งสิ้น 14 แห่งด้วยกัน ได้แก่ ปารีส 6 สาขา, ญี่ปุ่น 5 สาขา, เยอรมนี 2 สาขา และอังกฤษ 1 สาขา
รู้ไหมว่าร้านชาของ Mariage Frères เคยเปิดต้อนรับคนดังในแวดวงต่างๆ มานักต่อนักแล้ว อาทิ คลอเดีย ชิฟเฟอร์ ที่มักเดินทางมาบ่อยๆ ในช่วงร้านเปิดแรกๆ จนมีแฟนคลับมาฝากส่งจดหมายไว้ให้, ฮิวจ์ แจ็กแมน, ซีนาดีน ซีดาน ที่มาต่อคิวซื้อชาให้กับภรรยา, รีส วิทเธอร์สปูน, มาดอนน่า หรืออิซาแบลล์ อัดจานี ดาราฝรั่งเศส ก็มีโต๊ะประจำอยู่ที่นี่
สำหรับในไทยเองได้มีการนำเข้าชามาคิยาจ แฟรส์ครั้งแรก โดย “ดีน แอนด์ เดลูก้า” (Dean & Deluca) ร้านอาหารขนมและเครื่องดื่มที่แตกสาขามาจากนิวยอร์ก ในฐานะตัวแทนผู้ค้าปลีกรายแรกของมาคิยาจ แฟรส์ในประเทศไทย โดยเริ่มนำเข้ามาเมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2559
จากนั้นก็มีการนำมาให้ได้ลิ้มลองกันอยู่เรื่อยๆ ในวงการร้านอาหารของบ้านเรา เพื่อเสริมจุดเด่นให้กับธุรกิจ อย่างเมื่อปลายปีที่แล้วก็มีการนำไปเสิร์ฟอยู่ในห้องล็อบบี้ของโรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพฯ เพื่อความพิเศษให้กับกิจกรรมจิบน้ำชายามบ่าย โดยมีการเบลนด์รสชาติและกลิ่นเฉพาะสูตรพิเศษขึ้นมาด้วย
ปัจจุบัน กิตติชาติยังคงทำหน้าที่สืบทอดกิจการชา Mariage Frères อยู่ในมหานครใหญ่ แม้รัฐบาลฝรั่งเศสจะยินดียอมให้เขาเป็นพลเมืองฝรั่งเศสมานานแล้ว แต่กิตติชาติก็ยังยินดีและภูมิใจที่จะถือสัญชาติไทยเหมือนเช่นเดิม
ที่มา : Vogue.co.th, นิตยสาร Hello, Pantip
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี