การระบาดของโควิด-19 กระทบไปในแทบทุกอุตสาหกรรม ไม่มีใครรอดตัวจากคลื่นวิกฤตลูกใหญ่นี้ แต่ไม่ว่าจะอุตสาหกรรมไหนก็ต้องปรับตัวเพื่ออยู่รอดและไปต่อด้วยกันทั้งนั้น เช่นเดียวกับ อุตสาหกรรมด้านการออกแบบ
สำหรับ 3 นักออกแบบระดับมือรางวัลและเจ้าของผลงานระดับโลก อย่าง “สมชนะ กังวารจิตต์” ผู้ก่อตั้ง PROMPT Design, “อมตะ หลูไพบูลย์” ผู้ก่อตั้ง Department of Architecture และ “สาริช จันทวิบูลย์” ผู้ร่วมก่อตั้ง DINSOR CO.,LTD พวกเขามี “วิธีคิด” และ “ทำ” ที่น่าสนใจ ในการรับมือกับวิกฤต เพื่อเอาตัวรอดและเติบโตในยุค Next Normal
วิ่งให้เร็วกว่าโลก กระโดดให้เก่งกว่ากบ
“สมชนะ กังวารจิตต์” ผู้ก่อตั้ง PROMPT Design นักออกแบบระดับมือรางวัลที่มีชื่อเสียงในระดับโลก เจ้าของผลงาน DEmark Award Winner 2018-2020 บอกถึงสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ที่อาจทำให้หลายธุรกิจต้องหยุดชะงัก โดยเฉพาะธุรกิจด้านการออกแบบสร้างสรรค์ แต่เขามองว่านี่เป็นช่วงเวลาที่นักออกแบบจะได้ฝึกฝนและเรียนรู้ ไม่ใช่หยุดนิ่งเพราะวิกฤตที่อยู่ข้างหน้า
“เราต้องไม่หยุดฝึกฝนและเรียนรู้ นักออกแบบต้องไม่หยุดคิด ถึงแม้ว่าบางช่วงจะไม่มีคนจ้างเลย แต่เราก็ต้องเป็นคนตั้งโจทย์เอง หาคำตอบเอง และทำผลงานขึ้นมาเอง ทำอย่างต่อเนื่องจนมีคนเห็นผลงานของเราในที่สุด” เขาบอกการรับมือวิกฤต
ไม่เพียงเท่านั้น นักออกแบบและผู้ประกอบการในวันนี้ยังต้องวิ่งและพัฒนาตัวเองให้เร็วกว่าโลกด้วย
“ทุกวันนี้โลกไปเร็วมาก ถ้าเราจะแข่งในพื้นที่ที่มีคนเก่งเราก็ต้องวิ่งและพัฒนาไปให้เร็วกว่าโลก เช่น เรารู้ว่ากบ กระโดดเก่ง เราก็ต้องกระโดดให้เก่งกว่ากบ” เขาเทียบให้เห็นภาพ
เขาบอกอีกว่า แรงผลักดันสำคัญที่จะทำให้ผลงานการออกแบบเป็นที่ยอมรับไม่ว่าจะในสถานการณ์ไหน ก็คือ “ความขยัน” และการมี “เป้าหมาย” ที่ชัดเจน โดยเขายังเชื่อว่าแม้วันนี้จะมีคนเก่งเยอะก็จริง แต่การเก่งแต่ไม่ขยัน ก็สู้คนที่กลางๆ แต่มีความขยันไม่ได้ และแม้วันนี้จะเจอวิกฤต ท้องฟ้าจะเป็นสีหม่นไปบ้าง แต่วันหนึ่งเมื่อฟ้าเปิด เราก็จะเห็นสีฟ้าของท้องฟ้าอีกครั้ง เขายังเชื่อและฝากความหวังไว้เช่นนั้น
การออกแบบต้องมีระยะห่าง ถูกสุขอนามัยและปลอดภัย
สำหรับสถาปนิกเจ้าของผลงานการออกแบบที่คว้ารางวัลทั้งในและต่างประเทศมามากมายอย่าง “อมตะ หลูไพบูลย์” ผู้ก่อตั้ง Department of Architecture Co.,Ltd. เจ้าของรางวัล DEmark Award Winner 2020 ผู้เชื่อว่า คนที่จะประสบความสำเร็จในการทำงานออกแบบต้องเริ่มจากมีความรักในงาน ต้องใช้เวลา และต้องมีการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง
การมาถึงของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คน นั่นเองที่ทำให้การออกแบบในยุคโควิดและ Next Normal ต้องแตกต่างไปจากเดิมด้วย เขาบอกว่า การคำนึงถึง “พื้นที่” เป็นเรื่องสำคัญ
“ต่อไปแนวโน้มการออกแบบจะคำนึงถึงเรื่อง พื้นที่ (Space) มากขึ้น ที่นอกจากจะต้องรักษาระยะห่างแล้ว ยังต้องคำนึงถึงการใช้ประโยชน์สูงสุดของพื้นที่อีกด้วย ขณะที่ความสำคัญของการใช้สอยอุปกรณ์เฟอร์นิเจอร์ก็จะลดน้อยลง อะไรที่เป็นส่วนประกอบของผ้าที่ต้องมีกระบวนการทำความสะอาดมากๆ เช่น ผ้าม่าน ก็อาจถูกลดทอน ส่วนพื้นผิวสัมผัสที่ทำความสะอาดได้ง่าย เช่น วัสดุที่เป็นโลหะเบา จะได้รับความนิยมมากขึ้น ในส่วนการออกแบบสำนักงานก็ต้องคิดถึงเรื่องการปรับเปลี่ยนการใช้พื้นที่ที่ต้องสนองตอบได้ทั้งการใช้งานร่วมกัน ขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงถึงความเป็นส่วนตัวเพื่อสุขอนามัยและความปลอดภัยของตนเองและส่วนรวมด้วย ซึ่งหลายธุรกิจต้องปรับเช่นกัน ไม่ว่าจะ โรงแรม ร้านอาหาร คาเฟ่ เป็นต้น” เขาบอกความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น
พัฒนาผลงานที่ตอบโจทย์โลกและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เล่นงานผู้คนไปทั่วโลก ทำให้หลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนไป โดยเฉพาะพฤติกรรมและไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค ที่ใส่ใจในโลกและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ตระหนักถึงชีวิตและความปลอดภัยมากขึ้น สำหรับ “สาริช จันทวิบูลย์ จาก DINSOR CO.,LTD เจ้าของ DEmark Award Winner 2017 เขาบอกว่า ผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ทำให้นักออกแบบและผู้ประกอบการด้านการออกแบบต้องปรับตัว เพราะลูกค้าของเราเองก็ปรับตัวเช่นเดียวกัน เขาจึงอยากเห็นผลงานการออกแบบที่ใส่ใจในเรื่องสิ่งแวดล้อมและเป็น Eco Products มากขึ้น เพื่อสอดรับกับความต้องการและการใช้ชีวิตของผู้คนในยุคนี้ รวมถึงเป็นนวัตกรรมการออกแบบที่มาช่วยให้ทุกคนปรับตัวเพื่ออยู่รอดร่วมกันได้ ตอบโจทย์วิถีใหม่ของผู้คนในโลกยุค Next Normal
และนี่คือไอเดียในการปรับตัวของผู้ประกอบการด้านการออกแบบไทย เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจให้อยู่รอดในวิกฤต และยังคงไปต่อได้อย่างยั่งยืนในวิถีใหม่ที่ผู้คนเรียกขานว่า Next Normal
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี