การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจมากมาย โดย ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้เปิดเผยว่าจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ได้ส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทยในวงกว้าง โดยค่า GDP ไทยโตเพียง 1.0 เปอร์เซ็นต์ จากในไตรมาสแรกของปี 2564 ตัวเลขอยู่ที่ 2.6 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นจาก - 6.1เปอร์เซ็นต์ ในปี 2563
ขณะเดียวกันสถานการณ์ภาพรวมของ SME ที่มีจำนวน 3.1 ล้านล้านรายในปี 2564 ยังคงน่ากังวล เพราะส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว บริการ และกลุ่มค้าส่งค้าปลีก โดยจากข้อมูลสถิติพบว่า GDP SMEs ในปี 2563 มีการปรับตัว - 9.1เปอร์เซ็นต์ และประเมินว่าในปี 2564 คาดว่าจะติดลบที่ - 4.8เปอร์เซ็นต์
ทั้งนี้จึงได้เร่งทำแผนระยะสั้นออกมาเพื่อช่วยเหลือ SME เร่งด่วนภายในระยะเวลา 60 วัน ภายใต้แนวนโยบาย โควิด 2.0 “พร้อมสู้-อยู่ได้-ไปรอด” ผ่าน 5 มาตรการดังนี้
- การจัดการโควิดภายในองค์กร
เพื่อสร้างสถานประกอบการปลอดเชื้อ โดยเน้นการสร้างองค์ความรู้ในการบริหารจัดการองค์กร เพื่อป้องกันและรับมือกับการแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นแบบองค์รวม ใน 9 หัวข้อวิชา ตั้งแต่การสร้างความรู้ความเข้าใจด้านอาชีวอนามัยและสุขอนามัย, การใช้เครื่องมือดิจิทัลและเทคโนโลยีเพื่อลดความแออัด, การประยุกต์ใช้มาตรฐานอุตสาหกรรมในการบริหารจัดการให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด ไปจนถึงการแชร์ประสบการณ์จากสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
- การตลาดภายใต้โควิด
โดยมุ่งเน้นการดำเนินการตลาดและการขยายตลาดในรูปแบบต่างๆ ประกอบไปด้วย
1) การส่งเสริมการทำการตลาดออนไลน์ภายใต้โครงการ DIProm Marketplace โดยสร้างช่องทางการจำหน่ายออนไลน์ เพื่อให้ผู้ประกอบการและผู้บริโภคสามารถเข้ามาซื้อ-ขาย สินค้าและบริการดีๆ มีคุณภาพ
2) การส่งเสริมด้านกลยุทธ์การตลาดออนไลน์ผ่านการฝึกอบรม eLearning 26 หลักสูตร มุ่งเน้นการใช้ดิจิทัลเข้ามาเป็นเครื่องมือในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงเคล็ดลับการเจาะลึกตลาดในอาเซียน เพื่อหาตลาดใหม่ให้กับธุรกิจ
3) การช่วยเหลือด้านการขนส่ง ผ่านโครงการ “ดีพร้อมแพค: บรรจุภัณฑ์สร้างสรรค์วิถีใหม่” (The Next Diprom Packaging: DipromPack) เพื่อช่วยลดต้นทุน เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ และเพิ่มยอดขายให้แก่ผู้ประกอบการ
4) แนวทางการตลาดร่วมเป็นคู่ค้ากับภาครัฐ ผ่าน 3 ช่องทาง ประกอบด้วย 1. การรับรอง Made in Thailand (MiT) โดย ส.อ.ท. 2. การขึ้นทะเบียนเอสเอ็มอี Thai SME-GP ของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และ3. การขึ้นบัญชีสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม Thai GPP ของกรมควบคุมมลพิษ
- เปลี่ยนค่าใช้จ่ายเป็นเงินทุน
ด้วยการให้คำปรึกษาและพัฒนาระบบการบริหารสินค้าคงคลัง เพื่อลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ 3 ด้านหลัก ได้แก่ ต้นทุนการเก็บรักษาสินค้าคงคลัง ต้นทุนการขนส่งสินค้า และต้นทุนการบริหารจัดการ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน 3 มิติ ได้แก่ ต้นทุน เวลา และความน่าเชื่อถือ ผ่านโครงการเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานของภาคอุตสาหกรรม ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีเกษตรอุตสาหกรรมอัจฉริยะให้แก่ผู้ประกอบการ
- สร้างเครือข่ายพันธมิตร
โดยทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมโยงเครือข่ายพันธมิตรให้แก่ผู้ประกอบการผ่านโครงการสำคัญต่างๆ อาทิ โครงการเชื่อมโยงเครือข่ายเกษตรกรและผู้แปรรูปโครงการเชื่อมโยงเทคโนโลยีเพื่อปรับรูปแบบผลิตภัณฑ์ใหม่, โครงการเชื่อมโยงเครื่องจักรเพื่อแปรรูป (i-Aid), โครงการช่าวชุมชน เป็นต้น
- ปรับโมเดลธุรกิจ
มุ่งเน้นให้ผู้ประกอบการมีความพร้อมในการดำเนินการปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจใหม่ เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์เศรษฐกิจ โดยการสร้างและพัฒนาผู้ให้บริการธุรกิจอุตสาหกรรม (SP) และเสริมทักษะทางการเงิน (Financial Literacy) รวมถึงการจัดทำแผนบริหารความเสี่ยง (Business Continuity Plan) เพื่อรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบัน
โดยคาดว่าจากทั้ง 5 มาตรการที่กล่าวไปนั้นจะสามารถสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้กว่า 8,000 ล้านบาท และในปีงบประมาณ 2564 จะสามารถช่วยส่งเสริมและยกระดับผู้ประกอบการในภาคส่วนอุตสาหกรรมต่างๆ ได้จำนวนรวม 3,356 กิจการ 11,955 ราย 982 ผลิตภัณฑ์
สุดท้ายมองว่าการจะช่วยให้ SME ผ่านวิกฤตไปได้ต้องมุ่งเน้นปัจจัย 3 ด้าน เหมือนเช่นที่ได้ดำเนินการช่วยเหลือผู้ประกอบการมาแล้วในครึ่งปีแรกตามนโยบาย “สติ (STI)” ได้แก่ 1. SKILL : ทักษะเร่งด่วน เร่งเสริมสร้างศักยภาพธุรกิจให้สามารถปรับตัวได้ 2. TOOL : ครื่องมือเร่งด่วน เพื่อนำมาใช้ในการขับเคลื่อน และ 3. INDUSTRY : อุตสาหกรรมเร่งด่วน สร้างโอกาสจากต้นทุนที่มีจุดแข็ง เพื่อให้ครอบคลุมทุกมิติ
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี