PHOTO : Li-né
ภาพถ่าย ถือเป็นสิ่งสำคัญด่านแรกๆ ของการประชาสัมพันธ์สินค้าออกไปให้ผู้บริโภคหรือลูกค้าได้รู้จักแบรนด์ของเรา ได้รู้ถึงจุดเด่น ความสวยงามของสินค้า ซึ่งหากใช้ได้ดีถูกวิธีก็จะช่วยเพิ่มยอดขายขึ้นมาได้อีกเป็นกองเลยทีเดียว โดยเฉพาะในสื่อโซเชียลมีเดียอย่างอินสตาแกรม (IG) แพลตฟอร์มที่นับว่ามีความโดดเด่นมากที่สุดของการเป็นพื้นที่โชว์ภาพถ่าย วันนี้เราจึงพามาเรียนรู้เทคนิคการใช้ภาพถ่ายสร้างแบรนด์ใน IG ผ่านแบรนด์ “Li-né” (ลิเน่) แฟชั่นเสื้อผ้าลินินผู้หญิงและผู้ชายที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นด้วยสีสันสดใส
โดยหากลองสังเกตที่หน้า IG ของแบรนด์จะเห็นได้ถึงเอกลักษณ์การเลือกใช้รูปภาพที่ต่างออกไป ซึ่งไม่ได้มีเพียงแค่ตัวสินค้าเท่านั้น แต่ยังมีไลฟ์สไตล์ สิ่งของเครื่องใช้ เครื่องประดับ ไปจนถึงภาพการสวมใส่เสื้อผ้าออกไปยังพื้นที่ต่างๆ เช่น คาเฟ่ ร้านกาแฟ แหล่งท่องเที่ยว เพื่อช่วยให้ลูกค้าได้มองเห็นภาพตัวอย่างการใช้งานได้ดียิ่งขึ้น
สุพัตรา เอกมธุรพจน์ เจ้าของและหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ โดยทำร่วมกันกับเพื่อนสาว “โสภิตา รักธรรม” ได้เล่าถึงคอนเซปต์ของแบรนด์ Li-né ให้ฟังว่าชื่อ “ลิเน่” นำมาจากคำว่า “ลินิน” เนื่องจากสินค้าทุกชิ้นของแบรนด์ผลิตมาจากผ้าลินินเกรดพรีเมียม โดยเริ่มต้นธุรกิจขึ้นเมื่อ 5 ปีก่อน โดยจะเลือกใช้เป็นผ้าลินินลวดลายและสีสันสดใส เน้นแพตเทิร์นใส่สบายเรียบง่าย แต่ดูดี ไม่เชย ใส่ได้ทุกโอกาส การตัดเย็บคุณภาพ
นอกจากมีให้เลือกตามไซส์มาตรฐานแล้ว ลูกค้ายังสามารถแจ้งปรับความสั้นยาวแก้ไขบางจุดเพื่อให้พอดีกับขนาดตัวได้ด้วย เรียกว่าเป็นร้านเสื้อผ้าสำเร็จรูปออนไลน์ที่ให้บริการกึ่งเทเลอร์หรือร้านตัดเย็บก็ได้ ซึ่งนับเป็นจุดเด่นอีกข้อของแบรนด์ โดยหลังจากลูกค้าทำการสั่งซื้อแล้วจะใช้เวลาในการตัดเย็บ 4 – 7 วันจึงจะจัดส่งสินค้าให้ วิธีการดังกล่าวทำให้ไม่ต้องกักตุนสต๊อกสินค้าไว้มาก โดยนอกจากเสื้อผ้าแฟชั่นผู้หญิงแล้ว ภายหลังยังมีการทำร่วมกับหุ้นส่วนใหม่เพิ่มเข้ามา (ธราเทพ มหาศรานนท์ และมานิตา กมลพงศธร) เพื่อขยายแตกไลน์ออกทำเสื้อผ้าผู้ชายด้วยใช้ชื่อว่า “Li-né Mens” เพิ่งเปิดตัวเมื่อ 4 – 5 เดือนที่ผ่านมา
4 สเตปเทพ สร้างแรงจูงใจอยากซื้อให้ลูกค้า
โดยเทคนิคการนำเสนอรูปภาพที่สุพัตรานำมาใช้กับแบรนด์ลิเน่ ภาพแต่ละภาพที่ถ่ายทอดออกมานอกจากแสดงถึงจุดเด่นของตัวสินค้าแล้ว ยังมีการบอกเล่าเรื่องราวผ่านสิ่งของเครื่องใช้ที่นำมาเป็นแรงบันดาลใจในการออกออกแบบเสื้อผ้าแต่ละชุดด้วย
“เราทำแบบนี้มาตั้งแต่เริ่มต้นทำแบรนด์แล้ว ไม่อยากใส่แค่รูปสินค้าอย่างเดียว แต่อยากมอบไลฟ์สไตล์มอบสิ่งอื่นเพิ่มขึ้นมาให้กับลูกค้าด้วย ที่สำคัญอีกข้อ คือ อยากให้ไอจีของเราสวยและดูน่าสนใจมากยิ่งขึ้น แรกๆ ลูกค้าอาจจะไม่ค่อยเข้าใจ แต่ภายหลังก็เริ่มเข้าใจมากขึ้น และชอบที่เรานำเสนอในรูปแบบนี้”
ซึ่งการออกแบบเสื้อผ้าแต่ละชุดของแบรนด์ลิเน่นั้นจะเริ่มต้นจากการคัดสรรเนื้อผ้าแต่ละชิ้นด้วยตัวเองไม่ว่าจากแหล่งผลิตในไทยหรือต่างประเทศ จากนั้นจึงค้นหารูปแบบที่เหมาะสมว่าจะผลิตเป็นอะไร เช่น เสื้อ กางเกง หรือชุดเดรส สุดท้ายจึงสร้างคอนเซปต์ขึ้นมา เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับลูกค้าโดยผ่านการทำงาน 4 ขั้นตอน ได้แก่
1. คิดชื่อธีมและชื่อเรียกสินค้า เพื่อสร้างความอยากรู้ให้แก่ลูกค้า โดยแทนที่จะเรียกลักษณะหรือสีเหมือนทั่วไป เช่น เหลืองไข่ไก่ ก็กลับเรียกตามลักษณะและจุดเด่นของสิ่งของต่างๆ แทน เช่น Strawberry Shortcakes Fabrics เพราะผ้าเนื้อผ้าที่ได้มีเฉดสีชมพูสดใสมองดูหน้าตาเหมือนเค้กสตอร์วเบอรี หรือ Gingerbread Cookies ที่ลวดลายของผ้าชวนให้นึกถึงขนมปังขิง
2. หลังจากนั้นจึงค่อยเฉลยด้วยรูปลายผ้าที่จะนำมาตัดเป็นชุดต่างๆ พร้อมบอกคุณสมบัติพิเศษ เช่น แหล่งที่มา บางรุ่นก็มีจำนวนจำกัด
3. นำเสนอภาพที่มาของแรงบันดาลใจตามชื่อธีมหรือคอนเซปต์ที่ได้จากข้อ 1 ควบคู่กับการนำเสนอภาพสินค้าตัวอย่าง เพื่อทำให้ลูกค้าเกิดความคล้อยตาม มองเห็นภาพและฟิลลิ่งของสินค้าได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
4. นำเสนอผ่านภาพการสวมใส่จริง เพื่อใช้งานในโอกาสต่างๆ เช่น ทำงาน ท่องเที่ยว เพื่อเป็นตัวอย่างและสร้างแรงบันดาลใจในการหยิบนำมาใช้อยู่ในชีวิตประจำวันให้กับลูกค้า
นอกจากการโพสต์รูปภาพของสินค้าและแรงบันดาลใจแล้ว ยังมีการนำโค้ดคำพูดให้กำลังใจ แง่คิดการใช้ชีวิตมาใส่ลงไปด้วย โดยสุพัตราเล่าว่าวิธีการนำเสนอภาพสินค้าที่เธอทำอยู่นี้คล้ายกับสไตล์ของแบรนด์แฟชั่นแถบอเมริกาและยุโรปที่นิยมทำกัน โดยจะไม่ได้มีแค่การโพสต์ขายสินค้าแบบตรงๆ เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีการให้ความสำคัญกับองค์ประกอบอื่นๆ เพิ่มเข้ามาด้วย เพื่อให้ลูกค้าเกิดความเข้าใจใจสินค้าและตัวแบรนด์มากยิ่งขึ้น
ลูกค้าชอบ แบรนด์ก็ได้ประโยชน์
จากการนำเสนอรูปภาพด้วยวิธีการดังกล่าว ถามถึงผลตอบรับที่ได้และประโยชน์สำหรับธุรกิจเองว่าส่งผลอย่างไรสุพัตราตอบว่า
“ลูกค้าชอบนะ สังเกตได้จากที่เขาเข้ามากดเซฟรูป กดไลค์ กดแชร์ ซึ่งไม่ใช่แค่ตัวสินค้า แต่พวกอินสปายเรชั่นต่างๆ ที่เราลงไป เขาก็เข้ามาไลค์ บางครั้งมากกว่ารูปสินค้าเองด้วยซ้ำ ซึ่งบางทีการที่เรานำเสนอภาพออกมาแบบนี้อาจเป็นตัวอย่างให้กับเขาได้ในการเลือกสีเลือกชุดให้แมตซ์กัน หรือชุดแบบนี้เอาไปใช้ในโอกาสอะไรได้บ้าง
“สำหรับประโยชน์ของตัวแบรนด์เอง คือ ทำให้ลูกค้าสามารถเข้าใจสินค้าได้ดียิ่งขึ้น อีกข้อที่สำคัญ คือ สร้างแรงจูงใจความรู้สึกอยากซื้อให้กับลูกค้าได้มากขึ้นกว่าแค่การนำเสนอรูปของสินค้าเพียงอย่างเดียวเราเชื่อแบบนั้น และส่วนหนึ่งอาจมาจากพฤติกรรมผู้บริโภคทุกวันนี้ที่ชอบถ่ายรูปไม่ว่าจะแต่งตัวหรือใช้สินค้าอะไรมักต้องมี Reference หรือตัวอย่างมากขึ้นด้วย”
ปัจจุบันนอกจากจะขายและทำตลาดผ่านช่องทางไอจีและ Line Offical แล้ว ยังจะขยับขยายไปในแพลตฟอร์มเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซอย่าง Shopee, Lazada ด้วย
ขายออนไลน์ยังไงให้รุ่ง
โดยนอกจากเคล็ดลับในการใช้รูปภาพเพื่อสร้างแบรนด์แล้ว สุพัตรายังได้ฝากแง่คิดการทำธุรกิจออนไลน์ยังไงให้รุ่งไว้ด้วยดังนี้
- สร้างความต่อเนื่อง
“ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ทำธุรกิจมา เราสื่อสารกับลูกค้ามาตลอด ไม่เคยหยุดโพสต์เลย อย่างน้อยๆ ต้องอัพเดตทุกอาทิตย์ อยากฝากคนที่ทำธุรกิจออนไลน์ คือ ช่วงแรกที่เราโพสต์ไปอาจมีคนสนใจบ้าง ไม่สนใจบ้าง ไม่เป็นไร แต่ให้ทำต่อเนื่องไปอย่าหยุด และค่อยๆ ลองผิดลองถูกไปเรื่อยๆ ศึกษาลูกค้าว่าชอบอะไรไม่ชอบอะไร วันหนึ่งก็จะประสบความสำเร็จขึ้นมาได้”
- ปรับให้ทันว่าลูกค้าต้องการอะไร
“สิ่งสำคัญที่สุดของการทำเสื้อผ้าออนไลน์ขาย คือ อย่าเอาตัวเองเป็นที่ตั้งว่าเราชอบแบบนี้ก็จะทำแต่แบบนี้ เราต้องฟังเสียงลูกค้าด้วยกึ่งหนึ่ง แบรนด์จึงจะเติบโตไปได้”
- อย่าโหมลงทุนในคราวเดียว
“ถ้ามีทุนน้อย อยากให้ลองเริ่มดูจากไม่กี่ตัวก่อน อาจยอมเสียค่าตัดเย็บสูงหน่อย แต่ทำให้ทุนไม่จม โดยเราสามารถประหยัดส่วนอื่นแทนได้”
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี