TEXT : Rujrada W.
ตลาดขายต่อเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายกำลังเฟื่องฟู คาดว่าภายในปี 2572 จะมีมูลค่ามากถึง 8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งนับได้ว่าเติบโตเป็น 2 เท่าของฟาสต์แฟชั่น เพราะสินค้าใช้แล้วกำลังเข้ามาแทนที่ในตู้เสื้อผ้า รวมถึงความคลั่งไคล้เฟอร์นิเจอร์ ของเก่าในราคาที่เอื้อมถึง แนวโน้มผู้บริโภคมีความภูมิใจที่จะซื้อสินค้ามือ 2 มากขึ้น ด้วย 2 เหตุผลหลัก คือ 1.ถูกกว่า 2. เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่า
ไม่กี่ปีก่อนสินค้ามือสองเคยขายกันในตลาดนัดและร้านขายของมือสองเป็นหลัก แต่ทุกวันนี้การซื้อขายส่วนใหญ่เปลี่ยนไปใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งอุตสาหกรรมแฟชั่นเป็นผู้บุกเบิกโมเดลการขายต่อ แต่เร็วๆ นี้เราได้เห็นแบรนด์เฟอร์นิเจอร์อย่าง IKEA ก็ได้เปิดบริการรับซื้อคืนสินค้า และนำไปขายเป็นสินค้ามือสองในร้านป๊อบอัพของแบรนด์
เมื่อเกิดโรคระบาดขึ้น หลายคนคิดว่าผู้บริโภคจะเลิกซื้อสินค้าใช้แล้วด้วยเหตุผลด้านสุขอนามัย แต่ตัวเลขสถิติกลับบอกในสิ่งที่ตรงกันข้าม คาดว่าในปีการขายต่อแฟชั่นมากขึ้น 69 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปี 2563 สวนทางกับภาคการค้าปลีกทั่วไปปหดตัวลง 15 เปอร์เซ็นต์
โอกาสทางธุรกิจ และเหตุผลที่แบรนด์ต่างๆ ต้องสนใจ Re-Commercce
การซื้อ-ขายสินค้ามือสองไม่เพียงเกี่ยวกับศักยภาพของตลาดมือสองเท่านั้น ด้วยการสร้างโมเดลธุรกิจหมุนเวียน ธุรกิจต่างๆ สามารถสร้างมูลค่าใหม่ให้กับลูกค้าและโลกใบนี้ได้
และนี่คือ 3 วิธีเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับของมือสอง และเพิ่มโอกาสให้กับธุรกิจได้ด้วย
- สร้างรายได้ด้วยการเปลี่ยนแปลงผลิตภัณฑ์มือสอง
หรือที่เรียกกันว่า Upcycle พลิกโฉมสิ่งของที่ผ่านการใช้งานแล้วหรือบางชิ้นรอวันทิ้งเป็นขยะ เอากลับมาใช้ใหม่โดยอาศัยกระบวนการออกแบบให้เป็นของชิ้นใหม่ที่สวยและมีมูลค่ามากกว่าเดิม ตัวอย่างเช่น กระเป๋าผ้าจากแบรนด์ Madmatter ที่หยิบเอาเศษผ้าเหลือใช้มาผสมกับเนื้อผ้าอื่นๆ หรือผ้าที่ค้างสต็อคในโรงงานมาแปลงเป็นกระเป๋าผ้าสีสวย
หรือแบรนด์ Kuon จากญี่ปุ่นที่เน้นผลิตสินค้าด้วยเทคนิคงานเย็บ ปัก ซ่อมแซมเสื้อผ้าแบบญี่ปุ่นที่เรียกว่า Boroจึงได้เสื้อผ้าที่โดดเด่นด้วยลวดลายด้ายปักมือกับผ้าที่ซ้อนทับปะติดปะต่อ จนกลายเป็นเสน่ห์หนึ่งของแบรนด์ไปแล้ว
- ใช้เทคโนโลยีมาปรับเปลี่ยนกระบวนการคืนสินค้าเก่าให้กลายเป็นโอกาสใหม่
ในอุตสาหกรรมแฟชั่น ผู้ค้าปลีกกำลังใช้เทคโนโลยีเพื่อนำเสนอประสบการณ์คืนสินค้าที่ทั้งง่าย สะดวก และไม่เสียเงิน ซึ่งสินค้าที่ได้กลับมาก็กลายเป็นโอกาสให้กับธุรกิจได้ ยกตัวอย่าง Burberry หรือ Gucci ก็ร่วมมือกับบริการฝากขายอย่าง RealReal เพื่อรวบรวมและขายต่อผลิตภัณฑ์มือสองของแบรนด์ หรือแม้แต่การเกิดขึ้นของแพลตฟอร์มอย่าง Vestiaire Collective ที่ผู้บริโภคสามารถขายสินค้าฟุ่มเฟือยใช้แล้วได้โดยตรง
หรือแบรนด์ Patagonia แบรนด์เสื้อผ้าเอาท์ดอร์สัญชาติอเมริกัน ที่ทำแพลตฟอร์มส่งเสริมการใช้สินค้าให้เกิดประโยชน์สูงสุด Worn Wear เปิดโอกาสให้ลูกค้านำสินค้าเก่ามาขายต่อ โดยจะแลกเป็นสินค้า เงินสด หรือเครดิตสำหรับซื้อสินค้าครั้งถัดไปก็ได้
- จับมือพันธมิตร สร้างห่วงโซ่เศรษฐกิจหมุนเวียน
บางทีจะลุกขึ้นมาหยิบของเก่ามาทำใหม่ด้วยตัวเองก็อาจจะยังไม่พร้อม ไม่มีเครื่องจักร หรือไม่แน่ใจว่าจะทำอย่างไร ลองมองหาคนรู้จักหรือพันธมิตรที่เขามีความรู้หรือเทคโนโลยีอยู่ในมือก็ได้ ยกตัวอย่างธุรกิจ Queen of Raw จับคู่ผ้าที่ไม่ได้ใช้ทั้งจากซัพพลายเออร์และผู้ซื้อมาใช้ใหม่ วิธีนี้ช่วยให้แบรนด์ประหยัดเงินได้หลายล้านเลยทีเดียว
บทเรียนสำหรับธุรกิจคือการขายต่อ ซ่อมแซม นำกลับมาใช้ใหม่ หรือเอามารีไซเคิลเป็นเรื่องที่จำเป็นสำหรับการทำธุรกิจยุคนี้ไม่น้อย ตลาดมือสองกำลังเฟื่องฟูและเป็นช่องทางใหม่ที่สำคัญ ให้ประโยชน์กับทุกฝ่ายเพราะได้วัตถุดิบที่ถูกกว่าสำหรับธุรกิจ สินค้าราคาถูกสำหรับผู้บริโภค และโลกที่ยั่งยืนยิ่งขึ้นสำหรับทุกคน
ที่มา : bmilab.com, Forbes.com
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี