TEXT: วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์
แม้จะเป็นเกาะเล็กๆ แต่สิงคโปร์ก็เป็นแหล่งรวมแบรนด์ผู้ผลิตอาหารที่เก่าแก่เกินครึ่งศตวรรษมากมาย คือเรียกได้ว่าสามารถแปะคำว่า “โบราณ” ห้อยท้ายได้เลย บางแบรนด์อาจม้วนเสื่อพับกิจการไปเมื่อไม่สามารถต้านการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคม แต่หลายแบรนด์ทำการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยจนยังไปต่อได้
เช่นเดียวกับ KrackerKing แบรนด์ขนมขบเคี้ยวที่ก่อตั้งเมื่อปี 1955 หรือเมื่อ 66 ปีก่อนและเคยได้รับความนิยมมากมาย โดยเฉพาะบิสกิตผีเสื้อ และขนมมันฝรั่งรูปวงล้อที่ถือเป็นขนมคลาสสิคในวัยเด็ก เป็นขนมในตำนานของชาวสิงคโปร์ เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนผ่าน นวัตกรรมได้นำมาซึ่งผลิตภัณฑ์สแน็กแปลกใหม่ กลายเป็นทางเลือกที่นอกเหนือไปจากสแน็กเดิมๆ ส่งผลให้เกิดการแข่งขันที่สูงขึ้นในตลาด KrackerKing เองก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เหมือนกำลังถูกคลื่นลูกใหม่เข้ามาแทนที่คลื่นลูกเก่า
เค่อ ยู่ฉวน ทายาท KrackerKing รุ่นที่สามวัย 31 ปีที่กุมบังเหียนธุรกิจครอบครัวเล่าว่าตอนที่เขาเพิ่งเข้าเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ที่มหาวิทยาลัยนันยางเทคโนโลยีในสาขาวิเคราะห์ธุรกิจ คุณพ่อของเขาซึ่งเป็นทายาทรุ่น 2 เสียชีวิตลง ทำให้เขาต้องเข้ามารับผิดชอบดูแลธุรกิจแทนบิดา ซึ่งในช่วงเวลานั้นธุรกิจ KrackerKing กำลังอยู่ในภาวะย่ำแย่และจวนเจียนจะเข้าสู่ภาวะล้มละลาย
ยู่ฉวนซึ่งไม่มีประสบการณ์ใดๆ ในการทำธุรกิจจำเป็นต้องเรียนรู้ทุกอย่างตั้งแต่แรกเริ่ม และสามารถกอบกู้ธุรกิจของครอบครัวที่กำลังจะล้มให้กลับมาตั้งตัวได้ และจากธุรกิจนำเข้าอาหารก็ผันมามุ่งเน้นผลิตสแน็กอย่างจริงจัง
“ท้ายที่สุด เราก็สามารถใช้หนี้หมดแบบค่อยเป็นค่อยไป จากนั้นก็เริ่มพัฒนาธุรกิจโดยตั้งเป้าขยายอาณาจักรให้เติบโตในสิงคโปร์ และขึ้นแท่นเป็นแบรนด์สแน็กสากลที่จำหน่ายในต่างประเทศด้วย"
ธุรกิจอันเป็นจุดกำเนิดของแบรนด์ KrackerKing เริ่มต้นโดยคุณปู่ของยู่ฉวนเมื่อปี 1955 โดยคุณปู่เริ่มจากการทำทอดมันกุ้งขายละแวกบ้าน จนกลายเป็นอาหารว่างที่ขายดีมาก จนกระทั่งในทศวรรษ 1960 คุณปู่จึงเพิ่มสินค้าให้หลากหลายขึ้น รวมถึง ข้าวเกรียบ บ๊วย และบิสกิตมะพร้าว ปรากฏว่าได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคดีมาก จากที่ขายในชุมชนเล็กๆ ก็ขยายไปทั่วประเทศ
จนในที่สุด เมื่อความต้องการในตลาดเพิ่มขึ้น จึงลงทุนสร้างโรงงานผลิต นอกจากขายในสิงคโปร์แล้วยังส่งออกไปยังมาเลเซียที่รัฐซาบะห์ และรัฐซาราวัก ยอดขายในมาเลเซียเรียกได้ว่าทะลุทะลวง ช่วงปลายทศวรรษ 1970 ก็เปิดสำนักงานในมาเลเซีย ก่อนขยายไปเกาะบาตัม อินโดนีเซีย และบรูไน
ช่วงทศวรรษ 1990 ขณะที่ธุรกิจกำลังไปได้สวย สิงคโปร์ก็ค่อยๆ เปลี่ยนผ่านจากประเทศที่พึ่งพาอุตสาหกรรมการผลิตไปยังอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและวิศวกรรม กอปรกับค่าเงินดอลลาร์สิงคโปร์ที่แข็งเมื่อเทียบกับสกุลเงินของประเทศเพื่อนบ้าน ยอดส่งออกลดลง และประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน ผู้บริหาร KrackerKing จึงตัดสินใจยุบสายพานการผลิตสแน็กทั้งหมดแล้วเปลี่ยนเป็นนำเข้าสแน็กจากประเทศต่างๆ ในเอเชียมาขายแทน
แม้จะปิดโรงงานผลิตไปแล้ว แต่คุณปู่ของยู่ฉวนก็ยังเก็บสูตรขนมต่างๆ ไว้เป็นอย่างดี วันดีคืนดีก็ยังทำบิสกิตให้สมาชิกในครอบครัวและมิตรสหายรับประทานบ้างเป็นครั้งคราว หลังการเสียชีวิตของชีวิตและยู่ฉวนเข้ามาดูแลธุรกิจแทนจนสามารถปลดหนี้และเงยหน้าอ้าปากได้ เขาก็นึกถึงการกลับมาเปิดโรงงานผลิตสแน็กอีกครั้งเหมือนที่เคยทำในอดีต
ในที่สุด ภายใต้การดูแลของยู่ฉวน โรงงานผลิตสแน็กของ KrackerKing ก็ฟื้นคืนชีพอีกคราโดยยึดหลักใช้สูตรขนมดั้งเดิมของครอบครัว แต่ปรับรสชาติให้สากลเพื่อให้จำหน่ายในต่างประเทศด้วย และมีการรูปแบบการผลิต เช่น ใช้วัตถุสดใหม่จากท้องถิ่นและจากแหล่งต่างๆ ในเอเชียอาคเนย์ เมื่อได้มาก็จะรีบผลิตทันที จะไม่มีการตุนวัตถุดิบไว้นานเนื่องจากส่งผลต่อคุณภาพของสินค้า
นอกจากนั้น ยังมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ควบคู่เพื่อให้สินค้าที่ผลิตดีต่อสุขภาพมากกว่าเดิม ยกตัวอย่างการใช้เครื่อง de-oiling ในกระบวนการผลิตเพื่อกำจัดน้ำมันส่วนเกินที่ยังตกค้างในสแน็กที่เป็นของทอดโดยใช้หลักการทำงานแบบแรงเหวี่ยงเอาน้ำมันออก
ปัจจุบัน KrackerKing ได้รับมาตรฐานระบบการจัดการความปลอดภัยของอาหาร (ISO 22000) และมีผลิตภัณฑ์กว่า 40 รายการ ทั้งข้าวเกรียบหลากหลายรส ขนมปัง บิสกิต คุกกี้ ครองแครง ขนมแป้งทอดสไตล์อินเดีย และถั่วต่างๆ แต่สินค้าที่ขึ้นชื่อสุดคือ “เกโรโปะก์” หรือข้าวเกรียบนั่นเอง โดย KrackerKing เป็นผู้ค้ารายใหญ่ มีตัวแทนจำหน่ายกว่า 200 รายรวมถึงซูเปอร์มาร์เก็ตใหญ่ๆ ในประเทศ
กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ ยู่ฉวนกล่าวว่าต้องผ่านอุปสรรคมากมาย เนื่องจากตลาดสแน็กมีขนาดใหญ่ การสร้างภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้เป็นที่จดจำจึงไม่ง่ายนัก ผลิตภัณฑ์ของบริษัทได้รับคำชมจากผู้บริโภคแล้วก็จริงแต่บริษัทยังได้ปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ให้ดูดีเพื่อดึงดูดคนรุ่นใหม่ และเพื่อผลักดันให้ KrackerKing เป็นสแน็กเอเชียที่ชาวโลกบริโภคตามที่บริษัทตั้งเป้าไว้
ที่มา : https://injuredly.com/how-did-he-revive-a-dying-family-business-and-become-the-king-of-clark-in-singapore/
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
RECCOMMEND: ENTREPRENEUR
เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ
ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว
เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย