ธุรกิจวอลเปเปอร์ไม่ทำกำไรแล้วไง พักมาขายทุเรียน ใช้เทคนิคขึ้นราคาทุกวัน โกยยอดขายแสนกิโลต่อเดือน

TEXT: วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์
  
               

       ผลพวงจากไวรัสโควิดที่พ่นพิษไปทั่วโลกทำให้ธุรกิจต่างๆ ได้รับผลกระทบกันถ้วนทั่ว วิกฤตครั้งนี้จึงเป็นการพิสูจน์ความสามารถของผู้บริหารองค์กรว่าจะรับมืออย่างไร และสามารถฝ่าฟันอุปสรรคได้มากแค่ไหน หลายบริษัทใช้วิธีฉีกแนวจากธุรกิจเดิมแล้วไปเริ่มต้นธุรกิจใหม่ โดยมากลงเอยที่ธุรกิจอาหาร
               

        เช่นเดียวกับโคเรีย วอลเปเปอร์ บริษัทมาเลเซียที่ดำเนินธุรกิจนำเข้าวอลเปเปอร์จากเกาหลีใต้ก็ได้รับผลกระทบจากโควิดเช่นกันจนทำให้ทุกอย่างแทบหยุดนิ่ง แต่ด้วยความคิดริเริ่มของเอซิด ยอง ซีอีโอหญิงของบริษัท ทีมงานทั้งบริษัทก็ได้ร่วมกันพัฒนา “ดูแรน ดูแรน” แพลตฟอร์มจำหน่ายทุเรียนพรีเมียมออนไลน์ที่แม้จะเปิดตัวระยะสั้นๆ แต่ก็ทำยอดขายทุเรียนได้มากถึง 100,000 กิโลกรัมในเวลาเพียงเดือนเดียว



               

        เอซิดเล่าว่าเธอเคยเป็นครูโรงเรียนมัธยมมาก่อนแต่ก็ตัดสินใจลาออก ทิ้งสวัสดิการในการเป็นข้าราชการเพื่อมาทำงานเอกชนที่โคเรีย วอลเปเปอร์ โดยที่ต้องมาเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ แม้กระทั่งการเขียนอีเมลธุรกิจอย่างเป็นทางการ โชคดีที่ได้เพื่อนร่วมงานดีคอยช่วยสอน ทำให้เธอเริ่มคุ้นชินกับธุรกิจจำหน่ายวอลเปเปอร์ทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์ 
               

         ใช้เวลาเพียง 2 ปี เอซิดไต่เต้าจากพนักงานทั่วไปสู่การเป็นหัวหน้างาน และท้ายที่สุดก็ได้นั่งเก้าอี้ซีอีโอในปี 2018 และดูแลการตลาดที่โคเรีย วอลเปเปอร์ครองส่วนแบ่งในตลาดมาเลเซียอยู่ 35 เปอร์เซ็นต์ ธุรกิจดำเนินไปด้วยดี กระทั่งมาสะดุดเพราะการระบาดของโควิด เพราะทุกครั้งที่รัฐบาลออกมาตรการล็อกดาวน์ นั่นหมายถึงบริษัทก็ต้องหยุดเนินการไปด้วยเนื่องจากไม่ใช่ธุรกิจที่มีความจำเป็น
               

         ก่อนหน้าที่จะมีการล็อคดาวน์ในเดือนมิถุนายน เอซิดเคยคุยกับเพื่อนว่าฝันอยากมีคาเฟ่เล็กๆ สักร้านไว้เสิร์ฟกาแฟและขนมหวานที่ทำจากทุเรียน จากไอเดียคาเฟ่กลายเป็นการพูดคุยเกี่ยวกับทุเรียนเนื่องจากกำลังเป็นหน้าทุเรียน และมีผลผลิตออกสู่ตลาดเหลือเฟือ กอปรกับกลุ่มคนรู้จักหลายคนเป็นเจ้าของสวนทุเรียนเก่าแก่ในหลายรัฐ ทั้งยะโฮร์ มะละกา ปะหัง และ เนกรีเซมบีลัน เอซิดจึงเกิดความคิดจะขยายธุรกิจของบริษัทด้วยการจำหน่ายทุเรียน และจะเกณฑ์พนักงานในบริษัทให้มีส่วนร่วมด้วย



               

          ย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อน ทุเรียนมาเลเซียโดยเฉพาะพันธุ์มูซังคิงซึ่งมีราคาแพงเป็นสินค้าที่ส่วนใหญ่ส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศ เช่น จีนและสิงคโปร์ ปัจจุบัน เอซิดสังเกตว่าเจ้าของสวนจำนวนมากนำทุเรียนมาขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น ลาซาด้า ช้อปปี้ แกร็บ และฟู้ดแพนด้า และมีน้อยรายที่จำหน่ายทุเรียนแบบมีแบรนด์ของตัวเอง
               

        ด้วยมั่นใจในคุณภาพของทุเรียนจากสวนที่รู้จักซึ่งอายุเก่าแก่เกิน 30 ปี เอซิดมั่นใจว่าแผนธุรกิจเกี่ยวกับการจำหน่ายทุเรียนจะสามารถแข่งกับเจ้าอื่นได้ เธอจึงเรียกประชุมพนักงานเพื่อแจ้งให้ทราบและกระจายหน้าที่กันทำ เริ่มจากการพัฒนาแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซใช้ชื่อว่า Dooran Dooran จากนั้นก็ออกแบบโลโก้ ออกแบบบรรจุภัณฑ์ เตรียมสถานที่เพื่อเป็นศูนย์พักและกระจายสินค้า วางแผนด้านซัพพลายเชนให้ครอบคลุมที่สุด
               

        ใช้เวลาเพียง 21 วัน Dooran Dooran ในฐานะแหล่งรวมทุเรียนเกรดพรีเมียมทุกสายพันธุ์ของมาเลเซียก็พร้อมเปิดบริการเมื่อ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา สินค้าที่จำหน่ายเป็นทุเรียนสดพร้อมรับประทานบรรจุในกล่องกระดาษสีน้ำตาลทรงกลม ผูกเชือกและมีป้ายห้อยบอกที่มาของทุเรียนว่าเป็นของสวนไหนเพื่อสร้างความแตกต่างจากเจ้าอื่นที่แพ็คในกล่องพลาสติกใส หรือบรรจุในถาดโฟมแล้วคลุมด้วยพลาสติกห่ออาหาร



               

         ทุเรียนที่คัดมาเน้นพันธุ์ยอดนิยม เช่น มูซังคิง และดี 24 หรือหนามดำ และดี 101 ทั้งหมดเป็นทุเรียนออร์แกนิกปลอดสารที่สุกโดยธรรมชาติไม่ผ่านการบ่ม เมื่อทุเรียนสุกงอมร่วงจากต้นและถูกส่งมาที่ศูนย์กระจายสินค้าซึ่งมี 2 แห่งพนักงานในสังกัดราว 70 ชีวิตจะช่วยกันแกะและแพ็คส่งลูกค้าภายใน 12 ชั่วโมง
               

       โดย  1 กล่องจะบรรจุทุเรียนพร้อมทานน้ำหนัก 850-900 กรัมโดยแกะจากทุเรียนน้ำหนักประมาณ 4 กก. สนนราคาขึ้นอยู่กับพันธุ์ทุเรียน อย่างมูซังคิงที่เป็นทุเรียนพันธุ์ดีสุด Dooran Dooran จำหน่าย 200 ริงกิตหรือราว 1,550 บาทต่อ 2 กล่อง เอซิดยอมรับว่าทุเรียนภายใต้แบรนด์ที่เธอสร้างขึ้นราคาค่อนข้างสูง แต่เธอกล่าวว่าสินค้าของเธอไม่ได้เป็นแค่ทุเรียนแต่เป็นของขวัญของฝากที่นำไปเป็นของกำนัลได้ไม่สร้างความผิดหวัง 



               

        หลังเปิดตัวได้เดือนเดียว Dooran Dooran ก็ทำกำไรจากยอดขายทุเรียนถึง 100,000 กิโลกรัม และสั่งสมฐานลูกค้าได้มากถึง 15,000 คน อีกกลยุทธ์หนึ่งที่เอซิดนำใช้คือการกำหนดราคา ทุเรียนที่จำหน่ายทางแพลตฟอร์ม Dooran Dooran จะขึ้นราคาวันละ 1 ริงกิต เป็นการกระตุ้นให้ลูกค้าซื้อเดี๋ยวนั้น เพราะหากรอวันรุ่งขึ้น ก็ต้องจ่ายแพงขึ้น 1 ริงกิต นอกจากนั้น การกำหนดราคาของทุเรียนยังขึ้นอยู่กับปริมาณทุเรียนที่ได้มาอีกด้วย หากมีน้อย ราคาก็จะสูง แต่ถ้ามีมาก ราคาก็จะลดลง
               

        อย่างไรก็ตาม แม้จะประสบความสำเร็จในการจำหน่ายทุเรียนสด แต่ทุเรียนเป็นผลไม้ตามฤดูกาลที่มีระยะเวลาประมาณ 3 เดือนเท่านั้น เข้าเดือนกันยายนทุเรียนก็เริ่มวายแล้ว เอซิดจึงวางแผนจะใช้ประโยชน์จากเนื้อทุเรียนแช่แข็งที่มีตลอดปีมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ขนมหวาน ส่วนเป้าหมายระยะยาวของ Dooran Dooran คือการเปิดคาเฟ่ และการขอใบรับรองเพื่อส่งออกทุเรียนไปยังประเทศจีน ส่วนงานจำหน่ายวอลเปเปอร์ซึ่งเป็นธุรกิจหลักก็ยังไม่ได้ละทิ้ง แต่จะกลับไปสานต่อเมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลาย
 
 
           ที่มา : www.theedgemarkets.com/article/startup-durian-demand
           https://vulcanpost.com/754200/doorandooran-malaysia-musang-king-d24-durian-delivery-service
 
 
 
 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

กว่าจะเป็น สุขกับป๊อกกี้ ร้านลับ ชื่อเท่ เมืองสัตหีบ ที่ใครมาก็ต้องได้ความสุขกลับไป

“สุขกับป๊อกกี้” คาเฟ่ & ร้านอาหารชื่อแปลกหู อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ที่แค่ฟังก็รู้ว่าต้องเป็นพื้นที่แห่งความสุข

บ้านอยู่ดีมีความสุข เกาะสีชัง กับแนวคิดทำธุรกิจให้มีขยะน้อยที่สุด

เราไม่สามารถลดขยะให้เป็นศูนย์ได้ แต่สามารถลดให้น้อยลงได้ แค่ลองตั้ง Mindset ค่อยๆ ลงมือทำไปทีละนิด ไม่ว่าใครก็ทำได้ เหมือนกับ “บ้านอยู่ดีมีความสุข” ที่พักเล็กน่ารักบนเกาะสีชัง จ.ชลบุรี ที่เริ่มต้นทำจากจุดเล็กๆ ไปทีละอย่าง

บ้านๆ น่านๆ ตำนานที่พัก+ห้องสมุด รายแรกของไทย ใช้สิ่งที่รักต่อยอดธุรกิจโตกว่าทศวรรษ

เพราะความรู้ ความบันเทิง ความรื่นรมย์ไม่ได้อยู่แค่ในหนังสือ แต่มันอยู่ในชีวิตเราทุกรูปแบบ นี่คือ เหตุผลที่ทำให้ "ชโลมใจ ชยพันธนาการ" (ครูต้อม) อดีตครูสอนวิชาภาษาไทยผันตัวมาเป็นเจ้าของที่พัก “บ้านๆ น่านๆ” ที่มีจุดขาย คือ มีห้องสมุดไว้สำหรับหนอนหนังสือเป็นรายแรกของไทย