เปิดโมเดล “เพียรหยดตาล” บริหารยังไง ให้ภูมิปัญญายังอยู่ ธุรกิจยั่งยืน

TEXT : นิตยา สุเรียมมา

PHOTO : เพียรหยดตาล

             
     เพราะเมืองไทย คือ แหล่งภูมิปัญญาและองค์ความรู้มากมาย แต่น่าเสียดายที่หลายอาชีพหลายภูมิปัญญาดั้งเดิมต้องสูญหายไป เพราะขาดผู้มาสานต่อ อีกส่วนหนึ่งก็เพราะไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยได้ เช่น รูปแบบของผลิตภัณฑ์ที่อาจไม่ทันสมัย การสื่อสาร ไปจนถึงระบบการทำงานต่างๆ ทำยังไงถึงจะสานต่อภูมิปัญญาให้คงอยู่ต่อไปได้ ขณะเดียวกันก็เป็นธุรกิจสร้างรายได้และเลี้ยงชีพไปพร้อมกันได้ “เพียรหยดตาล” แบรนด์น้ำตาลมะพร้าวอินทรีย์คุณภาพดีแห่งจังหวัดสมุทรสงคราม คือ ตัวอย่างที่เราอยากนำมาเล่าให้ฟังวันนี้


 

 
 
ความเพียรจากน้ำตาล

 
             
     ก่อนที่จะเล่าโมเดลของธุรกิจ ขอเล่าความเป็นมาให้ฟังสักนิดก่อน เพียรหยดตาล คือ แบรนด์ผลิตภัณฑ์จากน้ำตาลมะพร้าวแท้ที่มาจากสวนอินทรีย์ ไม่ใช้สารเคมีในการเพาะปลูกและขั้นตอนการผลิต โดยเกิดขึ้นมาจากการรวมตัวกันของกลุ่มคนรักน้ำตาลมะพร้าว ตั้งแต่ชาวสวนผู้ผลิต ไปจนถึงกลุ่มผู้บริโภคจากภายนอกที่ได้เข้ามามองเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้น จึงรู้สึกเสียดายภูมิปัญญาแบบดั้งเดิมของอาชีพและคุณค่าของการผลิตน้ำตาลมะพร้าวแท้ๆ ตามแบบธรรมชาติที่ปลอดภัยไป





     ที่มาของชื่อ เพียรหยดตาล จึงมาจากความเพียรและอดทนที่กว่าจะได้น้ำตาลออกมาแต่ละครั้งต้องใช้เวลานาน ต้องตื่นมาปีนต้นมะพร้าวขึ้นไปกรีดตาลตั้งแต่เช้ามืด รอหยดตาลจนเต็มกระบอกแล้วจึงนำมาเคี่ยวต่ออีกหลายชั่วโมง แถมบ่ายยังต้องกลับไปขึ้นอีกวนอยู่แบบนี้ กว่าจะได้ออกมาแต่ละกิโลกรัม จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลย


     ศิริวรรณ ประวัติร้อย ชาวสวนเจ้าของแบรนด์ และผู้นำกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เพียรหยดตาล เล่าว่าทุกวันนี้เหลือชาวสวนตัวจริงที่ทำหน้าที่ขึ้นตาลและผลิตน้ำตาลมะพร้าวแท้อยู่น้อยมาก เนื่องจากส่วนใหญ่เริ่มมีอายุมากขึ้น และไม่มีลูกหลานมาสานต่อ จึงทำให้ปริมาณน้ำตาลมะพร้าวแท้ๆ ที่จำหน่ายอยู่ในท้องตลาดนั้นมีอยู่น้อยมาก ส่วนใหญ่ที่ขายกันอยู่ทั่วไปจะเป็นน้ำตาลผสม ซึ่งบางส่วนก็มีการใช้สารเคมีทั้งในการเพาะปลูก สารกันบูด และในขั้นตอนการผลิตด้วย จึงทำให้ผู้บริโภคแทบจะไม่ค่อยได้ลิ้มรสชาติและได้รู้จักน้ำตาลมะพร้าวแท้ๆ สักเท่าไหร่


     โดยหลังจากที่เกิดการรวมกลุ่มกันขึ้นมาแล้ว เพื่อช่วยอนุรักษ์วิถีชีวิตชุมชนและภูมิปัญญาดั้งเดิมของการผลิตน้ำตาลมะพร้าวเอาไว้ ศิริวรรณและสมาชิกภายในกลุ่ม ซึ่งมี "อัครชัย ยัสพันธ์" แกนนำจิตอาสาตัวแทนจากบุคคลภายนอก ซึ่งปัจจุบันดูแลธุรกิจสวนมะพร้าวกับครอบครัวชื่อว่า "Y.family" เข้ามาช่วยเป็นตัวตั้งตัวตีในการจัดทำเพจและสร้างแบรนด์ขึ้นมา โดยทุกคนเห็นตรงกันว่าโมเดลธุรกิจที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนต่อไปได้นั้นต้องอาศัยแนวทางดังต่อไปนี้
 




ทำทุกอย่างให้เป็นระบบ

             

     ศิริวรรณมองว่าสิ่งที่ต้องทำขึ้นมาอันดับแรก คือ การสร้างระบบและจับทุกอย่างให้เข้ามาอยู่ในระบบให้ได้ก่อน เพื่อจะได้สามารถบริหารจัดการได้ โดยเริ่มจากแจกแจงงานออกไปส่วนๆ เพื่อหาผู้ทำหน้าที่รับผิดชอบ จากนั้นจึงนำมาคิดหาค่าใช้จ่ายที่แท้จริง เช่น ค่าแรง เงินเดือน ค่าวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ
             

     “เราพยายามทำทุกอย่างให้เป็นระบบ เพื่อให้บริหารจัดการได้ง่ายขึ้น แบ่งงานออกเป็นส่วนๆ ให้แต่ละคนรับผิดชอบกันไป เช่น เรื่องการผลิต ดูแลชุมชน แหล่งเรียนรู้เราจะเป็นคนทำเอง ฝ่ายการตลาดก็จะมีน้องแอดมินมาช่วยคอยตอบคำถามคุยกับลูกค้าและรับออร์เดอร์ให้ มีการจ้างคนมาขึ้นตาลแทนผู้สูงอายุ มีคนดูแลสวน ทุกคนจะมีเงินเดือนและส่วนแบ่งรายได้ของตัวเอง อย่างคนทำปุ๋ยอินทรีย์เพาะแมลงเพื่อกำจัดศัตรูพืชเขาก็จะมีรายได้ในส่วนของเขาไป ทุกอย่างจะถูกคิดออกมาเป็นระบบ






     “ซึ่งเรามองว่าวิธีการนี้จะทำให้เกิดความยั่งยืนได้ เพราะถ้าทุกคนอยู่ได้ มีเงินเดือนมีอาชีพ มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความภาคภูมิใจในอาชีพที่ทำ ภูมิปัญญาองค์ความรู้เหล่านี้ รวมถึงรูปแบบวิถีชีวิตที่ดีงามก็จะคงอยู่ต่อไปได้ เด็กรุ่นหลังก็เต็มใจที่จะช่วยกันสานต่อมากขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องเข้าไปหางานทำในเมืองอย่างเดียว ข้อดีอีกข้อของการมีระบบ คือ ทำให้ทุกอย่างไม่ต้องอิงกับบุคคลหรือผู้นำเพียงอย่างเดียว ทุกคนสามารถทำงานไปตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายไว้ได้”


     โดยนอกจากการสร้างระบบของตัวเอง ศิริวรรณมองว่าถ้าจะรักษาภูมิปัญญาให้คงอยู่ได้ อาจต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับระบบของยุคสมัยในปัจจุบันด้วย เช่น ระบบมาตรฐานความปลอดภัยของอาหาร ต้องปรับตัวทำทุกอย่างให้มีมาตรฐาน น่าเชื่อถือ, ระบบการตลาดความต้องการของผู้บริโภค เช่น มีการสื่อสารการตลาดออกไป, การมีแพ็กเกจจิ้งที่สวยงาม เป็นต้น
 




ใช้การท่องเที่ยวนำพาผู้บริโภคให้ไปพบกับผู้ผลิตตัวจริง

 
             
     เมื่อสามารถทำตัวเองให้แข็งแกร่งขึ้นมาได้ด้วยระบบแล้ว ศิริวรรณมองว่าการจะช่วยรักษาภูมิปัญญาให้คงอยู่ต่อไปได้และเป็นที่ยอมรับในสังคมยุคใหม่ ต้องทำให้ผู้บริโภคได้มารู้จักกับแหล่งผลิต และผู้ผลิตตัวจริง รวมไปถึงการเรียนรู้และเข้าใจในวิธีกระบวนการผลิตต่างๆ ด้วยตัวเอง


     โดยเธอมองว่าการท่องเที่ยวชุมชนและการเป็นศูนย์เรียนรู้จะสามารถช่วยดึงดูดผู้บริโภคให้เข้ามาในชุมชนได้ ซึ่งหากผู้บริโภคได้มาเรียนรู้และเห็นกระบวนการต่างๆ ด้วยตัวเอง ก็จะทำให้เกิดความเข้าใจ และเห็นคุณค่าของภูมิปัญญาดังกล่าวมากขึ้น และยังทำให้เกิดการบอกต่อ ขณะที่ตัวผู้ผลิตเองก็ได้รู้ความต้องการที่แท้จริงจากผู้บริโภคด้วย
             





     “ทุกวันนี้น้ำตาลมะพร้าวแท้หายากมาก ไม่มีใครกล้าการันตีให้ใครได้ ดังนั้นวิธีการหนึ่งที่จะทำให้เกิดความมั่นใจได้ คือ ต้องพาผู้บริโภคไปรู้จักกับผู้ผลิตตัวจริง ไปดูกระบวนการผลิตว่าเขาทำกันยังไง ปลอดภัยไหมก่อนที่จะตัดสินใจซื้อ หรือถึงยังไม่ได้ซื้อ ก็ได้เรียนรู้และรู้จักอาชีพนี้เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคน
             

     “จริงๆ แล้วน้ำตาลผสมไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด ถ้าแค่เอาน้ำตาลทรายมาผสมเพื่อเพิ่มความหวานให้มากขึ้น แต่สิ่งที่น่ากลัว คือ ความต้องการที่เยอะขึ้น แต่ทุกวันนี้กลับผลิตได้น้อยลงส่วนหนึ่งมาจากปัญหาสิ่งแวดล้อมที่แย่ลง จึงส่งผลต่อการผลิตน้ำตาลมะพร้าว ดังนั้นอาจทำให้มีการผสมอะไรต่อมิอะไรเข้าไปก็ได้ เพื่อให้ได้ปริมาณมากขึ้น ซึ่งเราก็ไม่รู้ หรืออย่างกระบอกไม้ไผ่ที่เอาไว้ใช้รองน้ำตาลเวลากรีดตาลก็มีการใส่ยากันบูด ซึ่งหากเป็นแต่ก่อนจะใช้น้ำร้อนลวกทำความสะอาด และใส่ไม้พะยอมลงไปเป็นชิ้นเล็กๆ รองก้น เพื่อไม่ให้น้ำตาลบูด ดังนั้นเราจึงมองว่าการทำให้ผู้บริโภคได้รู้จักผู้ผลิตโดยตรงเป็นสิ่งที่ดีที่สุด และเมื่อถึงเวลานั้นมาตรฐานต่างๆ อะไรก็ไม่สำคัญเท่าที่เขาได้รู้จักเราจริงๆ แล้ว”

 


สร้างเครือข่ายหาคนมาสานต่อให้มากขึ้น

 
             
     ข้อสุดท้ายนอกจากการลงมือทำด้วยตัวเอง อีกวิธีที่ศิริวรรณมองว่าจะสามารถช่วยรักษาภูมิปัญญาดั้งเดิมต่อไปไว้ได้ ก็คือ การหาคนมาช่วยสานต่อ ซึ่งคือหนึ่งในเจตนารมณ์ของการจัดตั้งกลุ่มขึ้นมาด้วย เพื่อเผยแพร่ความรู้ออกไป รวมถึงจัดตั้งเครือข่ายสำหรับเกษตรกรที่สนใจให้ได้เรียนรู้วิธีการทำน้ำตาลมะพร้าวแบบดั้งเดิมตามภูมิปัญญา และการทำเกษตรอินทรีย์ในรูปแบบต่างๆ ด้วย
             

     “ทุกวันนี้เราอาจทำอะไรไม่ได้มาก อย่างในเรื่องสิ่งแวดล้อมเองที่เป็นปัญหาใหญ่เราอาจเข้าไปเปลี่ยนแปลงทั้งหมดไม่ได้ แต่เราสามารถสร้างให้เกิดเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้นมาได้ เพื่อลดการทำลายสิ่งแวดล้อม ทำให้ผู้บริโภคมีอาหารที่ดีกิน อย่างน้อยๆ แม้ไม่ได้ทำขาย แค่ทำเอาไว้กินเองก็ดีแล้ว เพราะวัตถุประสงค์จริงๆ ของเรา ก็คือ อยากให้คนรู้จักน้ำตาลมะพร้าวแท้ และก็นำไปผลิตต่ออยากให้แต่ละบ้านได้มีน้ำตาลมะพร้าวของบ้านตัวเองหรือทำเป็นแบรนด์เล็กๆ ก็ได้ นี่คือ วิธีการหนึ่งที่เราคิดว่าจะสามารถช่วยอนุรักษ์อาชีพนี้ให้ยังคงอยู่คู่เมืองไทยต่อไปได้ และถ้าถึงวันนั้นคนเฒ่าคนแก่ก็คงดีใจที่ได้เห็นภูมิปัญญาที่เขาอุตส่าห์สืบทอดต่อกันมานี้ยังคงอยู่ สามารถสร้างงานสร้างรายได้ และทำให้ลูกหลานสามารถมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีได้” ศิริวรรณกล่าวทิ้งท้าย
 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย