ในขณะที่หลายประเทศทั่วโลกเริ่มคลี่คลายสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 จนสามารถกลับมาดำเนินการทางเศรษฐกิจได้อย่างเต็มรูปแบบ เราได้เห็นภาพที่หลายประเทศการฟื้นตัวเร่งแรงเพราะสถานการณ์การระบาดที่ดีขึ้น IMF คาดการณ์ว่าตลาดสหรัฐฯ ตลาดจีน เศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ฟื้นตัวได้ค่อนข้างดีถึง 7-8 เปอร์เซ็นต์
สำหรับประเทศไทย IMF คาดการณ์ในเดือนเมษายนว่าจะโตได้ 2.6 เปอร์เซ็นต์ หลังจากนั้นมีการปรับประมาณเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องเพราะการระบาดระลอกที่ 4 ที่ทำให้การระบาดนานขึ้น การท่องเที่ยวไม่ได้กลับมาเต็มที่ แต่ปีหน้าศูนย์วิจัยหลายสำนักมองว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้ดีกว่าปีนี้
ภาคส่งออกไทยฟื้นช้าแต่โตชัวร์
ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า หลังจากมีวิกฤตโควิด-19 ประเทศไทยพึ่งพาการส่งออก เพราะรายได้จากการท่องเที่ยวและภาคบริการหายไป
เมื่อเจาะลึกถึงภาคการส่งออกสินค้าไทยในปีนี้คาดการณ์ว่าจะโตได้ถึง 15 เปอร์เซ็นต์ จากการที่ตลาดโลกยังคงสนับสนุน แต่เมื่อมองดูประเทศใกล้เคียงไม่ว่าจะเป็น มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ภาคการส่งออกโตได้ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ หมายความว่าเราอาจจะไม่ได้อยู่ในซัพพลายเชนในตลาดโลกมากเท่าประเทศอื่นที่ส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์คล้ายกับไทยแต่เชื่อมโยงกับตลาดโลกได้มากกว่า
แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังถือว่าการส่งออกเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้อยู่ นี่จึงเป็นโอกาสสำคัญสำหรับภาคส่งออกไทย แม้ว่าอาจจะไม่ดีเท่าประเทศอื่น แต่อย่างน้อยก็ดีกว่าในช่วงที่ผ่านมา
ความหวังพึ่งพาภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ สร้างความเชื่อมั่นให้ภาคการท่องเที่ยว
รายได้ของการท่องเที่ยวไทยเคยสูงถึง 17 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ปีที่แล้วเกิดโควิดขึ้นมาลดลงต่ำก็เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวหายไป ปีนี้อาจจะไม่ใช่ปีที่นักท่องเที่ยวจะกลับมาได้มากนัก อาจจะ 4-5 แสนคน แต่ปีหน้าน่าจะกลับมาได้ถึง 10 ล้านคน ซึ่งขึ้นอยู่กับโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ในการสร้างความเชื่อมั่นแก่นักท่องเที่ยวว่าประเทศไทยมีการเตรียมความพร้อม นักท่องเที่ยว หรือหากมีการระบาดมากขึ้นภาครัฐสามารถปรับเปลี่ยน แล้วเน้นการการเติบโตในอนาคตแทน
นอกจากนี้ จากการเริ่มต้นของโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ อาจจะต้องพิจารณาพฤติกรรมการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว เมื่อมองย้อนไปในอดีต นักท่องเที่ยวที่มาเยือนภูเก็ตมักเป็นนักท่องเที่ยวจีน รองลงมาเป็นฝั่งยุโรป เอเชียกลางและตะวันออกกลาง แต่วันนี้ยังไม่ใช่นักท่องเที่ยวจีนที่เข้ามา แต่จะเป็นผู้มาจากตะวันออกกลาง ยุโรป สหรัฐอเมริกา ที่ได้รับวัคซีนแล้วและกล้าที่จะเดินทางไปต่างประเทศ พฤติกรรมการใช้จ่ายไม่เน้นการช็อปปิง แต่อาจจะเน้นด้านที่พัก อาหารและเครื่องดื่ม ฉะนั้น วันนี้การเปิดภูเก็ต กลุ่มที่ได้ประโยชน์คือกลุ่มโรงแรม แต่คนภูเก็ตที่เกี่ยวข้องกับการค้าขายอาจจะยังไม่ได้ฟื้นตัวเต็มที่ ต้องรอในวันที่มีหลากหลายชาติเข้ามามากขึ้น อาจจะต้องรอถึงปีหน้า อย่างไรก็ดี อาจจะมีการกระจายของเม็ดเงินดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา
4 ปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจไทย
เราต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยต้องเผชิญปัญหาด้านความเสี่ยงต่างๆ นานา วันนี้ขอสรุปว่าเราเจอความเสี่ยงเศรษฐกิจไทยอยู่ 4 อย่าง นั่นก็คือ
- Stagnant การบริโภคยังนิ่ง
เศรษฐกิจไทยยังนิ่ง เราอาจจะไม่ได้เห็นการฟื้นตัวทางด้านการใช้จ่าย เหมือนกับที่เราเห็นในไตรมาส 3 ปีที่แล้วหลังเปิดเมือง ปีนี้จะไม่ได้เห็นเพราะคนจะระมัดระวังการใช้จ่าย ความเชื่อมั่นไม่ได้ฟื้นตัวเร็ว ประกอบกับการระบาดรายวันยังอยู่ในระดับที่สูง ถึงแม้ว่าการบริโภคจะยังนิ่งๆ แต่ก็ไม่ได้ทรุดเพราะมีมาตรการประคองจากภาครัฐอยู่
- Uneven การฟื้นตัวไม่เท่าเทียมกัน
เพราะว่าคนที่เกี่ยวข้องกับภาคการผลิต โรงงานอุตสาหกรรมยังเติบโตได้ แต่ภาคบริการยังเติบโตช้า เพราะภาคบริการเกี่ยวข้องกับคน การใช้จ่ายในประเทศ โรงแรม ร้านอาหาร เหล่านี้จะเติบโตช้ากว่าโรงงานอุตสาหกรรม กลุ่มผู้ประกอบการอาชีพอิสระอาจจะฟื้นตัวช้า เพราะคนไม่กล้าจับจ่ายใช้สอยทำให้ค้าขายลำบาก ส่วนมนุษย์เงินเดือนอาจจะสามารถเติบโต มีการใช้จ่าย เพียงแต่ยังขาดความเชื่อมั่น เท่ากับเราจะได้เห็นการฟื้นตัวที่แตกต่างกันจากหลายภาคส่วนในปีนี้
3. Reverse กลับด้าน การเปลี่ยนมุมมองด้านโลกาภิวัตน์ (reversed globalization)
สงครามการค้าสหรัฐ-จีน ทวีความกดดันขึ้นอีกครั้ง หลังเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ G7 ร่วมมือกันกดดันจีน ไม่ให้จีนเติบโตเป็นยักษ์ใหญ่แทนที่สหรัฐ และขยับจากสงครามการค้ารูปแบบภาษี เป็นกดดันการเติบโตทางเทคโนโลยีของจีน อีกทั้งขีดเส้นให้ชาติอื่นๆ ต้องเลือกข้าง ระหว่างสหรัฐ ชาติพันธมิตรสหรัฐ หรือจีน ส่งผลให้ประเทศตลาดเกิดใหม่ เผชิญปัญหาต้นทุนการผลิต ต้นทุนทางเทคโนโลยีสูงขึ้น เรามองว่า ประเทศไทยต้องระมัดระวัง ไม่เลือกข้าง และควรสานสัมพันธ์ความร่วมมือกับทั้ง 2 ชาติ มหาอำนาจ
- Effective ประสิทธิภาพของวัคซีน
การวางแผนฉีดวัคซีนให้ถึง 100 ล้านโดส สิ่งที่ต้องติดตามเพิ่มเติมคือ วัคซีนที่เราได้รับวันนี้ สามารถป้องกันไวรัสกลายพันธุ์ได้หรือไม่ และหากฉีดครบ 2 โดสแล้ว จำเป็นต้องฉีดโดสที่ 3 ที่ 4 หรือโดสอื่นๆ เพื่อกระตุ้นต่อเนื่องไหม เราจึงอยากเห็นการวางแผนเพิ่มเติมในจุดนี้ รวมถึงเร่งดำเนินการเชิงรุกในการกระจายความเสี่ยงของชนิดวัคซีน เพราะนอกจากมีความสำคัญทางการแพทย์ วัคซีนยังมีผลต่อเศรษฐกิจด้วย วัคซีนสะท้อนความเชื่อมั่นของคน หากคนไม่มั่นใจในประสิทธิภาพ แม้ฉีดแล้วยังไม่กล้าเดินทาง หรือยังถอดหน้ากากไม่ได้ เดิมคาดว่ากิจกรรมเศรษฐกิจจะกลับมาเปิดได้ในเดือนสิงหาคมนี้ อาจถูกเลื่อนออกไป
4 ปัจจัยเร่ง เพิ่มความหวังเศรษฐกิจไทยฟื้นเร็ว
อย่างไรก็ดี ยังมีความหวังว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นเร็วกว่าที่คาด หากมี 4 ปัจจัยเร่ง ได้แก่ 1. Confidence 2. Agriculture 3. Return of tourists 4. Expenditure
C = Confidence สร้างความเชื่อมั่น หากมีการเร่งฉีดวัคซีนโดยเร็ว ควบคู่ไปกับเอกชนเข้าถึงวัคซีนทางเลือกรวดเร็ว คนจะกลับมามีความเชื่อมั่นอีกครั้ง
A = Agriculture ฟื้นแรงงานภาคเกษตร หลังปิดกิจกรรมเศรษฐกิจ คนย้ายถิ่นฐานกลับบ้าน หากเร่งการฟื้นตัวของแรงงานกลุ่มนี้โดยเสริมการจ้างงานในชนบทให้สร้างสาธารณูปโภคในพื้นที่เพื่อกักเก็บน้ำและป้องกันน้ำท่วมได้ จะยิ่งเป็นแรงหนุน เพราะเป็นโชคดีที่รายได้ภาคเกษตรปีนี้ถือว่าดี จากราคาที่สูงและผลผลิตมาก
R = Return of Tourists เตรียมแผนรับนักท่องเที่ยวปีหน้า เร่งทำ Bubble Tourism กับต่างประเทศเพื่อลดการกักตัวสำหรับผู้ได้รับวัคซีน แม้ปีนี้เราจะเตรียมความพร้อมและทดลองผ่านแซนด์บ็อกซ์ แต่ปีหน้าหลังมีวัคซีนที่ดีพร้อม เราจะสามารถมีรายได้การท่องเที่ยวเป็นตัวหลักฟื้นเศรษฐกิจได้
E = Expenditure เร่งการใช้จ่ายภาครัฐให้ตรงจุด บรรเทาปัญหาแรงงานด้วยการเร่งประกันสังคมชดเชยรายได้ ดูแล SME ให้สามารถจ่ายเงินเดือนพนักงาน มีค่าชดเชยรายได้ที่หาย หรือเครดิตเงินคืนภาษีในปีต่อๆ ไป พร้อมเร่งอัดฉีด Soft Loan เสริมสภาพคล่องไม่ให้ธุรกิจต้องปิดตัว หากรัฐกังวลหนี้ชนเพดาน ก็ให้หาทางเพิ่มรายได้ เช่น ปล่อยเช่าทรัพย์สิน หรือใช้ตลาดทุนในการขายหุ้นรัฐวิสาหกิจบางส่วน แล้วพอเศรษฐกิจฟื้นมีรายได้ค่อยมาซื้อคืน
ทั้ง 4 ปัจจัยนี้ นับตั้งแต่การสร้างความเชื่อมั่น เตรียมแผนล่วงหน้า คู่ขนานไปกับงบประมาณใช้จ่ายภาครัฐ จะช่วยประคองกำลังซื้อของคนที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ และช่วยฟื้นเศรษฐกิจไทยได้ในปีหน้า ซึ่งเป็นโอกาสฟื้นตัวของ SME ไทยด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ผู้ประกอบการอย่าลืมเตรียมมาตรการต่างๆ ด้านความเชื่อมั่นให้กับคู่ค้า โดยเฉพาะธุรกิจภาคเกษตรหรือธุรกิจในต่างจังหวัดที่จะมีรายได้จากการที่สินค้าเกษตรขายได้ราคานั่นเอง
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี