TEXT : Surangrak Su.
PHOTO : ChouNan
เป็นยังไงกันบ้าง ผ่านมาวันแรกหลังปลดล็อกดาวน์ให้กลับมาเปิดร้านขายกันได้ ขายดีกันไหม ห้างฯ ช่วยเพิ่มยอดขายให้ได้หรือเปล่า
ดูเหมือนจะเป็นความหวังให้ผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารหลายคนขึ้นมาทีเดียว เมื่อรัฐบาลประกาศคลายล็อกดาวน์ให้กลับมาเริ่มเปิดขายกันได้อีกครั้งหนึ่ง แต่จริงๆ แล้วการพึ่งพาห้างสรรพสินค้า หรือเดลิเวอรีจะใช่ทางออกที่แท้จริงของร้านอาหารไหม หรืออาจต้องเพิ่มทางเลือกใหม่เข้าไปเหมือนอย่างล่าสุดที่ “โชนัน” (ChouNan) แบรนด์ร้านข้าวหน้าเนื้ออาหารญี่ปุ่นโชว์ไอเดียธุรกิจใหม่เปิดตู้ขายอาหารอัตโนมัติเป็นของตัวเองภายใต้แบรนด์ “ตู้กับข้าว Cloud Kitchen” ขึ้นมา เพื่อเพิ่มช่องทางจำหน่ายสินค้าอย่างยั่งยืนให้ธุรกิจ โดยไม่ต้องง้อแต่เดลิเวอรีที่มีค่า GP สูงๆ หรือราคาค่าเช่าพื้นที่แพงในห้างอย่างเดียวอีกต่อไป
กุลวัชร ภูริชยวโรดม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดิ ออริจินัล ฟาร์ม จำกัด ผู้บริหารร้าน ChouNan เปิดเผยที่มาของไอเดียให้ฟังว่า
จากสถานการณ์โควิด-19 ในหลายๆ ระลอกตลอดระยะเวลาเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจร้านอาหาร คือ ธุรกิจหนึ่งที่ได้รับผลกระทบมาโดยตลอดจากมาตรการความคุมและล็อคดาวน์ต่างๆ เช่น การจำกัดที่นั่งรับประทานในร้าน เปิดให้ขายได้เฉพาะซื้อกลับบ้านหรือเดลิเวอรีอย่างเดียวเท่านั้น หรือแม้แต่ต้องปิดร้านห้ามขายเลยก็ตาม
โดยโชนันเป็นร้านอาหารจานด่วนสไตล์ญี่ปุ่นที่เปิดให้บริการในศูนย์การค้าเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ จึงได้รับผลกระทบค่อนข้างหนัก ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้มีการปรับกลยุทธ์มาอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นการทำ ChouNan Franchise Ecosystem, การทำตลาดออนไลน์และเดลิเวอรี, การปรับเพิ่มแบรนด์สินค้าใหม่ๆ เพื่อสร้างฐานลูกค้าใหม่ๆ และลดข้อจำกัดเรื่องสถานที่, การทำ ChouNan Sushi Corner เพื่อเน้นให้ซื้อกลับบ้านในช่วงที่ไม่สามารถนั่งทานในร้านได้ ไปจนถึงการทำข้าวกล่องบริจาคผ่านแคมเปญ “ลูกค้าสั่งเท่าไหร่ โชนันช่วยเท่ากัน” หรือแม้กระทั่งการปรับกลยุทธ์มาขายวัตถุดิบต่างๆ เน้นการทำสินค้า D.I.Y. เพื่อให้ทำกินเองได้ง่ายๆ ที่บ้าน
แต่ทั้งหมดนี้ดูเหมือนไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาในระยะยาว เนื่องจากมองว่าวิกฤติดังกล่าวได้เปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตและบริโภคของผู้คนไปจากเดิมแล้ว ดังนั้นจะรอคอยลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการที่สาขาหรือพึ่งพาแพลตฟอร์มเดลิเวอรีเพียงอย่างเดียวคงไม่ได้อีกต่อไป เนื่องจากมีต้นทุนการบริหารจัดการและค่าบริการที่ค่อนข้างสูง กอรปกับทุกวันนี้ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังใช้ชีวิตแบบออกนอกบ้านน้อยลง มีการทำงานอยู่บ้านกันมากขึ้น
จึงเล็งเห็นว่าหากสามารถเพิ่มช่องทางการจำหน่ายและให้บริการแบบเข้าถึงตัวลูกค้าได้ง่ายและสะดวกขึ้น จะสามารถช่วยแก้ปัญหาจากข้อจำกัดต่างๆ และทำให้ธุรกิจสามารถสร้างรายได้ด้วยตนเองได้ โดยพึ่งพาปัจจัยจากภายนอกให้น้อยที่สุด จึงเกิดเป็นไอเดียธุรกิจตู้ขายอาหารอัตโนมัติ หรือ Vending Machine ออกมา
โดยนอกจากเหตุผลทางธุรกิจเพื่อเพิ่มช่องทางในการจำหน่ายสินค้าแล้ว กุลวัชรตั้งใจให้โมเดล ตู้กับข้าว Cloud Kitchen ที่มีสโลแกนง่ายๆ ว่า “อิ่มง่ายๆ แค่ปลายนิ้ว” เป็นการรวบรวมแบรนด์และเมนูอาหารต่างๆ ของ ChouNan Group มาไว้ในตู้เดียวกัน เพื่อทำหน้าที่เสมือนเป็นตู้กับข้าวในบ้านของทุกคนด้วย โดยเฉพาะคนเมืองที่ใช้ชีวิตเร่งรีบจะได้มีอาหารดี อร่อย และมีคุณประโยชน์ไว้รับประทาน
ไม่ว่าจะเป็นอาหารญี่ปุ่น เช่น ข้าวหน้าเนื้อ ข้าวแกงกะหรี่ หรือข้าวหน้าต่างๆ จากแบรนด์โชนัน, เมนูข้าวปั้นและซูชิต่างๆ จากแบรนด์ “โซลชิ (SOULSHI)”, เมนูก๋วยเตี๋ยวเรือพรีเมียมจากแบรนด์ ก๋วยเตี๋ยวเรือเสือหน้าหยก (JadeTiger Boat Noodle), เมนูต้นตำรับสำรับไทยเมนูโบราณที่หากินได้ยากจากแบรนด์ “บรรจง (Bunnjong)” อาทิ แกงระแวงเนื้อน่องลาย แกงฮังเล หรือจะเป็นเมนูอาหารอีสานรสแซ่บๆ จากแบรนด์ “สามเกลอ” เป็นต้น
รู้ไหม จริงๆ แล้วสินค้าที่จำหน่ายผ่านตู้ขายสินค้าอัตโนมัติในยุคแรกของโลกนั้น แท้จริงแล้วไม่ใช่เครื่องดื่ม ของกิน หรือของใช้อะไร แต่กลับคือ “น้ำมนต์” โดยผู้คิดค้นขึ้นมา คือ “เฮโรแห่งอะเล็กซานเดรีย” วิศวกรและนักคณิตศาสตร์ชาวกรีก โดยเมื่อหยอดเหรียญลงไปใส่เครื่องเหรียญจะตกลงบนถาดที่เชื่อมต่อกับคันโยก จนทำให้น้ำมนต์ไหลออกมาในที่สุด
เริ่มตั้งแต่ราคาเมนูละ 49 -209 บาท ซึ่งทุกเมนูจะเป็นการทำสดใหม่ทุกวัน ไม่ใส่สารกันบูด และมีการเปลี่ยนใหม่ในตู้ทุกวัน โดยแต่ละเมนูจะมีอายุอยู่ได้ประมาณ 3 วัน นับจากวันที่ผลิต โดยลูกค้าสามารถจ่ายผ่าน E-Wallet / QR Scan ได้ทุกประเภท ในหนึ่งตู้นั้นจะสามารถวางอาหารได้ประมาณ 130 – 160 ชิ้นขึ้นอยู่กับแต่ละเมนูที่จัดวาง เพื่อคัดเลือกให้เหมาะสมกับความต้องการของผู้บริโภคในพื้นที่นั้นๆ
โดยในระยะแรกจะเริ่มวางตามตึกที่อยู่อาศัย คอนโดมีเนียมต่างๆ ก่อน จากนั้นจึงค่อยขยายไปยังโลเคชั่นอื่นๆ ตามสถานการณ์ที่เหมาะสม เช่น ออฟฟิศสำนักงาน หน่วยงานราชการ สถานีขนส่ง โรงเรียน มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล เป็นต้น ในด้านของกระบวนการทำงานนั้นบริษัทจะเป็นผู้รับผิดชอบเองทั้งหมด ตั้งแต่การปรุงอาหาร บรรจุใส่กล่อง ขับรถขนส่งเพื่อนำอาหารมาเติมในตู้ รวมถึงจัดเก็บของเก่าออกไป โดยในปีนี้ตั้งเป้าจะเปิดให้ได้ทั้งหมด 30 ตู้ด้วยกัน
กุลวัชรได้กล่าวทิ้งท้ายว่าโมเดลธุรกิจตู้ขายอาหารอัตโนมัติที่เขาได้คิดขึ้นมานี้ นอกจากจะเป็นการหาทางออกให้กับธุรกิจเพื่อเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายแล้ว อนาคตอาจเปิดขายแฟรนไชส์ให้กับผู้ที่สนใจ รวมไปถึงการเปิดให้แบรนด์อื่นๆ ได้เข้ามาร่วมแชร์วางขายสินค้าไปด้วยกัน หรือสำหรับร้านค้า เช่น คาเฟ่ ร้านกาแฟ Co-working Space ต่างๆ อยากนำไปติดตั้งเพื่อเพิ่มเมนูทางเลือกให้กับลูกค้า และหารายได้เพิ่มให้กับธุรกิจ ก็สามารถทำได้เช่นกัน
“จากที่ทดลองทำมาแล้วหลายอย่าง เรามองว่าวิธีการนี้น่าจะเข้ามาช่วยตอบโจทย์ในระยะยาวให้กับธุรกิจได้ และสอดรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เป็นช่องทางการเปิดโอกาสให้เข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้นในรูปแบบที่ยังไม่มีร้านอาหารใดทำมาก่อน เรารู้ดีว่าวิธีนี้ถึงจะช่วยลดต้นทุนแทนการเปิดหน้าร้าน ต้นทุนแรงงานคน และเดลิเวอรีไปได้มาก แต่ก็ยังมีความเสี่ยงในเรื่องการบริหารจัดการและความสูญเสียค่อนข้างสูงของสินค้าที่อาจเหลือทิ้งในแต่ละวัน แต่มองว่ายังไงก็น่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่าที่ผ่านมา และส่งผลดีกับธุรกิจในระยะยาวได้อย่างแน่นอน”
ถึงจะโด่งดังมาจากข้าวหน้าเนื้อ ภายใต้แบรนด์โชนัน แต่ ChouNan Group ก็ถือเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีแบรนด์ในเครือด้านอาหารผลิตออกมาเยอะเช่นกัน ได้แก่ แบรนด์ Sumi Tei Yakiniku, SOULSHI (ซูชิ), ก๋วยเตี๋ยวเรือ สือหน้าหยก, บรรจง (อาหารไทย) และสามเกลอ (อาหารอีสาน) รวมถึงแบรนด์ ตู้กับข้าว Cloud Kitchen ด้วย
ChouNan
- Facebook : ChouNan
- โทร. 02 940 4500
- www.chounan.co.th
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี