รู้จัก นารา วิสาหกิจเพื่อสังคม ชายแดนใต้ หยิบกระจูดมาทำหลอดดูดรักษ์โลก ปูทางส่งออกไกลถึงยุโรป-อเมริกา

TEXT : กองบรรณาธิการ 
PHOTO : นารา วิสาหกิจเพื่อสังคม





        รู้หรือไม่ว่า “ต้นกระจูด” สามารถนำมาแปรรูปเป็นอะไรได้มากกว่าแค่ ของใช้ ของตกแต่ง หรือผลิตภัณฑ์ชุมชนที่หลายคนคุ้นเคยเท่านั้น ที่จังหวัดนราธิวาส เมืองปลายด้ามขวาน มีผู้ประกอบการเพื่อสังคมชื่อ นารา วิสาหกิจเพื่อสังคม” (NARA Social Enterprise) พวกเขาเปลี่ยนต้นกระจูด และพืชธรรมชาติ มาเป็น “หลอดดูดรักษ์โลก” เพื่อสร้างงานสร้างรายได้สู่ชุมชน และร่วมลดการใช้หลอดพลาสติกที่เป็นพิษกับโลก จนก่อเกิดเป็นโอกาสธุรกิจใหม่ที่ไม่ได้มีแค่ประเทศไทย แต่เป้าหมายคือส่งออกไปทั่วโลก



               
               
แปลงกายพืชธรรมชาติ เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อโลก


           ในวันที่ผู้คนทั่วโลกเริ่มตระหนักและเห็นความสำคัญของการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม รณรงค์ลดการใช้พลาสติก หันมาใช้ผลิตภัณฑ์ทดแทน หรือทำจากวัสดุย่อยสลายได้ตามธรรมชาติมากขึ้น กลายเป็นโอกาสของผลิตภัณฑ์รักษ์โลกที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับการมาถึงของหลอดดูดจากกระจูดและพืชธรรมชาติ ที่แจ้งเกิดอยู่ในจังหวัดนราธิวาส  


         จุดเริ่มต้นของไอเดียรักษ์โลก มาจาก “นุรไอนี แลนิ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท นารา วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ผู้พัฒนา ผลิตและจำหน่ายหลอดกระจูด หลอดดูดจากพืชธรรมชาติ แรงบันดาลใจของเธอเริ่มต้นขึ้นเมื่อ ได้เห็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบๆ ตัว โดยเฉพาะบริเวณชาดหาด ที่มักจะพบหลอดพลาสติกทิ้งเป็นขยะจำนวนมาก บวกกับต้นกระจูดเองก็มักจะก่อให้เกิดปัญหาไฟป่าอยู่บ่อยครั้ง กลายเป็นผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมทั้งจากคนทำและฝีมือของธรรมชาติเอง จึงมองหาแนวทางจัดการปัญหาเหล่านี้ ให้กลายเป็นโอกาสธุรกิจ ที่นอกจากจะทำเงินได้ยังดีต่อโลกและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ที่มาของการนำต้นกระจูดมาแปรรูปผ่านกระบวนการพัฒนาและต่อยอดให้เป็นหลอดดูด เพื่อทดแทนการใช้หลอดพลาสติก  ลดปัญหาขยะและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม



 

ผลิตภัณฑ์ชุมชนที่ดีต่อผู้คนและสิ่งแวดล้อม
               

           เบื้องหลังของกระจูดที่นำมาทำหลอดดูด เป็นต้นกระจูดซึ่งขึ้นเองตามธรรมชาติ จึงบริสุทธิ์ ปราศจากสารเคมี เมื่อนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยังได้รับรองทั้งมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน จากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม และฮาลาล จากสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยอีกด้วย
ในขณะที่กระบวนการผลิตก็มีการใช้นวัตกรรมเข้ามาช่วย โดยผสมผสานเทคโนโลยีวิศวกรรมอาหาร วิศวกรรมเคมี วิศวกรรมไฟฟ้าเครื่องกล และเทคโนโลยี สารสนเทศ มาประยุกต์ใช้กับวัตถุดิบทางการเกษตร พร้อมทำงานวิจัยร่วมกับสถาบันการศึกษาต่างๆ เช่น กระบวนการผลิตหลอดดูดจากต้นกระจูด, การยับยั้งการเกิดเชื้อแบคทีเรียในหลอดดูดจากพืชธรรมชาติ หรือการออกแบบบรรจุภัณฑ์อย่างมีสุขอนามัย เป็นต้น
               

         สำหรับหลอดดูดจากต้นกระจูดของ นารา วิสาหกิจเพื่อสังคม เป็นหลอดดูดประเภทใช้แล้วทิ้งที่ทำมาจากวัตถุดิบธรรมชาติ 100  เปอร์เซ็นต์ เมื่อทิ้งลงดินสามารถย่อยสลายเป็นปุ๋ยได้ภายใน 6 เดือน สามารถใช้บริโภคได้ทั้งเครื่องดื่มร้อนและเย็น ได้นานถึง 3 วัน หลอดรักษ์โลกบรรจุในกล่องกระดาษคราฟท์เกรดบรรจุภัณฑ์อาหาร จัดเก็บในสภาพที่แห้งได้นานถึง 12 เดือน ทั้งยังผลิตภายใต้กระบวนการที่ได้ผ่านการวิจัยด้านวิศวกรรมอาหาร จึงเป็นหลอดที่ถูกสุขอนามัย ปลอดภัยต่อผู้บริโภค ที่สำคัญ ยังช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ลดการใช้หลอดพลาสติก ลดปัญหาไฟไหม้ตามป่าพรุ ลดปัญหามลพิษทางอากาศ PM2.5 และยังช่วยสร้างรายได้เสริมให้กับเกษตรกรในชุมชนได้อีกด้วย



 
               
รับเทรนด์ร้อนปูทางสู่ตลาดโลก


          ปัจจุบันหลอดดูดจากต้นกระจูด มี 2 ขนาด คือ ขนาด 14 cm ขายในราคากล่องละ 80 บาท มีจำนวน 50 หลอดต่อกล่อง และขนาด 20 cm ราคากล่องละ 150 บาท บรรจุ 100 หลอดต่อกล่อง  แม้โดยเฉลี่ยราคาจะสูงกว่าหลอดพลาสติกอยู่บ้าง แต่นุรไอนี เชื่อว่า ผู้บริโภคยอมรับได้ เนื่องจากเห็นถึงคุณประโยชน์ที่จะย้อนกลับคืนสู่สิ่งแวดล้อมในระยะยาว ซึ่งมีมูลค่าเหนือกว่าราคาที่จ่ายไปในวันนี้
 
               
         นอกจากหลอดดูดจากกระจูด ผลิตภัณฑ์ของพวกเขายังมีหลอดดูดจากพืชธรรมชาติอื่นๆ อย่าง หลอดซังข้าว หลอดจบ-คนกาแฟร้อน และหลอด Functional Drinking Straws ที่พัฒนาให้เป็นหลอดที่คงคุณค่าทางอาหาร หรือทำให้เป็นหลอดที่มีกลิ่นและรสชาติที่ผู้บริโภคต้องการ เพื่อส่งเสริมการดื่มน้ำเปล่าได้อีกด้วย โดยพวกเขาตั้งเป้าหมายที่จะให้หลอดดูดรักษ์โลกสามารถใช้ทดแทนหลอดพลาสติกได้ถึง 10 ล้านหลอดต่อปี และกระจายรายได้สู่ชุมชนที่เป็นผู้จัดหาวัตถุดิบได้ถึง 1 ล้านบาทต่อปีอีกด้วย



               

         หลังประเทศต้องเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 กระทบต่อการท่องเที่ยวภายในประเทศ ส่งผลต่อเนื่องไปยังคำสั่งซื้อของโรงแรมที่เคยมีต่อสินค้าของพวกเขา ขณะที่ช่องทางการส่งออก ก็ยังติดปัญหาเรื่องต้นทุนค่าธรรมเนียมที่สูงอยู่ ทำให้นารา วิสาหกิจเพื่อสังคม ตัดสินใจปรับแผนการตลาดใหม่ โดยเลือกบริหารจัดการตลาดภายในประเทศ และเน้นกลุ่มลูกค้ารายย่อยมากขึ้น โดยมีช่องทางออนไลน์ทั้ง เฟซบุ๊ก  (หลอด รักษ์โลก) และ ไลน์  (narase4life) มาช่วยขยายตลาดอีกทางหนึ่ง ขณะที่ทางด้านการเงินก็ได้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำจาก SME D Bank และมาตรการพักชำระหนี้เงินต้น มาช่วยกู้วิกฤตให้ผ่านพ้นไปได้ในช่วงนี้
               

        ส่วนในอนาคตเมื่อสถานการณ์กลับมาดีขึ้น ก็วางแผนที่จะบุกตลาดโลกให้มากขึ้น โดยเบื้องต้นได้มีการเจรจากับคู่ค้าจากประเทศนิวซีแลนด์ไว้แล้ว รวมทั้งวางแผนที่จะเจาะกลุ่มลูกค้าฝั่งยุโรปและอเมริกา ที่ให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์รักษ์โลกเพิ่มขึ้น ตลอดจนการขยายตลาดไปในเอเชียมากขึ้นด้วย  รอเพียงโควิดคลี่คลาย พวกเขาก็เชื่อว่าธุรกิจจะสามารถเดินหน้าต่อไปได้อีกไกล
               

         การมาถึงของหลอดดูดรักษ์โลกไม่เพียงตอบโจทย์ธุรกิจและโลกเท่านั้น แต่สำหรับ นุรไอนี เธอบอกว่า สิ่งสำคัญไปกว่านั้น คือการได้ช่วยกระจายรายได้สู่ชุมชน โดยปัจจุบันมีชุมชนรวมกลุ่มเป็นผู้ส่งวัตถุดิบหลอดดูดแบบสด มายังโรงงานผลิตของพวกเขาถึง 6 หมู่บ้าน ครอบคลุม 24 ครัวเรือน ในเขตอำเภอเมืองนราธิวาส  จึงนับเป็นการช่วยสร้างเศรษฐกิจรากหญ้าให้แข็งแกร่ง สร้างการเติบโตยั่งยืน ทั้งธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
               

         “ผลิตภัณฑ์ของเราเป็นวัตถุดิบจากธรรมชาติ 100  เปอร์เซ็นต์ เมื่อทิ้งลงดินสามารถย่อยสลายเป็นปุ๋ยได้ภายใน 6 เดือน จึงเป็นหลอดแห่งความสุข ที่สร้างสันติสุขให้ชุมชน ถูกสุขอนามัย ปลอดภัยต่อทั้งมนุษย์ สัตว์โลก และสิ่งแวดล้อม” นุรไอนี บอกในตอนท้าย
 


 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย