TEXT : Nittaya Su.
ช่วงนี้เห็นข่าวสมุนไพรไทยถูกพูดถึงกันอยู่บ่อยๆ โดยเฉพาะสมุนไพรที่สามารถช่วยรักษาและบรรเทาอาการจากไวรัสโควิด-19 ได้ ไม่ว่าจะเป็นฟ้าทะลายโจร หรือกระชายขาว ทำให้ภาพรวมของตลาดดูคึกคักมากเป็นพิเศษ โดยปี 2563 ทั่วโลกมีการส่งออกสินค้าพืชสมุนไพร (HS 1211) มูลค่ารวมทั้งสิ้น 3,526.3 ล้านเหรียญสหรัฐ และสินค้าสารสกัดจากสมุนไพร (HS 1302) อีกกว่า 6,455.6 ล้านเหรียญสหรัฐ (ข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า) ด้วยเหตุนี้จึงทำให้หลายคนจับตาว่านี่อาจเป็นโอกาสอันดีหากธุรกิจสมุนไพรไทยจะไปเติบโตในตลาดโลก แต่แท้จริงแล้วในสายตาและมุมมองของทั่วโลกที่มีต่อสมุนไพรไทยเป็นเช่นไร
ลองมาฟังความคิดเห็นจาก ดร.ชัยรัตน์ อุทัยพิบูลย์ รองผู้อำนวยการด้านวิชาการและนวัตกรรม ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ TCELS หนึ่งในฟันเฟืองสำคัญทำหน้าที่สนับสนุน ขับเคลื่อน และบ่มเพาะงานวิจัยนวัตกรรม เพื่อให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์และบริการด้านการแพทย์และสุขภาพขึ้นมา
จากสถานการณ์ของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ดร.ชัยรัตน์กล่าวว่าเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้ธุรกิจเกี่ยวข้องกับการแพทย์และสุขภาพเติบโตเพิ่มมากขึ้นแบบก้าวกระโดด ธุรกิจผลิตสมุนไพรเองก็เป็นหนึ่งในนั้น ซึ่งจริงๆ แล้วแม้จะไม่มีเรื่องของโรคระบาดเข้ามา ความต้องการดังกล่าวก็ยังมีอยู่ เนื่องจากเป็นเทรนด์ของผู้บริโภคยุคนี้ที่ต่างหันมาดูแลใส่ใจสุขภาพและเลือกใช้สินค้าจากวัตถุดิบธรรมชาติเพิ่มมากขึ้นแทนการใช้สารเคมีหรือสารสังเคราะห์ เนื่องจากไปทำลายสิ่งแวดล้อมในโลกให้แย่ลง
และโดยสภาพภูมิประเทศของไทยเองและตำแหน่งที่ตั้งที่อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร ทำให้มีความหลากหลายทางชีวภาพค่อนข้างสูง จึงทำให้มีสมุนไพรเกิดขึ้นมากมาย ซึ่งโดยปกติตั้งแต่วิถีชีวิตแบบดั้งเดิมเรามักจะมีการนำสมุนไพรมาบริโภคเป็นอาหารในชีวิตประจำวันกันอยู่แล้ว ต่อมาด้วยคุณประโยชน์มากมาย จึงมีการคิดค้นพัฒนานำมาผลิตเป็นอาหารเสริม, เครื่องสำอาง และเวชสำอางมากยิ่งขึ้น
ซึ่งปัจจุบันไทยเองถือเป็นตลาดเครื่องสำอางที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของเอเชีย รองจากประเทศญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ และครองตำแหน่งเบอร์ 1 ในอาเซียน โดยมีมูลค่าตลาดสูงถึง 2 แสนล้านบาท แบ่งเป็นในประเทศ 60 เปอร์เซ็นต์ ส่งออก 40 เปอร์เซ็นต์ ทำให้มีความสนใจนำสมุนไพรและวัตถุดิบธรรมชาติมาผลิตเป็นส่วนผสมลงในเครื่องสำอางและเวชสำอางมากขึ้น รวมไปถึงการผลิตยาเป็น 3 เทรนด์ที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้สำหรับตลาดในเมืองไทย ตอนนี้ทาง อย. เองก็มีการจัดตั้งกองสมุนไพรขึ้นมาด้วยเมื่อ 2 ปีก่อน เพื่อรองรับการเติบโตของผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้ จึงถือได้ว่าผู้ประกอบการที่เบนมาทำผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้มีโอกาสเติบโตได้ทั้งในภูมิภาคและระดับสากล
อยากบุกตลาดโลก ต้องสร้างมาตรฐานให้ได้ก่อน
การที่จะทำให้สมุนไพรและสารสกัดจากธรรมชาติของไทยสามารถไปเติบโตสร้างมูลค่าเพิ่มอยู่ในตลาดโลกได้ ผู้ประกอบการไทยจะต้องให้ความสำคัญกับ 2 เรื่องสำคัญที่ยังขาดอยู่ ได้แก่ 1. การสร้างมาตรฐานที่น่าเชื่อถือและตรวจสอบย้อนหลังได้ 2. การจดสิทธิบัตรทางปัญญา ซึ่งแม้ปัจจุบันจะถูกนำมาใช้ผลิตกันมากภายในประเทศ แต่ส่วนใหญ่ยังคงเป็นในรูปแบบง่ายๆ ทำกันเองได้ เช่น การนำมาบด แล้วบรรจุ ไม่ได้มีการผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์หรือวิจัยขึ้นมาอย่างจริงจัง ซึ่งในต่างประเทศแล้วถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก
“ในบ้านเราเริ่มมีการนำสมุนไพรมาใช้มากขึ้นก็จริง แต่บางส่วนเรายังทำกันในรูปแบบง่ายๆ แค่เอามาบดแล้วก็จำหน่าย แต่สำหรับในตลาดโลกแล้วมันไม่พอ ทุกอย่างต้องมีการสร้างมาตรฐานขึ้นมา เพื่อให้สามารถตรวจสอบได้ ทุกอย่างต้องมีที่มาที่ไปที่ชัดเจน สามารถเปิดเผยขั้นตอนการผลิตได้ ตั้งแต่การเพาะปลูก กระบวนการผลิตว่าได้มาตรฐานไหม มีสารเคมี สารพิษตกค้างหรือเปล่า ไปจนถึงมีผลการวิจัยยืนยันถึงประสิทธิภาพที่ได้ ว่ามีสารที่ต้องการจริงๆ อยู่เท่าไหร่ ใช้แล้วได้ผลจริงไหม เพราะการที่จะนำไปใช้ต่อได้ เขาก็ต้องแน่ใจในสินค้าเราด้วย ไม่อย่างนั้นก็เหมือนเอาอะไรไปขายก็ไม่รู้
“อีกเรื่องที่สำคัญ คือ การจดสิทธิบัตรคุ้มครองหากทำนวัตกรรมใหม่ ผู้ประกอบการด้านสมุนไพรในบ้านยังไม่ค่อยให้ความสำคัญเท่าไหร่ ส่วนใหญ่มีแต่บริษัทใหญ่ๆ เท่านั้นที่ทำ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นมากหากคิดจะทำตลาดต่างประเทศ เพื่อเราจะได้ยืนยันความเป็นเจ้าของและสามารถทำตลาดได้กว้างขึ้น สองสิ่งที่กล่าวมานี้ภาครัฐอาจต้องเข้ามาช่วยส่งเสริม ทั้งในเรื่องการสร้างมาตรฐาน การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการมีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น มูลค่ารวมของตลาดในประเทศก็จะเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งผมมองว่าตอนนี้เป็นโอกาสของผู้ประกอบการธุรกิจด้านนี้เลยที่จะใช้โอกาสเกาะคลื่นลูกนี้พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสพัฒนาธุรกิจให้เติบโตขึ้นมาได้ ในขณะที่ตลาดกำลังมีความต้องการอยู่”
อยากต่อยอดธุรกิจให้ไปต่อ ต้องเริ่มยังไง
สุดท้าย ดร.ชัยรัตน์ได้ฝากถึงผู้ประกอบการ SME ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ด้านการแพทย์ เวชสำอาง และอาหารเพื่อสุขภาพที่มีความสนใจอยากต่อยอดพัฒนาธุรกิจแต่ไม่รู้จะเริ่มยังไงดี สามารถเข้ามาขอคำปรึกษาที่ TCELS ได้เลย โดยทำหน้าที่เหมือนเป็น One Stop Service ตั้งแต่การให้คำปรึกษา ส่งต่อประสานงานให้กับผู้เชี่ยวชาญและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปจนถึงช่วยเป็นตัวกลางช่วยหาผู้สนับสนุนและผู้ร่วมลงทุนให้ได้ โดยมีเป้าหมายสูงสุดเพื่อช่วยผลักดันให้เกิดธุรกิจพร้อมเข้าสู่อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจรให้ได้นั่นเอง
นอกจากนี้ในทุกปียังมีการเปิดรับสมัครและคัดเลือกผู้ประกอบการ เพื่อเข้าร่วมในโครงการ Journey to Success โปรแกรมช่วยพัฒนาต่อยอดธุรกิจด้วย ซึ่งไม่ใช่รูปแบบการอบรม แต่เป็นการให้คำปรึกษาแบบเชิงลึกด้วยกลไก Mentorship โดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง อย่างล่าสุด Journey to Success ปี 2021 ที่เพิ่งจบไปก็เป็นโปรแกรมสำหรับผู้ประกอบการด้านกลุ่มเวชสำอางและอาหารเสริมสมุนไพร
โดยมีผู้ที่ได้รับคัดเลือกรางวัลชนะเลิศ คือ ผลิตภัณฑ์ Happy Noz Virus Protection หรือ แฮปปี้ โนส สติ๊กเกอร์หัวหอม สูตรป้องกันไวรัส ผลิตจากส่วนผสมออร์แกนิค 100 เปอร์เซ็นต์ จาก บริษัท วันเวนเชอร์ จำกัด เป็นต้น ซึ่งจะได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในพาร์ทเนอร์ในงาน Bio Japan 2021 และออกบูธฟรีในงาน Bio Asia Pacific 2021 ในรูปแบบออนไลน์ ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถติดตามข่าวสารผ่านทางเว็บไซต์ของ TCELS ได้
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี