รู้ให้ทัน 8 ปัญหาธุรกิจยอดฮิต ในวิกฤต Covid -19

TEXT : กองบรรณาธิการ


 
         วิกฤตไวรัสโควิด-19 ได้เข้ามาสร้างปัญหามากมายให้กับธุรกิจ จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 1,574 สถานประกอบการ โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIProm) พบว่าปัญหาหลักที่ผู้ประกอบการ SME ต้องเจอนั้นมีอยู่ 8  ข้อด้วยกัน


        โดยครองแชมป์มากสุด คือ การขาดความเข้าใจกลยุทธ์การตลาด 66.82 เปอร์เซ็นต์ รองลงมา คือ ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ 21.92 เปอร์เซ็นต์ และขาดการพัฒนานวัตกรรมใหม่ 13.74 เปอร์เซ็นต์ เป็น 3 ปัญหาอันดับแรกที่ SME ควรเตรียมตัวตั้งรับเอาไว้ ส่วน 8 ข้อที่ว่ามีอะไรบ้างนั้น และควรแก้ไขอย่างไร ลองไปดูกัน



 

ขาดความเข้าใจกลยุทธ์การตลาด
               

         นับเป็นปัญหาที่พบมากที่สุดของผู้ประกอบการในช่วงเวลานี้จากการทำผลสำรวจออกมา ซึ่งพบว่าการที่ SME ขาดความเข้าใจกลยุทธ์การตลาดนั้นมาจากปัจจัยหลายข้อด้วยกัน ตั้งแต่การทำความเข้าใจกลุ่มเป้าหมายที่แท้จริงของแบรนด์ เพื่อตอบสนองความต้องการแก่ผู้บริโภค, การทำความเข้าใจในจุดเด่น-จุดด้อยของสินค้า, การประเมินศักยภาพตนเองและงบประมาณที่มีอยู่, การวางแผนการดำเนินงานที่รอบคอบตรวจสอบได้ ไปจนถึงการวัดผลให้เป็น ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องคำนึงถึงและทำความเข้าใจก่อนที่จะตัดสินใจทำกลยุทธ์ใดๆ ออกมาก็ตาม
 
 
ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน

               

       มีสถิติกล่าวเอาไว้ว่าในจำนวนผู้ประกอบการ SME ไทยราว 3.2 ล้านราย แต่มีเพียงราว 1.29 ล้านรายที่สามารถเข้าถึงสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้ ซึ่งเหตุผลส่วนใหญ่ที่สถาบันการเงินได้ลองสรุปออกมาว่าไม่สามารถปล่อยกู้ได้นั้น ส่วนใหญ่ล้วนเป็นเพราะการขาดข้อมูลทางการเงินที่น่าเชื่อถือ เพื่อนำมาวัดผลหรือประเมินศักยภาพในการดำเนินการของธุรกิจได้ โดยเริ่มมาตั้งแต่ระบบบัญชีไม่ดี, ไม่มีแผนธุรกิจที่ชัดเจน, การจัดการทางการเงินระหว่างเงินส่วนตัวและธุรกิจปนกันไปหมด สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้ SME ขาดหลักฐานทางการเงินเพื่อทำให้ผู้กู้เกิดความมั่นใจได้ว่าจะสามารถจ่ายชำระหนี้คืนได้ จึงเป็นที่มาของการได้รับอนุมัติยากนั่นเอง



 

ขาดการพัฒนานวัตกรรมใหม่


         จากข้อมูลของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พบว่าจำนวน SME ในประเทศไทยกว่า 3 ล้านรายนั้น มีเพียงไม่ถึงร้อยละ 1 หรือไม่ถึง 30,000 รายด้วยซ้ำที่มีการใช้งานวิจัยและนวัตกรรมเข้ามาพัฒนาปรับปรุงธุรกิจ ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มักมาจากหลายส่วนด้วยกัน ได้แก่ ขาดองค์ความรู้, ขาดเงินทุน, ขาดกำลังคน, ขาดการเชื่อมโยงระหว่างเครือข่าย เช่น สถาบันการเงิน องค์กรแหล่งความรู้


         และข้อสุดท้ายที่ถือว่ามีความสำคัญค่อนข้างมาก คือ Mindset หรือความเข้าใจของตัวผู้ประกอบการเองที่มักมองว่า นวัตกรรมเป็นเรื่องยาก ต้องเป็นสิ่งแปลกใหม่ สร้างความฮือฮาได้เท่านั้น ทั้งที่ความจริงแล้วแค่การที่เราสามารถใช้ความคิดสร้างสรรค์หรือพัฒนาปรับปรุงบางอย่างขึ้นมาได้ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ แม้เป็นเพียงเรื่องเล็กน้อยแค่นั้นก็เรียกว่า นวัตกรรมแล้ว ดังนั้นสิ่งสำคัญของการทำนวัตกรรม จึงควรเริ่มทำได้ทันทีแบบค่อยเป็นค่อยไป เริ่มจากจุดเล็กๆ ก่อนก็ได้ แต่เมื่อทำอย่างสม่ำเสมอแล้ว ก็จะช่วยให้เกิดความยั่งยืนในธุรกิจต่อไปได้นั่นเอง
 

ปัญหาด้านวัตถุดิบ และสายการผลิต 


         การมาของไวรัสโควิด-19 ได้เข้ามาส่งผลต่อรูปแบบการดำเนินชีวิต กิจกรรมทางสังคม และการทำธุรกิจมากมาย ซึ่งส่งผลกระทบไปในทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าภาครัฐหรือเอกชนเอง ตั้งแต่วัตถุดิบที่ไม่สามารถผลิตได้ในปริมาณมากเท่าเดิม, การขาดแรงงานในการผลิต, ความล่าช้าจากการขนส่งที่ต้องปฏิบัติตามระเบียบจากภาครัฐที่กำหนดช่วงเวลาการล็อกดาวน์เป็นต้น ดังนั้นสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องทำ คือ วางแผนเผื่อเวลาเอาไว้ล่วงหน้า ตั้งแต่การผลิต การขนส่ง ไปจนถึงการสื่อสารออกไปยังผู้บริโภค เพื่อทำความเข้าใจในความจำเป็นต่างๆ ที่เกิดขึ้น



 

ไม่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้
               

         สืบเนื่องมาจากปัญหาข้อที่แล้ว จึงส่งผลให้ SME ไม่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้อย่างเต็มที่ ดังนั้นผู้ประกอบการ SME จึงควรวางแผนหรือตั้งปฏิธานในการทำงานใหม่ดังนี้ 1. พัฒนาระบบการผลิตด้วยการหาวิธีที่ดีที่สุด 2. คัดเลือกบุคคลให้เหมาะสมกับงาน 3. สร้างแรงจูงใจในการทำงาน และ 4. แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบตามความชำนาญและความถนัดของแต่ละบุคคล ทั้งนี้ควรกำหนดปริมาณงานให้เหมาะสมกับระยะเวลาที่มอบอหมายไว้ด้วย ซึ่งเมื่อธุริจสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้ก็จะส่งผลต่อการช่วยประหยัดต้นทุน การมีกำไรที่เหมาะสม ความสุขในการทำงานของพนักงาน ไปจนถึงสร้างความพึงพอใจให้แก่ลูกค้าจากการใช้สินค้าที่ดีได้
 

ปัญหาด้านการจัดการ เช่น การขนส่ง บุคลากร 


        จากสถานการณ์ที่ไม่ปกติ ทำให้กระทบต่อการบริหารจัดการงานในหลายภาคส่วน ตั้งแต่ภาคการผลิตที่ไม่สามารถผลิตได้เท่าเดิม, การขนส่งที่ต้องเปลี่ยนแผนกันแบบใกล้ชิด เนื่องจากบริษัทขนส่งบางแห่งอาจติดปัญหาเรื่องขาดบุคลากรที่ต้องเจ็บป่วย การอยู่ในเขตพื้นที่สีแดงมีคนติดโรคระบาดเยอะ ดังนั้นจึงต้องมีการตรวจเช็คข้อมูลและวางแผนการขนส่งให้ดีๆ รวมไปถึงการทำความเข้าใจเหตุผลการล่าช้ากับลูกค้าด้วย หรือแม้แต่การดูแลพนักงานภายในองค์กรเองให้ปลอดภัย มีสวัสดิภาพที่ดี สามารถประคองตัวอยู่ไปด้วยกันได้ การบริหารจัดการจึงนับเป็นอีกปัญหาที่ผู้ประกอบการต้องเจอและรับศึกหนักในช่วงนี้



 

บริหารจัดการต้นทุนไม่ได้ 
               

          ไวรัสโควิด-19 ได้เข้ามาสร้างความปั่นป่วน และปัญหาจากหลายทางให้กับผู้ประกอบการ SME ที่ต้องรับศึกหนักจากหลาย หนึ่งในทางช่วยให้ธุรกิจสามารถอยู่รอด ไปต่อได้ ก็คือ การบริหารจัดการต้นทุนให้ดี ซึ่งสามารถแจกแจงออกมาได้เป็นหลายส่วน สิ่งแรกที่ผู้ประกอบการต้องทำความเข้าใจ คือ วงจรต้นทุน ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนเริ่มการผลิต ระหว่างการผลิต ไปจนถึงการผลิตสินค้าออกมาเรียบร้อยแล้ว ลองดูว่าเราสามารถเข้าไปลดต้นทุนหรือทำการลีนให้เกิดการประหยัดจากช่องทางใดได้บ้าง เพื่อสร้างความยั่งยืนให้ธุรกิจต่อไปนั่นเอง
 

ขาดอัตลักษณ์ผลิตภัณฑ์ และบรรจุภัณฑ์
               

        แม้จะเป็นข้อที่มีเปอร์เซ็นต์น้อยที่สุด แต่ก็นับว่าเป็นปัญหาของหลายธุรกิจมาโดยตลอด เนื่องจากการมีอัตลักษณ์ของสินค้าและบรรจุภัณฑ์ที่ดีสามารถช่วยให้เกิดการแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งการที่จะทำให้ SME สามารถหาอัตลักษณ์ของสินค้าได้นั้น อาจต้องเริ่มจากการทำความเข้าใจถึงจุดแข็ง-จุดอ่อนของผลิตภัณฑ์อย่างละเอียด, การกำหนดตำแหน่งของแบรนด์, การสื่อสารออกไปยังผู้บริโภคได้ถูกกลุ่มเป้าหมายและช่องทาง ซึ่งหากสามารถทำได้สำเร็จ ไม่ว่าจะต้องแข่งขันอยู่ในสภาวะใด ก็จะช่วยให้แบรนด์ของคุณโดดเด่นเหนือคู่แข่ง และเป็นที่จดจำแก่ลูกค้าได้นั่นเอง



 

        ที่มา : DIProm
 



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย