สมบูรณ์ พนาโยธากุล แม่ผู้เปลี่ยนเด็กดาวน์ซินโดรม สู่เสี่ยเงินล้าน เจ้าของธุรกิจเสื้อคอกระเช้าเบส

TEXT: Neung Cch.

 

          ถ้าการเลี้ยงลูกให้เติบโตมีงานทำเป็นคนดีในสังคมถือเป็นความสำเร็จของผู้เป็นแม่แล้ว สมบูรณ์ พนาโยธากุล คงเป็นแม่ที่ประสบความสำเร็จเป็นสองเท่าเมื่อเธอสามารถเลี้ยงลูกชายที่เป็นดาวน์ซินโดรมให้กลายเป็นเสี่ยเงินล้านเจ้าของธุรกิจเสื้อคอกระเช้าเบสมายาวนานกว่า 10 ปี


         สมบูรณ์ บอกว่าความภูมิใจที่เกิดขึ้นนั้นหาใช่ใช่เรื่องเงิน หากแต่เป็นความภูมิใจในตัวลูกชาย เบส-พีรัช ที่สามารถทำในสิ่งที่เกินคาดได้สำเร็จ นี่คือเรื่องราวของหญิงแกร่ง ที่ไม่ได้สู้เพื่อตัวเองเท่านั้น แต่ยังสวมบทเป็นครูที่ไม่มีค่าจ้าง เป็นเจ้านายที่ไม่มีค่าตอบแทน เรียกว่าทำทุกอย่างเพื่อให้ลูกชายของเขาสามารถยืนหยัดในสังคมได้โดยไม่เป็นภาระกับใคร จนคว้ารางวัลพ่อแม่ดีเด่น จากมูลนิธิเพื่อการศึกษาพิเศษ ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประจำปี พ.ศ. 2558 มาครอง





จากห้องคลอดสู่ห้องเรียน

               

          ทันทีที่คลอดน้องเบสออกมาได้เพียงวันเดียวคุณแม่สมบูรณ์ก็เห็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับลูกชาย มากกว่าความเป็นห่วงคือ ความคิดที่ว่าจะเลี้ยงดูลูกชายคนนี้อย่างไร โดยเฉพาะเมื่อด.ช. เบส โตขึ้นอยู่ในวัยที่ต้องได้รับการศึกษา


          “มันก็ยากนะ เบสเรียนกับเด็กปกติก็ไม่ได้ เรียบกับเด็กกลุ่มพิเศษก็ลำบากเพราะเด็กพิเศษมีหลายระดับ ดังนั้นสิ่งที่โรงเรียนเน้นสอนให้เด็กช่วยเหลือตัวเองได้ เช่น อาบน้ำ กินข้าว แต่เราอยากให้ลูกของเราอ่านออกเขียนได้ด้วย”


         ระหว่างที่ตัดสินใจว่าควรให้ลูกชายเรียนที่โรงเรียนธรรมดาหรือโรงเรียนพิเศษ คุณพ่อซึ่งรับราชการต้องไปทำงานที่จังหวัดชุมพร ทำให้คุณแม่ตัดสินใจส่งน้องเบสไปเรียนที่โรงเรียนชุมพรปัญญานุกูล เป็นโรงเรียนสำหรับเด็กพิเศษ เรียนแบบไปเช้าเย็นกลับ เพื่อที่ตอนเย็นคุณแม่จะได้มาสอนน้องอ่านหนังสือ บวกเลข ดูนาฬิกา ฯลฯ


         “เราก็ค่อยๆ สอนทีละนิด ให้อ่านได้วันละคำสองคำ มันก็เหนื่อยนะต้องใช้ความใจเย็น แต่ถ้าเรายังสอนลูกเราไม่ได้แล้วใครจะมาสอนก็คิดว่าต้องเป็นแม่เท่านั้น”





เบสต้องมีอาชีพ



          ความพยายามทุ่มเทให้เบสทุกวันทุกนาที เริ่มเห็นผลเมื่อหนุ่มน้อยเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 นอกจากพออ่านหนังสือได้แล้ว ยังมีหน้าตาที่สดใสขึ้น และทุกอย่างก็เริ่มดีขึ้นเป็นลำดับ กระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งในครอบครัวเมื่อคุณพ่อย้ายมารับราชการที่จังหวัดปทุมธานี คุณแม่จึงตัดสินใจ พาเบสไปสมัครเรียน กศน. ปากเกร็ด เพื่อให้มีอาชีพและมีวุฒิการศึกษาติดตัว
               

          “มองว่าเบสต้องมีอาชีพ ซึ่งอาชีพที่แม่ถนัดสามารถสอนหรือแนะนำเขาได้คือการเย็บผ้า เพราะแม่เรียนวิชานี้มาจากโรงเรียนสอนตัดเสื้อระพีและเคยเป็นช่างเย็บผ้า จึงอยากใช้ความถนัดนี้ส่งต่อให้เบสได้เรียนตัดเย็บง่ายๆ ตอนแรกที่มองๆ ไว้มี ถุงผ้า กางเกงเด็ก เสื้อคอกระเช้า สุดท้ายก็มาลงตัวที่เสื้อคอกระเช้าเพราะคิดว่ามันไม่มีล้าสมัย ใส่เที่ยวได้ ใส่นอนได้ มีผ้า 4 ชิ้น หน้าสองชิ้นหลังสองชิ้น มั่นใจว่าเบสทำได้”





จากนักเรียนสู่เก้าแก่



        นอกจากความชำนาญในเรื่องการเย็บผ้าแล้ว อีกเหตุผลหนึ่งที่สมบูรณ์ตัดสินใจให้เบสเย็บผ้าเนื่องจากไม่ต้องลงทุนมากเพราะมีอุปกรณ์คือจักรเย็บผ้าอยู่แล้ว


        “ตอนแรกเบนซ์ก็กลัว เพราะเมื่อสิบปีที่แล้วยังเป็นจักรแบบเก่ายังไม่ใช่จักรไฟฟ้าแบบสมัยนี้ ตอนฝึกแม่ก็ต้องเอาใบมีดออก ฝึกให้เขาลองเย็บเฉยๆ ให้คุ้นเคยกับจักรเป็นปีๆ ไม่ต้องกลัวว่าพ้งแล้วจะขาด ไม่ต้องกลัวว่าจะผิด เพราะถ้าผิดไปก็เป็นครูเขาได้ระวัง ซึ่งเวลาเบสทำผิด เขานิ่ง สักพักจะมาแก้ตัวว่าที่ผิดเพราะอะไร เช่นด้ายเป็นถั่วงอกเลยมองไม่เห็น เราก็จะสอนให้เขาลองฟังว่าถ้าด้ายเป็นเม็ดถั่วหงอกจักรจะดังแบบนี้”


         กระทั่งเบสอายุ 20 ปี จึงได้เริ่มเย็บเสื้อคอกระเช้าขาย ซึ่งปรากฏว่างานที่ทำครั้งแรกก็ขายได้เลย ยิ่งได้ออกสื่อทางทีวีก็ทำให้ลูกค้าเยอะมากขึ้น แต่ที่ทำรายได้ให้เป็นกอบเป็นกำกับเบสคือ เวทีอย่างงาน OTOP แต่ช่วงสองสามปีหลังมานี้น้องสาวเบสช่วยทำเพจเฟซบุ๊ก เสื้อคอกระเช้าเบส ก็ช่วยยอดขายได้ค่อนข้างดีเช่นกัน


          “เราทำเหมือนใส่เอง แม่ตรวจทุกตัว มีอะไรไม่ดีถึงแม้จะแค่นิดหน่อย ก็จะแก้ให้เรียบร้อยก่อนถึงมือลูกค้า ส่วนเบสก็จะมีการวางแผนการทำงาน ถ้าทำงานไม่เสร็จเขาก็ไม่ยอมเลิก เคยทำถึง 4 ทุ่มมาแล้ว หรือเวลาไปออกงานขายของ เขาจะวางแผนจัดเตรียมของว่าต้องใช้อะไรบ้าง”





มากกว่ารายได้คือความภูมิใจ

               

         เมื่อถามถึงอนาคตธุรกิจเสื้อคอกระเช้าเบส สมบูรณ์บอกว่าด้วยวัยของตัวเองที่มากขึ้นทุกวัน ปัจจุบันอายุ 64 ปีแล้วฉะนั้นไม่ได้หวังทำให้เป็นธุรกิจใหญ่โต แต่อยากให้เป็นธุรกิจที่ทำไปได้ตลอดกาล ไม่อยากให้เบสต้องเป็นภาระกับใครในอนาคต


         “เขามีเงินเก็บหลักล้านนะ แต่ที่เราภูมิใจไม่ใช่เรื่องเงิน ภูมิใจที่เขาสามารถทำได้ อย่างน้อยก็ช่วยไม่ให้เขาเอ๋อ ถ้าไม่มีอะไรทำวันๆ เขาก็เฉื่อย เอาแต่นอน พอได้เย็บผ้ามีงานทำเหมือนช่วยพัฒนาสมอง บุคลิกภาพ ความกระตือรือร้นก็ดี ซึ่งมันแสดงออกมาทางแววตาอย่างชัดเจน”
 

         ถ้าเทียบรายได้นี่อาจเป็นเพียงธุรกิจเล็กๆ ที่ประสบความสำเร็จ หากแต่เบื้องหลังความสำเร็จครั้งนี้มาจากพลังที่ยิ่งใหญ่ของผู้หญิงตัวเล็กๆ ที่ชื่อ สมบูรณ์ พนาโยธากุล
 



 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย