TEXT: วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์
การระบาดของไวรัสโควิด-19 สร้างความปั่นป่วนไปทั่วโลกอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ท่ามกลางสถานการณ์การดิ้นรนเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด การตกงานของผู้คนจำนวนมาก และการสูญเสียชีวิตของเหยื่อโควิด “สุธาน มูไคอาห์” นักธุรกิจหนุ่มชาวมาเลเซียวัย 34 ปีผู้คร่ำหวอดในวงการไอทีจึงเกิดความคิดในการผุด social enterprise หรือวิสาหกิจชุมชนขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการตกงานเนื่องจากโควิด
เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว เขาได้ตั้งบริษัท Beligas เพื่อให้บริการจัดส่งแก๊สหุงต้มตามบ้านในกรุงกัวลาลัมเปอร์ โดยลูกค้าสามารถสั่งแก๊สและชำระเงินผ่านแอปพลิเคชัน หรือผ่านเว็บไซต์ของบริษัท Beligas ถือเป็นรายแรกของประเทศที่ให้บริการผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล เหตุผลที่เลือกธุรกิจค้าแก๊สหุงต้มเนื่องจากมองว่าช่วงที่มีการกักตัวและออกไปใช้บริการร้านอาหารไม่ได้ ผู้คนเข้าครัวทำอาหารมากขึ้น
นอกเหนือจากการเป็นธุรกิจที่ให้บริการแก๊สหุงต้มผ่านแอปโดยสามารถจัดส่งได้รวดเร็วภายใน 15-20 นาที จุดเด่นของ Beligas คือการเป็นธุรกิจเพื่อช่วยเหลือชุมชน เนื่องจากช่วยสร้างเสริมอาชีพด้วยการจ้างวานผู้ตกงานให้มาทำงานเป็นพนักงานส่งแก๊สหรือไรเดอร์นั่นเอง และเนื่องจาก Beligas สามารถติดต่อซื้อแก๊สจากผู้ผลิตเองโดยไม่ผ่านคนกลางทั้งหลายแหล่ ทำให้สามารถจัดส่งแก๊สตรงสู่ลูกค้าในราคาที่ถูกกว่า
จุดขายของ Beligas จึงเป็นความสะดวก รวดเร็ว บริการยอดเยี่ยมในราคาย่อมเยาตลอด 24 ชั่วโมง ไม่แปลกที่เปิดตัวได้ไม่นาน จะได้รับการตอบรับจากลูกค้าล้นหลาม Beligas จัดส่งแก๊สขนาดถังละ 14 กิโลกรัม ให้ลูกค้าเฉลี่ย 6,000 ถังต่อเดือน โดยมีบริการและราคาให้ลูกค้าเลือกหลายแบบ ได้แก่ สั่งล่วงหน้า 1 วัน (25.60 ริงกิต) สั่งและจัดส่งในวันเดียวระหว่าง 9 โมงเช้า-6 โมงเย็น (26.60 ริงกิต) สั่งและจัดส่งใน 1 ชั่วโมง (29.60 ริงกิต) สั่งและจัดส่งหลัง 2 ทุ่ม (38.60 ริงกิต ราคาที่กล่าวมาคือบริการฟรีไม่มีค่าจัดส่ง เทียบกับรายอื่นที่จะบวกค่าส่งทำให้ราคาแก๊สต่อถังแพงกว่าของ Beligas
สุธานให้สัมภาษณ์ว่าช่วงเดือนแรกที่เปิดบริการ เขาเซ็นสัญญากับบริษัทโลจิสติกส์เพื่อให้จัดส่งแก๊สแก่ลูกค้า แต่พบว่ามีความยุ่งยากซับซ้อน เพื่อความคล่องตัว จึงสร้างทีมเดลิเวอรี่ขึ้นมาเองโดยลงทุนซื้อรถยนต์และจักรยานยนต์เพื่อจัดส่งเอง ไม่เพียงจ้างคนว่างงานกว่า 40 ชีวิตมาเป็นไรเดอร์ส่งแก๊สตามบ้าน สุธานยังเปิดโอกาสให้ผู้ต้องขังที่พ้นโทษแล้วได้ทำงานในคลังสินค้าของบริษัทอีกด้วย
“แน่นอนว่าการริเริ่มธุรกิจในช่วงเวลาที่ยากลำบาก บริษัทส่วนใหญ่มักประหยัดงบในการทำการตลาด แต่เราทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามด้วยการเพิ่มงบประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่าง ๆ โดยเฉพาะสื่อดั้งเดิม เช่น ทีวี วิทยุ สื่อสิ่งพิมพ์ และการทำป้ายโฆษณาต่าง ๆ แม้จะใช้เงิน 6 หลัก แต่เรามองว่าคุ้มค่าในแง่ของการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก” สุธานกล่าว นอกจากสื่อ offline แล้ว Beligas ยังทำการตลาดผ่านสื่อดิจิทัลควบคู่ไปด้วยเช่นกัน
ความเคลื่อนไหวล่าสุดของ Beligas คือการทำแคมเปญ ”น้ำมันเก่าแลกส่วนลด” ทั้งนี้ ลูกค้าสามารถรวบรวมน้ำมันปรุงอาหารเก่าที่ใช้แล้วมอบให้กับไรเดอร์เพื่อแลกกับส่วนลดค่าแก๊ส โดย 1 ลิตรสามารถแลกได้ 0.80 ริงกิต สำหรับลูกค้าตามบ้าน สามารถแลกได้ครั้งละไม่เกิน 10 ลิตรเนื่องจากไรเดอร์ที่ใช้จักรยานยนต์ไม่สามารถรับคราวละมาก ๆ ได้ แต่ถ้าเป็นลูกค้าร้านอาหาร สามารถแลกได้ไม่จำกัดเนื่องจากไรเดอร์ใช้รถยนต์ในการบริการ
นับตั้งแต่เริ่มแคมเปญในเดือนมิถุนายน ระยะเวลาเพียงเดือนเดียว Beligas สามารถเก็บน้ำมันเก่าจากลูกค้าได้ 500 ลิตร บริษัทตั้งเป้าจะเก็บให้ได้มากขึ้นเป็น 15,000 ลิตรในปีถัดไปจากลูกค้าที่คาดหวังจะเพิ่มเป็น 100,000 ราย สำหรับน้ำมันเก่าที่รวบรวมมา Beligas จะนำไปแปรเป็นน้ำมันไบโอดีเซลเพื่อนำกลับไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในรถยนต์ที่ใช้ขนส่งแก๊สของบริษัท หรือจำหน่ายให้กับผู้ใช้ไบโอดีเซล
แคมเปญนี้ถือว่าสมประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย ลูกค้าได้กำจัดน้ำมันเก่าที่ไม่ใช้แล้วแถมยังได้ส่วนลดแถมมา ส่วน Beligas ได้นำน้ำมันเก่ามาใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าเป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมตามเจตนารมย์ที่ตั้งไว้ ทั้งยังได้ภาพลักษณ์องค์กรที่ดี และได้ความภักดีจากลูกค้าที่ชื่นชอบกิจกรรมนี้อีกด้วย
ปัจจุบัน Beligas มี 10 สาขาและให้บริการจัดส่งแก๊ส 214 พื้นที่ทั่วกัวลาลัมเปอร์ ผู้บริหารบริษัทตั้งเป้าจะขยายให้ถึง 100 สาขาภายในปี 2021 และบริการในพื้นที่อื่นครอบคลุมทั่วประเทศผ่านการเป็นพันธมิตรกับบริษัทผู้ผลิตแก๊สหลายราย ซึ่งสุธานเชื่อมันว่าจะสามารถทำได้สำเร็จในระยะเวลาเพียง 1-2 ปี
ที่มา : https://vulcanpost.com/751034/beligas-malaysia-lpg-gas-affordable-delivery/
https://focusmalaysia.my/how-the-pandemic-started-a-social-enterprise/
www.nst.com.my/news/nation/2021/03/675974/beligas-eyes-expansion-more-partners-and-helping-community
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
RECCOMMEND: ENTREPRENEUR
เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ
ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว
เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย