ส่องความสำเร็จ The Vegan Kind แค่ 8 ปีขึ้นแท่นห้างออนไลน์ขายสินค้าวีแกนใหญ่สุดฮิตสุดในอังกฤษ

TEXT: วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์

 

 
                
         การระบาดของไวรัสโควิด-19 อาจส่งผลกระทบต่อหลายธุรกิจ แต่มีบางธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์จากวิกฤตครั้งนี้ หนึ่งในนั้นคือธุรกิจเกี่ยวกับสินค้าวีแกน หรือสินค้าปลอดผลิตภัณฑ์จากสัตว์ โดยเฉพาะในอังกฤษซึ่งเป็นประเทศที่ธุรกิจนี้เฟื่องฟูมาก และรายหนึ่งที่น่าจับตามองเห็นจะได้แก่ The Vegan Kind ซูเปอร์มาร์เก็ตออนไลน์ที่จำหน่ายเฉพาะผลิตภัณฑ์วีแกนที่ได้รับความนิยมมากสุดในอังกฤษ  
               

        The Vegan Kind เป็นซูเปอร์มาร์เก็ตออนไลน์ที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์วีแกนและผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากการทารุณกรรมสัตว์ 100 เปอร์เซ็นต์ที่ใหญ่สุดในอังกฤษ โดยมีสินค้าให้เลือกกว่า 5,500 รายการ บริการจัดส่งทุกวัน ฟรีและรวดเร็ว หากสั่งสินค้าก่อน 14.00 นาฬิกา จะได้รับสินค้าในวันถัดไป
               

         ผู้ก่อตั้ง The Vegan Kind เป็นสามีภรรยาชื่อ สกอตต์ และแคร์ริส แมคคัลลอช (มีลูกสองคนชื่อเคซี่ กับไทเลอร์) แคร์ริสเป็นมังสวิรัติมานานแล้วก่อนจะผันมาเป็นวีแกน และสกอตต์ได้ดำเนินวิถีชีวิตตามภรรยา ในตอนที่สามีภรรยาคู่นี้ทานวีแกน พวกเขาประสบปัญหาในการหาแหล่งซื้อผลิตภัณฑ์ที่เป็นวีแกนแท้จริง จากปัญหาใหญ่นั้นได้กลายมาเป็นโอกาสทางธุรกิจ
               

         หลังจากที่ทำงานในสายการเงินและการธนาคารมากว่า 10 ปี สกอตต์และแคร์ริสก็ตัดสินใจลาออกจากงานเพื่อมาลุยธุรกิจเต็มตัว แรงบันดาลใจมาจากแคร์ริสเคยใช้บริการ Subscription Box ประเภทเครื่องสำอางแล้วพบว่ามีสินค้าหลายอย่างที่เธอไม่สามารถใช้ได้เนื่องจากมีการทดลองกับสัตว์ หรือมีส่วนผสมจากสัตว์เจือปน



               

        The Vegan Kind ถือกำเนิดขึ้นเมื่อปี 2013 ไม่เพียงสนองความต้องการของสกอตต์และแคร์ริส แต่ยังเผื่อแผ่ไปถึงชาววีแกนคนอื่นๆ ที่กำลังประสบปัญหาเดียวกัน เริ่มแรก The Vegan Kind ให้บริการโดยใช้โมเดล Subscription Box คือสุ่มส่งสินค้าไลฟ์สไตล์แบบรายเดือนให้ลูกค้า โดยมากเป็นสินค้าใหม่ที่ยังไม่แพร่หลายในตลาด
               

         หลังจากที่จัดส่งสินค้าไลฟ์สไตล์ให้ลูกค้าได้ระยะหนึ่งก็สังเกตว่าที่ผ่านมาไม่ปรากฏว่ามีร้านวีแกนออนไลน์แบบครบวงจรให้บริการ The Vegan Kind จึงขยับขยายเพิ่มสินค้าอื่นๆ ให้ครบครับมากขึ้น กระทั่งปี 2016 ก็ขยับขยายกลายเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตออนไลน์ที่จำหน่ายเฉพาะผลิตภัณฑ์วีแกน โดยสินค้าที่จำหน่ายกว่า 5,500 รายการแบ่งเป็นหมวดหมู่ดังนี้ วิตามินและอาหารเสริม เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืชและเนื้อสัตว์ทดแทน ชีส ช็อคโกแลต และของใช้ในบ้านรวมถึงเสื้อผ้าที่ผลิตแบบเป็นมิตรต่อสัตว์และสิ่งแวดล้อม 



               

         เมื่อดำเนินธุรกิจมาระยะหนึ่ง The Vegan Kind ก็สั่งสมลูกค้าที่เป็นแฟนพันธุ์แท้ได้จำนวนมาก และมีผู้ติดตามผ่านสื่อโซเชียลจำนวนไม่น้อย หนึ่งในนั้นคือแฟนเพจ Accidentally Vegan UK ที่มีผู้ติดตามราว 500,000 บัญชี ซึ่งเพจนี้เองที่บริษัทใช้สื่อสารกับลูกค้าและผู้ชมเพื่อนำเสนอสินค้าต่างๆ ยังไม่นับรวมแอคเคาท์อินสตาแกรมของแบรนด์อีก 3 แอคเคาท์
               

         กลุ่มเป้าหมายช่วงแรกคือกลุ่มวีแกน แต่ช่วงหลังเมื่อ The Vegan Kind นำเสนอสินค้าหลากหลายและปริมาณมหาศาลขึ้นจึงดึงดูดให้ผู้บริโภคกลุ่มอื่นที่ต้องการ plant-based หรืออาหารจากพืชเข้ามาอุดหนุนด้วย ดังนั้น ในอีก 1-2 ปีข้างหน้า The Vegan Kind จะหันมาทำการตลาดกับผู้บริโภคกลุ่มที่ไม่ใช่วีแกนด้วย ส่วนกลุ่มวีแกนซึ่งถือเป็นลูกค้าหลัก จำนวนเพิ่มขึ้นทุกขณะ
                 

         มีรายงานว่ามีคนเปลี่ยนมากินวีแกนเพิ่มขึ้นทุกเดือนทั้งด้วยเหตุผลเพื่อสุขภาพและเพื่อสิ่งแวดล้อม จะเห็นว่าการเป็นวีแกนไม่ใช่กลุ่มปลายแถวอีกต่อไปแต่เป็นเทรนด์พฤติกรรมที่เป็นไปในทางที่ดี  ทั้งนี้ ในอังกฤษ วิถีวีแกนขยายตัวในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ที่น่าสนใจคือไม่ใช่เฉพาะคนที่เป็นวีแกนเท่านั้นที่สนใจอาหารวีแกน ข้อมูลระบุปีที่ผ่านมา 92 เปอร์เซ็นต์ของอาหารวีแกนและ plant-based ที่บริโภคในอังกฤษเป็นการบริโภคในกลุ่มคนที่ไม่ใช่วีแกน และอังกฤษเป็นประเทศที่แนะนำผลิตภัณฑ์วีแกนมากกว่าทุกประเทศในโลก



               

       แน่นอนว่า The Vegan Kind ไม่ใช่รายเดียวที่ให้บริการในตลาด แต่ที่มีแต้มต่อเหนือกว่าเนื่องจากรายอื่นมีขนาดเล็กกว่า และมีสินค้าให้เลือกไม่ถึง 1,000 รายการ เทียบกับ The Vegan Kind ที่มีสินค้ามากกว่า 5,500 รายการ จึงเป็นร้านวีแกนที่ใหญ่สุดในอังกฤษ และใหญ่กว่าทุกร้านในอเมริกาด้วยซ้ำ นอกจากนั้น The Vegan Kind ยังใช้กลยุทธ์ต่างๆ เพื่อดึงดูดความสนใจผู้บริโภค และตอกย้ำภาพลักษณ์อันดีขององค์กร อาทิ ลูกค้าที่สมัครสมาชิกแบบ subscription box ทุกวันเกิดจะได้รับบัตรกำนัลมูลค่า 5 ปอนด์ หรือรายได้จากธุรกิจ ส่วนหนึ่งบริจาคให้องค์กรเกี่ยวกับสัตว์ นับตั้งแต่ดำเนินธุรกิจมา The Vegan Kind บริจาคไปแล้วกว่า 30,000 ปอนด์
               

        แม้ธุรกิจจะดำเนินไปอย่างค่อนข้างราบรื่น แต่สกอตต์ก็ยอมรับว่าสิ่งที่ท้าทายมากสุดในการทำธุรกิจคือ “กระแสเงินสด” นั่นเป็นเหตุผลที่ The Vegan Kind มองหานักลงทุนเพื่อสนับสนุนให้ธุรกิจเติบโตไปอีกขั้นท่ามกลางความต้องการผลิตภัณฑ์วีแกนที่เพิ่มขึ้นในตลาดโดยเฉพาะสินค้าประเภท plant-based
               

        ปี 2020 ที่ผ่านมา The Vegan Kind สามารถระดมทุนจากนักลงทุนได้ 600,000 ปอนด์ (ราว 26.5 ล้านบาท) โดยลงทุนไปกับการขยายพื้นที่คลังสินค้า แต่บริษัทก็สามารถทำรายได้ 6 ล้านปอนด์หรือราว 265 ล้านบาทโดยยอดขายเพิ่มขึ้นระหว่างที่มีการล็อคดาวน์ช่วงโควิด



               

        ล่าสุด The Vegan Kind เพิ่งได้เงินระดมทุนในรอบซีรีส์ A เป็นจำนวน 3.5 ล้านปอนด์หรือราว 155 ล้านบาทจากบริษัทลิเทอเรซี่ แคปิตอลเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นเม็ดเงินลงทุนที่มากสุดในธุรกิจวีแกนเท่าที่เคยมีมาในอังกฤษ ซึ่งบริษัทจะนำเม็ดเงินที่ได้ไปลงทุนด้านต่างๆ เช่น ด้านทรัพยากรบุคคล ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านระบบคลังสินค้า ด้านการตลาด และอื่นๆ
               

        สำหรับ แผนธุรกิจในอีก 10 ปีข้างหน้า สกอตต์ตั้งเป้าจะเปิดตัวอาหารวีแกนภายใต้แบรนด์ของตัวเองในปีนี้ รวมถึงขยายคลังสินค้าให้กว้างใหญ่กว่าเดิม ปัจจุบัน The Vegan Kind มีลูกค้าสมาชิกที่รับกล่องสินค้าจากบริษัทเป็นรายเดือนราว 10,000 รายไม่นับรวมลูกค้าทั่วไป ผู้บริหารมองเห็นว่าในอนาคต โอกาสเติบโตทางธุรกิจจะเพิ่มขึ้นอีก
 

         ที่มา :
         www.foodbev.com/news/online-vegan-supermarket-thevegankind-raises-3-5m-in-funding
         www.totallyveganbuzz.com/news/the-vegan-kind-is-all-set-to-scale-in-2020/
         www.thenational.scot/news/19110003.vegan-kind-supermarket-scottish-firms-sales-boom-lockdown
 
 
 
 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย