จากผู้ลี้ภัยสู่ผู้สร้างแบรนด์ ISTORY ใช้สตอรี่เพื่อนร่วมชาติเป็นจุดขาย ใช้แฟชั่นทำลายกำแพงการเมืองเกาหลี

TEXT: วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์
           



        ในแต่ละปีจะมีชาวเกาหลีเหนือแปรพักตร์หลบหนีจากประเทศตัวเลขจำนวนนับพันคน เพิ่งจะช่วงเกิดไวรัสโควิด-19 ระบาดนี่เองที่จำนวนลดน้อยลงเหลือหลักร้อยเนื่องจากมีการปิดพรมแดนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค บรรดาผู้แปรพักตร์จากเกาหลีเหนือ เมื่อไปลงหลักปักฐานยังประเทศที่สามก็จะได้รับความช่วยเหลือด้านต่างๆ ให้มีชีวิตที่ดีกว่าเก่า และคงดีไม่น้อยหากได้เดินบนเส้นทางสายอาชีพที่ใฝ่ฝัน แถมยังเป็นผู้ประกอบการเอง หนึ่งในผู้โชคดีคนนั้นคือคัง จียุน ดีไซเนอร์สาววัย 31 ปี อดีตผู้แปรพักตร์จากรัฐบาลโสมแดง
               

        จียุนร่วมกับมารี โบส เพื่อนชาวเบลเยี่ยมที่เจอกันระหว่างเข้าค่ายอบรมการเป็นผู้ประกอบการก่อตั้งแบรนด์แฟชั่นชื่อ “ISTORY” จำหน่ายเสื้อและกระเป๋าผ้าที่มีดีไซน์เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร โดยเสื้อแต่ละตัวจะติด elbow patches หรือแผ่นผ้ารองข้อศอกที่ออกแบบมาทั้งหมด 9 ลวดลาย และแต่ละลวดลายบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับผู้แปรพักตร์เกาหลีเหนือแต่ละคน โดยผู้ซื้อสามารถสแกน QR code เพื่ออ่านเรื่องราวเหล่านั้นได้
               

         แรงบันดาลใจในการเป็นดีไซเนอร์ และออกแบบแฟชั่นมาจากช่วงที่จียุนยังอาศัยอยู่ที่เกาหลีเหนือ ตอนอายุ 15 ปี ครอบครัวของเธอได้เดินทางไปเที่ยวภูเขาเพ็กตูซึ่งอยู่ระหว่างชายแดนเกาหลีเหนือกับจีน เป็นครั้งแรกที่เธอได้เห็นนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นครั้งแรก และนั่นก็จุดประกายให้เด็กหญิงคนนี้



               

        สิ่งที่สะดุดตาสะดุดใจจียุนไม่ใช่ความสูง หรือหนวดเคราอันรุงรังของนักท่องเที่ยวคนนั้น แต่เป็นกางเกงยีนส์ขาดๆ ที่เขาสวมใส่อยู่ จียุนคิดในใจว่านักท่องเที่ยวคนนี้ต้องเป็นขอทานแน่เลย เธอจึงถามบิดาว่าทำไมถึงมีคนจรจัดไร้บ้านมาเดินเพ่นพ่านแถวภูเขาเพ็กตู หลังจากคิดหาคำตอบ บิดาจียุนก็ตอบลูกสาวไปว่าเสื้อผ้าที่นักท่องเที่ยวคนนี้สวมใส่ไม่น่าจะบ่งบอกถึงสถานะ แต่เป็นสไตล์การแต่งตัวมากกว่า
               

       จียุนจึงพบว่าเสื้อผ้าขาดๆ ที่คนจรจัดในประเทศเธอมักสวมใส่เมื่ออยู่อีกโลกหนึ่งอาจกลายเป็นแฟชั่นได้ เธอเริ่มสนใจด้านแฟชั่น แต่ที่ประเทศเกาหลีเหนือ สิ่งที่ขัดขวางไม่ให้เธอได้ก้าวเดินบนเส้นทางสายแฟชั่นดีไซน์ นอกจากอุปสรรคด้านสังคม และสถาบันการศึกษาแล้ว ก็เป็นครอบครัวของเธอนี่เองที่คัดค้านสุดฤทธิ์ ความปรารถนาที่แรงกล้าอย่างต่อเนื่องทำให้จียุนขวนขวายที่จะมองออกไปนอกดินแดนที่ตัวเองอาศัยอยู่
               

       “ฉันเสพข้อมูลต่างๆ ผ่านภาพยนตร์ ละคร และนิตยสารจากเกาหลีใต้และสหรัฐฯ ซึ่งเสื้อผ้าที่ผู้คนสวมใส่ทั่วไปมีดีไซน์ที่หลากหลายมาก หลังจากที่ค้นพบสิ่งนี้ ฉันก็หลงใหลแฟชั่นมากขึ้นๆ และเริ่มคิดว่าขืนยังอยู่ในประเทศตัวเอง ฉันคงไม่สามารถเรียนและประสบความสำเร็จได้เว้นเสียแต่จะออกไปนอกพรมแดน” จียุนเล่า



                 

       ปี 2009 จียุนก็ตัดสินใจหนีออกจากแผ่นดินเกิดไปยังจีน และ 10 เดือนถัดมาก็ถูกส่งตัวมาเริ่มต้นชีวิตใหม่ในเกาหลีใต้ โดยปราศจากความลังเล จียุนเลือกเรียนสาขาเสื้อผ้าและสิ่งทอที่มหาวิทยาลัยฮันยาง กระทั่งปีที่แล้ว เธอตัดสินใจลงทะเบียนร่วมกิจกรรมในค่ายอบรมผู้ประกอบการอาซาน ซังโฮซึ่งจัดโดยมูลนิธิอาซาน นานัมอันเป็นองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือชาวเกาหลีเหนือที่มาตั้งถิ่นใหม่ รวมถึงสนับสนุนคนหนุ่มสาวชาวเกาหลีใต้ และชาวต่างชาติในการเข้าสู่โลกธุรกิจ ที่ค่ายแห่งนี้เองที่จียุนได้พบและทำความรู้จักกับมารี โบส หญิงสาวจากเบลเยี่ยมที่มาตั้งรกรากที่เกาหลีใต้
               

       หลังจากที่กลายเป็นเพื่อนกัน ทั้งคู่ได้สร้างแบรนด์เสื้อผ้าด้วยกันเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ใช้ชื่อว่า “ISTORY” โดยหวังจะบอกเล่าเรื่องราวของผู้ลี้ภัยจากเกาหลีเหนือผ่านแฟชั่น ทั้งนี้ จียุนได้พูดคุยกับผู้แปรพักตร์เพื่อเก็บข้อมูลก่อนนำมาออกแบบลวดลายที่เป็นตัวแทนของคนต้นเรื่อง ลวดลายนั้นจะไปปรากฏบนแผ่นรองข้อศอกบนแขนเสื้อ และบนถุงผ้า และด้านหลังของคอเสื้อจะพิมพ์ QR code ที่ลูกค้าสามารถสแกนเข้าไปอ่านเรื่องราวของผู้ลี้ภัยซึ่งมีทั้งภาษาอังกฤษ และภาษาเกาหลี    



               

       สำหรับคนต้นเรื่องทั้ง 9 คนที่จียุนได้พุดคุยจนได้แรงบันดาลใจในงานดีไซน์เป็นคนจากหลากหลายอาชีพ อาทิ ช่างไฟฟ้า ไปจนถึงผู้กำกับภาพยนตร์ชวนเชื่อ หนึ่งในเรื่องราวที่ถูกถ่ายทอดผ่านงานแฟชั่นของจียุนเป็นเรื่องราวของอดีตนายหน้าพาคนหนีข้ามพรมแดนชื่อ ฮา จินอู ที่ครอบครัวทำอาชีพฟาร์มเลี้ยงกบส่งออกไปยังจีน และเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้จินอูกลายเป็นนายหน้าพาเพื่อนร่วมชาติหนีออกจากประเทศตัวเอง
               

       จินอูสามารถช่วยเหลือชาวเกาหลีเหนือแปรพักตร์ได้มากกว่า 100 คนก่อนถูกรัฐบาลจับได้ จนตัวเขาต้องหนีตายออกจากเกาหลีเหนือเช่นกัน หลังจากที่พ้นมาได้ เขาเริ่มต้นชีวิตใหม่ด้วยการเป็นคนขับรถบรรทุกอยู่นาน 2 ปี สำหรับเรื่องเล่าของจินอู ดีไซเนอร์จียุนสื่อผ่านภาพรถบรรทุกที่กำลังวิ่งด้วยความเร็วสูงผ่านดินแดนอันทุรกันดารไปยังแสงสีส้มของดวงอาทิตย์ที่กำลังอัสดงเพื่อแสดงให้เห็นถึงความฝัน ความหวัง และความทะเยอทะยาน 



               

      เนื่องจากปัญหาหนึ่งที่ผู้ลี้ภัยชาวเกาหลีเหนือประสบเมื่อย้ายไปอยู่เกาหลีใต้คือการเลือกปฏิบัติหรือแบ่งแยกชนชั้น จียุนจึงคิดว่าการแบ่งปันเรื่องราว ความฝัน การดิ้นรนต่อสู้ของชาวเกาหลีเหนือผ่านทักษะที่เธอถนัดน่าจะทำมุมมองที่มีต่อพวกเขาดีขึ้น ชุมชนเกาหลีเหนือแปรพักตร์ในเกาหลีใต้มีประมาณ 35,000 คน จียุนตั้งใจว่าจะทยอยนำเสนอเรื่องราวของทุกคนผ่านงานดีไซน์ของเธอ ในมุมมองของจียุน แฟชั่นดีไซน์ไม่เพียงเป็นงานที่เธอทำได้ดี แต่ยังเป็นสื่อที่ทำให้เข้าถึงผู้คนในสังคมเป็นวงกว้างได้ง่ายเมื่อใครสักคนสวมเสื้อผ้าหรือเครื่องแต่งกายจากแบรนด์ของเธอ    
 
 
        ที่มา : www.kocis.go.kr
 
 
 

 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย