ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา อุตสาหกรรมโปรตีนทางเลือกมีความก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดด จนกลายเป็นกระแสหลักไปแล้ว ซึ่ง Green Queen ได้คาดการณ์แนวโน้มโปรตีนทางเลือก 13 อันดับที่น่าจับตามอง นั่นก็คือ
- เนื้อ Plant-based ต้องแปรรูปน้อยและใส่ใจคุณภาพมากขึ้น
เหล่าผู้บริโภคอาหาร Plant-based ต่างต้องการอาหารทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพ นั่นหมายความว่าใช้วัตถุดิบให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไขมันต่ำ และไม่มีสารปรุงแต่ง บางแบรนด์ที่เป็นผู้นำตลาดอย่าง Heura Food จากสเปน ได้เปิดตัวเบอเกอร์ที่ดีต่อสุขภาพมากที่สุดในโลก โดยใช้น้ำมันมะกอกเป็นเครื่องปรุงหลัก แบรนด์ Daring Foods ซึ่งผลิตไก่จากพืชใช้ส่วนผสมเพียง 5 อย่างเท่านั้น ขณะเดียวกันแบรนด์คุ้นหูอยาก Beyond Mead ได้เปิดตัวเบอเกอร์จากพืช 2 รุ่นที่ดีต่อสุขภาพ โดยลดปริมาณไขมันอิ่มตัวต่อชิ้นอยู่ที่ 35 เปอร์เซ็นต์ และ 55 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ
เทรนด์นี้จะมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะผู้ซื้อจะเข้มงวดกับการเลือกซื้ออาหาร Plant-based มากขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้ผู้เล่นหน้าใหม่นำเสนอผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองผู้บริโภคเฉพาะกลุ่ม ดังนั้น แบรนด์รุ่นแรกๆ จึงจำเป็นต้องสร้างสรรค์โปรดักต์ใหม่ๆ ที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้นด้วยเช่นกัน
- เข้าใกล้ยุค Plant-based ราคาถูก
ก่อนหน้านี้เราคาดการณ์ว่าอาหาร Plant-based จะมีปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ เรื่องนี้เห็นได้ชัดตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา ที่โปรตีนทางเลือกกลายเป็นกระแสหลัก GoodDot แบรนด์ Plant-based จากอินเดียสามารถทำราคาได้เทียบเท่ากับเนื้อสัตว์ได้แล้ว แต่ในตลาดโลกผลิตภัณฑ์อาหารจากพืชส่วนใหญ่ยังคงแพงอยู่เทียบได้กับเนื้อสัตว์ออแกนิก ตราบใดที่มีอุปสงค์หรือความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น หมายถึงภาคธุรกิจก็ต้องผลิตมากขึ้นด้วยเช่นกัน สถานการณ์เช่นนี้จะทำให้ราคาต่ำลงได้ในที่สุด
- ถึงเวลาเติบใหญ่ แบรนด์โปรตีนทางเลือกต้องการพันธมิตรคู่ใจเป็นโรงงานผู้ผลิต
เป็นเรื่องมหัศจรรย์ที่ได้เห็นแบรนด์ผู้ผลิตโปรตีนทางเลือกใหม่ๆ เปิดตัวทุกสัปดาห์ แต่สิ่งที่พวกเขาต้องการเพื่อจะเติบโตในอนาคตก็คือโรงงานผู้ผลิต ดังนั้น จึงคาดการณ์ได้ว่าโรงงานผลิตอาหารมังสวิรัติแบบ B2B จะเฟื่องฟูในทุกภูมิภาคของโลก ที่พร้อมจะอยู่เบื้องหลังการผลิตให้กับแบรนด์เหล่านั้น
- เนื้อจากห้องแล็บ พร้อมแล้วสำหรับตลาดที่ไม่อยากให้ฆ่าสัตว์
ปัจจุบันมีบริษัทที่ผลิตเนื้อสังเคราะห์ที่มาจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อสเต็มเซลล์อยู่มากมาย มีกระทั่งกลุ่มที่พยายามผลิตเนื้อสัตว์เทียมจากการสังเคราะห์โปรตีนพืช เราเรียกรวมๆ ว่า “เนื้อจากห้องแล็บ” หรือ Cultured Meat ก่อนหน้านี้มีไม่กี่ประเทศที่ออกกฎหมายอนุญาตให้ขายเนื้อเทียมประเภทสังเคราะห์จากแล็บสู่ภาคประชาชน ซึ่งประเทศแรกที่อนุมัติเรื่องนี้ คือ สิงคโปร์ที่อนุมัติให้บริษัท Eat Just ขายนักเก็ตที่ทำจากไก่สังเคราะห์ กลายเป็นจุดเปลี่ยนของวงการอาหารทางเลือกเลยทีเดียว หลังจากนั้นเราจึงได้เห็นแบรนด์ Supermeat และ Aleph Farms เริ่มต้นในอิสราเอลอย่างเป็นทางการ รวมถึงอาหารทะเล และผลิตภัณฑ์นมทางเลือกที่เพาะปลูกในแอฟริกา อินเดีย ไปจนถึงฟินแลนด์
- สปอตไลท์ส่องถึงการหมักเพื่อผลิตโปรตีนนมที่ไม่ต้องคัดจากเต้า
น่าแปลกใจที่ Precision Fermentation กลายเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีหลักในวงการโปรตีนทางเลือก วิธีนี้ช่วยผลิตชีสที่มีรสชาติ เนื้อสัมผัส กระทั่งรายละเอียดทางโภชนาการเหมือนกันทุกประการกับผลิตภัณฑ์นมจากวัว โดยใช้ยีสต์หรือเชื้อรา นำไปหมักในถังเหมือนการต้มเบียร์ ระหว่างนั้น จุลินทรีย์เหล่านั้นจะผลิตโปรตีนเหมือนที่พบในนมวัวแล้วจะถูกกรองเป็นโปรตีนบริสุทธิ์ที่แยกออกมา ใช้สร้างผลิตภัณฑ์จากนมไม่ว่าจะเป็นชีส อย่าที่บอกไปทีแรก เวย์โปรตีน หรือกระทั่งนำมาผลิตไอศกรีม โดยไม่ต้องพึ่งพาสัตว์แม้แต่ตัวเดียว
มีการคาดการณ์ว่าราคาโปรตีนนมทางเลือกจะมีราคาถูกกว่าผลิตภัณฑ์ที่ทำจากสัตว์ถึง 5 เท่าภายในปี 2573 หรืออีก 10 ปีข้างหน้า
- ดีกว่าแน่ ถ้าใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพมักคำนึงถึงความยั่งยืนแบบ 360 องศา นอกจากจะกินเนื้อน้อยลงแล้ว ยังต้องเลิกใช้พลาสติก แล้วหันมาใช้วัสดุที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ แบรนด์ที่นำเสนอผลิตภัณฑ์จากพืชต่างมีภารกิจต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดังนั้น พวกเขาจะมองหาแบรนด์ที่ใช้บรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ ใช้ซ้ำได้ หรือรีฟิลได้ แบรนด์ที่ทำเรื่องนี้ก่อนจะเป็นผู้ชนะในตลาดได้
- จับตามองชีสจากพืชให้ดี
รู้หรือไม่ว่าในโลกนี้มีชีสนมมากกว่า 1,800 ชนิด เห็นได้ว่านี่เป็นตลาดที่ใหญ่มาก ดังนั้น จึงมีแบรนด์ผู้ผลิตชีสจากพืชมากขึ้นด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ Miyoko’s creamery ผู้ผลิตเนยถั่วที่ได้มาจากการเพาะเลี้ยง แบรนด์ Grounded Foods, Hello Friend ชีสมังสวิรัติ และอีกมากมายที่รอให้ผู้บริโภคเลือกซื้อ
- ซูเปอร์มาร์เกตหันมาทำแบรนด์วีแกนของตัวเอง
ชาววีแกนเคยไม่มีทางเลือกให้ซื้อมากนัก แต่ตอนนี้โลกเปลี่ยนไปแล้วเพราะนอกจากจะมีอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ แบรนด์หน้าใหม่แล้ว แม้แต่ซูเปอร์มาร์เก็ตยังต้องการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของตลาด เชนค้าปลีกทั่วโลกหันมาเปิดตัวกลุ่มผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์จากพืชภายใต้แบรนด์ของตัวเอง เช่น Kroger's Simple Truthและ Target's Good & Gather แถมยังเล่นสงครามราคาอีกต่างหาก คาดว่าอีกไม่นานเครือข่ายซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ทุกแห่งจะเข้ามาเล่นในตลาดนี้แน่นอน
- ขาขึ้นของการทำเกษตรแบบวีแกน
เกษตรกรรมไม่ใช่วีแกนอยู่แล้วเหรอ? มาทำความรู้จักการเกษตรแบบวีแกนกันก่อน เป็นการเพาะปลูกแบบออแกนิกและปลูกพืชที่มีอันตรายต่อสัตว์ให้น้อยที่สุด หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมี ยาฆ่าแมลง หรือแม้กระทั่งใช้ปุ๋ยที่ทำจากสัตว์ อย่างปุ๋ยหมัก เพราะฉะนั้นการเกษตรแบบวีแกนจึงไม่ใช่การทำเกษตรอินทรีย์อย่างแน่นอน แต่เน้นไปที่การฟื้นฟูดิน คลุมดินด้วยปุ๋ยหมักจากพืช ปุ๋ยพืชสด และปลูกพืชหมุนเวียน ไปจนถึงการรักษาสมดุลของแมลงจึงไม่ใช้สารกำจัดศัตรูพืช
แม้ว่าการเกษตรแบบวีแกนยังดูเป็นเรื่องยุ่งยากและไม่เป็นที่แพร่หลายนัก แต่คาดว่าภายในไม่กี่ปีนี้ วิธีนี้จะเป็นที่รู้จักมากขึ้น
- กระแสต่อต้านของกลุ่มคนรักเนื้อ
จำนวนชาววีแกนเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า โดยที่มีแนวโน้มว่าโควิด-19 เป็นตัวเร่ง แล้วฝั่งผู้ผลิตเนื้อวัวจะยอมเหรอ? เราจึงได้เห็นความพยายามของอุตสาหกรรมเนื้อวัวในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค อย่างแคมเปญ “Be a Beefatarian” เชิญชวนให้พลเมืองยุโรปกินเนื้อมากขึ้น สร้างความมั่นใจว่าการบริโภคเนื้อสัตว์แบบยั่งยืนนั้นมีความเป็นไปได้ และการบริโภคเนื้อสัตว์เป็นการเคารพความหลากหลายทางชีวภาพ
- ยินดีต้อนรับสู่โลกแห่งเบคอนและแฮมจากพืช
เมื่อไม่นานมานี้ องค์การอนามัยโลกได้เผยรายงานเกี่ยวกับการบริโภคเนื้อแดงที่อาจส่งผลให้เป็นมะเร็งลำไส้ได้ในอนาคต ทำให้ผู้ชื่นชอบเบคอนเริ่มมองหาเบคอนจากพืช ที่ทำให้รู้สึกว่ายังสามารถดื่มด่ำกับอาหารโปรดในวัยเด็กได้ ซึ่งเบคอนจากพืชนั้นดีต่อสุขภาพมากกว่าอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะมีไฟเบอร์ที่ดีต่อสุขภาพลำไส้ ไม่มีไขมันอิ่มตัว และไม่มีสารก่อมะเร็ง
ในขณะที่โลกตอนนี้มีเบอร์เกอร์จากพืชเต็มไปหมด แต่เบคอนมังสวิรัติกลับไม่ใช่สินค้าที่หาได้ง่าย มีแค่ไม่กี่แบรนด์ที่ผลิตผลิตเนื้อสัตว์ที่ผ่านการแปรรูป บ่ม และรมควัน ไม่ว่าจะเป็นแฮม เบคอน ไส้กรอกที่ดีต่อสุขภาพและมีแคลอรี่ต่ำ ตอนนี้เราเริ่มได้เห็นแบรนด์ที่ลุกขึ้นมาปฏิวัติวงการ หันมาผลิตเบคอนจากมะพร้าว หรือเบคอนจากข้าวแทนแล้ว
- ผลิตโปรตีนจากพืชที่หลากหลาย
โปรตีนจากถั่วเหลืองเป็นผู้ชนะในอุตสาหกรรมโปรตีนทางเลือก เป็นโปรตีนที่โดดเด่นและมีรสชาติเป็นกลางจึงสามารถผลิตอาหารได้หลากหลายรูปแบบ อย่างไรก็ตามเราไม่ควรใส่ไข่ลงในตะกร้าใบเดียว ผู้ผลิตควรต้องมีทางเลือกที่หลากหลาย โดยพัฒนาโปรตีนจากพืชชนิดอื่นๆ อาจจะเป็นกะหล่ำปลี สับปะรด หรือถั่วอื่นๆ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารอย่างแท้จริง
- อาหารทะเลไร้เนื้อปลากำลังโต
แม้จะเป็นเรื่องดีที่ผู้คนลดการบริโภคเนื้อสัตว์ใหญ่ลง แต่คนจำนวนไม่น้อยก็หันไปกินอาหารทะเลแทน ดังนั้นนี่ก็เป็นตลาดที่น่าสนใจไม่น้อยถ้าจะผลิตอาหารทะเลทางเลือก ปัจจุบันมีบริษัทอาหารทะเลทางเลือกน้อยกว่า 30 แห่งเมื่อเทียบกับบริษัทเนื้อสัตว์จากพืชทั่วโลกที่มีมากกว่า 100 แห่ง คาดการณ์ว่าจะมีอาหารทะเลจากพืชและอาหารทะเลจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเพิ่มขึ้นในปีนี้มากทีเดียว
เรียบเรียงจาก : www.greenqueen.com.hk
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี