จับตาอุตสาหกรรมอาหารจะรุ่งหรือร่วง หลังเจอวิกฤตไวรัส




         ด้วยตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดที่ยังทรงตัวสูง ทำให้ภาครัฐจำเป็นต้องยกระดับของมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด ซึ่งรวมถึงการจำกัดการให้บริการของร้านอาหารเหลือเพียงช่องทางการสั่งซื้อที่หน้าร้านและการสั่งผ่านแอปพลิเคชั่นจัดส่งอาหาร (Food Delivery) ข้อจำกัดดังกล่าวส่งผลกระทบต่อรายได้ของผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหาร ซึ่งคาดว่ามูลค่ารวมของรายได้ธุรกิจร้านอาหารทั้งปี 2564 จะหายไปไม่ต่ำกว่า 6.0 หมื่นล้านบาท


         จากช่องทางการสร้างรายได้ที่จำกัด ผลักดันให้บริการธุรกิจจัดส่งอาหาร (Food Delivery) กลายมาเป็นช่องทางการสร้างรายได้หลักของผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหาร นอกจากนี้ ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์จัดส่งอาหารหลายรายได้เร่งทำการตลาด จัดโปรโมชั่นมอบส่วนลดและยกเว้นค่าธรรมเนียมการจัดส่ง เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหาร และช่วยดึงดูดผู้บริโภครายใหม่ให้เข้ามาทดลองใช้งานในแพลตฟอร์มและเพิ่มความถี่ในการใช้งานของผู้บริโภครายเดิมเช่นกัน


         ด้วยเหตุผลดังกล่าวทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ปี 2564 ปริมาณการสั่งอาหารจัดส่งที่บ้านน่าจะมีจำนวนไม่น้อยกว่า 120 ล้านครั้ง หรือเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าตัว เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด-19 ในปี 2562 ที่มีจำนวนประมาณ 35 – 45 ล้านครั้ง





เทรนด์พฤติกรรมของผู้บริโภค

 

         นอกจากนี้ วิถีการใช้ชีวิตประจำวันท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคในการใช้บริการจัดส่งอาหารไปยังที่พัก ทำให้เกิดเทรนด์พฤติกรรมของผู้บริโภคที่น่าสนใจ ดังนี้
 

  • ระดับราคาเฉลี่ยต่อครั้งที่สั่งลดลง 20-25 เปอร์เซ็นต์จากปีก่อน จากปัจจัยด้านกำลังซื้อและการอัดโปรโมชั่นของผู้ประกอบการ โดยผู้บริโภคหันมาสั่งอาหารในระดับราคาที่สอดคล้องกับกำลังซื้อ ขณะเดียวกันการแข่งขันในธุรกิจร้านอาหารที่สูง ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารมีการจัดทำโปรโมชั่นราคาพิเศษและปรับรูปแบบของเมนูอาหาร

 

  • ร้านอาหารข้างทาง (Street Food) เข้ามามีบทบาทมากขึ้น และคาดว่าจะมีส่วนแบ่งรายได้มากกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่ารวมของธุรกิจจัดส่งอาหาร จากเดิมในปี 2563 อยู่ที่ประมาณ 29 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของเซ็กเม้นต์และประเภทอาหารของผู้บริโภคมายังเมนูอาหารที่มีระดับราคาย่อมเยา ส่งผลต่อเนื่องให้ความถี่ในการสั่งอาหารจากร้านอาหารข้างทางเพิ่มจำนวนมากขึ้น

 

  • พื้นที่การสั่งอาหารขยายสู่บริเวณกรุงเทพฯรอบนอกและพื้นที่เชื่อมต่อระหว่างกรุงเทพฯ-ปริมณฑลมากขึ้น สอดรับกับการปรับรูปแบบการทำงานของภาคธุรกิจมาเป็น Work from home และ Hybrid working ซึ่งผลสำรวจของศูนย์วิจัยสิกรไทยพบว่า หลังจากการระบาดในเดือนเมษายน 2564 พนักงานในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลที่ทำงานทั้งสองรูปแบบดังกล่าวมีสัดส่วนรวมกันสูงถึง 83 เปอร์เซ็นต์ โดยการที่ผู้บริโภคหันมาสั่งอาหารบริเวณใกล้ที่พักมากขึ้น นอกจากจะส่งผลให้ระยะทางเฉลี่ยในการจัดส่งอาหารลดลง ยังทำให้ผู้บริการแพลตฟอร์มจัดส่งอาหารปรับมาทำการตลาดร่วมกับพาร์ทเนอร์ ทั้งร้านอาหารและผู้จัดส่งอาหารในบริเวณดังกล่าวมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

 



Food Delivery ยังโตได้ดี

 


        ทั้งนี้ จากปัจจัยและสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนไป ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ธุรกิจจัดส่งอาหารไปยังที่พัก (Food Delivery) ในปี 2564 จะมีมูลค่ารวมสูงถึง 5.31 – 5.58 หมื่นล้านบาท หรือขยายตัวสูงถึง  18.4 – 24.4 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา


        ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าสถานการณ์โควิด-19 มีส่วนผลักดันให้ธุรกิจจัดส่งอาหารขยายตัวอย่างมาก และมีผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคในการปรับตัวมาใช้บริการจัดส่งอาหารเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ประกอบกับจำนวนร้านอาหารและผู้ส่งอาหารก็มีมาก จึงดึงดูดให้ผู้ประกอบการทั้งที่อยู่ในธุรกิจร้านอาหารและผู้ประกอบการนอกธุรกิจร้านอาหารสนใจเข้ามาลงทุนในตลาด Food Delivery ซึ่งทิศทางดังกล่าว ยิ่งทำให้ผู้เกี่ยวข้องในธุรกิจต้องเร่งปรับตัวเพื่อรับมือกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง


         ดังนั้น ถึงแม้รายได้ของธุรกิจจะเติบโต แต่การจะพลิกกลับมาสร้างผลประกอบการให้เป็นบวกสุทธิของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มธุรกิจ Food Delivery ที่แข่งขันกันอย่างดุเดือด ก็เป็นเรื่องที่ไม่ง่าย   


 

           ธุรกิจร้านอาหารควรปรับรูปแบบการลงทุนให้มีขนาดเล็ก เพิ่มความยืดหยุ่นและตอบโจทย์การเติบโตของตลาด Food Delivery โดยรูปแบบร้านอาหารขนาดเล็กที่คาดว่าจะได้รับความสนใจ ได้แก่ ร้านอาหารที่ไม่มีหน้าร้าน (Cloud kitchen) เช่น Multi-brand Cloud Kitchen ซึ่งเป็นการรวมแบรนด์ร้านอาหารในพอร์ทของผู้ประกอบการรายใหญ่ และ Delivery app own cloud kitchen ที่ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มจัดส่งอาหารจะรวมร้านอาหารที่มีชื่อเสียงเข้ามาอยู่ใน Cloud kitchen ของตน รวมถึงร้านอาหารแบบ Kiosk/Corner ที่นอกจากจะเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้บริโภคแล้ว ยังสามารถช่วยลดระยะทางเฉลี่ยในการจัดส่งอาหาร ส่งผลต่อเนื่องให้ต้นทุนและระยะเวลาการจัดส่งจากร้านอาหารไปยังผู้บริโภคลดลงจากเดิมอีกด้วย
 
           
        แม้ว่ามูลค่าของธุรกิจจัดส่งอาหารไปยังที่พักในปี 2564 จะยังขยายตัวต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา แต่ผู้ที่เกี่ยวข้องในธุรกิจยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายที่สำคัญ อาทิ การแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการร้านอาหารบนแพลตฟอร์มจัดส่งอาหาร จำนวนออเดอร์เฉลี่ยต่อวันต่อรายของผู้จัดส่งอาหารที่คาดว่าจะลดลงจากจำนวนผู้ขนส่งอาหารที่เพิ่มขึ้น โดยคาดว่าภาวะดังกล่าวจะยังคงดำเนินต่อเนื่องในอีก 1-2 ข้างหน้า และเป็นโจทย์ท้าทายสำคัญของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มจัดส่งอาหารทั้งรายเดิมและรายใหญ่ที่จะเข้ามาในธุรกิจดังกล่าว








 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย