ยอดตกเพราะโควิด ร้านกาแฟนครสวรรค์สุดล้ำ! เปลี่ยนมาขายชุดทำกาแฟสกัดเย็น สร้างอาชีพใหม่ รายได้นับแสน

TEXT : นิตยา สุเรียมมา

PHOTO : OverBrew Specialty Coffee

 

 
             

     จากยอดขายที่ร่วงลงอย่างน่าใจหาย ประกอบกับเมล็ดกาแฟคั่วในสต็อกที่ยังมีอยู่ จึงทำให้ ศิวะ ศรีวิชัย เจ้าของร้าน OverBrew Specialty Coffee ร้านกาแฟเล็กๆ แห่งหนึ่งในจังหวัดนครสวรรค์คิดหาวิธีเพิ่มช่องทางสร้างรายได้ พร้อมๆ หาวิธีระบายเมล็ดกาแฟออกไปด้วย โจทย์เดียวที่เขาตั้งไว้ คือ ต้องตอบโจทย์ตลาด และยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน
             

     “ตั้งแต่โควิดปีที่แล้ว รายได้เราก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัด เราเริ่มประเมินสถานการณ์แล้วว่าถ้าปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไปไม่ดีแน่ เลยพยายามคิดหาช่องทางสร้างรายได้เพิ่มและวิธีที่จะขายเมล็ดกาแฟให้ได้ เพราะเราเป็นโรงคั่วเองด้วย แต่ต้องเป็นโปรดักต์ที่ไม่ซ้ำกับใคร ยังไม่ค่อยมีใครทำในท้องตลาด เพราะส่วนใหญ่ตอนนั้นวิธีแก้ปัญหาของร้านกาแฟ ก็คือ ขายเมล็ดและส่งเดลิเวอรี ซึ่งเรามองว่าถ้าส่งเดลิเวอรีเราไม่สามารถรับต้นทุนจากเปอร์เซ็นต์ที่โดนหักไปได้แน่นอน





     “เลยลองมองที่ตัว Cold Brew Bucket ชุดทำกาแฟสกัดเย็น เพราะเป็นวิธีที่ง่าย ทำครั้งหนึ่งก็เก็บไว้กินได้หลายวัน น่าจะช่วยตอบโจทย์ลูกค้าในช่วงที่ร้านปิดหรือไปนั่งกินในร้านไม่ได้ โดยทำในคอนเซปต์ Brew From Home หรือชงกาแฟกินเองที่บ้านได้ง่ายๆ เลียนแบบ Work From Home ที่ช่วงนี้ก็ฮิตทำงานที่บ้านกัน” ศิวะเล่าที่มาไอเดียสินค้าใหม่ให้ฟัง

 
จับช่องว่างในตลาด มาตอบโจทย์ความต้องการ
 
             
     โดยศิวะเล่าต่อว่าจริงๆ แล้วเขาไม่ได้เป็นผู้แรกที่คิดชุดอุปกรณ์นี้ขึ้นมา เพียงแต่มองหาช่องว่างบางอย่างที่ในตลาดไม่มี แล้วจึงต่อยอดเป็นโปรดักต์ใหม่ขึ้นมา
             




     “จริงๆ แล้ววิธีนี้มีมานานแล้ว เราไม่ได้เป็นคนคิดขึ้นมาเอง เพียงแต่ที่ยังไม่มีในตลาด คือ ขนาดที่พอเหมาะกับที่ต้องการ ส่วนใหญ่ถ้าไม่ไซส์เล็กไปเลยขนาด 1 ลิตร ก็จะเป็นไซส์ใหญ่ 10 – 20 ลิตรไปเลย ซึ่งทำออกมาทีหนึ่งบางทีเยอะไป ขายไม่ทัน ก็เหลือทิ้ง ซึ่งเราก็คิดมาตลอดว่าอยากลองทำเป็นไซส์กลางใช้เองด้วย พอมีวิกฤตเข้ามาก็เลยลองทำเลย สั่งอะไหล่นำเข้ามาประกอบเอง หาตัวฟิลเตอร์หรือถุงกรองแบบที่ใช้ซ้ำได้มาทดลองทำดู ครั้งแรกเราทำออกมา 10 ชุดด้วยกัน ปรากฏว่าขายหมดใน  2 วัน พอเห็นแล้วว่าน่าจะไปได้ ตลาดมีความต้องการตรงนี้อยู่ ก็เลยทำขายออกมาจริงจัง เพราะไซส์ที่เราทำสามารถเอาใส่ตู้เย็นแช่ได้เลย ขนาดประมาณ 16 x 20 ซม. ความจุ 3 ลิตร ซึ่งพอดีกับการกินไป 1 – 2 อาทิตย์ ถุงกรองก็สามารถถอดล้างได้ ใช้ซ้ำได้บ่อย”
             

     โดยในชุด Cold Brew Bucket ของร้าน OverBrew Specialty Coffee จะประกอบด้วย1 ชุดประกอบด้วย 1. ถัง Cold Brew ความจุ 3 ลิตร พร้อมถุงกรองนำกลับมาใช้ใหม่ได้ 2. กาแฟ Specialty คั่วกลาง บดให้แล้ว 250 กรัม (เลือกเมล็ดได้ Brazil,Ethiopia,Thai) 3. ขวดแก้วสำหรับพกพา 2 ขวด พร้อมวิธีทำข้างถัง สูตรสำหรับ Ready to Dink กาแฟดำพร้อมดื่มเลย หรือสูตร Concentrate สกัดเข้มข้นเพื่อเป็นหัวเชื้อผสมเป็นเมนูเครื่องดื่มต่างๆ ราคาเซตราคา 990 บาท ส่งฟรี





 
ต่อยอดจากผู้บริโภค สู่เพื่อนร้านกาแฟด้วยกัน
 

     โดยศิวะเล่าว่าวัตถุประสงค์ของการทำชุด Cold Brew Bucket ไซส์กลางขึ้นมานั้น เป้าหมายแรกก็เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคโดยตรงที่ต้องกักตัวอยู่บ้าน เพื่อให้สามารถทำกาแฟกินเองที่บ้านได้ง่ายๆ แต่ไม่น่าเชื่อว่าหลังจากเปิดจำหน่ายได้ไม่นานชุดทำกาแฟสกัดเย็นของเขากลับช่วยแก้ Pain Point ให้กับผู้ประกอบการร้านกาแฟอื่นๆ ได้ด้วย ทำให้ลูกค้ากว่า 80 - 90 เปอร์เซ็นต์ที่เข้ามาซื้อกลับเป็นเหล่าเพื่อนร้านกาแฟเล็กๆ หรือเชนกาแฟที่มีร้านย่อยอยู่หลายสาขา
             

     “อย่างที่เล่าให้ฟังว่าในท้องตลาดที่มีขายถ้าไม่ใช่ชุดเล็ก ก็จะเป็นชุดใหญ่ไปเลย ยังไม่มีใครทำเป็นไซส์กลางออกมา ซึ่งพอเป็นชุดใหญ่ 10 – 20 ลิตร ตกชุดหนึ่งก็ราคาเป็นหมื่น ที่สำคัญบางทีทำออกมาแล้ว ขายไม่หมด หมดอายุไปก่อนก็ต้องทิ้งไป ซึ่งพอเราทำชุดกลางออกไป 3 ลิตร มันช่วยตอบโจทย์เขามาก เขาสามารถทำได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม ไม่ต้องเปลืองพื้นที่จัดเก็บในตู้เย็นด้วย ถ้าอยากทำเยอะกว่า 3 ลิตร ก็ซื้อชุดเพิ่มเอา เหมือนกับบางร้านที่มีหลายสาขาแทนที่จากเดิมจะต้องใช้ครัวกลางทำจากที่เดียวเพื่อป้อนส่งให้กับสาขาต่างๆ ซึ่งมีความยุ่งยากไม่น้อย แต่พอเราทำตัวนี้ออกมา เขาซื้อกระจายไปให้แต่ละสาขาทำขายเองเลย ทำให้สะดวกกับเขาได้มาก หรือร้านเล็กๆ ถ้าจะเอาไว้ทำเมนูขายเพิ่ม ก็สร้างรายได้ดี”
 




 
ขายเป็นเซตพร้อมกาแฟคั่วบด สร้างมูลค่าเพิ่มที่คุ้มกว่า
 
             
     โดยอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่ศิวะนำมาใช้นอกจากการหาไซส์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคและร้านค้าต่างๆ ได้แล้ว ก็คือ ขายเป็นเซตพร้อมเมล็ดกาแฟคั่วไปด้วยเลย ทำให้ไม่เพียงเป็นการหาสินค้าใหม่ เพื่อเพิ่มช่องทางสร้างรายได้ให้กับธุรกิจ แต่ยังเป็นการช่วยระบายกาแฟคั่วจากโรงคั่วของตัวเองออกไปด้วย
             

     “เนื่องจากเราเป็นโรงคั่วกาแฟอยู่แล้วด้วย จึงมีข้อได้เปรียบตรงนี้ การที่เราขายเป็นเซตพร้อมกาแฟให้ไปด้วยเลยสร้างความน่าสนใจได้มากกว่า เป็นการสร้างความคุ้มค่าให้กับผู้บริโภคด้วย เพราะปกติเฉพาะเมล็ดกาแฟคั่ว 250 กรัม เราขายอยู่ที่  400 กว่าบาทแล้ว กำไรอาจได้นิดหน่อย แต่ก็ทำให้ไปต่อได้ ลูกค้าก็สามารถทำกาแฟกินเองได้ง่ายๆ เราเองก็ได้เพิ่มช่องทางในการระบายเมล็ดกาแฟคั่วออกไปด้วย”
             

     จากการระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ครั้งแรก มาจนถึงปัจจุบันนี้ที่ผ่านการระบาดมาแล้วอีกหลายระลอกด้วยกัน ศิวะก็ยังคงขาย Cold Brew Bucket ของเขาต่อไป ซึ่งในตอนนี้แทบจะเรียกว่ากลายเป็นรายได้หลักของธุรกิจไปแล้วก็ว่าได้
             




     “ช่วงหนึ่งที่ร้านกลับมาเปิดได้ตามปกติ ยอดอาจจะตกลงไปหน่อย แต่พอมีการระบาดขึ้นมาใหม่ ยอดก็ขยับเพิ่มขึ้นมา หน้าร้านตอนนี้แทบว่าจะไม่ได้เปิดขายเลย เอาไว้ขายออนไลน์เป็นหลัก เรียกว่ารายได้หลักของเราตอนนี้มาจากชุด Cold Brew Bucket เลย เฉลี่ยแต่ละเดือนจะขายได้ประมาณ 100 - 300 ชุด แต่อย่างที่บอกว่าเราทำราคานี้ได้ เพราะเราคั่วเมล็ดเองด้วย
             

     “เราเตรียมใจไว้เหมือนกันว่าสักวันหนึ่ง ยังไงก็อาจมีรายใหญ่ลงมาเล่น แต่ถึงตอนนั้นเราก็ได้ลงมือทำไปก่อนเป็นเจ้าแรกแล้ว อีกอย่างที่บอกไป คือ เรามีโรงคั่วของตัวเอง จึงสามารถจัดเป็นเซตขายคู่กับกาแฟคั่วบดได้ เราไม่ได้ขายแค่ชุดอย่างเดียว ซึ่งก็ถือว่าคุ้มค่ามากกว่าสำหรับลูกค้า และน่าจะทำให้ธุรกิจเราไปต่อได้เรื่อยๆ ลูกค้าจดจำเราได้ เพราะถ้าพูดถึงชุดทำกาแฟโคลด์บริวไซส์นี้ ขนาด 3 ลิตร ณ ตอนนี้ในเมืองไทยยังไม่มีใครผลิตหรือจำหน่ายเลย มีเราเจ้าเดียวเท่านั้น ทำให้คู่แข่งทางการตลาดก็น้อย หรือเทียบจะไม่มีเลย” ศิวะกล่าวทิ้งท้าย
             

     โดยทุกวันนี้นอกจากขายผ่านหน้าเฟซบุ๊กแฟนเพจแล้ว ศิวะยังจำหน่ายชุดกาแฟสกัดเย็นของขายผ่านเว็บ Market Place อย่าง Shopee, Lazada ด้วย โดยล่าสุดติดอยู่ 1 ใน 10 อันดับสินค้าขายดีอุปกรณ์สำหรับทำกาแฟโคลด์บริวเลยทีเดียว
 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย

วิธีเปลี่ยนไอเดีย “ตัน” เป็น “มันส์” แบบ Matty Benedetto ยอดนักประดิษฐ์จอมกวน  

เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน