การมาถึงของไวรัสโควิด-19 ทั้งระลอกเก่าและระลอกใหม่ กระทบต่อผู้ประกอบการธุรกิจอย่างหนักหน่วง โดยเฉพาะ “ธุรกิจร้านอาหาร” ที่ต้องแบกรับโจทย์ใหญ่ทั้งพฤติกรรมผู้บริโภคที่แปรเปลี่ยน กำลังซื้อที่อ่อนแรง นโยบายการเว้นระยะห่าง กระทั่งการสั่งห้ามกินในร้าน ณ ช่วงหนึ่ง ทำให้หลายร้านดำรงอยู่ต่อไม่ไหว จนต้องปิดให้บริการไปทั้งแบบจำศีลชั่วคราว และอำลาวงการธุรกิจไปแบบถาวรเลยก็มี
ที่ผ่านมาพวกเราคงได้ฟังวิธีการปรับตัวของ SME ด้วยกันมามาก วันนี้จึงอยากชวนมาดูกลยุทธ์ต้องรอด ฉบับยักษ์ใหญ่แฟรนไชส์ธุรกิจอาหารอย่าง “เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป” ผู้ให้บริการด้านอาหารและฟาสต์ฟู้ดรายใหญ่ของประเทศ ที่มีร้านอาหารกว่า 2,200 ร้าน ใน 27 ประเทศทั่วโลก มีแบรนด์ร้านอาหารถึง 9 แบรนด์ ทั้ง เดอะ พิซซ่า คอมปะนี, สเวนเซ่นส์, ซิซซ์เล่อร์, แดรี่ควีน, เบอร์เกอร์คิง, เดอะ คอฟฟี่ คลับ, ริเวอร์ไซด์ กริลล์ ฟิช, เบซิล และ เบนิฮานา
ในวิกฤตโควิด-19 พวกเขาใช้กลยุทธ์ไหนเพื่อไปต่อ มาหาคำตอบกัน
การทำร้านอาหารในวันที่ผู้บริโภคและธุรกิจเปลี่ยนไปเพราะโควิด
“ชัยรัตน์ ภัทรพิทักษ์” ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) สะท้อนความคิดถึง ตลาดแฟรนไชส์ไทยในยุคหลังโควิด-19 เมื่อวิกฤตโควิดได้ส่งผลกระทบทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมทั้งฝั่งผู้บริโภคและผู้ประกอบการ โดยจากการเก็บข้อมูลในช่วงที่ผ่านมาพบว่า ผู้บริโภคได้มีการปรับพฤติกรรมโดยหันมาสั่งสินค้าแบบ Delivery มากขึ้น ให้ความสำคัญกับเรื่องความสะอาด ถูกสุขลักษณะ (Food Safety) หลีกเลี่ยงการสัมผัส หรือสัมผัสให้น้อยที่สุด (Zero Touch) และปรับเป็นแนวการทำอาหารทานเองที่บ้าน (Home Dining) มากขึ้นด้วย
ข้อมูลเหล่านี้สำคัญต่อร้านอาหารอย่างไร เขาบอกว่า เมื่อเข้าใจพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปนี้ ผู้ประกอบการก็ต้องนำมาปรับการบริหารจัดการร้าน เพื่อให้สามารถตอบสนองพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภคได้มากขึ้น เช่น ต้องพิจารณาในเรื่องการลดขนาดของทุกอย่าง เพื่อให้เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้า เช่น จำนวน ปริมาณ ขนาดของบรรจุภัณฑ์ ตลอดจนการเอาใจใส่ในเรื่องความสะอาด ปลอดภัย ของกระบวนการผลิต การคัดเลือกวัตถุดิบ การจัดส่งจนถึงมือลูกค้า และเรื่องของการลดต้นทุนการผลิต โดยหากใช้วัตถุดิบในประเทศได้ (Local sourcing) ก็จะช่วยให้ธุรกิจอยู่รอด ที่สำคัญในเรื่องของการสร้างแบรนด์ (Branding) ก็ต้องทำอย่างสม่ำเสมอ แม้ในช่วงของโควิด-19 อาจทำให้เราต้องเว้นระยะห่าง (Social Distancing) แต่แบรนด์ก็ต้องสื่อสารถึงผู้บริโภคให้บ่อยขึ้น เพื่อให้รู้ว่าแบรนด์เรายังคงอยู่ ไม่เฉพาะแต่กับลูกค้าเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการสื่อสารกับพนักงานในองค์กรด้วย สิ่งที่ เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป ทำกับพนักงานของพวกเขามีทั้ง การพัฒนา การสื่อสาร ฝึกอบรมผ่านเทคโนโลยี E-learning หรือ E-meeting เพื่อให้ทุกฝ่ายได้รู้สึกว่า ไม่ว่าจะสถานการณ์ไหนแต่ทุกคนยังเชื่อมต่อถึงกันได้ตลอดเวลานั่นเอง
ปรับธุรกิจให้ไปต่อ ด้วย 5 กลุยุทธ์ต้องรอด
นอกจากการปรับธุรกิจให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภคและโลกการทำงานแล้ว ยังมีกลยุทธ์สำคัญที่พวกเขาใช้ฝ่าฟันวิกฤต โดยเรียกว่า “5 กลุยุทธ์ เราต้องรอด”
เริ่มจาก 1.การวางแผนทางการเงิน โดยกระแสเงินสดถือว่าสำคัญมากในการบริหารจัดการในช่วงวิกฤต ธุรกิจจึงต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน ทั้งด้านต้นทุนสินค้า ค่าแรง ค่าการตลาด ค่าเช่า รวมถึงการวางแผนเพื่อเพิ่มยอดขายด้วย
2. ปรับลด / เพิ่มคน ในบางสาขา ทั้งนี้ก็เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดในการทำงาน และสร้างให้เกิดความสมดุลในการให้บริการในร้านอีกด้วย
3. ปรับรูปแบบการให้บริการ เช่น การลดพื้นที่การบริโภคในร้านลง แล้วมาเพิ่มการ Delivery และรับออเดอร์ทางออนไลน์มากขึ้น
4. สร้าง Brand ให้มีความยั่งยืน และผลิตสินค้าให้เหมาะกับผู้บริโภคในทุกกลุ่ม เพื่อตอกย้ำการรับรู้ในแบรนด์ให้มากขึ้น
และสุดท้าย 5.Togetherness การพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน การแบ่งปันข้อมูล เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปนั่นเอง
และนี่คือ 5 กลยุทธ์ต้องรอด ที่ยักษ์ใหญ่อย่าง เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป ใช้เพื่อฟันฝ่าวิกฤต ซึ่ง SME ก็สามารถนำมาปรับใช้กับธุรกิจของตัวเองได้เช่นกัน
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี