จากที่ภาครัฐบาลต้องการให้ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ปรับรูปแบบการทำงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน และมีผลสัมฤทธิ์ตามห้วงระยะเวลา อนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (บอร์ด สสว.) ครั้งที่ 2/2564 ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
นายกรัฐมนตรี ย้ำว่า เศรษฐกิจของประเทศไทย ส่วนหนึ่งที่ขับเคลื่อนได้ก็เพราะจาก SME จึงขอให้เน้นช่วยผู้ประกอบการรายเล็ก ที่ถึงแม้ว่าจะมีคนที่อยู่ในระบบภาษีจำนวนน้อยก็ตาม แต่ผู้มีรายได้น้อย แรงงาน คนตัวเล็กทั้งหมดที่อยู่ในระบบนี้จะต้องได้รับการดูแล และต้องหาแนวทางช่วยเหลือ SME ให้เข้าสู่ระบบ โดยต้องค้นหาเป้าหมายว่า SME ที่จะช่วยเหลือนั้นอยู่ในกลุ่มใดบ้าง และต้องหาช่องทางการได้ข้อมูลของ SME ในแต่ละกลุ่ม ต้องนำข้อมูล SME ของแต่ละกระทรวงมาพิจารณา เพื่อนำไปสู่การสนับสนุนงานในแต่ละกระทรวง เพื่อเตรียมความพร้อมของ SME ในระดับปฏิบัติให้มีความพร้อม เพิ่มประสิทธิภาพของ SME และส่งเสริมสนับสนุนให้มีการพัฒนาต่อไปในอนาคต หากทำได้ดีและเข้มแข็ง SME จะเป็นประโยชน์กับประเทศไทยที่สุด
ทั้งนี้ ระดับของ SME ในวันนี้มี 4 ระดับที่แตกต่างกัน คือ
- SME ที่ดีที่สามารถส่งเสริมไปต่างประเทศ
- SME ระดับปานกลาง ที่ต้องส่งเสริมให้ดีขึ้น
- SME ส่วนที่กำลังจะล้ม ที่หากมีศักยภาพต้องพิจารณาให้ความช่วยเหลือ
- SME ที่ล้มเหลว ซึ่งต้องรวบรวมข้อมูลของ SME ในส่วนนี้จากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อนำมาพิจารณาหาแนวทางช่วยเหลือต่อไป
เดินหน้า SME คนละครึ่ง สร้างทางเลือกพัฒนาธุรกิจ
สำหรับการประชุมในวันนี้ สสว. ได้รายงานให้ที่ประชุมทราบถึงการดำเนินงาน ซึ่งได้เสนอแนวทางการช่วยเหลือผู้ประกอบการ ซึ่งจะดำเนินโครงการให้ความช่วยเหลือ SME ผ่านระบบผู้ให้บริการสนับสนุนด้านการพัฒนาธุรกิจ (Business Development Service : BDS) หรือการจ่ายคนละครึ่งภาค SME เพื่อสร้างทางเลือกให้กับ SME ในการพัฒนาธุรกิจของตนเองให้ตรงตามความต้องการมากขึ้น โดย สสว.จะให้การเงินสนับสนุนแบบร่วมจ่าย (co-payment) มีสัดส่วนตั้งแต่ 50-80 เปอร์เซ็นต์
สำหรับค่าใช้จ่ายที่สามารถขอรับการสนับสนุน 5 ด้าน ได้แก่ ค่าใช้จ่ายด้านการเพิ่มผลิตภาพและประสิทธิภาพธุรกิจ ด้านการพัฒนาและบริหารจัดการธุรกิจ ด้านการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานสินค้าและบริการ ด้านการพัฒนาช่องทางการจำหน่ายและการตลาด ด้านการพัฒนาตลาดต่างประเทศ โดยคุณสมบัติของ SME ต้องเป็นธุรกิจที่มีการยื่นชำระภาษีและขึ้นทะเบียนสมาชิกกับ สสว. ซึ่งคาดว่า จะเริ่มใช้ได้ในต้นปีงบประมาณ 2565 เป็นต้นไป
นอกจากนี้ สสว. ยังได้ดำเนินการพัฒนาระบบการให้บริการผู้ประกอบการด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล (SME Access) ซึ่ง SME Access จะเป็นเครื่องมือในการสนับสนุนและส่งเสริมผู้ประกอบการ SME ที่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากจะเป็นการบูรณาการและอำนวยความสะดวกให้ SME ในการเข้าถึงงานบริการของ สสว.และหน่วยงานภาคีทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าไว้ในที่เดียว เข้าถึงได้ทุกเวลา จากทุกสถานที่ ผ่านเครื่องมือสื่อสารทุกชนิด
ทั้งนี้ ในปี 2564 สสว. เริ่มบูรณาการเชื่อมต่อระบบการให้บริการผู้ประกอบการ SME ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนและเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ SME ที่ดีขึ้น รวมถึงการพัฒนาเว็บไซต์ ASEAN Access ซึ่งจะเป็นเว็บไซต์กลางของอาเซียน เพื่อส่งเสริมให้เอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงข้อมูลและบริการรูปแบบต่างๆ ผ่านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล การใช้ประโยชน์จากข้อมูลการค้าการลงทุน เทรนด์ของอุตสาหกรรม กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง และพฤติกรรมผู้บริโภค เป็น “รายประเทศ” การขยายช่องทางการค้าการลงทุนผ่านการเข้าร่วมกิจกรรมจับคู่ธุรกิจกับผู้ประกอบการทั้งภายในและภายนอกภูมิภาคอาเซียน
รวมถึงการดำเนินโครงการนำร่อง ONE ID และพัฒนาระบบ Single Sign On ฐานข้อมูลสมาชิกของ สสว. เพื่อขอรับบริการจากภาครัฐ (One Identification One SME – Phase I) โดย สสว. ได้หารือร่วมกับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA ในประเด็นรหัสของ SME
ทั้งนี้ที่ผ่านมา สสว. ได้มีการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการบนฐานข้อมูลสมาชิก สสว. โดยปัจจุบันมีจำนวนข้อมูลประมาณ 1.2 ล้านราย ที่ได้ลงทะเบียนในระบบฐานข้อมูลสมาชิกของ สสว. แล้ว โดยเป้าหมายของโครงการนำร่อง ONE ID และพัฒนาระบบ Single Sign On จะมุ่งเน้นการบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงาน เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงการให้บริการของภาครัฐและเอกชนในทุกภาคส่วนของผู้ประกอบการ SME
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี