ทำเกษตรยังไงให้รุ่งและรอดแบบยั่งยืน เจาะแนวคิด ฟาร์มบ้านภู ลูกค้าต้องจองเนยล่วงหน้าเป็นเดือน

Text: Neung Cch.
 
           

         เพราะอาชีพเกษตรกรมักสวนทางกับความร่ำรวยแถมมักถูกเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลาง อาชีพนี้จึงไม่เป็นที่นิยมในบ้านเรานัก หลายคนมักเลี่ยงที่จะประกอบอาชีพนี้ แต่คงไม่ใช่กับ ปู-สรรพศิรินทร์ ทรัพย์อนันต์ ที่ยังตัดสินใจยึดอาชีพนี้ในยุคดิจิทัล ทว่าการทำเกษตรของเธอต้องหลุดจากวงจรเดิมๆ และสามารถเลี้ยงตัวเองได้แบบยั่งยืน


          สาวลพบุรีคนนี้จึงปฏิรูปการทำเกษตรแบบใหม่ ที่ไม่ได้ทำหวังทำเอาโล่แต่ทำเพื่อให้รอด ลงทุนทำทุกอย่างแม้กระทั่งไปสมัครเป็นพนักงานขายของกับบริษัทสัญชาติอเมริกาเพื่อเรียนรู้วิชาทางด้านการตลาด หรือลงทุนชิมหญ้าเพื่อให้รู้ว่าวัวชอบหญ้าแบบไหน ฯลฯ และวันนี้สิ่งที่เธอลงทุนทั้งหมดกว่า 13 ปี ก็เริ่มออกดอกออกผลให้เห็นแล้ว เมื่อสาวกนม เนยสายออร์แกนิก ยอมจองสินค้าล่วงหน้าเป็นเดือนเพื่อจะได้ชิมผลิตภัณฑ์จาก “ฟาร์มบ้านภู”





เหตุผลสู่วิถีเกษตรแบบใหม่

               

        ด้วยภาพจำของการทำเกษตรที่ปูคุ้นเคยมาตั้งแต่วัยเด็ก การทำเกษตรของรุ่นพ่อแม่มักประสบปัญหามากมาย หลายอย่างต้องพึ่งพากลไกภาครัฐ และระบบนายทุน ดังนั้นเมื่อปูเลือกที่จะยึดอาชีพนี้ เธอจึงคิดว่าถึงเวลาสังคายนาใหม่ พร้อมตั้งกฏเหล็กไว้ดังนี้


  1. ไม่ทำการเกษตรเหมือนเดิมที่ในอดีตทำแล้วไม่ได้ผล

 

  1. วางแผนโดยนำปัญหาแต่ละอย่างมาวิเคราะห์ เช่น ทำไมถึงต้องต้องซื้ออาหารสัตว์ในราคาที่สูงโดยที่ไม่มีทางต่อรอง

 

  1. เพื่อให้หลุดพ้นจากวงจรแบบเดิม จึงต้องทำเกษตรที่สามารถพึ่งพาตัวเองให้ได้มากที่สุด

 

  1. การพึ่งพาตัวเองได้คือ ต้องมีกำไรสามารถเลี้ยงตัวเองได้แบบยั่งยืน

 

  1. จะเป็นอาชีพที่ยั่งยืนได้ ต้องทำงานที่มีคุณภาพ ราคาเป็นธรรม มีฐานลูกค้าเป็นของตัวเอง

 




เริ่มที่ลดต้นทุน



          จากเหตุผลดังกล่าวสิ่งที่เจ้าของฟาร์มบ้านภูเริ่มต้นทำลำดับแรกคือ การวิเคราะห์ต้นทุน ซึ่งต้นทุนของฟาร์มประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ คือ ค่าอาหารสัตว์ ซึ่งอาหารสัตว์แบ่งเป็นสองประเภทคือ หนึ่ง หัวอาหารสัตว์ กับอาหารหยาบ เช่น หญ้า ฟาง ฯลฯ


          “โดยพื้นฐานการเลี้ยงวัวของฟาร์มบ้านภูจะเลี้ยงวัวแบบปล่อยตามธรรมชาติอยู่แล้วจึงเกิดแนวคิดที่จะปลูกแปลงหญ้าเป็นอาหารสำหรับเลี้ยงวัว พอวัวมีหญ้าที่เขียว ใหม่ สด ให้กินแล้วอร่อย มันก็จะกินเป็นอาหารหลัก ทำให้เราลดการซื้อหัวอาหารน้อยลง สุดท้ายเขาไม่กินหัวอาหารเลยโดยที่เราไม่ได้บังคับ”





ทำเกษตรให้เหมือนธุรกิจออฟฟิศ

               

        ถึงจะทำงานกลางแจ้งมีฟ้าเป็นกำแพง สายลมเป็นแอร์ แต่การทำงานแห่งนี้ไม่ใช่คอยแต่ฟ้าฝนเพราะการดำเนินงานทุกอย่างมีการวางแผนไม่ต่างจากการทำธุรกิจแขนงหนึ่ง แม้แต่ในด้านการตลาดที่เจ้าของฟาร์มยอมลงทุนไปขอสมัครงานจากบริษัทแห่งหนึ่งทั้งๆ ที่ขณะนั้นไม่ได้เปิดรับพนักงาน


         “เราต้องใช้การตลาดนำการผลิต ไม่ใช่ใช้ผลผลิตนำตลาด ฉะนั้นเมื่อรู้ว่าจะทำอะไรขาย ขายให้กับใคร ทำให้คิดย้อนกลับไปว่าต้องทำอย่างไรเพื่อที่จะให้ขายของได้ตามนั้น”
               

          เช่นเดียวกับการปลูกหญ้าเป็นอาหารวัวนั้นก็มาจากการที่ปูคิดย้อนกลับไปว่าหากต้องขายผลผลิตที่มีคุณภาพให้ได้ราคาดี ผลผลิตคุณภาพนั้นต้องเริ่มจากการที่วัวมีสุขภาพชีวิตที่ดี ได้กินอาหารที่ดีและอาหารหลักที่วัวกินคือหญ้า เพราะธรรมชาติสร้างมาแบบนั้น


          “ประเทศไทยไม่ได้เลี้ยงวัวให้เป็นวัว เลี้ยงวัวให้เป็นเครื่องผลิตนม พอได้นมก็ส่งเข้าโรงงานอุตสาหกรรม จึงได้นมที่เป็นนมอุตสาหกรรม แต่ปูเลี้ยงวัวที่เป็นวัวเพื่อให้นมที่เป็นนม มันเป็นกระบวนการที่เป็นธรรมชาติ”



 

วัวชั้นดีสู่เนยชั้นเยี่ยม

             

         จากกระบวนการเลี้ยงวัวแบบที่เป็นธรรมชาติเหมือนเป็นแต้มต่อให้ทางฟาร์มบ้านภู สามารถแปรรูปผลิตภัณฑ์เป็นเนยและนมที่เป็นแบบธรรมชาติ โดยเริ่มทำตลาดตั้งแต่ 5 ปีที่แล้ว


         สำหรับวิธีการทำตลาดทางฟาร์มบ้านภูจะใช้เฟซบุ๊กเป็นช่องทางสื่อสารให้ลูกค้าทราบถึงที่มาที่ไปของการเลี้ยงวัวหรือการทำฟาร์ม มากกว่าที่จะเน้นขายสินค้า ด้วยการตลาดแบบนี้ทำให้ลูกค้าบอกต่อกันปากต่อปาก ดันให้ยอดขายของฟาร์มบ้านภูค่อยๆ เติบโต แม้แต่สถานการณ์โควิดก็ไม่ทำให้ยอดขายตกลง
               

          “เรากระจายความเสี่ยงไว้แล้ว เราจะจำหน่ายให้กับร้านอาหาร โรงแรมไม่เกิน 50 เปอร์เซ็นต์ ของกำลังการผลิต เราเน้นตลาดย่อยผู้บริโภคที่หลายแห่งไม่อยากทำเพราะจัดการยาก แต่ปูถือว่าลูกค้ากลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อและยอมจ่ายเพื่อให้ได้สินค้าคุณภาพดี ถ้าคุณสามารถทำได้เขาจ่ายไม่อั้น”
 


 

เคล็ดลับที่ทำให้ลูกค้าต้องจองเนยล่วงหน้าเป็นเดือน



        กว่าที่ฟาร์มบ้านภูจะเป็นที่ยอมรับอย่างวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะช่วงเริ่มต้นต้องลองผิดลองถูกหลายอย่าง เช่น การซื้อวัวจากที่อื่นมาเลี้ยงไม่สามารถเข้ากับระบบฟาร์มบ้านภูได้ เนื่องจากวัวจากฟาร์มอื่นจะไม่ได้เลี้ยงแบบปล่อย พอมาเจอวิธีการเลี้ยงแบบปล่อย ร่างกายไม่แข็งแรงอดทน ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยตายได้ หรือแม้แต่กว่าจะรู้ว่าต้องปลูกหญ้าแบบไหนที่วัวชอบกินก็ต้องใช้คนชิมหญ้าแล้วสังเกต เช่น หญ้าที่วัวไม่กินเพราะมีรสเปรี้ยวอาจจะเกิดจากดินตรงนั้นเปรี้ยวหรือแก่เกินไป หรือหญ้าชนิดนั้นมีรสเปรี้ยวในบางช่วงอายุ


         ”วัวตัวหนึ่งต้องใช้เวลา 3 ปีจึงจะสามารถให้ผลผลิตครั้งแรกได้ และวัวแต่ละตัวรีดนมได้ 6-9 เดือน แล้วต้องพัก 3-12 เดือนจึงจะกลับมารีดนมได้อีก (ตั้งท้องใหม่) เป็นเหตุผลว่า ทำไมเราถึงทำได้น้อย ทำไมคนถึงต้องรอคิวเพราะมันมีหลายเรื่องต้องจัดการ คิดว่ามาถึงจุดนี้เร็วกว่าที่คิด แต่ที่เรามาถึงตรงนี้วางแผนทุกอย่างมาเป็น step อยู่แล้ว เรามีเป้าหมายคือ อยากทำให้ลูกค้าที่ต้องการกินนมหรือเนยนี้จะต้องนึกถึงฟาร์มบ้านภู อยากเป็นแบบญี่ปุ่นที่มีสินค้าท้องถิ่นที่ขึ้นชื่อ”


         สำหรับเกษตรกรหรือคนที่ทำธุรกิจเธอฝากบอกว่า “ต้องไม่ยอมแพ้ ต้องปักธงตัวเอง ตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน พยายามอย่าทำตามใคร ทำเหมือนคนอื่นได้แต่ต้องเป็นตัวของตัวเอง หากทำตามคนอื่นไม่มีที่ของตัวเองต้องวิ่งตามไปเรื่อยๆ ตลอดชีวิต ทุกอย่างมี life cycle ทำอย่างไรให้โปรดักส์เราอยู่นานที่สุด ลูกค้าต้องยั่งยืน ทุกอยางต้องยั่งยืน ทั้ง chain ทำให้มีคุณภาพ เป็นตัวเอง เลียนแบบยาก”
 


      เหมือนกับที่ฟาร์มบ้านภูใช้เวลากว่าสิบสามปีเพื่อที่จะสร้างเส้นทางของตัวเองขึ้นมา
 
 
 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย