ไขปริศนาเหตุใดกาแฟกระป๋องจึงครองความนิยมสูงสุดในตลาดญี่ปุ่น

TEXT: วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์




         เมื่อพูดถึงเครื่องดื่มในประเทศญี่ปุ่น คนส่วนมักนึกถึงชาเขียวและพิธีชงชาอันละเมียดละไม แต่น้อยคนที่จะทราบว่ากาแฟก็เป็นอีกเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมมาช้านานในประเทศนี้ วัฒนธรรมการดื่มกาแฟในญี่ปุ่นนั้นเริ่มต้นในทศวรรษ 1930 ซึ่งช่วงเวลานั้น เฉพาะในโตเกียวซึ่งเป็นเมืองหลวงก็มีร้านกาแฟบริการจำนวนหลายพันร้าน
               

        ความชมชอบในเครื่องดื่มชนิดนี้ทำให้เกิดนวัตกรรมอันนำไปสู่การกำเนิดกาแฟกระป๋องรุ่นแรกๆ ของโลก และกลายเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ข้อมูลระบุตลาดกาแฟพร้อมดื่มญี่ปุ่นปี 2019 มีมูลค่าสูงถึง 905,000 ล้านเยนหรือราว 2.75 แสนล้านบาท ข้อมูลยังระบุอีกว่าประชากรญี่ปุ่นบริโภคกาแฟกระป๋องโดยเฉลี่ยมากกว่า 100 กระป๋องต่อคนต่อปี            





        ความนิยมในกาแฟกระป๋องจนกลายเป็นเครื่องดื่มที่จำหน่ายมากเป็นอันดับต้นๆ มาจาก 2 ปัจจัยหลักคือ “ความสะดวก และราคาไม่แพง” เนื่องจากไม่ใช่ทุกคนที่จะมีเวลานั่งอ้อยอิ่งจิบกาแฟตามร้านกาแฟก่อนเข้างาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งมนุษย์เงินเดือนที่ทำงานในออฟฟิศอย่างบ้าคลั่งถึงวันละ 12 ชั่วโมง อย่าว่าแต่เดินไปสั่งเอสเพรสโซ่หรือลาเต้ตามคาเฟ่ เวลาจะหายใจหายคอยังแทบไม่ทัน    
               

        นั่นจึงเป็นเหตุผลหลักที่คนญี่ปุ่นรักกาแฟกระป๋องเนื่องจากไม่เสียเวลาและสามารถเข้าถึงกาแฟกระป๋องได้ทุกที่ อาทิ ตามร้านสะดวกซื้อกว่า 50,000 ร้าน หรือตามตู้หยอดเหรียญที่กระจายตามที่ต่างๆ กว่า 5 ล้านตู้ โดยเฉพาะช่องทางหลัง มีเงินเหรียญแค่ร้อยเยนก็สามารถกดกาแฟกระป๋องตามตู้หยอดเหรียญมาดื่มได้ในเวลาไม่กี่วินาที



               

         ย้อนกลับไปช่วงปลายทศวรรษ 1960 ผู้ที่คิดค้นกาแฟกระป๋องคืออูเอะชิม่า ทาดาโอะ ผู้ก่อตั้งบริษัทผลิตกาแฟอูเอะชิม่า คอฟฟี่ โค หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ยูซีซี” เหตุเกิดในวันหนึ่งระหว่างรอรถไฟ อูเอะชิม่าได้ซื้อกาแฟร้อนที่ซุ้มขายเครื่องดื่มในสถานีรถไฟ หลังจากจิบได้ไม่กี่อึก รถไฟก็เทียบชานชลา ก่อนขึ้นรถไฟ เขาจึงต้องทิ้งกาแฟแก้วนั้นไปอย่างน่าเสียดาย
               

         จากเหตุการณ์ดังกล่าว อูเอะชิม่าเกิดแรงบันดาลใจที่จะผลิตกาแฟที่สามารถดื่มได้ทุกที่ ทุกเวลา หลังจากที่ลองผิดลองถูกมาหลายครั้ง กาแฟกระป๋องยูซีซีรุ่นแรกก็พัฒนาสำเร็จด้วยเทคโนโลยีที่ทำให้คงรสชาติ และเก็บได้นาน หลังจากนั้นจึงเริ่มวางจำหน่ายในปี 1969 ส่งผลให้ยูซีซีขึ้นแท่นแบรนด์กาแฟที่จำหน่ายกาแฟกระป๋องพร้อมดื่มต่อเนื่องยาวนานที่สุดในโลก รวมแล้ว 52 ปี
               

         แม้ว่าร้านกาแฟแบบสเปเชียลตี้และเชนร้านกาแฟต่างประเทศจะผุดขึ้นมากมาย รวมถึงเครื่องชงกาแฟสำเร็จรูปที่วางขายเยอะขึ้น แต่กาแฟกระป๋องก็ยังยืนหนึ่งในตลาด และคงปฏิเสธไม่ได้ว่าเหตุผลหลักมาจากราคาที่จูงใจนั่นเอง คือเริ่มต้นตั้งแต่ 100 เยนไปจนถึง 500 เยนขึ้นอยู่กับคุณภาพ



               

       ความนิยมที่ล้นหลามในสังคมยังทำให้บริษัทต่างๆ หันมาผลิตกาแฟกระป๋องป้อนตลาดเช่นกัน อาทิ บริษัทโคคา-โคล่าที่นำเสนอกาแฟ Georgie บริษัทซันโทรีที่ผลิตกาแฟ BOSS บริษัทอาซาฮีที่แนะนำกาแฟ Wonda หรือบริษัทคิรินที่ผลิตกาแฟ Fire  ที่สำคัญในแต่ละปีจะมีกาแฟกระป๋องรสใหม่เปิดตัวกว่าร้อยชนิดทั้งร้อนและเย็น ทำให้ผู้บริโภคได้ลองอะไรใหม่ๆ ตลอดเวลา
               

        อย่างไรก็ตาม เกิดข้อสงสัยว่ากาแฟกระป๋องได้ส่งผลกระทบต่อวัฒนธรรมกาแฟของญี่ปุ่นหรือไม่ หลายคนอาจมองว่าทั้งกาแฟสำเร็จรูปพร้อมชงที่ซื้อติดบ้าน และกาแฟกระป๋องที่หาซื้อง่ายดายทุกพื้นที่จะเป็นสิ่งที่คุกคามธุรกิจคาเฟ่หรือร้านกาแฟในประเทศหรือไม่ คำตอบคือไม่มีผลสักเท่าไร เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคญี่ปุ่นคือโดยมากดื่มกาแฟกระป๋องในวันทำงาน แต่ในวันหยุด หรือวันพักผ่อน พวกเขาก็เลือกที่จะเดินเข้าร้านกาแฟเพื่อซื้อกับบาริสต้า กาแฟจึงเป็นทั้งเครื่องดื่มที่จำเป็นและเป็นสิ่งที่เลือกได้ขึ้นอยู่กับกลุ่มผู้บริโภค



               

          อย่างไรก็ดี สืบเนื่องจากวิกฤติโรคระบาดจากไวรัสโควิด-19 และคนจำนวนมากถูกบีบให้ทำงานที่บ้าน จากกาแฟกระป๋องที่ดื่มในวันทำงานก็มีบ้างที่เปลี่ยนมาเป็นกาแฟสำเร็จรูปหรือกาแฟสดชงดื่มเองที่บ้าน ในขณะที่อนาคตของกาแฟกระป๋องจะยังมีความแน่นอน แต่ถ้าในภายภาคหน้า หากญี่ปุ่นเปลี่ยนเป็นสังคมที่ผู้คนทำงานทางไกลมากขึ้นก็มีความเป็นไปได้ที่จะเห็นยอดขายกาแฟกระป๋องลดลง
               

        แต่นั่นก็เป็นเพียงความคาดการณ์ ซึ่งจะเกิดขึ้นหรือไม่ก็ยังไม่ทราบ ที่แน่ๆ ตราบใดที่ผู้คนยังคงเดินทางสัญจรไปมา ธุรกิจต่างๆ ยังดำเนินต่อไปและพนักงานยังต้องมาทำงาน รวมถึงตู้หยอดเหรียญยังเป็นที่พึ่งที่ดีที่สุด สำหรับผู้บริโภคญี่ปุ่นแล้ว กาแฟกระป๋องคงไม่เสื่อมความนิยมง่าย ๆ

 

        ที่มา : https://theoldcoffeepot.com/japanese-canned-coffee/
         www.thrillist.com/eat/nation/japanese-canned-coffee
         https://bartalks.net/japans-obsession-with-canned-coffee/
 
 
 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย