ไม่มีคำว่า...สายเกินไป สำหรับทายาทธุรกิจ โดยชนรรค์ สมบูรณ์เวชชการ




          เวลาเราได้ยินคำว่า “ธุรกิจครอบครัว” สิ่งแรกที่นึกถึงก็คือธุรกิจกงสี การแบ่งผลประโยชน์แบบครอบครัว ปัญหาระหว่างกลุ่มครอบครัวที่ทำงานด้วยกัน พนักงานเก่าแก่ที่ไม่ฟังคนรุ่นใหม่ มุมมองส่วนมากจะมองธุรกิจครอบครัวในเชิงลบมากกว่าบวก ด้วยสถิติจากทั้งในและต่างประเทศ โอกาสที่ธุรกิจจะสืบทอดมาถึงรุ่นที่ 3 มีอยู่แค่ 12 เปอร์เซ็นต์
               

         เถ้าแก่หลายๆ คนให้ความสำคัญกับการศึกษา ส่งลูกไปเรียนมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง ถ้ามีเงินหน่อย ก็จะพยายามส่งลูกไปเรียนโรงเรียนนานาชาติหรือต่างประเทศโดยคิดว่านั่นเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เป็นการปูพื้นฐานให้กับทายาทที่จะมาสืบทอด ให้คนรุ่นหลังไปสัมผัสกับโลกภายนอก ผจญภัยในดินแดนที่ตัวเองไม่เคยมีโอกาสได้ไปในวัยเดียวกัน ส่งลูกไป “ลำบาก” ด้วยตัวคนเดียว แต่สุดท้ายก็ส่งเงินไปให้ใช้เวลาลูกเงินหมดแทบทุกราย





          ความฝันอันยิ่งใหญ่ของเถ้าแก่ทุกคนคือการเห็นทายาทกลับมาทำงานในธุรกิจครอบครัว ด้วยความสามารถที่ได้สะสมมา และประสบการณ์ทำงานจากบริษัทนานาชาติ ทำธุรกิจให้เติบโตไปกว่าที่ตัวเองทำไว้ ภาพที่สวยหรูเหล่านั้นส่วนมากจะถูกทำลายลงไปในเวลาไม่เกิน 6 เดือน หลังจากการกลับมาของทายาท ด้วยคำตัดพ้อที่คุ้นชินคือ “พ่อแม่ไม่ฟัง พนักงานไม่ฟัง เราไม่มีระบบ ทำไมไม่จ้างคนเก่งๆ มาทำงานด้วย” และอีกพันหมื่นเหตุผล ทายาทหลายท่านหลังจากท้อใจในเบื้องต้นไปแล้วก็จะพยายามหาแรงบันดาลใจโดยไปเรียนหลักสูตรหาเครือข่ายต่างๆ ขอเงินพ่อแม่ไปลงทุนกับเพื่อนที่รู้จักกันไม่ถึงครึ่งปีเพื่อไปทำ Startup ของตัวเอง คิดว่าตัวเองจะสร้างตัวจากศูนย์ไปถึงหลักสิบหลักร้อยล้าน แต่ความเป็นจริงนั้นอัตราการล้มเหลวของ Startup นั้นแย่กว่าการสืบทอดถึงธุรกิจรุ่นที่ 3 เสียอีก


          และอีกหนึ่งสิ่งที่ทายาทไม่เคยรับรู้คือ บาดแผลในใจของพ่อแม่  ที่ส่วนมากจะโทษตัวเองก่อนที่จะโทษลูกเสมอว่าทำไมถึงทำให้ลูกไม่อยากทำ เป็นการสูญเสียความสัมพันธ์ไปในระดับนึง
               




          ตัวผมเองก็เกือบเป็นหนึ่งในกรณีที่กล่าวถึงไป  ผมถูกส่งไปเรียนต่างประเทศตั้งแต่อายุ 12 กลับมาไทยตอนอายุ 27 พูดง่ายๆ คือใช้ชีวิตต่างประเทศเกินครึ่ง  มีโอกาสทำงานในบริษัทนานาชาติที่อเมริกา และในไทยอย่างละปีก่อนที่จะกลับมาช่วยดูแลธุรกิจครอบครัว และวันนั้นก็คือวันเริ่มต้นฝันร้ายของตัวเอง ผมรู้สึกไม่มีตัวตน ไม่มีความสำคัญ ทำอะไรก็ผิด ไม่มีแรงบันดาลใจในการทำงาน กว่าจะปรับตัวได้ก็ใช้เวลาพอสมควร โดยการปล่อยสิ่งที่ตัวเองคุ้นชิน ความรู้หลายๆ อย่างที่นำมาประยุกต์ไม่ได้ และการยอมรับว่าตัวเองนั้นควรมาทำงานในบริษัทในฐานะมืออาชีพ ไม่ใช่ลูกเถ้าแก่ เวลาทำงานนั้น งานคืองาน ไม่มีพี่ ไม่มีน้อง ไม่มีพ่อ อย่าลืมว่าอำนาจสูงสุดของบริษัทนั้นอยู่ที่ CEO หรือพ่อ (อาจจะเป็นแม่ในบางบริษัท) ของคุณนั่นเอง หลายสิ่งที่เรานำไปเสนอในฐานะลูกนั้นจะไม่ค่อยถูกรับฟัง ซึ่งตอนนี้ผมก็เข้าใจได้ว่าทำไม
               

          ในช่วงฝันร้ายของผม ในเวลาว่างก็จะพยายามหาแรงบันดาลใจจากนักธุรกิจต่างประเทศหลายๆ ท่าน แล้วพยายามนำมาใช้กับตัวเอง ซึ่งไม่เคยสำเร็จ นักปรัชญาโบราณท่านหนึ่งกล่าวไว้ว่า “ไม่มีใครเคยข้ามแม่น้ำเดียวกันสองครั้ง” ความหมายของประโยคสั้นๆ แต่ลึกซึ้งนี้สามารถอธิบายว่า ทำไมเราทุกคนไม่ได้เป็น “บิล เกตส์”, “อีลอน มัสก์” หรือ “เจฟฟ์ เบซอส” ต่างคน ต่างที่ ต่างสถานการณ์ ต่างพื้นฐาน เช่นเดียวกับ แม่น้ำ ไม่ว่าคลื่นจะไปทางไหน มีอะไรอยู่ในแม่น้ำบ้าง เราข้ามไปหนึ่งครั้ง กลับมาอีกครั้งมันอาจมิใช่แค่แม่น้ำที่เปลี่ยนแปลง แต่เป็นตัวเราด้วยเช่นกัน ดังนั้นการปรับตัวเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการใช้ชีวิต และ การทำธุรกิจ



               

         ผมขอบคุณ 12 เดือนที่ผ่านมา เพราะเป็นช่วงเวลาที่ผมได้เรียนรู้จากครูที่ผมไม่นึกว่าจะเป็นครูที่ดีที่สุดในชีวิตผม ไม่ใช่ครูจากหนังสือที่ขายเป็นล้านเล่ม หรือ ผู้ชี้แนะการใช้ชีวิต แต่เป็นครูที่เรามองข้ามไปทุกๆ วัน ครูคนนั้นคือ “พ่อ” ของผมเอง ผมได้ลองไปเข้าหาพ่อเพื่อเรียนรู้ประวัติของบริษัท ความยากลำบากของบรรพบุรุษ การเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส การมีพันธมิตรที่ดีและการรักษาพันธมิตรนั้นไว้ ความหมายที่แท้จริงของคำว่าบุญคุณ คุณพ่อไม่เคยสอนผมเรื่องศาสนา ไม่เคยบอกให้ผมไปไหว้พระ แต่สิ่งที่ผมเรียนรู้จากท่านคือหลักการที่พระพุทธเจ้าสั่งสอนชาวพุทธทั้งหมด นั่นคือการยอมรับในสถานการณ์ ให้อภัย จบแล้วคือจบ


         เหมือนที่ “ปีเตอร์ ดรักเกอร์” บิดาแห่งการบริหารพูดถึงเรื่องการทิ้งสั้นๆ ว่า ถ้าเราย้อนกลับไปแล้วคิดว่าเราไม่น่าทำ เราก็ควรทิ้งมัน อย่าไปคิดว่าลงทุนเยอะแล้ว เพราะมันจะกลายเป็นต้นทุนจมเท่านั้น คุณพ่อสามารถทำเรื่องนี้ได้อย่างแน่วแน่ ก็แอบงงและขำนะครับ เพราะเชื่อว่ายังไงแกไม่เคยอ่านดรักเกอร์แน่ๆ และในช่วงโควิด ท่านก็พูดเสมอว่า เหมือนเราไปออกศึกและท่านเป็นแม่ทัพ ซึ่งผมก็ได้สัมผัสกับตัวเองเลยว่า ข้อจำกัดทางร่างกายของพ่อ มิได้เป็นอุปสรรคในการนำทัพเลยแม้แต่น้อย การตัดสินใจ การเดินหมากแต่ละตัวนั้นเต็มไปด้วยตัวเลือกที่ไม่ง่ายเลยแม้แต่น้อย แต่สุดท้ายแม่ทัพก็สามารถป้องกันข้าศึกตีทัพแตกไปได้ วันหนึ่งผมก็อยากเป็นแม่ทัพที่ดีแบบท่าน แต่ถ้าไปถามท่าน ความหวังของท่านก็คือ ผมต้องทำให้ดีกว่า



               

         วันนี้เป็นวันเกิดครบรอบ 66 ปีของคุณพ่อ ผมก็ขออนุญาตถือโอกาสใช้คอลัมน์นี้ กราบขอบพระคุณคุณครูที่ดีที่สุดของผม เจ้านายที่ดีที่สุด และบิดาของผม “คุณสิทธิชัย สมบูรณ์เวชชการ” CEO อ้วยอันโอสถ






                                               
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย