PHOTO : ร้านขนมสยาม (KANOM SIAM)
ใครจะคิดว่าร้านขนมครกใบเตย ที่เคยขายอยู่หน้าร้านสุกี้ดัง ตรงสยามสแควร์ และเป็นตำนานความอร่อยมานานกว่า 45 ปี วันหนึ่งจะกลายเป็นแบรนด์ขึ้นห้างฯ ยกระดับตัวเองสู่ “ร้านขนมสยาม” (KANOM SIAM) เจ้าของเมนูดัง “ขนมครกใบเตยผสมกัญชา” ในวันนี้ได้
เบื้องหลังความสำเร็จ มาจากทายาทรุ่น 2 “กรีเพชร หาญพงศ์พิพัฒน์” ผู้ก่อตั้ง บริษัท หาญพงศ์พิพัฒน์กรุ๊ป จำกัด ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของ “นิภา หาญพงษ์พิพัฒน์” ต้นตำรับขนมครกใบเตยแห่งสยามสแควร์ เขาใช้ Data มาพลิกโฉมธุรกิจให้ครองใจลูกค้า สร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่ง และทำธุรกิจอย่างมีแผน จนทำให้แม้เจอวิกฤตแต่ธุรกิจก็ไม่กระเทือน ทั้งยังมีแผนที่จะไปไกลกว่าธุรกิจขนมอีกด้วย เขาทำได้อย่างไร? มาเรียนรู้ไปพร้อมกัน
ใช้ Data วิเคราะห์ลูกค้า ยกร้านขนมริมทางสู่ห้างฯ ดัง
ขนมสยาม คือต้นตำรับร้านขนมครกใบเตยสูตรดั้งเดิมที่เสิร์ฟความอร่อยอยู่ในสยามสแควร์ มาตั้งแต่ปี 2518 โดยเปิดขายครั้งแรกบริเวณหน้าร้านโคคาสุกี้ ตรงสยามสแควร์ ซอย 7 จนกระทั่งปี 2530 ได้เปิดอีกสาขาตรงหน้าร้านแคนตั้น สุกี้ สยามสแควร์ ทว่าภายหลังสาขาแรกประสบปัญหาจึงเหลือไว้แค่ สาขาหน้าแคนตั้น สุกี้ เท่านั้น
จุดเปลี่ยนของขนมครกในตำนาน เริ่มขึ้นเมื่อ “กรีเพชร” ทายาทรุ่นที่ 2 ได้เข้ามาสานต่อธุรกิจ และมองหาโอกาสใหม่ให้กิจการของครอบครัว เขาเริ่มคิดยกร้านข้างทางเข้าสู่ห้างโมเดิร์นเทรด โดยเริ่มจากการออกแบบธุรกิจ ทำรีแบรนดิง วางโพสิชันนิงของสินค้าใหม่
“แรกเริ่มเลยเราใช้ข้อมูลทางการตลาดและใช้ Data มาวิเคราะห์ลูกค้า โดยเราเก็บข้อมูลจากทางโซเชียลมีเดีย และเว็บไซต์ของเรา รวมถึงการสังเกตลูกค้าหน้าร้าน ซึ่งแม้เราจะเป็น SME เล็กๆ เป็นแค่ร้านขนมเล็กๆ แต่ก็ใส่ใจในเรื่องข้อมูลลูกค้าอย่างมาก ผมรู้แม้กระทั่งว่ากลุ่มเป้าหมายของเราอยู่ในช่วงอายุเท่าไหร่ ชอบอะไร มีงานอดิเรกประมาณไหน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ทำให้เราสามารถนำมาออกแบบได้ว่า จะเล่นกับผลิตภัณฑ์ของเราอย่างไร จะสื่อสารแบรนด์ออกไปแบบไหน ทำคอนเทนต์แบบไหน กระทั่งโลเกชันที่เราควรไปเปิด โดยใช้ข้อมูลเป็นตัวตั้งต้น และทุกอย่างมีที่มาที่ไปหมด อย่างก่อนที่เราจะเอากัญชามาใช้กับขนมของเรา ก็ผ่านการวิเคราะห์มาแล้วว่า ลูกค้าเราจะรับได้ไหม เรามีการทำการบ้านมาก่อนแล้ว” เขาบอกวิธีคิด
เพราะทำธุรกิจแบบมีแผนและใช้ Data มาเป็นเข็มทิศธุรกิจ จากร้านเล็กๆ ข้างทาง เลยกลายเป็นแบรนด์ที่ขายอยู่ในห้างฯ ดัง อย่าง สยามพารากอน , โครงการสวนเพลินมาร์เก็ต และ ดิ เอ็มควอเทียร์ และยังขายดิบขายดีบนโลกออนไลน์อีกด้วย
ปลุกความไม่ธรรมดาด้วยเมนูฮอต “ขนมผสมกัญชา”
หลังกระแส “กัญชา” พืชเศรษฐกิจตัวใหม่ได้เข้ามาปลุกความคึกคักในธุรกิจอาหาร ร้านขนมสยามเลยเห็นโอกาสที่จะนำกัญชามาเป็นส่วนผสมในขนมของพวกเขาบ้าง หลังพบข้อมูลแล้วว่าลูกค้าขนมสยามพร้อมเปิดใจกับผลิตภัณฑ์ใหม่ บวกกับมีโอกาสร่วมงานกับทางวิสาหกิจชุมชนฯ บ้านทุ่งแพม กลุ่มผู้ปลูกกัญชา และพัฒนาสายพันธุ์ เลยได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ถึงแนวทางนำเอากัญชามาเป็นส่วนผสมในขนมใหม่ๆ กับเขาดูบ้าง
“เราอยากสร้างความแปลกใหม่ให้กับขนมกัญชาดู เพราะเวลาทุกคนนึกถึงขนมผสมกัญชา ก็จะคิดถึงแต่พวก บราวนี่ คุกกี้ หรือเยลลี่ อะไรประมาณนี้ ผมคิดว่า ในเมื่อเรามีของดีอยู่แล้ว ทำไมไม่ลองมาทำกับขนมของเราดูบ้าง เลยเกิดเป็นการทดลองตั้งแต่ ต้องใช้ปริมาณกัญชาเท่าไหร่ ปริมาณแป้งและน้ำตาลเท่าไร ให้ทำออกมาแล้วสามารถทานได้ เราดีไซน์ออกมาพร้อมกับน้ำใบเตยกัญชา ที่ดูตั้งแต่ว่า ต้องใช้ปริมาณเท่าไรถึงจะพอดีกับคนหนึ่งคน ทั้งหมดนี้เราคิดมาหมดแล้ว” เขาบอก
ขณะที่เวลาขาย ก็ไม่ได้สักแต่ว่าขายให้ลูกค้ากินแล้วจบๆ ไป แต่เขาบอกว่า ต้องให้ข้อมูลกับลูกค้าไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นสายพันธ์ที่เอามาทำ ปริมาณกัญชาที่ใช้ มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มาสนับสนุน เป็นความรู้ให้ลูกค้า ตลอดจนการออกแบบวิธีการกินที่ถูกต้อง ที่จะทำให้ได้รสสัมผัสและคุณประโยชน์สูงสุดจากขนมผสมกัญชาอีกด้วย
“ไม่ว่าจะกินหน้าร้านหรือว่าซื้อกลับบ้าน เขาก็ควรมีคู่มือการกินที่ถูกต้องด้วย เป็นการให้ข้อมูล ให้ความรู้ ผมเชื่อว่าการทำธุรกิจที่มีเอ็นเกจเมนต์ (Engagement) กับลูกค้ายิ่งเยอะยิ่งดี การทำให้เขามีส่วนร่วมกับแบรนด์เรา จะช่วยให้แบรนด์ของเราแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น และจะกลายเป็นความจงรักภักดีในแบรนด์ได้ในที่สุด”
จากขนมธรรมดากลายร่างเป็นขนมผสมกัญชา สามารถขายในราคาที่สูงขึ้นได้ แต่เขาบอกว่าไม่ได้ทำราคาที่สูงเกินไป ยังอยู่ในระดับที่ลูกค้ารับได้ และธุรกิจก็อยู่รอด
จากขนมปูทางสู่ผลิตภัณฑ์กัญชาในชีวิตประจำวัน
เมนูกัญชาเข้ามาเป็น New S-curve สร้างการเติบโตใหม่ให้ร้านขนมสยาม แต่พวกเขาไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น ทว่ายังวางแผนที่จะแตกไลน์ธุรกิจไปสู่ผลิตภัณฑ์ในชีวิตประจำวันที่มีส่วนผสมของกัญชาอีกด้วย
“ในส่วนของขนมตอนนี้เรากำลังพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นน้ำใบเตยผสมกัญชาออกมาในรูปแบบบรรจุซองสามารถซื้อกลับไปทานที่บ้านได้ หลังจากนี้ในส่วนของบริษัทแม่ หาญพงศ์พิพัฒน์กรุ๊ป เราจะแตกไลน์ออกมาทำผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับกัญชาที่ใช้ในชีวิตประจำวันด้วย เช่น ยาสระผม ยาหม่อง หรือพวกยาสีฟัน เหล่านี้เป็นต้น รวมถึงวางแผนที่จะเป็นดิสทริบิวเตอร์ในการจำหน่ายกัญชาเพื่อไปทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยดูว่าจะสามารถพัฒนาออกไปในรูปแบบใดบ้าง” เขาบอกแผนในอนาคต
สำหรับโอกาสของขนมไทย เขามองว่ายังสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและยังคงเติบโตได้อีกมาก ด้วยความหลากหลายและไอเดีย ไม่ว่าจะเป็นขนมไทยหรือว่าขนมแปรรูปอื่นๆ ก็ตาม ขอแค่ผู้ประกอบการมีความชัดเจนและแตกต่าง รู้จักใช้ข้อมูลลูกค้ามาวิเคราะห์ และวางแผนทางการเงินดีๆ เขายังเชื่อว่าไม่ว่าจะร้านข้างถนน แม้กระทั่งร้านผลไม้รถเข็น ถ้าคนทำมีความรู้ทางด้านการเงิน ในการใช้ชีวิตและธุรกิจ ยังไงก็ไม่มีวันเจ๊ง
ธุรกิจที่ลอยตัวจากวิกฤต แม้ใช้คนทำงานแค่ 7 คน
ขนมสยาม เป็นตัวอย่างของธุรกิจคนรุ่นใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วย Data การวางแผนธุรกิจที่ดี เข้าใจเรื่องการเงิน และใช้ต้นทุนด้านแรงคนอย่างจำกัด จึงสามารถอยู่รอดได้แม้ในวิกฤต
“ปัจจุบันบริษัทของผมมีพนักงานประจำอยู่แค่ 7 คน เราทำงานแบบสมัยใหม่ อะไรที่ไม่จำเป็นต้องจ้างประจำเราก็ใช้เอาท์ซอร์ซ เราไม่จำเป็นต้องมีออฟฟิศด้วยซ้ำ เพราะมีโปรแกรมที่ทำงานออนไลน์ได้ สามารถทำงานผ่านระบบต่างๆ ที่มีอยู่ ทำให้เราเซฟค่าใช้จ่ายไปได้เยอะมาก การตลาดบางส่วนเราใช้เอาท์ซอร์ซ บัญชีบางส่วนเราก็เอาท์ซอร์ซ ทุกอย่างเราใช้เอาท์ซอร์ซเป็นหลัก ไม่จำเป็นต้องมาลงทุนอะไรมากมาย” เขาว่า
เมื่อถามถึงหัวใจสำคัญของการทำธุรกิจ เขาบอกว่า การมีแผนทางด้านการเงินและวินัยทางการเงินสำคัญที่สุด
“อย่างเราเองจะประเมินค่าใช้จ่ายในแต่ละปีออกมาเลยว่า มีงบประมาณที่จะใช้ในแต่ละแผนกอย่างไร อย่างในปีหน้าการตลาดเราจะใช้งบประมาณในส่วนของกำไรสุทธิในปีนี้กี่เปอร์เซ็นต์ ในการขยายตลาดและขยายสาขา ต้องใช้งบประมาณกี่เปอร์เซ็นต์ ปีหน้าเราจะจ้างพนักงานเพิ่มได้กี่คน ให้เงินเดือนได้เท่าไหร่ เหล่านี้เราวางแผนไว้หมดแล้ว โดยใช้เงินจากกำไรของปีนี้มาบริหารงานในปีหน้า”
ในขณะโควิด-19 ทำให้หลายแบรนด์ต้องระส่ำ แต่ร้านขนมสยามกลับไม่สะเทือน เพราะมีเงินทุนสำรองไว้ใช้ถึง 1 ปี
“สิ่งที่ทำให้เราผ่านสถานการณ์โควิดมาได้โดยที่ไม่ได้รับผลกระทบใดๆ เลยคือการวางแผนทางการเงิน โดยบริษัทของเรามีกระแสเงินสด (Cash Flow) ที่เราเตรียมสำรองไว้สำหรับการบริหารงานอยู่ไม่ต่ำกว่า 12 เดือน แม้ไม่เกิดโควิดเราก็วางแผนไว้อยู่แล้ว โดยเราพยายามทำทุกอย่างให้มั่นคง เวลาเกิดวิกฤตเราต้องดิ้นหารายได้จากทางอื่น แต่ถ้าเกิดขนมของเราขายไม่ได้เลย เราก็ยังมีเวลาอีก 12 เดือน ที่จะพัฒนาโปรดักต์ใหม่ เราวางแผนมาแบบนี้ และทำให้อยู่รอดมาได้”
นี่คือตัวอย่างของคนทำธุรกิจที่คิดแบบผู้ประกอบการรุ่นใหม่ โดยเปิดใจเรียนรู้และเปิดรับข้อมูลใหม่ๆ อยู่เสมอ ทั้งจากการอ่านหนังสือ ท่องโลกออนไลน์ ดูงานวิจัยในต่างประเทศ โดยในแต่ละวัน เขาจะแบ่งเวลาก่อนนอน 1 ชั่วโมง เพื่อไปหาความรู้ใหม่ๆ เหล่านี้
และผลลัพธ์ที่ได้ก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับ “ขนมสยาม” ในวันนี้ แบรนด์ที่เริ่มจากร้านข้างถนน จนขึ้นห้างฯ ดัง และยังเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง แม้ในสถานการณ์สุดท้าทายอย่างวันนี้
เรียบเรียงข้อมูลจาก : ISMED Business Class
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี