TEXT : Neung Cch.
การสร้างเงินล้านนั้นไม่มีสูตรสำเร็จ และไม่มีข้อจำกัดว่าต้องเกิดมาในกองเงินกองทองเท่านั้น แม้แต่คนที่ต้นทุนต่ำอย่าง หัฏฐะพล มลคาน แม้เรียนไม่จบปริญญาตรีแต่มีคำสอนของแม่บวกกับความพยายามที่เป็นบันไดผลักดันให้เขากลายเป็นเจ้าของ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ทะเลศุกร์ ผู้ผลิตและจำหน่ายอาหารทะเลแปรรูป ภายใต้แบรนด์ SEA FRIDAY สามารถทำเงินได้เฉลี่ยเดือนละ 4-5 ล้านบาท
แต่ยอดขายที่ทำได้ก็เริ่มหายไปเหลือเพียงเดือนละล้าน เมื่อเจอพิษโควิด ทำให้เขาต้องหาทางออกจนกลายเป็นผู้คิดค้นแหนมปูม้ารายแรกของไทย นวัตกรรมที่มาช่วยกู้ยอดขายให้กับบริษัท
สร้างตัวจากของใกล้ตัว
แม้ตั้งใจจะเรียนให้จบปริญญาตรีแต่ หัฏฐะพล ทำได้แค่เรียนจบ ปวส. ยอมเสียสละให้น้องได้เรียนส่วนตัวเองออกมาทำงานรับจ้างทุกอย่างที่ทำได้ เพราะคำสอนของแม่ที่พร่ำบอกว่าความเหนื่อยไม่น่ากลัวเท่ากับการอด หนุ่มนครศรีธรรมราชคนนี้จึงไม่เกี่ยงงานไม่ว่าจะเป็นรับแบกข้าวสาร ทำงานร้านขายของชำ พนักงานโรงแรม ไปจนถึงพนักงานขาย จนได้มาแต่งงานกับภรรยาที่มีพ่อแม่ประกอบอาชีพชาวประมงในจังหวัดสุราษฎร์ธานี เขาจึงตัดสินใจที่จะเริ่มทำธุรกิจซื้อมาขายไปของตัวเอง
“เริ่มต้นจากไม่มีอะไรเลย ค่อยๆ สู้ไป เจอปัญหามาตลอด โดยเฉพาะเรื่องเงินทุน บางครั้งลูกค้าสั่งของไปแล้วไม่ โอนเงินหรือโอนมาช้าบ้าง ทำให้มีปัญหาเรื่องเงินสด ต้องค่อยๆ แก้ปัญหา ทั้งใช้ชื่อน้องชายไปกู้เงินจากแบงก์บ้างเพราะ profile เราไม่ดี ตอนน้ำท่วมหนักที่ภาคใต้ส่งของไม่ได้เป็นอาทิตย์ เงินหมุนไม่ทัน ต้องเอาทอง เอารถยนต์ไปจำนำ ต้องสู้ ถ้าไม่สู้เราก็ล้ม”
จากที่เริ่มรับซื้ออาหารทะเลจากคนใกล้ตัวก็เริ่มขยายกิจการรับซื้อจากแหล่งอื่นๆ รวมทั้ง เริ่มจำหน่ายไปกรุงเทพฯ หัฏฐะพล บอกว่าตลอดสิบปีที่ผ่านปัญหาทุกครั้งมักมาจากเรื่องกระแสเงินสดเป็นหลัก ต่างกับล่าสุดที่บริษัทต้องเจอปัญหาเข้าขั้นวิกฤตอย่างหนักคือ เมื่อเกิดโรคระบาดโควิดรายได้ที่เคยทำได้เดือนละ 4-5 ล้านบาทก็ลดมาเหลือเพียงเดือนละ 1 ล้านบาท แม้แต่ร้านอาหารทะเลของเขาก็ยังทนพิษครั้งนี้ไม่ไหวต้องปิดกิจการลงแบบไม่ได้ตั้งใจ อาหารทะเลที่ซื้อมาไว้ก็ต้องเตรียมขายก็ขายได้น้อยลงเมื่อคนเริ่มคนเริ่มออกจากบ้านน้อยลง เมื่อรายได้เริ่มสูญหายไปแต่ค่าใช้จ่ายไม่ลดลงทั้งค่าจ้างลูกน้อง ดอกเบี้ยแบงก์ยังรอประจำทุกเดือน เหมือนสัญญาณเตือนช่วยปลุกเลือดนักสู้ของเขาตื่นขึ้นมาอีกครั้ง
“ส่วนตัวเป็นคนชอบดู ชอบทำอาหาร คิดว่าน่าจะเอาอาหารทะเลมาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าเก็บได้นานขึ้น เคยเห็นแหนมดอมเมืองที่ทำขายแล้วประสบความสำเร็จ แต่ในตลาดบ้านเรายังไม่มีใครทำแหนมปูม้า ก็เลยอยากลองทำบ้าง”
เบื้องหลังแหนมปูม้ารายแรกของไทย
ถึงแม้จะเป็นลูกทะเลและคลุกคลีกับปูม้ามาตั้งแต่เกิด แต่การที่จะนำปูม้าแปรรูปให้เป็นแหนมนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย หัฏฐะพล ยอมรับว่าการทำแหนมปูม้านั้นค่อนข้างยาก เพราะหากใส่เนื้อปูเยอะเกินไปก็จะทำให้แหนมมีเนื้อสัมผัสสากไม่นิ่ม หรือใส่น้อยเกินไปก็จะทำให้กระด้าง ฉะนั้นส่วนผสมทุกอย่างจะต้องอยู่ในสัดส่วนที่เหมาะสมพอดี แม้แต่วิธีการเก็บรักษาต้องหาวิธีที่ลงตัวที่สุด จนท้ายสุดเขาได้คำตอบว่าการหมักปี๊บช่วยให้เก็บแหนมไว้ได้นาน และต้องใช้เวลานานแค่ไหนเพื่อให้ได้แหนมที่เปรี้ยว เป็นต้น
“ก็มีท้อเหมือนกันนะ แต่เราก็ไปศึกษาประวัติหลายๆ คนที่ประสบความสำเร็จ ก็พบว่ากว่าคนเหล่านั้นจะสำเร็จ ก็ต้องเจ็บมาเยอะเหมือนกัน เราก็เลยลองดูสักตั้ง ทำให้สำเร็จให้ได้ ต้องสู้ดู มันต้องอดทน เป็นการทดสอบว่าจะผ่านวิกฤตไปได้ไง เราเหมือนเป็นเสาหลัก ถ้าเราล้มสักคนก็เป็นลูกระนาดล้มกันหมด”
แม้จะต้องทิ้งเนื้อปูเป็นร้อยกิโลกรัม หรือเวลาอีกกว่าครึ่งปีที่เขาต้องยอมเสียไปเพื่อให้ได้ความรู้ในการทำแหนมปูม้า เพื่อให้ได้รสชาติที่กลมกล่อมที่ตัวเขาเองและคนในหมู่บ้านยอมรับแล้ว หัฏฐะพล จึงเริ่มทำตลาดออนไลน์ นับแต่เดือนมกราคมปี 2563 ที่เริ่มทำแหนมปูม้าขายจำนวน 50 แพ็กต่อเดือน ปัจจุบันก็ขยับมาเป็น 9,000 แพ็กต่อเดือน
“เป้าหมายอยากไปจำหน่ายในโมเดิร์นเทรด อยากให้ทุกซอกทุกมุมในประเทศไทยรู้จักแหนมปูม้า SEA FRIDAY เคยมีลูกค้ามาติดต่ออยากเอาสินค้าเราไปขายที่ดูไบ แต่แต่ตอนนี้เรายังขาดมาตรฐานฮาลาล อยากเปลี่ยนบริบทที่ทำงานให้มีมาตรฐาน ให้สามารถส่งออกได้ เพื่อขยายกลุ่มลูกค้าไปยังตลาดอินโดนีเซีย มาเลเซียต่อไป”
ปัจจุบันแบรนด์ SEA FRIDAY ไม่ได้มีแค่แหนมปูม้าเท่านั้น ยังแตกไลน์ผลิตอาหารทะเลแปรรูปไปอีกว่า 30 ชนิดทั้ง จ้อปู ปูจ๋า ฯลฯ
หัฏฐะพล ทิ้งท้ายว่า นอกจากทำให้ แบรนด์ SEA FRIDAY เป็นที่ยอมรับในวงกว้างแล้ว เขายังตั้งใจทำให้แบรนด์นี้เป็นของขวัญสำหรับคนที่รัก “ตั้งชื่อนี้ขึ้นมาเพราะวันศุกร์เป็นวันที่ดีที่สุดของคนอิสลามและยังเป็นวันเกิดของแฟนตัวเอง และที่สำคัญเป็นสิ่งที่ผมทำให้แม่ผมได้เห็นความสำเร็จก่อนที่ท่านจะจากผมไป”
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี