มิติใหม่ขายผลไม้ “แกนแตงโม” ที่ขายดีในโลกออนไลน์

TEXT : นิตยา สุเรียมมา

PHOTO : แตงโม แตงโหม่ว แตงโม
 

             


     ปกติเวลาซื้อผลไม้มารับประทาน ถ้าไม่ได้ซื้อจากรถเข็นที่แบ่งขายเป็นชิ้นๆ หรือหั่นใส่กล่องเอาไว้ เราก็มักต้องซื้อกันเป็นลูกๆ หรือกิโลกรัม คงไม่มีใครที่ตัดแบ่งขายเฉพาะส่วนให้เลือกได้ตามใจชอบ เพราะอาจขาดทุนเสียหายได้ แต่อาจเป็นข้อยกเว้นสำหรับแบรนด์ “แตงโม แตงโหม่ว แตงโม” ร้านขายแตงโมออนไลน์ที่เลือกเอาเฉพาะส่วนที่หวานกรอบอร่อยที่สุด แถมไร้เมล็ดมากวนใจอย่างเนื้อใจแกนกลางมาขายให้กับผู้บริโภค จนกลายเป็นร้านขายแตงโมที่ขายดีและฮือฮาที่สุดในโลกออนไลน์ขณะนี้ พร้อมๆ กับนิยามคำศัพท์ใหม่ว่า “แกนแตงโม”
               




เพราะลูกน้อยเป็นเหตุ

 
             
     พิชามญชุ์ เกียรติปิยะขจร (ไอซ์) คุณแม่ลูกหนึ่งผู้ริเริ่มไอเดียขายแกนแตงโมเล่าว่าเหตุมาจากลูกชายของเธอที่ชอบกินแตงโมเป็นพิเศษ แต่ติดปัญหาตรงเมล็ดเยอะ เธอจึงพยายามคัดส่วนที่มีเมล็ดน้อยที่สุดไว้ให้ โดยเฉพาะเนื้อที่อยู่ใจกลางลูก ซึ่งเป็นส่วนที่ไม่มีเมล็ดอยู่ จนวันหนึ่งได้ไปรู้จักกับเจ้าของโรงงานแปรรูปผลไม้เข้าพูดคุยกันถูกคอและสนิทสนม จึงพบว่าที่โรงงานดังกล่าวมีการตัดหรือเจาะเอาเนื้อส่วนที่อยู่แกนกลางลูกแตงโมไปทิ้งอยู่เป็นประจำ เนื่องจากมีความหนาแน่นกว่าเนื้อส่วนอื่นๆ จึงไม่สามารถนำเข้าไลน์การผลิตได้ พิชามญชุ์จึงเกิดไอเดียขอรับซื้อนำมาขายต่อใส่กล่องแช่เย็นขายในหมู่บ้านเป็นธุรกิจเล็กๆ ของตัวเอง
 





เป็นแบรนด์ได้ เพราะเพื่อนเอาไปช่วยขายต่อ

 
             
     กระทั่งวันหนึ่งระหว่างกำลังท่องโลกโซเชียล จิรายุ ภู่ประดิษฐ์ หรือ เสี่ย หนุ่มโปรดิวเซอร์เพลง ก็ได้มาเห็นโพสต์ขายแตงโมของคุณแม่ลูกหนึ่ง ซึ่งเป็นเพื่อนสมัยมัธยม โดยตัวเขาเองในขณะนั้นกำลังว่างจากงานประจำที่ทำอยู่ แถมยังเคยได้รับโจทย์จากทางบ้านว่าให้ช่วยหาลู่ทางเอาแตงโมจากสวนแถวบ้าน ซึ่งอยู่จังหวัดราชบุรีไปขายด้วย
             

     จิรายุจึงต่อสายหาพิชามญชุ์ทันที และภารกิจขายแตงโมแท่งไร้เมล็ดก็กลายเป็นธุรกิจจริงจังขึ้นมา มีการออกแบบโลโก้ ฉลาก แพ็กเกจจิ้ง และตั้งชื่อแบรนด์ขึ้นมา ด้วยความแปลกใหม่ไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อนจึงได้รับความสนใจจากผู้บริโภคอย่างรวดเร็ว สามารถกระจายจำหน่ายออกไปได้ทั่วประเทศเฉลี่ยวันละ 200 - 300 กล่อง ภายหลังจึงได้ชักชวนแฟนสาว จันจิรา แก้วทองหลาง (กวาง) และญาติพี่น้องคนในครอบครัวให้เข้ามาช่วยดูแลธุรกิจไปด้วยกัน
 




ชื่อแบรนด์จำง่าย เพราะเนื้อเพลง

 
             
     โดยชื่อแบรนด์ “แตงโม แตงโหม่ว แตงโม” นำมาจากการออกเสียงในเนื้อร้องท่อนหนึ่งของเพลงแตงโมจินตหรา ของ “จินตหรา พูนลาภ” ศิลปินนักร้องลูกทุ่งชื่อดัง ทำให้แม้จะยาว แต่ก็สามารถอ่านออกเสียงเป็นทำนองเพลงและจดจำได้ง่ายขึ้น


นิยามใหม่ ช่วยเร่งกระแสฮิต

 
             
     หุ้นส่วนทั้งหมดเล่าให้ฟังอีกครั้งว่า เนื้อแตงโมที่นำมาขายนั้น คือ เนื้อที่อยู่แกนกลางลูก ซึ่งจะมีความหวาน กรอบ อร่อย ไร้เมล็ด แตงโม 1 ลูกจะมีเพียงแค่ 1 ชิ้นเท่านั้น! จึงทำให้ได้รับความสนใจค่อนข้างมาก เพราะนอกจากจะช่วยแก้ Pain Point ตัดปัญหาการกินแตงโมแบบไร้เมล็ดกวนใจแล้ว ยังช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์อีกด้วย
และเพื่ออธิบายให้ผู้บริโภคเข้าใจได้ง่ายขึ้น จึงมีการนิยามชื่อเรียกขึ้นมาว่า “แกนแตงโม” คล้ายกับสับปะรดที่จะมีแกนอยู่ตรงกลางลูก ทำให้แค่ได้ยินครั้งแรกก็สะดุดหูและสงสัยขึ้นมาแล้วว่า คือ เนื้อส่วนใด ซึ่งหากจะว่าไปนี่อาจเป็นผู้ประกอบการรายแรกๆ ก็ได้ที่นำคำนี้มาใช้สื่อสารออกไปในวงกว้าง และทำให้แมสขึ้นมาได้  
 




ใช้แตงโมเป็นพันๆ ลูกต่อวัน

 
             
     ไอซ์ เสี่ย และกวางเล่าว่าแม้ธุรกิจอาจเริ่มต้นขึ้นมาได้ไม่นาน แต่ก็ได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคค่อนข้างดีเลย โดยก่อนหน้านี้ที่โควิดจะกลับมาระบาดหนักเหมือนทุกวันนี้ พวกเขาสามารถจำหน่ายแกนแตงโมได้วันละ 200 – 300 กล่องทีเดียว
             

     โดยใน 1 กล่องจะมีแกนแตงโมอยู่ประมาณ 8 – 10 ชิ้น (500 กรัม) จำหน่ายในราคากล่องละ 60 บาท ส่วนเนื้อที่เหลือจะนำมาทำน้ำสกัดเย็นขายควบคู่กันไปด้วย โดยแตงโม 1 ผลจะได้น้ำแตงโม 3 – 4 ขวดต่อลูก เป็นน้ำสกัดจากเนื้อแตงโมแท้ไม่ผสมอย่างอื่น ราคาขวดละ 60 บาทเช่นกัน พันธุ์แตงโมที่ใช้ คือ ซอนญ่า ลักษณะเด่น คือ เปลือกบาง เนื้อเยอะ
 




     ซึ่งหากลองคำนวณเล่นๆ เท่ากับว่าวันหนึ่งพวกเขาต้องใช้แตงโม เพื่อทำออร์เดอร์ส่งให้กับลูกค้ากว่า 2,000 – 3,000 ลูกต่อวัน โดยทุกวันนี้หาแกนแตงโมมาจาก 2 ช่องทาง คือ 1. รับซื้อมาจากโรงงานผลิตผลไม้แปรรูปต้นเรื่อง และ 2. รับซื้อมาจากสวนของเกษตรกร


     แต่ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันทำให้การขนส่งวัตถุดิบลำบาก ปัจจุบันจึงเหลือจำหน่ายได้เพียง 20 – 30 กล่องต่อวัน จึงเปลี่ยนมาใช้วิธีเปิดให้สั่งจองตอนเที่ยงของทุกวัน บางวันก็ขายหมดเกลี้ยงภายใน 3 นาทีเท่านั้น! รวมถึงการจำหน่ายเป็นเซ็ตให้ลูกค้าเลือกรับทั้งเนื้อและน้ำแตงโมพร้อมกันไปเลยในราคาสุดคุ้ม

 



แมส ได้เพราะรีวิวจากบล็อกเกอร์ดัง

 
             
     โดยแกนแตงโมของแบรนด์แตงโม แตงโหม่ว แตงโม เริ่มจำหน่ายมาก่อนหน้านี้หลายเดือนแล้ว แต่มาโด่งดังเป็นที่ฮือฮาอยู่ในโซเชียลเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมานี้เอง จากการรีวิวของเพจดังด้านอาหารอย่าง Food Blog BKK ที่มีคนติดตามมากกว่าห้าแสนคน คำว่า แกนแตงโม และชื่อแบรนด์แตงโม แตงโหม่ว แตงโม จึงเป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศ และแชร์บอกต่อๆ กันมาตั้งแต่นั้น พร้อมๆ กับที่ดารา บุคคลมีชื่อเสียงหลายคนมาช่วยรีวิวให้ด้วย
             

     อนาคตนับจากนี้ถามว่าจะทำยังไงต่อไปกับธุรกิจ ก็ได้รับคำตอบว่า
     

     “วันหนึ่งถ้าสิ่งที่ทำเราจะกลายเป็นเรื่องสามัญทั่วไป ไม่ได้แปลกใหม่อะไรแล้ว คนอื่นๆ ก็ทำขึ้นมาเหมือนกันบ้าง ถึงวันนั้นก็ไม่เป็นไรอย่างน้อยๆ วันนี้เราก็ได้ปักธงลงไปเป็นคนแรกแล้วว่าถ้าพูดถึงแกนแตงโม เขาก็ต้องนึกถึงชื่อแบรนด์เราก่อนเป็นคนแรก ส่วนว่าจะเลือกซื้อเจ้าไหนก็ต้องวัดกันที่คุณภาพ และความชื่นชอบของผู้บริโภคอีกที อนาคตเราอาจลองหาผลไม้ชนิดอื่น หรือรูปแบบผลิตภัณฑ์เพื่อเข้ามาช่วยตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้อีกแน่นอน” เจ้าของแบรนด์แตงโม แตงโหม่ว แตงโมทุกคนกล่าวทิ้งท้าย
 




www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย