หลายคนอาจสงสัยว่า ในสถานการณ์ที่ทุกคนนิยามว่าวิกฤต จะมีธุรกิจไหนฉีกตัวเองจนมาเป็นดาวเด่น และเติบโตได้ดีสุด ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ที่ทำการวิเคราะห์ธุรกิจดาวเด่นในช่วงเดือนเมษายน 2564 ที่ผ่านมา พบหนึ่งโอกาสธุรกิจหอมหวาน ที่สำคัญแม้แต่ SME ไซส์เล็กก็มีโอกาสทำกำไรได้กว่าครึ่ง นั่นคือ “ธุรกิจขายปลีก-ส่ง สินค้าทางเภสัชภัณฑ์และการแพทย์”
โควิดปลุกโอกาสสินค้าเภสัชภัณฑ์และการแพทย์โตพุ่ง
หลังประเทศไทยต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 มาถึง 3 ระลอก ทำให้ประชาชนเริ่มตื่นตัวในเรื่องการดูแลสุขภาพมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่และผู้สูงอายุ นั่นเองที่ส่งผลให้ปริมาณความต้องการสินค้าทางเภสัชภัณฑ์และทางการแพทย์ในช่วงที่ผ่านมาเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะการเข้าถึงสินค้าทางการแพทย์ที่ทำได้ง่ายและสะดวกขึ้นทั้งผ่านช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ ส่งผลให้ธุรกิจขายปลีกและขายส่ง สินค้าทางเภสัชภัณฑ์และทางการแพทย์ กลายเป็นที่น่าจับตามองและมีโอกาสเติบโตได้ในระยะยาว ถึงขนาดที่กระทรวงพาณิชย์ โดย กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ยกให้เป็นธุรกิจดาวเด่นของปี 2564 เลยทีเดียว
ผู้เล่นในสนามเพิ่มมากขึ้นจากการเติบโตของธุรกิจ
จากข้อมูลพบว่า ในปี 2564 (มกราคม - เมษายน) มีจำนวนการจัดตั้งธุรกิจขายปลีก-ส่ง สินค้าทางเภสัชภัณฑ์และทางการแพทย์ใหม่ในประเทศไทย เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.42 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับปริมาณความต้องการยาและวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เพิ่มขึ้นมากในปัจจุบัน โดยข้อมูล ณ วันที่ 30 เมษายน 2564 พบธุรกิจขายปลีก-ส่ง สินค้าทางเภสัชภัณฑ์และการแพทย์ ที่ดำเนินกิจการอยู่ทั้งสิ้นจำนวน 10,386 ราย คิดเป็นร้อยละ 1.31 ของธุรกิจทั้งหมด และมีมูลค่าการลงทุนรวม 82,286.84 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.42 ของเงินลงทุนทั้งหมดของกิจการที่ดำเนินการอยู่ในประเทศไทยในวันนี้
โดยส่วนใหญ่ดำเนินการในรูปแบบบริษัทจำกัด จำนวน 8,360 ราย (ร้อยละ 80.49) มูลค่าเงินลงทุนรวม 76,073.19 ล้านบาท ในลักษณะห้างหุ้นส่วนจำกัด จำนวน 2,017 ราย (ร้อยละ 19.42) มูลค่าเงินลงทุน 2,151.26 ล้านบาท และ บริษัทมหาชนจำกัด 9 ราย (ร้อยละ 0.09) มูลค่าเงินลงทุน 4,062.40 ล้านบาท
ธุรกิจส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพฯ จำนวน 5,149 ราย (ร้อยละ 49.57) และมีทุนจดทะเบียน 54,871.22 ล้านบาท (ร้อยละ 66.69) และอันดับ 2 ตั้งอยู่ภาคกลาง จำนวน 2,215 ราย (ร้อยละ 21.68) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีประชากรอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดความต้องการสินค้าจำนวนมากเช่นกัน อีกทั้งเป็นศูนย์กลางการขนส่งคมนาคมที่มีความหลากหลายทั้งทางน้ำ ทางบก และทางอากาศ ทำให้สามารถกระจายสินค้าได้เป็นอย่างดีนั่นเอง
ธุรกิจไซส์เล็กมีโอกาสทำกำไรสุทธิถึงกว่า 50 เปอร์เซ็นต์
เมื่อมองถึงโอกาสทำกำไรในธุรกิจนี้ พบว่า ผลกำไรของกลุ่มธุรกิจขายปลีก-ส่ง สินค้าทางเภสัชภัณฑ์และการแพทย์ ตั้งแต่ปี 2560-2562 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2560 ทำกำไรสุทธิ 17,114.45 ล้านบาท ในปี 2561 กำไรสุทธิอยู่ที่ 18,799.66 ล้านบาท ปี 2562 มีกำไรสุทธิที่ 19,141.72 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 1.82 (ปี 2563 อยู่ระหว่างการวิเคราะห์และประมวลผล)
ที่น่าสนใจคือธุรกิจขนาดเล็ก (S) มีกำไรถึง 9,907.66 ล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 51.76 ของกำไรจากทุกขนาดธุรกิจ ในขณะที่ธุรกิจขนาดใหญ่ (L) มีกำไรเพิ่มขึ้นร้อยละ 25 เมื่อเทียบกับปี 2561 แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจขนาดเล็ก (S) และขนาดใหญ่ (L) ที่มีมากกว่าธุรกิจขนาดกลาง (M) ดังนั้น หากผู้ประกอบการขนาดกลางสามารถสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ มีการบริหารจัดการธุรกิจและค่าใช้จ่ายที่ดี เพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้า รวมทั้ง ขยายผลิตภัณฑ์ให้เข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ ก็จะสามารถเพิ่มรายได้ และส่วนแบ่งทางการตลาด (Market Share) ในตลาดขายปลีก-ส่ง สินค้าทางเภสัชภัณฑ์และทางการแพทย์ได้เพิ่มมากขึ้น
จะเข้าสู่ธุรกิจต้องรู้ดีเรื่องกฎระเบียบ
สำหรับผู้ประกอบการที่กำลังจะเข้าสู่ธุรกิจนี้ ควรคำนึงถึงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องของภาครัฐ เช่น การตั้งราคา การเปลี่ยนแปลงราคา รวมถึงการส่งออกยารักษาโรคและสินค้าทางเวชภัณฑ์ โดยต้องแจ้งล่วงหน้าตามประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งมีสินค้าที่อยู่ในรายการสินค้าและบริการควบคุม “หมวดยาและเวชภัณฑ์” คือ ยารักษาโรค เวชภัณฑ์เกี่ยวกับ การรักษาโรค หน้ากากอนามัย และผลิตภัณฑ์ที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบเพื่อสุขอนามัยสำหรับมือ
ดังนั้นก่อนจะลงสนามนี้ SME ควรศึกษาหลักเกณฑ์และข้อกำหนดต่างๆ ในการดำเนินธุรกิจให้ถี่ถ้วนที่สุด เพื่อที่จะได้ปฏิบัติได้อย่างถูกต้องและมีจรรยาบรรณ ธุรกิจจึงจะเติบโตได้อย่างยั่งยืนและระยะยาวนั่นเอง
ที่มา : เรียบเรียงข้อมูลจาก กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี