TEXT : Wattar
บรรจุภัณฑ์สินค้าเดี๋ยวนี้ไม่ได้มีแค่เอาไว้ใส่หรือห่อสินค้า แต่บรรดาแบรนด์ต่างๆ ได้สรรหาวิธีใช้ประโยชน์มากมาย บางอย่างก็ดีกับแบรนด์ บางอันดีกับผู้บริโภค บางชิ้นเน้นดูแลโลกเอาไว้ก่อน
แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน คือการสะท้อนว่าแต่ละแบรนด์นั้นให้ความสำคัญกับอะไร มีบุคลิกแบรนด์เป็นแบบไหน และนี่คือตัวอย่างแพคเกจจิ้งสุดว้าว ที่แต่ละแบรนด์คิดออกมาได้ไงเนี่ย!
กล่องไอติมรายแรกที่ทำจากกระดาษแข็งแต่แช่ตู้เย็นได้
Sacred Serve แบรนด์ไอศกรีมเจลาโต้จากพืชแบบโฮมเมดมีความตั้งใจว่าจะทำของกินที่ไม่เป็นอันตรายต่อทั้งร่างกายและต่อโลก นอกจากจะผลิตไอศกรีมที่ใช้ส่วนผสมจาก Superfoods สมุนไพรและเห็ดออกมาแล้ว ยังเป็นรายแรกที่ใช้กล่องไอศกรีมที่ทำจากกระดาษแข็งสามารถเอาเข้าตู้เย็นแช่แข็งได้ไม่ต่างจากถ้วยไอศกรีมแบบเดิมที่ต้องเคลือบโพลีเอทิลีนเพื่อป้องกันความชื้นและทนต่ออุณหภูมิช่องแช่แข็ง จึงทำให้ไม่สามารถเอาไปรีไซเคิลได้
กล่องไอศกรีมของ Sacred Serve ทำจากกระดาษแข็งเกรดอาหารบริสุทธ์ 100% เคลือบสารกันน้ำที่ปลอดภัยสำหรับอาหาร รีไซเคิลหรือกระทั่งจะปล่อยให้ย่อยสลายไปตามธรรมชาติก็ได้เหมือนกัน แถมยังออกแบบให้ใช้กระดาษเพียงแผ่นเดียวต่อ 1 กล่อง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและคนแยกขยะสุดๆ
กล่องนมจากพืชที่จะพาไปทัวร์สวนอัลมอนด์
ผู้บริโภคกำลังมองหาแบรนด์อาหารและเครื่องดื่มที่สามารถติดตามได้ว่าต้นทางวัตถุดิบมาจากไหน แบรนด์นมที่ชื่อว่า Almond Breeze เลยมีไอเดียแพคเกจจิ้งที่ให้ความรู้และความบันเทิงเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของพวกเขาโดยใช้เทคโนโลยี AR
ผู้บริโภคไม่ต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชันใดๆ เพียงแค่เปิดกล้องแล้วสแกน QR Code บนบรรจุภัณฑ์แล้วประสบการณ์ AR ก็จะเผยโฉมออกมา แสดงผลเป็นฟาร์มอัลมอนด์ต่อหน้าผู้ใช้ มีฟาร์ม มีรถส่งของขับไปมา มีทุ่งต้นอัลมอนด์ที่ผลิบาน มีลำธาร และถนน โดยผู้ใช้งานสามารถขยับกล้องเพื่อดูฉากรอบๆ ได้ และยังลิงก์เข้าไปดูข้อมูลในเว็บไซต์ที่มีเรื่องราวของสหกรณ์ผู้ปลูกอัลมอนด์กว่า 3,000 รายที่คอยส่งวัตถุดิบมาแปรรูปเป็นนมแสนอร่อย วิธีนี้ช่วยสร้างการมีส่วนร่วมของผู้บริโภค มีคนที่เข้าถึงสื่อของแบรนด์เพิ่มขึ้นทุกช่องทางเลยทีเดียว
กล่องซีเรียลที่เป็นมิตรกับผู้มีปัญหาทางสายตา
แบรนด์ Kellogg ได้เพิ่มเทคโนโลยีใหม่เข้าไปในกล่องซีเรียลที่วางขายยุโรปทั้งหมดเพื่อให้คนตาบอดและผู้มีปัญหาทางสายตาสามารถเข้าถึงสินค้าได้อย่างอิสระมากขึ้น
ปกติแล้วพวกข้อมูลสำคัญ เช่น ส่วนผสมหรือรายละเอียดสารก่อภูมิแพ้มักจะพิมพ์ในรูปแบบตัวอักษรเล็กๆ ที่คนตาบอดอ่านไม่ได้หรืออ่านได้ยาก กล่องใหม่นี้จะแก้ปัญหานั้นได้ด้วยการใช้สมาร์ทโฟนส่องหารหัสบนบรรจุภัณฑ์แล้วมันจะอ่านข้อมูลให้ฟัง เทคโนโลยีนี้เรียกว่า NaviLens ต่างจากโค้ดประเภทอื่นนิดหน่อย โดยมีสี่เหลี่ยมสีสันสดใสวางบนพื้นหลังสีดำ ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องรู้ตำแหน่งที่แน่นอนของโค้ดก็สามารถสแกนหาได้ง่ายๆ ในระยะสูงสุดถึง 3 เมตรเลยทีเดียว
ซึ่งไอเดียหรือเทคโนโลยีนี้ Kellogg ก็ไม่ได้หวงแต่อย่างใด และอยากจะแบ่งปันให้กับแบรนด์อื่นๆ ได้ใช้ด้วย เพราะเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้บริโภคที่มีความหลากหลายได้นั่นเอง
ขวดเกลือที่ช่วยบอกสูตรลดขยะอาหารในบ้าน
ลองสแกน QR Code ที่อยู่บนขวดเกลือ Morton Salt ดูสิอาจจะได้ไอเดียสำหรับมื้อเย็นก็ได้ เมื่อสแกนแล้วจะได้เจอกับภาพ AR วัตถุดิบต่างๆ เช่น ผลไม้ที่ถูกลืม หัวหอมสุก หรือถั่วที่เหลืออยู่ในตู้ พร้อมกับเคล็ดลับและสูตรอาหารที่ช่วยลดขยะอาหารที่มีอยู่ในบ้าน เอามาแปลงเป็นอาหารกินเล่น หรือมื้อหลักก็ได้ สอดแทรกการเลือกเกลือที่เหมาะสม ให้เหล่าพ่อครัวแม่ครัวเรียนรู้ว่าเกลือแบบไหนใช้ทำอาหารชนิดใดจะช่วยเสริมรสให้แต่ละมื้ออร่อยขึ้นได้ง่ายๆ
ซองที่ช่วยซ่อนขนมจากสายตาเด็กๆ
โอรีโอได้ออกแบบสันซองขนมเป็นรูป คู่มือรถยนต์, เสื้อยืด, ตำราอาหาร และอีกหลากหลายไอเดียเพื่อล้อไปกับความจริงที่ว่าผู้ปกครองหลายคนมักซ่อนขนมจากเด็กๆ เพื่อจะเก็บเอาไว้กินเอง!
ความจริงแล้วมันเป็นแคมเปญการตลาดที่ชักชวนให้ผู้บริโภคมาร่วมกันโพสต์ที่ซ่อนขนมสุดสร้างสรรค์ แล้วติดแท็ก #THINSProtectionProgram เพื่อชิงรางวัลใหญ่มูลค่าถึง 25 ดอลลาร์สหรัฐ งานนี้ไม่ได้มีแต่แฟนๆ ของโอรีโอเท่านั้น แม้แต่แบรนด์ใหญ่อื่นๆ อย่าง Ikea, Home Depot และ Xbox ก็เข้ามามีส่วนร่วมแชร์ที่ที่ซ่อนขนมสุดสร้างสรรค์กันด้วย กลายเป็นแคมเปญที่มีคนเข้าร่วมกันคึกคักสุดๆ แล้วคุณล่ะ แอบเอาขนมไปซ่อนไว้ที่ไหน?
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
RECCOMMEND: ENTREPRENEUR
เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ
ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว
เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย