TEXT: วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์
สร้างความประหลาดใจไม่น้อยกับการจัดอันดับ 50 มหาเศรษฐีไต้หวันประจำปี 2021 โดยนิตยสารฟอร์บส์ ซึ่งบุคคลผู้มีฐานะมั่งคั่งอันดับ 1 ของไต้หวันมีชื่อว่า “จาง กงหยวน” ผู้โค่นแชมป์เก่าอย่างเทอร์รี่ เกา เจ้าของบริษัทฟ็อกซ์คอนน์ ผู้ผลิตโทรศัพท์สมาร์ทโฟนให้บริษัทแอปเปิ้ล นับเป็นครั้งแรกที่กงหยวน นักธุรกิจวัย 73 ปีมีชื่อติดอยู่ในโผบุคคลร่ำรวยของไต้หวัน ก่อนหน้านั้นแทบไม่มีใครได้ยินชื่อเขามาก่อน ไม่ว่าจะเป็นคนในจีนแผ่นดินใหญ่ หรือในไต้หวันเอง
แม้จะเป็นผู้ก่อตั้งอาณาจักรฮัวลี่ อินดัสเตรียล กรุ๊ป บริษัทผลิตรองเท้าที่รับจ้างผลิตรองเท้าให้กับแบรนด์ดังระดับโลกและมีลูกค้าประจำอย่างไนกี้ พูม่า ยูจีจี และแวนส์ โรงงานในเครือฮัวลี่ผลิตรองเท้าปีละกว่า 180 ล้านคู่ป้อนแบรนด์ดังเหล่านั้น แต่กงหยวนซึ่งเป็นผู้กุมบังเหียนบริษัทกลับไม่ค่อยปรากฏตัวต่อสื่อ
แต่หลังตัดสินใจนำธุรกิจเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เสิ่นเจิ้นเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา สถานะทางการเงินของกงหยวนและครอบครัวก็มั่งคั่งจนติดอันดับมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยสุดในไต้หวันด้วยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 13,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 450,000 ล้านบาท
ใครจะคาดคิดว่าชายผู้เป็นลูกชาวนาและเคยทำงานในโรงงานผลิตรองเท้าจะดิ้นรนจนมีธุรกิจของตัวเอง จากจุดเริ่มต้นที่ขาดแคลนเงินทุนจนต้องดัดแปลงฟาร์มเลี้ยงหมูเป็นโรงงานผลิตรองเท้าเมื่อ 30 กว่าปีก่อน ปัจจุบันธุรกิจเติบใหญ่ มีโรงงานผลิตรองเท้า 21 แห่งกระจายทั่วโลก สร้างรายได้ให้บริษัทมากถึง 2,100 ล้านดอลลาร์ในปีที่ผ่านมา
ไปดูกันว่ากว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ เส้นทางสู่ความสำเร็จของจาง กงหยวนต้องผ่านอะไรมาบ้าง กงหยวนเกิดเมื่อปี 1948 ในครอบครัวเกษตรกรที่เมืองหยุนหลิน ไต้หวัน หลังเรียนจบจากวิทยาลัยเกษตรในวัย 18 ปี เขาก็เริ่มงานในตำแหน่งธุรการที่โรงงานผลิตรองเท้าผู้หญิงแห่งหนึ่ง
ย้อนกลับไปช่วงเวลานั้น อุตสาหกรรมผลิตรองเท้าในไต้หวันกำลังเฟื่องฟูอย่างมาก และในปี 1976 ไต้หวันก็กลายเป็นผู้ส่งออกรองเท้ารายใหญ่สุดของโลก จุดสูงสุดของการส่งออกรองเท้าไต้หวันเกิดขึ้นในปี 1986 ว่ากันว่ารองเท้าที่ 1 ใน 6 ของคนในโลกสวมเป็นรองเท้าที่ผลิตในไต้หวัน
ด้วยประสบการณ์การทำงานในโรงงานรองเท้าทำให้กงหยวนคิดอยากมีธุรกิจผลิตรองเท้าบ้าง แต่ด้วยเงินทุนที่มีจำกัด เขาไม่สามารถสร้างโรงงานแบบทั่วไปได้จึงใช้วิธีแปลงฟาร์มเลี้ยงหมูใกล้นาข้าวทางตะวันตกของไต้หวันเป็นโรงงานผลิตแทน เนื่องจากเป็นโรงงานเล็กๆ ที่ทุนไม่มากและเพิ่งเริ่มต้น การจะได้สัญญาจ้างผลิตรองเท้าที่สร้างรายได้ดี เช่น รองเท้าฟุตบอล รองเท้าบาสเก็ตบอล รองเท้าเกณฑ์การผลิตสูงอื่นๆ และรองเท้าที่ผลิตซับซ้อนจึงเป็นไปได้ยาก
กงหยวนจึงเลือกผลิตรองเท้าผ้าใบธรรมดาไปก่อนเนื่องจากวัตถุดิบมีราคาถูก และยางที่ใช้ผลิตก็มีเหลือเฟือ แต่ก็เป็นรองเท้าที่ทำกำไรให้น้อยสุดเมื่อเทียบกับรองเท้าประเภทอื่น ซึ่งหลายบริษัทเลือกที่จะไม่รับผลิต เรียกได้ว่าบริษัทของกงหยวนไปกว้านรับออร์เดอร์ผลิตรองเท้าผ้าที่ตกหล่นจากบริษัทอื่นมานั่นเอง ซึ่งหากมองในแง่ดีก็ทำให้เขาไม่มีคู่แข่ง และตราบใดที่บริษัททำได้ดี ธุรกิจก็จะอยู่รอดได้
กงหยวนเคยให้สัมภาษณ์ว่า “ผมเติบโตในหมู่บ้านชนบท และธุรกิจที่ทำก็เป็นเพียงบริษัทเล็ก ๆ แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมา ผมทุ่มเทให้กับเรื่องรองเท้าอย่างเต็มที่ ผมไม่คิดว่าเป็นเรื่องยากอะไรหากจะรับออร์เดอร์เหลือจากที่อื่น ประเด็นคือเราต้องมีความมุ่งมั่นในการสร้างผลงานให้ดีกว่าคนอื่น”
และเพราะรองเท้าผ้าใบกำไรน้อยนี่เองที่ทำให้กงหยวนตั้งตัวได้ เมื่อบวกกับความวิริยะและการไม่หยุดพัฒนา ทำให้โรงงานรองเท้าเล็กๆ ของกงหยวนสามารถฝ่าฟันอุปสรรคครั้งแล้วครั้งเล่าจนประสบความสำเร็จ และสามารถขยายโรงงานเพิ่มอีกหลายแห่งทั้งในไต้หวันและกวางตุ้ง
ในปี 1990 กงหยวนได้เปิดบริษัทเหลียงหนิง อินดัสเตรียลกับหุ้นส่วนในฮ่องกง และ 5 ปีต่อมา บริษัทดังกล่าวก็จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทซิมโฟนี่ โฮลดิ้ง ปี 2004 เขาตั้งบริษัทขึ้นมาใหม่อีกแห่งที่เมืองจงชาน ใกล้กับฮ่องกง ใช้ชื่อบริษัทว่าฮัวลี่ ก่อนที่ภายหลัง เขาจะซื้อหุ้นในซิมโฟนี่ โฮลดิ้ง และควบรวมกับฮัวลี่จนเกิดเป็นฮัวลี อินดัสตรี กรุ๊ป
ปัจจุบัน บริษัทในเครือฮัวลี่มีโรงงานผลิต 21 แห่งในไต้หวัน จีน เวียดนาม เมียนมา และสาธารณรัฐโดมินิกัน และได้สัญญาผลิตรองเท้าให้กับบริษัทรองเท้าระดับโลกหลายราย ขณะที่บริษัทฮงฟู อินดัสตรีซึ่งอยู่ในเครือก็ขึ้นแท่นโรงงานผลิตรองเท้าที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก โดยมีบริษัทคอนเวิร์สเป็นลูกค้ารายใหญ่สุด
ในขณะที่ธุรกิจต่างๆ ทั่วโลกจะได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ฮัวลีกลับไม่ได้รับผลกระทบ ยังสามารถคงกำลังการผลิตและการส่งออกเช่นเดิม ปี 2020 ที่ผ่านมา บริษัททำรายได้รวม 13,900 ล้านหยวน ส่วนรายได้สุทธิอยู่ที่ 1,900 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 8 เปอร์เซ็นต์ แม้จะประสบความสำเร็จเช่นนั้น แต่นายใหญ่ผู้คุมอาณาจักรฮัวลี่หาได้ให้ความสำคัญไม่ เขาทิ้งท้ายว่าความสำเร็จที่ว่าไม่ได้เปลี่ยนแปลงชีวิตเขาแต่อย่างใด เขาก็ยังเป็นเขาและเดินหน้าทำในสิ่งที่ตัวเองถนัดเหมือนเดิม
ที่มา : https://min.news/en/economy/0f6a6d94a49227233555367ded9f596f.html
www.scmp.com/lifestyle/fashion-beauty/article/3145780/founder-huali-sneaker-maker-nike-converse-and-vans-started?module=perpetual_scroll&pgtype=article&campaign=3145780
https://min.news/en/taiwan/782d5feb37713592c2862fa99c3344df.html
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
RECCOMMEND: ENTREPRENEUR
เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ
ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว
เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย